Search

สันติภาพในพม่าท่ามกลางสงคราม ก้าวหน้าหรือถอยหลัง

knpp1

ท่ามกลางกระแสความเปลี่ยนแปลง การลงทุนจากต่างชาติ นักท่องเที่ยวแห่ไหลทะลักเข้าพม่าอย่างคึกคักในฐานะประเทศเปิดใหม่ ในอีกมุมหนึ่งของดินแดนชนกลุ่มน้อย เสียงร่ำไห้ของผู้ลี้ภัยนับแสนยังคงดังระงม การละเมิดสิทธิมนุษยชนยังคงเกิดขึ้นในประเทศนี้ การลงนามหยุดยิงท่ามกลางสงครามความขัดแย้งจะเป็นทางออกปูทางไปสู่สันติภาพในพม่า หรือนำประเทศถอยลงคลอง?

สันติภาพไม่คืบ

พม่าประกอบด้วยกลุ่มชาติพันธุ์หลากหลาย 135 เชื้อชาติ ความขัดแย้งทางเชื้อชาติ สงครามการเมืองเริ่มส่อเค้าตั้งแต่ได้รับเอกราชจากอังกฤษในปี 2491 แต่สถานการณ์ทางการเมืองของพม่าก็ยังสามารถเดินไปได้ต่อ จนมาถึงในปี 2505 ที่นายพลเนวินยึดอำนาจ ทำให้พม่าเข้าสู่ยุคมืดอย่างแท้จริง ชนกลุ่มน้อยหลายกลุ่มเข้าป่า ตั้งกองทัพจับอาวุธขึ้นสู้กับกองทัพพม่า หรือ ตั้ดม่ะด่อว์ ทั้งสองฝ่ายจึงเป็นไม้เบื่อไม้เมารบกันไม่รู้จบสิ้นยาวนานกว่า 60 ปี เป็นอีกประเทศที่มีประวัติศาสตร์ความขัดแย้งที่ยาวนานที่สุดในโลก แต่หลังได้นายพลเต็งเส่งเข้ามาบริหารประเทศในปี 2554 ผู้นำคนใหม่ได้ประกาศจะสร้างสันติภาพและความปรองดองให้เกิดขึ้นในประเทศนี้ และเรียกร้องให้ชนกลุ่มน้อยทุกกลุ่มหันหน้ามาเจรจากันกับรัฐบาล แทนที่จะถืออาวุธห้ำหั่นกัน

แผนกระบวนการสร้างความปรองดองของรัฐบาลพม่ากับชนกลุ่มน้อย หลักๆ มีอยู่ 3 ขั้นคร่าว ๆ คือ 1.การเจรจาในระดับรัฐ (State Level) ซึ่งรวมถึงการลงนามหยุดยิงเบื้องต้น ตั้งสำนักงานประสานงาน และไม่เคลื่อนย้ายกำลังหรืออาวุธเข้าไปในดินแดนของอีกฝ่าย ขั้นที่ 2. (Union Level) หรือการเจรจาในระดับประเทศ คือ การสร้างความเชื่อมั่นให้เป็นรูปธรรม การพัฒนาการศึกษา สาธารณสุขและโครงข่ายการสื่อสาร ส่วนกระบวนการขั้นสุดท้ายคือ การลงนามหยุดยิงทั่วประเทศ และตามมาด้วยการเจรจาทางการเมือง(Political Dialogue)

ด้วยความหวังใหม่และความตั้งใจที่จะยุติสงครามในประเทศ ในคาบเกี่ยวระหว่างปี 2554 – 2555 ทำให้ชนกลุ่มน้อยหลายกลุ่มทยอยลงนามหยุดยิงเบื้องต้นกับรัฐบาล

จากการรวบรวมข้อมูลของคณะสังเกตการณ์สันติภาพ (Myanmar Peace Monitor) ซึ่งเป็นโครงการของสำนักข่าว BNI (Burma News International) พบว่า ในพม่านั้น มีกลุ่มติดอาวุธชนกลุ่มน้อยอยู่ 48 กลุ่ม ซึ่งในจำนวนนี้รวมถึงกลุ่มที่กลายสภาพเป็นกองกำลังรักษาชายแดน(Border Guard Force) 12 กลุ่ม กองทัพชาวบ้าน (People Military Force) 8 กลุ่ม และกองกำลังจัดตั้งพิเศษ (Special Arrangement Groups) 11 กลุ่ม ซึ่งทั้ง 3 กลุ่มที่กล่าวมานี้ มีความใกล้ชิดอันดีกับกองทัพพม่า ขณะที่ชนกลุ่มน้อยติดอาวุธที่สู้รบและต่อต้านกับกองทัพพม่าในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา บางกลุ่มเคยลงนามหยุดยิงและกลับมารบกันอีก มีอยู่ด้วยกัน 17 กลุ่ม จนถึงขณะนี้ 14 กลุ่มนั้น ได้ลงนามหยุดยิงกับรัฐบาลเต็งเส่งแล้ว ขณะที่อีก 3 กลุ่ม ที่ยังไม่มีการลงนามหยุดยิงกับรัฐบาลพม่าคือ กองทัพเอกราชคะฉิ่น(Kachin Independence Army-KIA) กองทัพอาระกัน(Arakan Army-AA) ซึ่งเป็นพันธมิตรกับ KIA และกองกำลังปลดปล่อยดาระอั้ง (Ta’ang National Liberation Army-TNLA) ซึ่งทั้งสามกลุ่มเคลื่อนไหวอยู่ในพื้นที่รัฐคะฉิ่นและในรัฐฉาน

หลังแต่งตั้งทีมเจรสาสันติภาพกับชนกลุ่มน้อยขึ้นมา และนับตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา ฝ่ายรัฐบาลและชนกลุ่มน้อยได้มีการหารือกันอยู่เป็นระยะๆ โดยรัฐบาลพม่าแยกการเจรจากับชนกลุ่มน้อยเป็นรายๆไป ความก้าวหน้าในการเจรจาของแต่ละกลุ่มกับรัฐบาลพม่าจึงแตกต่างกันออกไป ชนกลุ่มน้อยบางกลุ่มยังเจรจาอยู่ในระดับรัฐ แต่กลุ่มติดอาวุธส่วนใหญ่เจรจาอยู่ในระดับประเทศแล้ว

โดยทั้งฝ่ายรัฐบาลและชนกลุ่มน้อยต่างยื่นและเสนอข้อเรียกร้องต่ออีกฝ่าย แม้ข้อเสนอของชนกลุ่มน้อยติดอาวุธในแต่ละกลุ่มจะมีความแตกต่างกันออกไป อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอส่วนใหญ่ที่เห็นพ้องตรงกันก็คือ การสร้างสันติภาพ การเรียกร้องปกครองตนเอง การเปลี่ยนประเทศไปสู่ระบอบสหพันธรัฐ การก่อตั้งกองทัพสหพันธรัฐ และการให้ทุกชาติพันธุ์มีสิทธิ์เสรีภาพเท่าเทียมกัน โดยชนกลุ่มน้อยเห็นชอบให้ยึดเอาแนวทางสัญญาป๋างโหลง

 

knpp2

อย่างไรก็ตาม แม้การเจรจาบนโต๊ะจะดำเนินไป แต่การหันหน้าเจรจาของทั้งสองฝ่ายต้องชะงักอยู่หลายครั้ง เนื่องจากยังคงเกิดการสู้รบในหลายรัฐของชนกลุ่มน้อย ยกตัวอย่างเช่น กองทัพพม่าได้ปะทะกับกองทัพรัฐฉาน RCSS/SSA รวมทั้งสิ้นไม่น้อยกว่า 150 ครั้ง ถึงแม้จะมีการลงนามหยุดยิงระหว่างทั้งสองฝ่ายแล้วก็ตาม สิ่งที่ชนกลุ่มน้อยแสดงความกังวลใจอีกเรื่องหนึ่งก็คือ กองทัพพม่าได้เคลื่อนไหวเข้าไปในพื้นที่ชนกลุ่มน้อย ในเขตที่ไม่เคยเข้าไปถึงมาก่อน รวมถึงมีการตั้งฐานทัพและขนอาวุธเข้าไปมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ การทำสงครามกับทหารคะฉิ่น KIA ทหารไทใหญ่ SSA/SSPP และกองกำลังปลดปล่อยดาระอั้ง TNLA ในรัฐคะฉิ่นและทางภาคเหนือของรัฐฉานนั้นยังคงรุนแรงอย่างต่อเนื่อง ชาวคะฉิ่นนับแสนคนต้องกลายเป็นผู้ลี้ภัย นี่จึงเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ชนกลุ่มน้อยยังขาดความเชื่อใจต่อรัฐบาลพม่าและกองทัพพม่าว่ามีความจริงใจมากน้อยแค่ไหนที่จะเจรจาสันติภาพ

แต่เหตุการณ์ที่เหมือนจะสั่นคลอนการเจรจาสันติภาพกับชนกลุ่มน้อยมากที่สุด เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน ปี 2557 เมื่อกองทัพพม่าได้ยิงปืนใหญ่ใส่ค่ายฝึกทหารของกองทัพคะฉิ่น KIA ทำให้มีทหารใหม่เสียชีวิตทันที 23 นาย และบาดเจ็บอีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งทหารทั้งหมดที่เสียชีวิตเป็นทหารจาก 4 กองทัพชนกลุ่มน้อยที่เป็นพันธมิตรและมาร่วมฝึกทหารกับ KIA เหตุการณ์ครั้งนี้ ทำให้ KIA ยกเลิกทุกนัดเจรจากับทางฝ่ายพม่า และทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายพม่าและชนกลุ่มน้อยที่เริ่มกลับมาหันหน้าเจรจาเมื่อ 4 ปีก่อน อยู่ในจุดที่เรียกว่าย่ำแย่ที่สุด ส่งผลให้แผนการลงนามหยุดยิงทั่วประเทศภายในปี 2557 จึงไม่เกิดขึ้น

แต่ท่าทีของรัฐบาลพม่า และกองทัพพม่าล่าสุด ในการพบกับตัวแทนของกลุ่มติดอาวุธชนกลุ่มน้อย 12 กลุ่ม เมื่อวันที่ 4 มกราคมที่ผ่านมา ซึ่งตรงกับวันประกาศเอกราชของพม่าจากรัฐบาลอังกฤษ ดูเหมือนต้องการที่จะให้มีการลงนามหยุดยิงทั่วประเทศ ภายในวันที่ 12 ของเดือนกุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้ ซึ่งตรงกับวัน “สหภาพ” ซึ่งเป็นวันที่มีการลงนามสัญญาป๋างโหลงระหว่างนายพลอองซานและผู้นำชนกลุ่มน้อย หากมีการลงนามหยุดยิงแล้ว รัฐบาลพม่าเผยจะเริ่มการเจรจาทางการเมือง(Political Dialogue)ในเดือนมีนาคมนี้ทันที เต็งเส่งยังระบุว่า ต้องการผลักดันให้เกิดสันติภาพก่อนอำลาตำแหน่งและก่อนเลือกตั้งปลายปีนี้ ส่วนพลเอกมิ้นอ่องหลาย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกองทัพพม่ากล่าวว่า จะหนุนการทำงานของรัฐบาลเต็งเส่ง และเพื่อความสงบ ความมั่นคง ความโปร่งใสในการทำงาน กองทัพจะทำตามกรอบภายใต้กฎหมาย

 

ไทยใหญ่

ชนกลุ่มน้อยกับรัฐธรรมนูญปี 2008

การสร้างสันติภาพที่ดูเหมือนจะไม่ก้าวหน้ามากนัก นอกจากเหตุสู้รบที่ทำลายความเชื่อใจระหว่างทั้งสองฝ่ายแล้ว ดร.จายหลาวแลง จากองค์กรสหภาพ (Pyidaungsu Institute) สำนักงานในย่างกุ้ง ซึ่งเป็นเป็นตัวแทนองค์กรชนกลุ่มน้อยหลายกลุ่มที่ทำงานด้านการเมืองให้สัมภาษณ์กับสำข่าวไทใหญ่ Panglong ว่า สิ่งที่ทำให้การเจรจาชะงัก นั่นคือทั้งสองฝ่ายต่างเร่งรีบในการดำเนินการและต้องการให้เกิดผลในระยะเวลาอันสั้น นอกจากนี้ต่างฝ่ายต่างยื่นข้อเสนอเดิม ทำให้ไม่มีทางเลือกหลากหลาย และแนะว่า ควรจะมีองค์กรที่สามเข้ามาช่วยเหลือและไกล่เกลี่ยระหว่างทั้งสองฝ่ายเป็นต้น ขณะที่นักวิเคราะห์บางส่วนยังมองว่า การสร้างสันติภาพในพม่าจะไม่เกิดขึ้นระยะเวลาอันสั้นนี้ นอกจากนี้กฎหมายบางข้อยังเป็นอุปสรรคต่อชนกลุ่มน้อย เช่น กฎหมายข้อที่ 17/1 ที่ระบุว่า กลุ่มติดอาวุธชนกลุ่มน้อยนั้นเป็นกลุ่มผิดกฏหมาย ด้าน จายนุต ผู้นำจากพรรคหัวเสือของไทใหญ่(Shan National League for Democracy – SNLD) และกลุ่ม ABSDF (แนวร่วมประชาธิปไตยของมวลนักศึกษาพม่า) แสดงความคิดเห็นตรงกันว่า กฎหมายข้อที่ 17/1 กีดกันไม่ให้ประชาชนกล้าเข้ามาทำงานร่วมมือกับกลุ่มติดอาวุธ รวมถึงไม่กล้าเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการสร้างสันติภาพ เป็นอุปสรรคต่อการทำงานและการเคลื่อนไหวของกลุ่มติดอาวุธ

ในขณะที่รัฐบาลวางแผนไว้ว่า หากการลงนามหยุดยิงทั่วประเทศประสบความสำเร็จ ทางรัฐบาลนั้นมีแผนที่จะให้ชนกลุ่มน้อยดำเนินตามแนวทางปลดอาวุธ เลิกเคลื่อนไหว กลับคืนสู่สังคม (Disarmament, Demobilization and Reintegration : DDR) หรือให้ชนกลุ่มน้อยกลายสภาพเป็นพรรคการเมือง โดยเสียงสะท้อนของชนกลุ่มน้อยส่วนใหญ่ระบุอาจไม่สามารถทำได้หากวางอาวุธโดยทันที เพราะไม่มีหลักประกัน นอกจากนี้ ยังติดขัดข้อกฎหมาย 17/1 ในประเด็นนี้ทั้งสองฝ่ายอยู่ระหว่างที่จะหารือกันในอนาคต ว่าจะหาทางออกให้สถานะไหนกับกลุ่มติดอาวุธในช่วงที่มีการเจรจาสันติภาพ และหลังการสร้างสันติภาพสำเร็จ ขณะที่เมื่อมาดูข้อเรียกร้องของชนกลุ่มน้อยให้จัดตั้งกองทัพสหพันธรัฐนั้นมีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน นายล่าหม่องฉ่วย ที่ปรึกษาทีมเจรจาสันติภาพพม่ามองว่า กองทัพพม่านั้นมีกำลังพลกว่า 450,000 นาย ในขณะที่กำลังพลของชนกลุ่มน้อยรวมกันทั้งหมดมีอยู่ราว 100,000 นาย การที่จะยุบกองทัพพม่าเพื่อไปร่วมกับกองทัพสหพันธรัฐแทบจะเป็นไปได้ยาก และกองทัพพม่าไม่ยอมรับข้อเสนอนี้ แล้วข้อเรียกร้องอื่นๆทั้งการปกครองในระบอบสหพันธรัฐและการปกครองตนเองจะสามารถทำได้จริงหรือ หากไม่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2008

 

knu1

นอกจากนี้ ยังมีข้อกฎหมาย 436 ที่หลายฝ่ายเห็นว่ายังเป็นอุปสรรคต่อการปฏิรูปในประเทศพม่า หากสามารถแก้ไขมาตราข้อนี้ได้ ก็จะนำไปสู่การแก้ไขข้ออื่นๆได้ แม้ที่ผ่านมาทางพรรคเอ็นแอลดีและกลุ่มนักศึกษาปี 1988 จะสามารถล่ารายชื่อจากทั่วประเทศได้เกือบ 5 ล้านที่ต้องการแก้ไขมาตราข้อนี้ แต่รัฐบาลกลับไม่เห็นด้วย โดยระบุเพียงว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะทำได้หลังการเลือกตั้งใหญ่เท่านั้น ซึ่งจะมีขึ้นในปลายปีนี้ ขณะที่มาตราข้อที่ 436 ระบุไว้ว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องได้รับเสียงสนับสนุนจากในรัฐสภา 75 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งที่นั่งในสภาส่วนใหญ่เป็นของทหารและนอมินีของสายทหาร เช่นเดียวกับชนกลุ่มน้อยส่วนใหญ่ยังเห็นว่า รัฐธรรมนูญปี 2008 นั้นให้อำนาจและปกป้องกองทัพมากเกินไป ทางด้าน อู โกโก จี แกนนำนักศึกษาปี 1988 กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ถึงแวลาที่กองทัพควรเปลี่ยนแนวความคิดที่ไม่ให้เปลี่ยนรัฐธรรมนูญ และกองทัพพม่าควรแสดงจุดยืนของตน โดยการลดอิทธิพลเหนือทางการเมือง

เหลือเวลาอีก 1 เดือนที่จะมีการลงนามหยุดยิงทั่วประเทศ ในขณะที่มีรายงานการสู้รบเกิดขึ้นทุกวัน
ล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อวันพฤหัสบดี(15 มกราคม) ที่ผ่านมา ระหว่างกองทัพพม่าและทหารคะฉิ่น KIA ในเขคเมืองผากั้น รัฐคะฉิ่น หลังเกิดเหตุการณ์นี้ นำไปสู่การตั้งคำถามว่า การลงนามหยุดยิงทั่วประเทศจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ ในเมื่อบ้านเมืองยังไม่สงบ มานัม ตูจา จากพรรคประชาธิปไตยรัฐคะฉิ่น (Kachin State Democracy Party) แสดงความคิดเห็นว่า การลงนามหยุดยิงไม่น่าจะเกิดขึ้นในวันที่ 12 ของเดือนหน้า สาเหตุไม่ใช่เฉพาะประเด็นการสู้รบเท่านั้น ยังมีอีกหลายประเด็นที่ทั้งสองฝ่ายยังต้องร่วมกันหาทางออก โดยหากทุกกลุ่มลงนามหยุดยิง แต่ทิ้งหนึ่งกลุ่มไว้เบื้องหลัง นั่นก็แสดงให้เห็นว่า ปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไข มานัม ตูจา มองอีกว่า จะมีการลงนามได้หรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับทางฝ่ายรัฐบาลพม่า (The Union Peace-Making Work Committee -UPWC) และชนกลุ่มน้อยจะประสบความสำเร็จมากน้อยแค่ไหน ในการพบกันอีกครั้งในเดือนมกราคมนี้

อย่างไรก็ตาม อีกด้านหนึ่ง พลโทเจ้ายอดศึก ผู้นำสภากอบกู้รัฐฉาน/กองทัพรัฐฉาน (RCSS/SSA)กลับมองว่า การลงนามหยุดยิงทั่วประเทศควรจะทำเร่งด่วน เพราะหากยืดเวลาออกไปจะไม่ส่งผลดีกับการสร้างสันติภาพ โดยเรียกร้องให้ทุกฝ่ายหันหน้าร่วมมือ เจ้ายอดศึกกล่าวในที่ประชุมของกองทัพ ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 12 – 14 มกราคมที่ผ่านมา จนถึงขณะนี้ ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่า จะมีกลุ่มติดอาวุธกี่กลุ่มที่จะเข้าร่วมลงนามหยุดยิงกับรัฐบาลในเดือนหน้า แต่หากมีการลงนามท่ามกลางสงครามยังดำเนินต่อไป การลงนามหยุดยิงจะมีความหมายหรือไม่ สันติภาพในพม่าจะเกิดขึ้นในเร็วนี้หรือไม่ยังเป็นประเด็นที่ต้องติดตามกันต่อไป

 

บทความโดย หมอกเต่หว่า
ภาพ โลมาอิรวดี

——————————

ชนกลุ่มน้อยที่ลงนามกับรัฐบาลพม่า

1.พรรคปลดปล่อยอาระกัน(Arakan Liberation Party)
2.กองกำลังแนวร่วมแห่งชาติชิน (Chin National Front)
3.กองกำลังโกทูบลอ/(DKBA-5/ Klo Htoo Baw Battalion (Democratic Karen Benovelent Army)
4.พรรคก้าวหน้าแห่งชาติคะเรนนี(Karenni National Progressive Party)
5.สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Union)
6.สภาสันติภาพกองทัพปลดปล่อยชนชาติกะเหรี่ยง (Karen Nation Union/ Karen National Liberation Army Peace Council)
7.กองกำลังสัมพันธมิตรชาติประชาธิปไตย หรือ กองกำลังเมืองลา(National Democractic Alliance Army)
8.พรรครัฐมอญใหม่ (New Mon State Party)
9.สภาสังคมนิยมแห่งชาตินากาลิม (National Socialist Council of Nagaland-Khaplang)
10.องค์กรปลดปล่อยแห่งชาติปะโอ(Pa-O National Liberation Organization)
11.กองทัพรัฐฉานเหนือ/ พรรคก้าวหน้ารัฐฉาน(Shan State Army / Shan State Progress Party)
12.สภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน/กองทัพรัฐฉาน (the Restoration Council of the Shan State/Shan State Army-RCSS/SSA)
13.กองทัพว้า (United Wa State Army/ Party)
14.แนวร่วมประชาธิปไตยของมวลนักศึกษาพม่า(All Burma Students’ Democratic Front)

 

ชนกลุ่มน้อยที่ยังไม่ลงนามหยุดยิงกับรัฐบาลพม่า

1.กองทัพเอกราชคะฉิ่น(Kachin Independence Army-KIA)
2.กองทัพอาระกัน(Arakan Army-AA)
3.กองกำลังปลดปล่อยดาระอั้ง (Ta’ang National Liberation Army-TNLA)

——————————

ขอบคุณข้อมูลจาก
www.mmpeacemonitor.org
www.panglong.org
www.dvb.no
www.irrawaddy.org
www.karennews.org
www.monnews.org

On Key

Related Posts

ผวจ.เชียงรายยังไม่รู้เรื่องน้ำกกขุ่นข้น-เตรียมสั่งการทสจ.ตรวจคุณภาพน้ำ คนขับเรือเผยน้ำขุ่นต่อเนื่องตั้งแต่อุทกภัยใหญ่ 6 เดือนก่อน ผู้เชี่ยวชาญชี้ดินโคลนจากเหมืองทองเสี่ยงสารปรอทปนเปื้อน ระบุการตรวจสอบต้องทำให้ถูกวิธี เก็บตัวอย่างตะกอนดิน-ปลานักล่า

เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2568 นายชรินทร์ ทองสุข ผู้ว่Read More →

กรมควบคุมมลพิษลงพื้นที่เก็บตัวอย่างน้ำกก-ตรวจสารไซยาไนด์เหมืองทอง คาดรู้ผลภายใน 1 เดือน นักวิชาการเผยทหารว้าจับมือจีนแผ่อิทธิพลถึงชายแดนไทยใช้กลยุทธ์คุมต้นน้ำ-สร้างเหมืองกระทบไทย

เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2568 นายชัยวัฒน์ ปันสิน ผู้อRead More →

ผู้ตรวจการแผ่นดินหวั่นโครงการสร้างเขื่อนใหญ่กั้นโขงส่งผลกระทบเขตแดนไทย แนะสร้างกลไกหารือร่วมกับภาคประชาชน กรมสนธิสัญญาอ้างยังตรวจสอบไม่แล้วเสร็จ ภาคประชาชนจวก สนทช.งุบงิบข้อมูลจัดประชุมกรณีเขื่อนสานะคามแล้ว 4 ครั้ง

เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2568 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมRead More →