
เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2568 นายชาลี ลอยสูง ที่ปรึกษาคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.) ให้สัมภาษณ์ถึงเสียงวิพากษ์วิจารณ์การใช้งบประมาณของสำนักงานประกันสังคม(สปส.)ที่ไม่เหมาะสม ว่าได้ติดตามและตรวจสอบการใช้งบประมาณโครงการฝึกอบรมให้ความรู้ประกันสังคมกับแรงงานของสภาองค์การลูกจ้างแรงงานและสหภาพแรงงานต่างๆ ซึ่งจัดขึ้นในแต่ละปี 1,700 รุ่น แต่ละรุ่นใช้งบประมาณราว 2 หมื่นบาท หรือคิดเป็นงบประมาณปีละ 34 ล้านบาท ซึ่งเคยมีบางสภาองค์การลูกจ้างได้งบประมาณไปถึง 15 ล้านบาท แต่กลับไม่ได้มีการจัดอบรมให้ความรู้กับลูกจ้างจริงๆจังๆ
นายชาลี กล่าวว่า งบประมาณที่ใช้จัดอบรมนี้มีมานานแล้วโดยตอนแรกเขียนไว้ว่าให้สภาองค์การลูกจ้างแรงงานเท่านั้น แต่ตนได้ฟ้องร้องไปที่ศาลและศาลให้ยุติไว้โดยบอกว่าให้กระทรวงแรงงานหาวิธีการว่าจะทำอย่างไร จนมีมติว่าใน 100 เปอร์เซ็นต์ แบ่งให้สหภาพแรงงาน 40% อีก 60% ให้สภาองค์การลูกจ้างแรงงาน
“ผู้นำแรงงานที่รู้จักกับผู้หลักผู้ใหญ่ก็เข้าถึงงบนี้ได้ง่าย ส่วนสหภาพแรงงาน นาย ก. นาย ข. ใครรู้จัก จะรู้ได้อย่างไรว่าสำนักงานใหญ่อยู่ที่ไหน สหภาพแรงงานมีเครือข่ายที่ไหน เข้าไม่ถึงหรอก งบอบรมรุ่นหนึ่งต้องมีแรงงานอย่างน้อย 40 คน แต่ถ้าหาได้ครบ 40 คนแล้วก็ยังต้องทำเรื่องเข้าไปพิจารณา งบก้อนนี้เป็นท่อน้ำเลี้ยงของพวกสภาแรงงาน เขามีวิธิซิกแซกต่างๆ เช่น พอประชุมใหญ่สหภาพแรงงานประจำปี มีสมาชิกเข้าประชุม 500-2,000 คน เขาก็เอาใบลงทะเบียนไปให้เซ็นชื่อแบ่งเป็นกองๆละ 40 คน แต่ไม่ต้องลงวันที่ที่จะจัดอบรมสัมมนา ให้เซ็นชื่อไว้ก่อนเอาบัตรประชาชนถ่ายไว้ เซ็นลงชื่อกันสัก 20 กลุ่ม แต่ละกลุ่มได้งบไป 2 หมื่นบาท คิดดูจะเป็นเงินเท่าไรแล้ว เขายังไม่ได้ลงวันที่ แต่ได้รายชื่อมาแล้ว พอได้รายชื่อมาเขาก็มาจับล็อคไม่ให้วันที่มันตรงกันเพื่อจะได้บอกว่าจัดสัมมนาไหนบ้าง วิทยากรที่อยู่ในเงื่อนไขกำหนดว่าต้องเป็นเจ้าหน้าที่ของ สปส.อยู่ด้วยไม่น้อยกว่า 3 ชั่วโมง เขาก็มีวิทยากรที่จะร่วมหัวจมท้าย เซ็นชื่อและได้ค่าวิทยากรไป” ที่ปรึกษาคสรท. กล่าว
เมื่อถามว่า เงินค่าอบรมกลุ่มละ 2หมื่นบาท เข้ากระเป๋าใคร นายชาลี กล่าวว่า ส่วนหนึ่งทางสภาองค์การลูกจ้างแรงงานเอาเก็บไว้เป็นค่าใช้จ่ายขององค์กร แต่บางส่วนอาจเข้ากระเป๋าบุคคล
“เรื่องนี้มีการร้องเรียนกันอยู่ในปัจจุบัน เมื่อ 5-6 เดือนก่อน มีสภาองค์การลูกจ้างไปจัดอบรมสัมมนา และไปลงทะเบียนแบบนี้ แต่ปรากฏว่าในวันนั้นมีบอร์ดประกันสังคมรายหนึ่งอยู่ตรงนั้นด้วย เขาเห็นว่ามันทำไม่ถูกต้องเลยเอาเรื่องนี้ไปพูดในที่ประชุมบอร์ดว่าไม่เห็นด้วยกับในเรื่องนี้ โดยให้เลขา สปส.ช่วยจัดการ ผมกำลังรอฟังอยู่ว่าเขาจะจัดการอย่างไร เพราะตอนนี้ยังไม่จัดการเลย ผมติดตามเรื่องไป 2 ครั้งแล้ว เขาก็ยังเฉย” นายชาลี กล่าว
เมื่อถามว่าหากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) หรือ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เข้าไปตรวจสอบจะเห็นร่องรอยหรือไม่ นายชาลีกล่าวว่า ถ้าตรวจสอบจริงๆจะเห็นแน่นอน
“เอาเรื่องนี้ให้ชัดดีกว่า กินกันมาช้านานแล้ว บางสภาแรงงานไม่เคยเก็บค่าบำรุงสมาชิกมานาน ถามว่าอยู่ได้อย่างไร มันเป็นความอ่อนแอของขบวนการแรงงานเพราะเขาไม่ได้ยืนอยู่บนขาของตัวเองเลย สภาแรงงานบางแห่งเอาเงินส่วนนี้ไปดึงดูดให้แรงงานมาเป็นสมาชิก ถ้าจัดอบรมจริงจ่ายให้สหภาพแรงงาน 7,000 บาท ส่วนที่เหลืออีก 13,000 บาท ไปอยู่ที่ไหน ถ้ามีประชุมจริงเขาก็จ่ายให้ไม่เกิน 3 รุ่น แล้วอีก 17 รุ่นไปอยู่ที่ไหน งบประมาณนี้เข้ากระเป๋าใคร ถ้าไปตรวจงบดุลของสภาแรงงานแล้วไม่พบงบนี้ แล้วเงินพวกนี้ไปอยู่ที่ไหน แม้ระบบสภาองค์การลูกจ้างมีตรวจสอบทุกปี เพราะเป็นนิติบุคคล ถามว่าเจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงานหย่อนยานหรือไม่ เคยตรวจสอบแบบนี้หรือไม่ สหภาพแรงงานที่เขายืนอยู่บนขาตัวเองเก็บค่าบำรุงสมาชิกไม่เคยได้เงินจากตรงนี้ เขาไม่เอาเพราะเงินพวกนี้ไม่ได้สร้างความเข้มแข็งให้เขา” นายชาลี กล่าว
นายชาลี กล่าวถึงงบประมาณในการจัดทำปฏิทินปีใหม่ 54 ล้านบาทว่า การแจกปฎิทินในแต่ละปี สปส.จะเช็คว่าสภาองค์การลูกกจ้างแรงงานแต่ละแห่งที่ขอมา มีสมาชิกทั้งหมดกี่คน เมื่อตรวจสอบแล้วก็จะให้ไปตามจำนวนนั้น แต่บางปีการส่งมอบปฏิทินล่าช้า ถ้าไม่แจกก่อนเดือนธันวาคมก็มักไม่ค่อยมีคนเอา พอเหลือก็ไปวางกองอยู่ตามสภาแรงงาน
“ตอนนี้เขาทำมา 2 แบบคือ ปฏิทินแขวนกับปฏิทินตั้งโต๊ะ แต่คนงานเขาดูปฏิทินในออนไลน์กันหมดแล้ว คุณจะทำมาทำไม ปีหนึ่งๆ 54 ล้านบาท ผมพูดมาเป็นสิบปีแล้ว บอกให้เขายกเลิก คุณลองไปดูซิ ว่าเขาจ้างใครพิมพ์ โรงพิมพ์นี้มีคอนเนคชั่นกับใคร ถ้าเป็นโรงพิมพ์ที่โปร่งใสก็ต้องเปิดประมูลทุกปี ถ้าเปิดประมูลทุกปีทำไมโรงพิมพ์นี้ได้ทุกปี เราไม่เห็นด้วยกับการทำปฏิทินมาตั้งนานแล้ว ให้เอาเงินไปทำอย่างอื่นไม่ดีกว่าหรือ”ผู้นำแรงงานรายนี้ กล่าว