เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2558 ตัวแทนชุมชนจากรัฐฉาน คะเรนนี กะเหรี่ยง และมอญ ได้ร่วมกันยื่นจดหมายต่อกระทรวงพลังงานไฟฟ้าแห่งพม่าและสถานเอกอัครราชทูตจีนและไทยในกรุงย่างกุ้ง ประเทศพม่า เพื่อเรียกร้องให้ยุติโครงการเขื่อนในแม่น้ำสาละวินโดยทันที เนื่องจากเป็นตัวเร่งให้เกิดสงครามและละเมิดสิทธิของคนในพื้นที่
นอกจากนี้เครือข่ายแม่น้ำพม่า (Burma Rivers Network) ได้ออกแถลงการณ์โดยระบุว่าได้มีการลงนามเมื่อปีที่แล้ว โดยประชาชนกว่า 61,000 คนและ 131 หน่วยงาน รวมทั้งพรรคการเมือง คัดค้านแผนการสร้างเขื่อนสาละวินซึ่งประกอบด้วย เขื่อนกุ๋นโหลง เขื่อนหนองผา และเขื่อนท่าซาง/ไมตงในรัฐฉาน เขื่อนยวาติ๊ดในรัฐคะเรนนี และเขื่อนฮัตจีในรัฐกะเหรี่ยง
ในแถลงการณ์ระบุว่า รัฐบาลพม่ารวมทั้งผู้ลงทุนจากจีนและไทยกำลังเร่งผลักดันโครงการเขื่อนเหล่านี้ แม้จะยังมีสงครามความขัดแย้งอย่างต่อเนื่องตามริมน้ำสาละวิน ส่งผลให้ประชาชนหลายหมื่นคนต้องอพยพออกจากพื้นที่ที่คาดว่าจะถูกน้ำท่วม ในเดือนตุลาคม 2557 กองทัพพม่าปฏิบัติการโจมตีรอบพื้นที่เขื่อนฮัตจีในรัฐกะเหรี่ยง เป็นเหตุให้มีชาวบ้านอีกกว่า 2,000 คนต้องอพยพหลบหนี และมีการสู้รบอย่างต่อเนื่องใกล้กับพื้นที่โครงการเขื่อนหนองผาและเขื่อนกุ๋นโหลงในรัฐฉาน อย่างไรก็ดี การก่อสร้างเขื่อนกุ๋นโหลงกำลังเริ่มต้นขึ้นแล้ว ทั้งนี้เพื่อส่งไฟฟ้าไปขายให้กับจีน
นายจายเคอแสง สมาชิกเครือข่ายแม่น้ำพม่า กล่าวในแถลงการณ์ว่า การควบคุมทรัพยากรธรรมชาติเป็นหนึ่งในสาเหตุระดับรากเหง้าของสงครามภายในประเทศพม่า การเอาแม่น้ำสาละวินไปขายก่อนจะนำประเด็นความขัดแย้งเหล่านี้มาสู่โต๊ะเจรจา จะเร่งให้ความขัดแย้งรุนแรงมากขึ้น ทั้งนี้โครงการเขื่อนสาละวินจะผลิตไฟฟ้ากว่า 15,000 เมกะวัตต์ ส่วนใหญ่ส่งให้กับจีนและไทย ในขณะที่ประชาชนหลายล้านคนตามริมน้ำในพม่าจะได้รับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมจากโครงการเหล่านี้ อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมามีการเตรียมการสร้างเขื่อนโดยขาดความโปร่งใส ไม่เคารพต่อสิทธิของชุมชนที่ได้รับผลกระทบ การเพิ่มกำลังทหารและมาตรการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวดรอบพื้นที่เขื่อน เป็นเหตุให้บุคคลภายนอกแทบไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับโครงการนี้ได้
นายจายเคอแสงกล่าวว่า ถนนที่สร้างสำหรับโครงการเขื่อนกุ๋นโหลงส่งผลให้ประชาชนในกว่า 60 หมู่บ้านถูกเวนคืนที่ดิน มีการทำลายพื้นที่ทำกินและทรัพย์สิน พื้นที่ในเขตที่อาจถูกน้ำท่วมเนื่องจากเขื่อนกำลังประสบปัญหาการตัดไม้ทำลายป่าอย่างกว้างขวาง รวมทั้งการทำเหมืองของบริษัทที่มีสายสัมพันธ์กับทหาร โดยเขื่อนเหล่านี้สร้างผลกระทบใหญ่หลวงต่อการไหลของน้ำ การประมง และการเกษตรในด้านท้ายน้ำ แต่กลับไม่มีการเปิดเผยข้อมูล หรือไม่มีการชี้แจงว่าจะมีความเสี่ยงกรณีที่เขื่อนแตกอย่างไร เป็นเขื่อนที่ถูกสร้างบริเวณที่เสี่ยงต่อแผ่นดินไหว ทำให้ชุมชนด้านท้ายน้ำต้องหวาดหวั่นว่าอาจมีการแตกของเขื่อนอย่างฉับพลันและส่งผลให้น้ำท่วม
“รัฐบาลไม่ควรให้ความสำคัญกับความต้องการด้านพลังงานของประเทศเพื่อนบ้าน เหนือความมั่นคงและการพัฒนาที่ยั่งยืนของประชาชนของตนเอง” จายเคอแสงกล่าว และว่าบริษัทระหว่างประเทศที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเขื่อนสาละวินประกอบด้วยบริษัท กฟผ. อินเตอร์เนชันแนล จำกัด (EGAT International Co.Ltd) ของไทย China Three Gorges Corporation, Hanergy Holding Company, Hydrochina Corporation และ China Datang Overseas Investment Co.Ltd ของจีน ส่วนบริษัทในพม่าประกอบด้วย International Group of Entrepreneurs Co. Ltd, Shwe Taung และ Asia World
—-
English version
Ethnic communities: Salween dams are fuelling war and must be stopped.
Ethnic communities: Salween dams are fuelling war and must be stopped