Search

เคเอ็นยูยังเดินหน้าสู้รบกับพม่า ฉลองวันปฏิวัติกะเหรี่ยง 66 ปีสุดคึกคัก ผู้นำลั่นบ้านเมืองยังอยู่ในเงื่อนไขสงคราม


เมื่อวันที่ 31มกราคม 2558 ที่กองพล 5 บ้านเดปุนุ เมืองมือตรอ รัฐกะเหรี่ยง ประเทศพม่า สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง(Karen National Union-KNU) ได้จัดงานพิธีรำลึกครบรอบ 66 ปี วันปฏิวัติกะเหรี่ยง โดยมีผู้นำคนสำคัญและผู้อาวุโสของสหภาพฯ และกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง(Karen Nation Liberation Army-KNLA) เข้าร่วมอย่างคับคั่ง อาทิ นางซิปโปร่า เส่ง รองประธานสหภาพฯ พล.อ.บอจ่อ แฮ รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด รวมทั้งประชาชนกะเหรี่ยงจากพื้นที่ต่างๆ ทั้งจากฝั่งไทยและพม่าเดินทางมาร่วมงานหลายพันคน โดยตลอด 3 วันมีดนตรีและการแสดงเชิงวัฒนธรรม ทำให้บรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก นอกจากนี้ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนจากประเทศไทยหลายสำนักเดินทางไปร่วมทำข่าว

ในช่วงเช้าเริ่มตั้งแต่ 7.00 น. มีพิธีสวนสนามของเหล่าทัพต่างๆ โดยพล.อ.บอจ่อ แฮ เป็นผู้ตรวจแถวทหาร และมีตัวแทนเยาวชนกะเหรี่ยงกลุ่มต่างๆ ตั้งขบวนรับ ท่ามกลางการเฝ้ารอชมของผู้ร่วมงานหลายพันคน หลังจากนั้นมีการกล่าวรายงานการจัดงานครั้งนี้ และกล่าวให้กำลังใจแก่ทหารและประชาชนกะเหรี่ยงที่ยังยืนหยัดสู้กับผู้รุกราน เพื่อร่วมรำลึกถึงประวัติศาสตร์การลุกขึ้นต่อสู้กับรัฐบาลทหารพม่า

นางซิปโปร่า เส่ง กล่าวในการปราศรัยว่า ขอขอบคุณทหารและประชาชนผู้เสียสละ และผู้นำที่ยืนหยัดต่อสู้ ร่วมกันผ่าอุปสรรคความยากจนแร้นแค้นจนมาถึงวันนี้เป็นเวลาอันยาวนานถึง 66 ปี แม้ที่ผ่านมาเราต้องสูญเสียชีวิต เสียเลือดเนื้อไปสักเท่าไร แต่เรายังหยุดที่จะสู้ไม่ได้ตราบจนกว่าประชาชนกะเหรี่ยงจะได้เสรีภาพ เราจึงต้องสามัคคีร่วมกันผ่าอุปสรรคให้สำเร็จในวันข้างหน้า แม้ขณะนี้อยู่ในช่วงการเจรจากับรัฐบาลพม่า แต่สถานการณ์ยังไม่มีความมั่นคงในการพูดคุยหรือข้อตกลงใดๆ ซึ่งความพยายามของเคเอ็นยู เราต้องการให้ประชาชนกะเหรี่ยงได้รับอิสระ มีเสรีภาพ มีสิทธิเท่าเทียมในฐานะรัฐชาติ สามารถปกครองตนเอง ที่ผ่านมาได้ยื่นข้อเสนอนี้ให้แก่รัฐบาลพม่าแต่เขายังไม่ยอมรับความต้องการของเรา

“ตอนนี้ยังไม่มีสัญญาณที่ชัดเจนจากทางพม่าที่จะนำไปสู่การหยุดยิง เราต้องการให้พม่าแสดงความจริงใจโดยการถอนกำลังทหารออกจากพื้นที่ ซึ่งพม่าไม่มีการดำเนินการตามที่เรียกร้องไป แต่กลับส่งกำลังทหารเพิ่มเข้ามาในพื้นที่ ส่วนในพื้นที่อื่นโดยเฉพาะรัฐฉาน และรัฐคะฉิ่นยังคงมีการสู้รบ ชาวบ้านถูกยิงและมีการข่มขืนผู้หญิง สถานการณ์ที่ยังไม่ปลอดภัยเช่นนี้จึงถือว่าอยู่ในภาวะสงคราม ตอนนี้มีกลุ่มทุนมากมายเข้ามาในพม่า อันมีผลต่อสถานการณ์ทางการเมืองที่กำลังมีการเจรจากับกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ซึ่งยังไม่มีความคืบหน้ามากนัก เพราะเป้าหมายการเจรจาสันติภาพของพม่าคือเพื่อให้เกิดการลงทุนจากต่างประเทศ และเข้าครอบครองทรัพยากรและเข้าปกครองกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ แต่สถานการณ์ในพื้นที่กลับไม่ตอบสนองต่อข้อเรียกร้องของกลุ่มชาติพันธุ์ที่ต้องการความปลอดภัยต่อประชาชนในรัฐกะเหรี่ยงและรัฐอื่นๆ เราจึงต้องร่วมกันสร้างจิตสำนึกแก่คนรุ่นใหม่และให้กำลังใจแก่กันว่าหน้าที่เรายังไม่เสร็จสิ้น เรียกร้องประชาชนกะเหรี่ยงทั้งในประเทศและต่างประเทศให้จับมือร่วมกันสู้เพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย” นางซิปโปร่า กล่าว

ขณะที่พล.อ.บอ จ่อ แฮ รองผู้บัญชาการสูงสุด กล่าวในพิธีว่า การต่อสู้อันยาวนานถึง 66 ปี เป็นการลุกขึ้นสู้เพื่อเพื่อมาตุภูมิ ให้ประชาชนกะเหรี่ยงมีสิทธิ มีความเป็นอยู่ที่สงบสุข การต่อสู้ต้องเสียเลือดเสียเนื้อมากมายมันไม่ใช่เรื่องสนุก เมื่อพม่าใช้กำลังกับเราไม่สำเร็จ จึงหันไปใช้การเจรจาเป็นเครื่องมือในการสู้รบ แม้วิธีที่พม่านำมาใช้จะมีความน่ากลัว แต่เรายังมีความหวังตราบที่ลูกหลานนักปฏิวัติทุกคนยังคงไม่หักหลังบรรพบุรุษ ผู้เสียสละเลือดเนื้อให้พวกเรา ประสบการณ์ที่ผ่านมาจะทำให้เรารับมือและผ่านอุปสรรคนี้ไปได้ แต่ถ้าเราไม่สู้ก็เหมือนเอาเลือดทั้งหมดราดลงบนผืนทราย

พล.อ.บอ จ่อ กล่าวถึงความคืบหน้าการเจรจาสันติภาพว่าในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมายังไม่มีความคืบหน้า แต่กลับมีความกังวลเพิ่มมากขึ้น เพราะที่ผ่านมา 66 ปี พม่าได้ศึกษาหาทางชนะในการต่อสู้มาโดยตลอด การเจรจาสันติภาพครั้งนี้จึงถือเป็นการต่อสู้ครั้งใหม่ที่ไม่ได้สู้กันด้วยปืน พม่ากำลังรบด้วยการเมือง ซึ่งเราได้ยื่นข้อเสนอให้มีการหยุดยิง ลดกำลังทหารออกจากพื้นที่ แต่พม่ากลับส่งกำลังเข้ามาในพื้นที่กะเหรี่ยงมากขึ้น จนเกิดการปะทะหลายครั้ง มีการยึดพื้นที่ชาวบ้าน ซึ่งสถานการณ์ในพื้นที่กองพลต่างๆ มีความแตกต่างกัน สำหรับกองพล 5 ทหารพม่ายังไม่สามารถเข้ามาได้ แต่มีการเพิ่มฐานทหารในแนวเขตเมืองมือตรอ

พล.อ.บอ จ่อ กล่าวว่า แม้ข้อเสนอยังไม่ได้รับการตอบสนอง แต่ยืนยันว่าเราพร้อมที่จะเจรจาเพื่อไปสู่การสร้างสันติภาพ แต่ทางพม่าต้องยอมรับข้อเสนอของกะเหรี่ยง ดังนี้ 1.ต้องมีความชัดเจนในทางปฏิบัติต่อข้อตกลงการหยุดยิง 2.ตกลงพื้นที่ปกครองตนเองของกะเหรี่ยงและชาติพันธุ์ ให้มีสิทธิเสมือนพลเมืองของรัฐชาติหนึ่ง หลังจากนั้นถึงเริ่มการเจรจาในการลงทุนโครงการพัฒนาต่างๆ ร่วมกัน ทว่าที่ผ่านมาพม่ากลับเรงกระบวนการเจรจาเพื่อสร้างภาพความเชื่อถือต่อต่างประเทศว่า สถานการณ์การสู้รบกำลังเดินหน้าสู่สันติภาพ ทั้งที่สถานการณ์ในพื้นที่พม่าไม่เคยตอบรับกับข้อเสนอของกลุ่มชาติพันธ์ุเลย

“การเจรจาหยุดยิงหรือการตกลงสันติภาพกับพม่า กลุ่มเคเอ็นยูจะดำเนินการเพียงกลุ่มเดียวไม่ได้ จำเป็นต้องพูดคุยร่วมกับทุกกลุ่มชาติพันธุ์ภายใต้คณะ ncct อันเป็นกลุ่มที่ทุกชาติพันธุ์จะร่วมกันยื่นข้อเสนอ แต่ในขณะนี้ทางพม่าไม่ยอมรับข้อเสนอใดๆ จากทุกกลุ่มชาติพันธุ์ ยกตัวอย่างข้อเสนอที่ต้องการให้ทางพม่าถอนกำลังทหารในพื้นที่มือตรอที่มีอยู่ประมาณ 80 ฐาน โดยเคเอ็นอยู่ขอให้ปรับลดฐานออกไป 7 ฐาน แต่ทางพม่าไม่ยอดลด แต่กลับเพิ่มทหารเข้ามาอีกกว่า 10 ฐาน” พล.อ.บอ จ่อ แฮ กล่าว

————-

On Key

Related Posts

ผวจ.เชียงรายยังไม่รู้เรื่องน้ำกกขุ่นข้น-เตรียมสั่งการทสจ.ตรวจคุณภาพน้ำ คนขับเรือเผยน้ำขุ่นต่อเนื่องตั้งแต่อุทกภัยใหญ่ 6 เดือนก่อน ผู้เชี่ยวชาญชี้ดินโคลนจากเหมืองทองเสี่ยงสารปรอทปนเปื้อน ระบุการตรวจสอบต้องทำให้ถูกวิธี เก็บตัวอย่างตะกอนดิน-ปลานักล่า

เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2568 นายชรินทร์ ทองสุข ผู้ว่Read More →

กรมควบคุมมลพิษลงพื้นที่เก็บตัวอย่างน้ำกก-ตรวจสารไซยาไนด์เหมืองทอง คาดรู้ผลภายใน 1 เดือน นักวิชาการเผยทหารว้าจับมือจีนแผ่อิทธิพลถึงชายแดนไทยใช้กลยุทธ์คุมต้นน้ำ-สร้างเหมืองกระทบไทย

เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2568 นายชัยวัฒน์ ปันสิน ผู้อRead More →

ผู้ตรวจการแผ่นดินหวั่นโครงการสร้างเขื่อนใหญ่กั้นโขงส่งผลกระทบเขตแดนไทย แนะสร้างกลไกหารือร่วมกับภาคประชาชน กรมสนธิสัญญาอ้างยังตรวจสอบไม่แล้วเสร็จ ภาคประชาชนจวก สนทช.งุบงิบข้อมูลจัดประชุมกรณีเขื่อนสานะคามแล้ว 4 ครั้ง

เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2568 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมRead More →