เรียน คณะกรรมการมรดกโลก UNESCO
เรื่อง..ข้อกังวลและข้อเสนอต่อการขอจัดตั้งเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติของกลุ่มป่าแก่งกระจานในประเทศไทย..
“..พวกเราชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยง โป่งลึก-บางกลอย แก่งกจะจานสนับสนุนการจัดตั้งมรดกโลกทางธรรมชาติที่ให้ความเคารพและยอมรับสิทธิ อัตลักษณ์และการดำรงอยู่ของชนเผ่าพื้นเมือง ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ทรัพยากรและความหลากหลายทางธรรมชาติ เพื่อเป็นสมบัติของมวลมนุษยชาติสืบไป..”
เรื่อง ข้อกังวลและข้อเสนอต่อการขอจัดตั้งเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติของกลุ่มป่าแก่งกระจานในประเทศไทยพวกเรา เครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมภาคตะวันตกและองค์กรภาคีที่เกี่ยวข้อง ได้จัดเวทีพูดคุยกันในเรื่องนี้ที่จังหวัดราชบุรีเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2557 ใคร่ขอเสนอข้อกังวลต่อการเสนอเพื่อจัดตั้งเป็นพื้นที่มรดกโลกทางธรรมชาติของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดังนี้
๑. พื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจาน ซึ่งประกอบไปด้วยเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าลุ่มน้ำภาชี อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน อุทยานแห่งชาติกุยบุรี และอุทยานแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติไทยประจัน ซึ่งมีขนาด ๔๘๒,๒๕๕ เฮคแตร์ ในเขตพื้นที่ ๓ จังหวัด คือ ราชบุรี เพชรบุรีและประจวบคีรีขันธ์ พื้นที่ในเขตกลุ่มป่าแก่งกระจานนอกจากจะเป็นแหล่งที่มีความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพแล้ว ยังเป็นที่อยู่อาศัยของชนเผ่าพื้นเมืองกะเหรี่ยงมายาวนานแล้วหลายร้อยปี โดยดำรงชีวิตที่พึ่งพาและสอดคล้องกับธรรมชาติ แต่เนื่องจากกระแสการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ รวมทั้งความพยายามที่จะประกาศเป็นแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติ ทำให้รัฐมีนโยบายอพยพชาวกะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าออกมาอยู่พื้นที่นอกเขตป่าอนุรักษ์ หรือ ตามแนวขอบของพื้นที่ป่า เช่น กรณีการบังคับอพยพชาวกะเหรี่ยงบางกลอยบนและใจแผ่นดิน ออกจากพื้นที่ป่าอุทยานแก่งกระจาน ซึ่งมีการดำเนินการมาแล้วหลายครั้ง คือ ปี ๒๕๓๙ ปี ๒๕๕๓ และ ปี ๒๕๕๔ การกระทำดังกล่าวส่งผลกระทบต่อชาวบ้านมากทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจและวัฒนธรรม เรื่องนี้ทางเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับองค์กรเครือข่ายได้ทำหนังสือร้องเรียนไปถึงรัฐบาลและคณะกรรมการอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ (CERD) เมื่อ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕ โดยเรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาแก้ไขปัญหาดังกล่าว และขอให้ทาง UNESCO เข้ามาประเมินดูผลกระทบที่เกิดขึ้นกับชนเผ่าพื้นเมืองกะเหรี่ยงถ้าหากมีการพิจารณาจัดตั้งพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลก (ดูรายละเอียดในไฟล์ที่แนบ)
เรื่องนี้ในทางปฏิบัติรัฐยังไม่มีมาตรการ หรือให้การเยียวยาต่อกลุ่มผู้ถูกอพยพลงมาจากพื้นที่บางกลอยบน และใจแผ่นดินอย่างเพียงพอ ชาวบ้านส่วนใหญ่ยังไม่มีพื้นที่ทำกินและที่อยู่อาศัย ส่วนหนึ่งต้องออกไปหางานรับจ้างในเมือง ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบหลายๆ ด้านตามมา เช่น ปัญหาด้านครอบครัว การถูกเอารัดเอาเปรียบด้านแรงงานเนื่องจากไม่มีบัตรประชาชน เป็นต้น
ประเด็นนี้ทางคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้เข้ามาศึกษาและเสนอแนะให้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องรีบดำเนินการดังนี้
๑) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช สมควรแต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงในประเด็นการเข้าผลักดัน รื้อถอนและเผาทำลายทรัพย์สินของชาวกะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่บริเวณบ้างบางกลอยบนและบ้านใจแผ่นดินของผู้ถูกร้องให้แล้วเสร็จ และสมควรยุติการดำเนินการจับกุม ข่มขู่ คุกคามชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอยบนและบ้านใจแผ่นดิน ตามนัยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๓ สิงหาคม ๒๕๕๓ เรื่องแนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงและผ่อนผันให้ชาวกะเหรี่ยงกลุ่มดังกล่าวกลับเข้าไปทำกินในที่ดินเดิมทันที จนกว่าการแก้ไขปัญหาจะได้ข้อยุติ
๒) ให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช สำรวจการถือครองที่ดินทำกินของกลุ่มชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอยบนและบ้านใจแผ่นดินตามมติ ครม. ๓๐ มิถุนายน ๒๕๔๑ เรื่องการแก้ไขปัญหาที่ดินในพื้นที่ป่าไม้ให้แล้วเสร็จภายใน ๖๐ วัน นับแต่ได้รับรายงานฉบับนี้
๓) ให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ร่วมกับจังหวัดเพชรบุรีแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อเยียวยา ชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ชาวกะเหรี่ยงที่ได้รับความเสียหายจากการเข้ารื้อถอน เผาทำลายทรัพย์สินของผู้ถูกร้องให้แล้วเสร็จภายใน ๖๐ วันนับแต่ได้รับรายงานฉบับนี้
๔) ให้กระทรวงวัฒนธรรมดำเนินการแก้ไขปัญหาตามมติ ครม. ๓ สิงหาคม ๒๕๕๓ เรื่องแนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง โดยร่วมกับจังหวัดเพชรบุรี หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และตัวแทนของชาวกะเหรี่ยงให้แล้วเสร็จภายใน ๖๐ วัน นับแต่ได้รับรายงานฉบับนี้
๕) ให้กรมการปกครองโดยอำเภอแก่งกระจานจัดทำโครงการเคลื่อนที่ เร่งรัดการสำรวจและให้สัญชาติไทยแก่กะเหรี่ยงกลุ่มนี้ให้แล้วเสร็จภายใน ๖๐ วัน นับแต่ได้รับรายงานฉบับนี้
นอกจากนี้นายพอละจี รักจงเจริญ หรือ บิลลี่ ผู้นำชาวบ้านบางกลอยล่าง ได้รวบรวมสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านที่ถูกอพยพลงมาและเสนอให้กับทางสำนักพระราชวัง เพื่อขอความช่วยเหลือในการแก้ไขปัญหาให้กับชาวบ้านในพื้นที่ ขณะที่ดำเนินการอยู่นั้น นายพอละจีกลับหายตัวไป หลังจากที่ถูกหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานจับกุมตัวไปในข้อหามีน้ำผึ้งป่าครอบครองและปล่อยตัวไปตั้งแต่วันที่ ๑๗ เมษายน ๒๕๕๗ คดีนี้ยังไม่มีข้อสรุป ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจกำลังสืบสวนและรวบรวมพยานหลักฐานอยู่
๒. วิถีการดำเนินชีวิตของชนเผ่าพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่น ในพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานนั้นมีชุมชนที่อาศัยอยู่ในป่าและพึ่งพึงทรัพยากรจากป่าอยู่จำนวนมาก ซึ่งชุมชนเหล่านี้เกรงว่า การประกาศเป็นมรดกโลกจะส่งผลกระทบต่อวิถีการดำเนินชีวิตของพวกเขา เช่น การเก็บหาของป่าเพื่อนำมาใช้เป็นอาหาร ยา และรายได้จุนเจือภายในครอบครัว ที่สำคัญๆ เช่น การเก็บน้ำผึ้งป่า เก็บหายาสมุนไพร ฯลฯ โดยรัฐจะมีการบังคับใช้กฎหมายเข้มข้นมากขึ้น ซึ่งจะก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านกับรัฐมากขึ้น
๓. ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานยังไม่มีข้อมูล หรือความรู้เกี่ยวกับการประกาศเป็นมรดกโลกเลยว่า การประกาศเป็นมรดกโลกแล้ว ชาวบ้านจะได้อะไร จะมีผลกระทบต่อชาวบ้านอย่างไรบ้าง ชาวบ้านในพื้นที่สะท้อนว่ามีเจ้าหน้าที่ป่าไม้เข้ามาจัดเวทีทำความเข้าใจบ้าง แต่ก็ยังไม่ชัดเจน และเป็นข้อมูลเพียงด้านเดียว
๔. ชาวบ้านเกรงว่าเมื่อประกาศเป็นเขตมรดกโลกแล้ว จะมีบุคคลภายนอกเข้ามาศึกษา มาเที่ยวและทำกิจกรรมในพื้นที่มากขึ้น ซึ่งจะก่อให้เกิดปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อมตามมา เช่น ปัญหาขยะ ฯลฯ
เพื่อไม่ให้ปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้น เครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมและองค์กรภาคีใคร่ขอเสนอดังต่อไปนี้
๑) ให้มีการแก้ไขประเด็นปัญหาข้อพิพาทระหว่างชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่ในพื้นที่อนุรักษ์ให้เสร็จสิ้นก่อนที่จะมีการประกาศเป็นเขตมรดกโลก โดยเฉพาะกรณีการอพยพชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน
๒) ให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจัดเวทีทำความเข้าใจให้กับชุมชนอย่างทั่วถึง โดยให้ข้อมูลที่ถูกต้องและครบทุกด้านทั้งข้อดีและข้อเสียของการจัดตั้งมรดกโลก และให้มีการจัดเวทีประชาพิจารณ์เกี่ยวกับเรื่องนี้เนื่องจากมีผลกระทบกับชุมชนและคนหลายกลุ่ม
๓) การประกาศมรดกโลกทางธรรมชาติต้องไม่ละเมิดสิทธิของคนที่อาศัยและพึ่งพิงป่า เช่นวิถีการดำเนินชีวิตตามประเพณี ให้ความสำคัญและการมีส่วนร่วมของชุมชนในการอนุรักษ์ทรัพยากร และมรดกโลกด้วย ไม่ใช่ให้ความสำคัญและเน้นแต่เรื่องพืชและสัตว์เพียงอย่างเดียว
๔) มีการรับรองและกำหนดเขตพื้นที่การใช้ประโยชน์ที่ดินและทรัพยากรของชุมชนในพื้นที่ป่าอย่างชัดเจน โดยกระบวนการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน
๕) มีกลไกการแก้ไขปัญหาข้อพิพาทและข้อขัดแย้งที่ชัดเจน ที่ชาวบ้านสามารถเข้าถึงได้และมีความยุติธรรม
ที่มา : เครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมฯ