Search

วงหารือสันติภาพในพม่าเหงา กองกำลังชาติพันธุ์เข้าร่วมบางตา

คณะกรรมการเจรจาต่อรองเพื่อสันติภาพและการปรองดองแห่งชาติ (NSPNC หรือ The National Solidarity and Peacemaking Negotiation Committee) ซึ่งได้รับการแต่งตั้งโดยรัฐบาลทหารพม่าหลังการรัฐประหารเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 เป็นเจ้าภาพจัดการพูดคุยสันติภาพที่ศูนย์สันติภาพและการปรองดองในกรุงเนปิดอว์ของเมียนมา ระหว่างวันที่ 24-26 มีนาคม 2568 แต่มีตัวแทนกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์เข้าร่วมไม่กี่กลุ่ม ทั้งยังไม่มีการเชิญตัวแทนอดีตรัฐบาลพลเรือนที่ถูกยึดอำนาจเข้าร่วมการพูดคุยแต่อย่างใด

สำนักข่าว Global New Light of Myanmar สื่อกระบอกเสียงของรัฐบาลทหารพม่า ระบุว่าการพูดคุยเพื่อสันติภาพครั้งนี้เป็นไปเพื่อแสวงหาแนวทางยุติความขัดแย้งในประเทศโดยไม่ใช้ความรุนแรงและไม่สนับสนุนการเคลื่อนไหวก่อการร้าย โดยจะเน้นที่การพูดคุยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคง ควบคู่ไปกับการกระตุ้นเศรษฐกิจการพัฒนาเพื่อให้ประเทศกลับสู่สภาวะสันติ

รายงานระบุว่าผู้เข้าร่วมการพูดคุยครั้งนี้มีทั้งหมด 118 คน เป็นนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญทหารและเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงอื่นๆ คณะกรรมการ NSPNC ตัวแทนกองกำลังติดอาวุธกลุ่มชาติพันธุ์ (EAO) ซึ่งร่วมลงนามในข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศกับอดีตรัฐบาลเมียนมาตั้งแต่ปี 2015 หรือ NCA (Nationwide Ceasefire Agreement) รวมถึงสมาชิกพรรคการเมืองที่เตรียมจะเข้าร่วมการเลือกตั้งเมียนมาซึ่งรัฐบาลทหารพม่าคาดการณ์ว่าจะจัดขึ้นภายในเดือนธันวาคม 2568 หรือไม่ก็เดือนมกราคม 2569

อย่างไรก็ดี ตัวแทนกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ที่เข้าร่วมการพูดคุยมีเพียงไม่กี่กลุ่ม ได้แก่ พรรคปลดปล่อยอาระกัน (Arakan Liberation Party หรือ ALP) กลุ่มชาติพันธุ์ที่เคลื่อนไหวในรัฐยะไข่, กองกำลังกะเหรี่ยงพุทธประชาธิปไตย (Democratic Karen Buddhist Army หรือ DKBA ซึ่งเคลื่อนไหวในรัฐกะเหรี่ยง และต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น Democratic Karen Benevolent Army

นอกจากนี้ยังมีตัวแทนจากสภาสันติภาพแห่งกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Liberation Army -Peace Council) หรือ KNLA-PC, สหภาพประชาธิปไตยลาหู่ (Lahu Democratic Union หรือ LDU), พรรครัฐมอญใหม่ (New Mon State Party หรือ NMSP) และสภาการกอบกู้รัฐฉาน (Restoration Council of Shan State) หรือ RCSS ซึ่งมีเจ้ายอดศึกเป็นผู้นำ เข้าร่วมด้วย

ทว่าสื่อกระบอกเสียงของรัฐบาลทหารเมียนมาไม่ได้พูดถึงองค์กรปลดปล่อยแห่งชาติปะโอ (Pa-O National Liberation Organization หรือ PNLO) ว่าส่งตัวแทนมาร่วมในการพูดคุยสันติภาพครั้งนี้หรือไม่ เพราะก่อนหน้านี้สำนักข่าวอิสระ Myanmar Now รายงานเมื่อเดือนกันยายน 2567 ว่าเกิดความแตกแยกภายใน PNLO โดยฝั่งหนึ่งซึ่งนำโดยอดีตผู้ก่อตั้งองค์กร ยังยืนยันจะเป็นแนวร่วมของรัฐบาลทหารพม่าต่อไป แต่มีแกนนำอีกฝ่ายหนึ่งตัดสินใจไปเข้าร่วมกับกลุ่มต่อต้านเพื่อสู้รบกับกองทัพพม่า

ขณะเดียวกัน กลุ่มชาติพันธุ์หลายกลุ่มที่เคยร่วมลงนามในข้อตกลงหยุดยิง NCA ก็ได้ประกาศถอนตัวจาก NCA ไปแล้วเพื่อแสดงจุดยืนต่อต้านการรัฐประหารในปี 2021 ซึ่งนำโดยพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้ดำรงตำแหน่งประธานสภาบริหารแห่งรัฐ (SAC) หรือรัฐบาลทหารชุดปัจจุบัน

ด้วยเหตุนี้จึงมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์มาโดยตลอดว่า SAC ไม่จริงใจในการหาแนวทางยุติความขัดแย้งและสงครามกลางเมืองในประเทศที่เกิดขึ้นหลังรัฐประหาร เพราะ SAC ไม่คิดหาทางเจรจากับกลุ่มอื่นๆ ที่ต่อต้านการยึดอำนาจ ทั้งยังกีดกันไม่ให้รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (National Unity Government: NUG) ซึ่งเป็นรัฐบาลเงาพลัดถิ่นของเมียนมา เข้าร่วมพูดคุยหรือเจรจาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับนโยบายเพื่อการปรองดองแห่งชาติ ทำให้การผลักดันกระบวนการสันติภาพในเมียนมาถูกโจมตีว่าไม่ครอบคลุมตัวแทนประชาชนทุกกลุ่มตามที่รัฐบาลทหารพม่าพยายามกล่าวอ้าง

ขณะที่พะโด ซอ ตอ นี โฆษกสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) ให้สัมภาษณ์สำนักข่าว Khit Thit Media ว่าการประชุมครั้งนี้เป็นการกระทำที่ไร้ประโยชน์ เสมือนแมวอาบน้ำให้กัน และไม่ได้ส่งผลต่อสถานการณ์จริงของประเทศแต่อย่างใด

“ท่ามกลางความหายนะที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ การที่รัฐบาลทหารยังคงจัดการประชุมที่ไม่ก่อให้เกิดผลใด ๆ เช่นนี้เป็นเพียงการกระทำที่ไร้สาระ และเปรียบเสมือน การราดน้ำพิษลงบนต้นไม้ หรือ การอาบน้ำให้แมวที่ไม่ได้ช่วยให้เกิดประโยชน์ใด ๆ มันเป็นแค่การกระทำที่เปล่าประโยชน์ ในช่วงเวลาที่ประเทศกำลังเผชิญกับวิกฤตร้ายแรง และทุกคนต่างตระหนักว่ารัฐบาลทหารเป็นต้นเหตุของความพินาศครั้งนี้”โฆษก KNU กล่าว และว่า “พวกเขากลับไม่ใส่ใจและทำเหมือนราชาผู้เฉยเมยต่อหายนะรอบตัว นี่เป็นสิ่งที่เราเห็นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อีกต่อไป”

————–

อ้างอิง:

https://cnimyanmar.com/index.php/english-edition/28061-peace-talk-led-by-nspnc-to-be-held
https://www.moi.gov.mm/moi%3Aeng/news/17367
On Key

Related Posts

“โรม”แนะรัฐใช้มาตรการเข้มกับ “ว้า”หลังพบเป็นต้นเหตุสารพันปัญหาทั้งยาเสพติด-ทำเหมืองทองต้นแม่น้ำ-รุกล้ำชายแดน กมธ.ความมั่นคงเตรียมลงพื้นที่เชียงรายสอบข้อเท็จจริงสารปนเปื้อนในแม่น้ำกก-สาย เตือนระวังชาวบ้านถาม “มีรัฐบาลไว้ทำไม”

เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2568 นายรังสิมันต์ โรม ประธาRead More →