Search

จดหมายเปิดผนึกกรณีเขื่อนดอนสะโฮง กระบวนการปรึกษาหารือแค่พิธีกรรม ไร้ความหมาย-ไม่มีส่วนร่วม

 

salween

จดหมายเปิดผนึกกรณีเขื่อนดอนสะโฮง

กระบวนการปรึกษาหารือแค่พิธีกรรม ไร้ความหมาย-ไมมีส่วนร่วม

 

เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง

5 มกราคม 2558

 

ตามที่รัฐบาลสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ได้ประกาศดำเนิน โครงการเขื่อนดอนสะโฮง แขวงจำปาสัก ทางตอนใต้ของ สปป.ลาว ซึ่งจะเป็นเขื่อนแห่งที่ 2 บนแม่น้ำโขงตอนล่าง  และได้นำโครงการนี้เข้าสู่กระบวน PNPCA ซึ่งจะต้องมีการดำเนินกระบวนปรึกษาหารือล่วงหน้า (Prior Consultation) ในแต่ละประเทศ ตามข้อตกลงแม่น้ำโขง พ.ศ.2538 กำหนดให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน ซึ่งต่อมา คณะกรรมการร่วม 4 ประเทศ ได้ตกลงเริ่มในปลายเดือนกันยายน 2557 และจะสิ้นสุดระยะเวลา 6 เดือนในเดือนมกราคม 2558

ในเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2557 สำนักเลขาธิการคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย โดยกรมทรัพยากรน้ำ ได้ดำเนินการ “ให้ข้อมูลโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำดอนสะโฮง” ใน 5 จังหวัด ได้แก่ อุบลราชธานี นครพนม เชียงราย หนองคาย และ เลย ตามลำดับ และในวันที่ 7 มกราคม ศกนี้ กำหนดจะจัดเวที ณ สโมสรทหารบก กรุงเทพมหานคร

เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ได้ติดตามกระบวนการดังกล่าวมาอย่างใกล้ชิด และเคยมีจดหมายไปยังกรมทรัพยากรน้ำและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ดำเนินกระบวนการอย่างมีส่วนร่วม โปร่งใส ทำหน้าที่ของหน่วยงานรัฐเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนที่พึ่งพาทรัพยากรแม่น้ำโขงในการดำรงชีพ มิใช่เพียงจัดให้แล้วเสร็จไปโดยเร็ว หรือเป็นเพียงเครื่องมือของอุตสาหกรรมเขื่อนและกลุ่มทุน

อย่างไรก็ตาม พบว่าข้อเรียกร้องต่างๆ ของเครือข่ายฯ ไม่ได้นำมาปฏิบัติแต่อย่างใด เวทีที่จัดทั้ง 5 ครั้ง เป็นเพียงการบอกกล่าว “ให้ข้อมูลโครงการ” แต่ถึงกระทั้นผู้จัดก็ยังไม่สามารถให้ข้อมูลผลกระทบอย่างกระจ่างชัด โดยเฉพาะผลกระทบข้ามพรมแดนที่จะเกิดขึ้น ไม่สามารถตอบคำถาม ข้อกังวลของชาวบ้านได้ และไม่มีเหตุอันใดที่จะทำให้เชื่อว่า กระบวนการนี้จะนำไปเป็นพื้นฐานในการพิจารณาและตัดสินใจในโครงการเขื่อนที่จะสร้างผลกระทบร้ายแรงต่อระบบนิเวศแม่น้ำโขงซึ่งเป็นทรัพยากรอันทรงคุณค่าของภูมิภาค

นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานเครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง-ล้านนา กล่าวว่า “ประชาชนในลุ่มน้ำโขง คนที่อาศัยริมโขง เราได้แสดงจุดยืนชัดเจนตั้งแต่ต้นแล้วว่า ไม่เอาเขื่อน ไม่ว่าจะเป็นเขื่อนตอนบนในจีน หรือเขื่อนตอนล่าง การจัดเวทีง่ายๆ เชิญคนไม่กี่คนมานั่งฟัง ไม่มีรายงานผลกระทบข้ามพรมแดน ไม่ดูภาพรวมของเขื่อนบนแม่น้ำโขงทั้งหมด ตั้งแต่จีน และ 11 เขื่อนตอนล่าง แบบนี้ก็เป็นแค่พิธีกรรมเท่านั้น”

นอกจากนี้ การจัดประชุม ในวันที่ 7 มกราคม ยังใช้สถานที่สโมสรทหารบก เป็นการตอกย้ำว่า กรมทรัพยากรน้ำปราศจากความจริงใจและไม่ให้ความสำคัญต่อการมีส่วนร่วมของประชาชนไทยในฐานะผู้มีส่วนได้เสียจากโครงการ และทำให้บรรยากาศในการเข้าร่วม และแสดงออกต่อข้อกังวล ไม่สามารถเป็นไปได้อย่างมีเสรีภาพ

ด้วยเหตุผลดังกล่าวพวกเราจึงไม่เห็นด้วย และไม่เข้าร่วมเวทีในครั้งนี้

แม่น้ำโขง เป็นดั่งมารดาของประชาชนอย่างน้อย 60 ล้านคนในลุ่มน้ำตอนล่าง เฉพาะในประเทศไทยก็กินพื้นที่ถึง 8 จังหวัด ทั้งในภาคเหนือและภาคอีสาน มิใช่สมบัติส่วนตัวของผู้หนึ่งผู้ใด การตัดสินใจใดๆ ต่อแม่น้ำโขง จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอยู่บนฐานของข้อมูลที่เพียงพอ กระบวนการที่โปร่งใส และเป็นประชาธิปไตย

เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ยืนยันข้อเรียกร้องในการจัดกระบวนการปรึกษาหารือ (Prior Consultation) ตามข้อตกลงแม่น้ำโขง พ.ศ.2538 ดังนี้

  1. ให้ขยายระยะเวลาการจัดทำกระบวนการปรึกษาหารือ ออกไปอีกมากกว่า 6 เดือน เพื่อให้เพียงพอที่จะดำเนินการให้ได้ข้อมูลที่รอบด้านในการประกอบการตัดสินใจ
  2. ให้มีการจัดเวทีการปรึกษาหารือในพื้นที่ 8 จังหวัดริมแม่น้ำโขงอย่างครอบคลุม อย่างน้อย 1 เวที ในทุกอำเภอริมแม่น้ำโขง โดยให้ประกาศล่วงหน้า เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่สามารถลงทะเบียนเข้าร่วมได้อย่างกว้างขวาง
  3. ให้มีการแปลเอกสารโครงการเขื่อนดอนสะโฮง และข้อมูลที่เกี่ยวข้องเป็นภาษาไทย โดยต้องเป็นข้อมูลที่เพียงพอในการพิจารณาตัดสินใจเกี่ยวกับโครงการ เพื่อเผยแพร่ล่วงหน้าอย่างน้อย 30 วัน ในแต่ละเวทีดังกล่าวข้างต้น เพื่อให้ประชาชนสามารถทำความเข้าใจ และเข้าร่วมแสดงความเห็นอย่างมีประสิทธิภาพ
  4. ให้ผู้ลงทุนเอกชน เจ้าของโครงการ และหน่วยงานที่รับผิดชอบ ส่งผู้แทนเข้าร่วมเวทีเพื่อตอบคำถามจากประชาชนให้รอบด้าน
  5. ให้ดำเนินการบนฐานของการเคารพต่อสิทธิชุมชน การมีส่วนร่วมของประชาชน และการป้องกันผลกระทบ โดยเฉพาะชุมชนที่อาจต้องแบกรับภาระต้นทุนและผลกระทบของโครงการในระยะยาว
  6. ให้ปฏิบัติตามกฎหมายที่กำหนดในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชน ทั้งของประเทศไทย ในภูมิภาค และในระดับสากล อย่างเคร่งครัด

 

 

 

 

เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง (The Network of Thai People in Eight Mekong Provinces)

สำนักงานเครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง-ล้านนา

62 ม.8 .เวียงแก้ว อ.เชียงของ จ.เชียงราย

อีเมล thaimekongpeople@gmail.com

 

 

.

On Key

Related Posts

ผู้เชี่ยวชาญเตือนฤดูฝนหน้าลุ่มน้ำกก-ลุ่มน้ำสายเสี่ยงสึนามิโคลนอีก เหตุทำเหมืองต้นน้ำ แนะเร่งทำจุดตรวจวัดชายแดน เผยยังไม่มีหน่วยราชการตรวจสอบระบบนิเวศ ชาวบ้านท่าตอนยังกังวลน้ำกกขุ่น

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2568 ดร.ธนพล พิมาน หัวหน้าฝ่Read More →

ชุมชนในป่าเครียดหนักเหตุรัฐแก้ปัญหาเหมารวม-ห้ามเผาแบบไม่แยกแยะ ไฟป่า-ไฟเกษตร หวั่นวิกฤตอาหารบนดอย สส.ปชน.ชี้รัฐผูกขาดจัดการทรัพยากรนำสังคมสู่วิกฤต

เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2568 ที่ห้องประชุมคณะสังคมศาRead More →

เผยเปิดหน้าดินนับพันไร่ทำเหมืองทองต้นน้ำกก สส.ปชน.ยื่น กมธ.ที่ดินสอบ หวั่นคนปลายน้ำตายผ่อนส่งจี้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาผลกระทบข้ามแดน ผวจ.เชียงรายสั่งตรวจคุณภาพน้ำ 24 มี.ค.

เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2568 นายสมดุลย์ อุตเจริญ สส.Read More →

ลาวดำเนินคดีอดีตรองผู้ว่าการไฟฟ้าลาว-ผู้รับเหมาฐานฉ้อโกงเหตุสร้างเขื่อนไม่แล้วเสร็จ-เกินเวลานาน เผยโครงการได้รับสินเชื่อจากธนาคารกรุงไทย

เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2568 สำนักข่าวลาว Laotian TiRead More →