Search

ชาวบ้านค้านเหมืองวังสะพุงปาดน้ำตาเล่าเหตุการณ์วันถูกทำร้าย นักวิชาการยันสารพัดสารพิษปนเปื้อนในชุมชน-จี้รัฐเร่งช่วยเหลือ เผยเริ่มมีโรคแปลกทารกคลอดแล้วตายชี้เป็นโจทย์ใหญ่

10382517_729249493785005_5241517017773395577_o
ชาวบ้านนาหนองบงถึงกับปาดน้ำตาเมื่อเล่าให้คณะสื่อมวลชนฟังถึงเหตุการณ์ที่คนในหมู่บ้านถูกชายฉกรรจ์รุมทำร้ายและกักขัง

เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม ที่ชุมชนเขาหลวง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย คณะสื่อมวลชนจากส่วนกลางกว่า 10 คน ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบเก็บข้อมูลและตรวจสอบข้อเท็จจริงชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากเหมืองทอง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย เป็นวันที่สอง โดยได้เดินทางไปร่วมสังเกตการณ์การปลูกป่าชุมชนของชาวบ้าน 6 หมู่บ้านซึ่งได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ทองคำ โดยชาวบ้านต้องการแสดงเจตจำนงในการร่วมปกป้องและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในชุมชน หลังจากได้รับผลกระทบจากการดำเนินการเหมืองทองคำมานานหลายปี โดยมีนายชูเกียรติ อุ่นใจ ปลัดอาวุโสอำเภอวังสะพุง เป็นประธานเปิดงานและร่วมปลูกป่า

นายชูเกียรติ กล่าวว่า ชุมชนเขาหลวงเป็นชุมชนที่มีความเป็นเลิศทางการอนุรักษ์และปกป้องทรัพยากรธรรมชาติมาช้านาน ทำให้ภูเขารอบๆมีความอุดมสมบูรณ์และเป็นที่พึ่งของชุมชนก่อนที่เหมืองทองคำจะเกิดขึ้น สะท้อนว่าชาวบ้านล้วนสำนึกรักษ์ในทรัพยากรท้องถิ่นและผูกพันกับสถานที่ จึงไม่แปลกที่ชาวบ้านพยายามต่อต้านกิจการเหมืองทองคำ เพราะไม่อยากสูญเสียพื้นที่อันเป็นแหล่งพึ่งพาอาศัยของลูกหลานในอนาคต อย่างไรก็ตามกรณีความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างเหมืองทองคำและชาวบ้านเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคมนั้น ตนรู้สึกเสียใจและเศร้าใจกับกรณีเหตุการณ์อย่างมาก แต่ด้วยกระบวนการยุติธรรมที่ต้องอาศัยเวลาทำให้การตรวจสอบผู้กระทำผิดล่าช้าไปบ้าง อยากให้รอเวลาสักระยะ และอยากให้ทุกคนมีกำลังใจต่อสู้ต่อไป

หลังจากนั้นคณะสื่อมวลชนได้เดินทางไปยัง 1 ใน 4 จุดเกิดเหตุรุนแรง โดยชาวบ้านได้จำลองเหตุการณ์เมื่อคืนวันที่ 15 ที่กลุ่มชายฉกรรจ์ได้รุมทำร้ายและกักขังชาวบ้านให้สื่อมวลชนได้บันทึกภาพ พร้อมทั้งร่วมร้องเพลงแสดงพลังจากเด็กในหมู่บ้านที่มีเนื้อหาสะท้อนปัญหาเหมืองทองคำที่ส่งผลกระทบต่อชุมชน รวมถึงความสามัคคีของชุมชนที่ร่วมใจกันต่อสู้ปกป้องบ้านเกิด แม้จะมีพิษภัยจากอุตสาหกรรมเหมืองทองคำหลายมาอย่างต่อเนื่อง

ต่อมาที่วัดนาหนองบง ชาวบ้านที่อยู่ในคืนวันเกิดเหตุรุนแรงได้มารวมตัวกันและเล่าเหตุการณ์ที่ประสบให้คณะสื่อมวลชนได้รับทราบ โดยหลายคนยังคงอยู่ในอาการหวาดผวา

“คิดว่าเป็นประวัติศาสตร์อีกหน้าหนึ่งของหมู่บ้านเราที่เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ ในคืนนั้น เรามองไปทางไหนก็มีแต่ปืน เราเจ็บกันมากจนไม่รู้จะทำอย่างไร อยากให้คนในสังคมได้รับรู้ถึงสิ่งที่เกิดในหมู่บ้าน ตอนนั้นถ้าเขาฆ่าเราก็ตายกันหมดแล้ว พูดไปก็มีแต่น้ำตา ก่อนที่เขาจะไปเขาบอกว่าจะกลับกันมาอีก ทำให้เรารู้สึกหวั่นวิตก” ชาวบ้านรายหนึ่งกล่าว ทำให้ชาวบ้านบางคนที่อยู่ในเหตุการณ์ถึงกับร่ำไห้และปาดน้ำตา

ด้านน.ส.สมพร เพ็งค่ำ นักวิชาการจากสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นผู้ทำวิจัยผลกระทบจากการทำเหมืองทองในอำเภอวังสะพุง กล่าวว่า ได้เข้ามาเก็บข้อมูลตั้งแต่ปี 2546 ซึ่งเหมืองเริ่มเข้ามา หลังจากนั้นได้มาตรวจสอบคุณภาพน้ำในลำน้ำฮวยพบไซยาไนด์ซึ่งไม่มีอยู่ในธรรมชาติ ทั้งๆที่เหมืองยังไม่ได้รับใบอนุญาตแต่งแร่ แต่มีการทดลองแต่งแร่ ชาวบ้านจึงร้องเรียนไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด พอปี 2549 บริษัทได้รับอนุญาตแต่งแร่ถูกต้อง ทำให้เกิดผลกระทบมากขึ้น เนื่องจากเปิดหน้าดิน ทำให้ดินไหลเข้าสวนชาวบ้านซึ่งไม่ใช่ดินธรรมดา แต่เป็นดินที่ปนเปื้อนสารเคมี พอปี 2550 ได้พบสารต่างๆเพิ่มขึ้นคือไซยาไนด์ แมงกานีส และสารหนูในแหล่งน้ำ ซึ่งชาวบ้านเรียกร้องให้ผู้ว่าฯตั้งคณะทำงานขึ้นมาศึกษาเรื่องนี้ แต่คณะกรรมการชุดนี้ก็แค่ประชุมกัน โดยไม่มีใครพูดถึงว่าเมื่อเจอไซยาไนด์แล้วจะทำอย่างไรต่อไป จนกระทั่งต่อมาได้มีการเจอไซยาไนด์ในแหล่งน้ำบาดาล และชาวบ้านเกิดระคายเคืองผิวหนังและเป็นผื่นคันโดยไม่มีเจ้าหน้าที่ดูแล

น.ส.สมพรกล่าวว่า ปัญหาการเจ็บป่วยทางสาธารณะสุขได้เริ่มเข้ามาตรวจดูเมื่อปี 2552 โดยมีการตรวจอาหารในลำห้วยซึ่งพบว่ามีการปนเปื้อนโลหะหนักในลำห้วยเหล็ก จึงมีประกาศห้ามกินหอย แต่ก็ไม่มีใครบอกว่าจะทำอย่างไรต่อไป ต่อมาทางโรงพยาบาลวังสะพุงได้เข้ามาดำเนินการโครงการเฝ้าระวัง เพราะชาวบ้านป่วยไปรักษาบ่อย จึงมีการเจาะเลือดซึ่งผลออกมาน่าตกใจคือ 6 หมู่บ้าน เจอสารพิษทุกคน คือไซยาไนด์ ปรอทและตะกั่ว บางคนเจอทั้ง 3 ตัว บางคนเจอ 2 ตัว บางคนเจอตัวเดียว บางคนไม่เกินค่ามาตรฐาน แต่ไม่มีที่ไม่เจอ ทำให้ชาวบ้านตื่นตัว แต่ไม่มีหน่วยงานรัฐมาดูแลและเฝ้าระวังอย่างเป็นระบบ ทำให้ไม่นำไปสู่การแก้ไขปัญหา

“ต่อมาชาวบ้านเริ่มเจ็บป่วยด้วยอาการแปลกๆ อ่อนเพลีย หลายคนมีอาการคล้ายกัน จึงเริ่มสงสัยมากขึ้น โดยเฉพาะในร่องลำห้วยเหล็กซึ่งเป็นสวนยางและนา พบสารปนเปื้อน โดยชาวบ้านมีอาการแขนขาอ่อนแรง เราจึงสงสัยว่ามีการรั่วของบ่อกักเก็บไซยาไนด์ แม้เรายังไม่ฟันธงว่ามาจากเหมือง แต่เหมืองคือความเสี่ยงที่เราต้องศึกษา แต่โดยส่วนตัวเราต้องค้นหาว่าใครเป็นคนก่อมลพิษ สิ่งสำคัญคือชาวบ้านเจ็บป่วยแล้ว เราไม่ต้องรอว่าใครทำ แต่กระทรวงสาธารณสุขต้องเข้ามาดูแล เราจะไปโทษโรงพยาบาลวังสะพุง หรือสสจ.เลยก็ไม่เป็นธรรมเพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องนโยบาย แต่บ้านเราเมื่อเกิดความเสี่ยงเช่นนี้ เราไม่มีกลไกอะไรเลย”น.ส.สมพร กล่าว

นางสมพรกล่าวว่า มีข้อสังเกตด้วยว่า ชาวบ้านในฝั่งฟากห้วยเจออาการประหลาดคือคนท้องแล้วคลอดลูกออกมาเสียชีวิต อาการเช่นนี้เป็นโจทย์ทางวิชาการ ความเสี่ยงนี้เสี่ยงไปถึงลำน้ำโขง เพราะที่นี่เป็นพื้นที่ต้นน้ำและมีน้ำผุดแต่มีบ่อไซยาไนด์อยู่ น้ำจากห้วยเหล็กไหลสู่ห้วยฮวย จากห้วยฮวยไหลสู่แม่น้ำเลย และจากแม่น้ำเลยไหลสู่แม่น้ำโขงในที่สุด หากสถานการณ์เลวร้ายสุดคือบ่อไซยาไนด์พัง ปริมาณโคลนที่ไหลลงมาพร้อมไซยาไนด์จะเกิดอะไรขึ้น
 

 

On Key

Related Posts

USIPแนะไทยชิงธงนำปราบปรามแหล่งอาชญากรรมริมเมย ชี้มีนาคมอาจเกิดการเปลี่ยนแปลงใหญ่-จีนจับชิตู เชื่อแดนมังกรต้องการขยายอิทธิพลเปิดช่องให้รัฐบาลทหารพม่ากุมพื้นที่ ขณะที่ 32 เหยื่อชาวอินโดฯหนีข้ามแดนทะลักไทย

เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2568 นายเจสัน ทาวเวอร์ ผู้อำRead More →

แหล่งอาชญากรรมริมเมยป่วนหลังถูกกดดันหนัก มาเฟียจีนพล่าน-ชักไม่มั่นใจกองกำลังกะเหรี่ยงเทา เตรียมฉวยจังหวะช่วงตรุษจีนกลับประเทศ แนะรัฐสบช่องเก็บข้อมูลแก๊งอาชญากร

เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2568 แหล่งข่าวด้านความมั่นคงRead More →

ทัวร์จีนเมืองชายแดนป่วน นักท่องเที่ยวแดนมังกรหายไป 80% ผู้ประกอบการโอดกรุ๊ปทัวร์ยกเลิกแทบเหี้ยน เผยโลกโซเชียลจีนกระหึ่มหวาดกลัวหนัก เชื่อคนหายนับแสนราย ตั้งคำถามทำไมช่วยไม่ได้เหมือน “ซิงซิง”

เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2568 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จาRead More →