เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2558 ที่กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กรุงเทพฯ ตัวแทนชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ทองคำ ตำบลเขาเจ็ดลูก อำเภอทับคล้อ จังหวัดพิจิตร นำโดยนางสาวสื่อกัญญา ทีระชาติดำรง ได้เดินทางเข้ายื่นหนังสือถึงอธิบดีกพร.เพื่อขอให้ทบทวนเพื่อรับทราบการเปิดเวทีสาธารณะอันอาจไม่เป็นธรรมกับประชาชนและนำไปสู่ความขัดแย้งรุนแรง
นางสาวสื่อกัญญา กล่าวว่า หลังจากการประชุมคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา มีตัวแทนของกพร.ได้ยืนยันคำสั่งในการจัดเวทีสาธารณะ เรื่องรับฟังความคิดเห็นการดำเนินการตามคำสั่งให้หยุดประกอบโลหะกรรมของบริษัท อัครารีซอร์สเซส (มหาชน) ในวันที่ 11 กุมภาพันธ์นั้น ทางเครือข่ายภาคประชาชนเห็นว่า สมควรระงับเวที เนื่องจากชาวบ้านส่วนมากเกรงกลัวว่าจะเป็นการสร้างความขัดแย้งที่รุนแรงขึ้น เพราะที่ผ่านมาเคยมีเหตุการณ์รุนแรงมากแล้วหลายครั้ง
นางสาวสื่อกัญญากล่าวว่า ขณะนี้ชาวบ้านมีความคิดแบ่งเป็นหลายกลุ่มโดยกลุ่มที่ 1 นั้น เป็นกลุ่มต้องการความเจริญ ต้องการจะให้มีเหมือง กลุ่มที่ 2 รู้ดีว่ากิจการเหมืองเสี่ยงต่อการส่งผลเสียต่อสุขภาพแต่ยังสนับสนุนเพราะมองเรื่องรายได้ แม้จะเจ็บป่วยแต่ยอมพูดเพื่อสนับสนุนเหมืองเพราะกลัวตกงาน กังวลเรื่องรายได้ และกลุ่มที่ 3 ต้องการให้ยุติเหมืองเพราะการนำเอาสุขภาพไปเสี่ยงไม่คุ้มค่า จึงอยากให้ กพร.ทบทวนหรืออย่างน้อยก็ขอให้เปลี่ยนสถานที่จัดเวที จากที่จัดในสองจังหวัด คือ ตำบลท้ายดง อำเภอวังโป่ง จังหวัดเพชรบูรณ์ และอำเภอเขาทรายจังหวัดพิจิตร ก็ขอให้ย้ายมาที่บ้านเขาดิน ตำบลเขาเจ็ดลูก อำเภอทับคล้อ จังหวัดพิจิตร ซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรง เพื่อให้ชาวบ้านได้สะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้น และขอให้มีการนำกองกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจคุ้มครองความปลอดภัยด้วย
“ คือ ตำบลเขาทราย อำเภอเขาทรายนั้น ห่างจากทับคล้อนับ 20 กิโลเมตร เกรงว่าชาวบ้านไม่มีเงินทุนในการเดินทาง เพราะบางคนฐานะยากจน ชาวบ้านกว่า 500 คนที่ทับคล้อเดือดร้อนมาก มีลูกยังเล็กหลายคน ไม่สามารถหาเงินทุนเดินทางไปร่วมเวทีได้ อยากให้อธิบดีเห็นใจแล้วเปลี่ยนสถานที่ เพื่อความเป็นธรรม คำร้องขอของชาวบ้าน แค่ต้องการให้รักษาคนป่วย 250 คนที่ กพร.ระบุว่า อาจมีต้นเหตุมาจากเหมืองเท่านั้น ไม่ได้ต้องการทำประชาพิจารณ์ใดๆ จึงอยากให้ กพร.ประสานหน่วยงานแต่ละแห่งให้มีการจัดที่เดียว เพื่ออำนวยความสะดวกให้ แล้วประสานงานความมั่นคงให้ดูแลความสงบเรียบร้อย” นางสาวสื่อกัญญา กล่าว
นางสาวสื่อกัญญา กล่าวด้วยว่า หากเป็นไปได้ กพร.ไม่ยินยอมจะระงับเวทีก็ขอให้จัดที่หมู่บ้านเขาดิน ตำบลเขาเจ็ดลูก เพื่อให้ชาวบ้านได้เดินทางไปร่วมง่ายดาย และชาวบ้านอีกสองจังหวัด คือ พิษณุโลก และเพชรบูรณ์ ก็จะได้มีโอกาสมาร่วมด้วย แต่เวทีนี้ไม่อยากให้ กพร.เลือกเสียงข้างมาก หรือน้อย อยากให้เห็นใจชาวบ้านที่ป่วยมากกว่า โดยข้อเรียบร้องเดิมที่ชาวบ้านยังยืนยันว่าไม่มีความเป็นธรรม คือ กรณีการเปิดเผยรายละเอียดการป่วยของชาวบ้าน 250 รายที่เหมืองทองคำยังไม่มีการรายงานอย่างเป็นทางการ และกรณีการส่งผลตรวจของเด็กในหมู่บ้านทีไม่มีมูลเหตุการตรวจแต่กลับได้รับผลตรวจอย่างไม่เป็นทางการ ทำให้ชาวบ้านยังตั้งข้อสงสัยถึงความไม่จริงใจของ กพร.และเหมืองทองคำ
ทั้งนี้ตัวแทนกพร.ได้รับหนังสือข้อเสนอของชาวบ้าน โดยระบุว่ายินดีทบทวนตามข้อเสนอ แต่ไม่รับปากว่าจะเปลี่ยนแปลงได้หรือไม่ เพราะสถานการณ์เร่งด่วนดำเนินการได้ยาก จึงขอให้ชาวบ้านได้ดำเนินการประสานถึงผู้ว่าราชการจังหวัดเอง ส่วนเรื่องการเปิดเผยข้อมูลผู้ป่วย 250 รายนั้น เหมืองทองคำต้องใช้ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สาธารณสุข เพื่อเปิดเผย กพร.ไม่มีอำนาจสั่งการหรือเร่งรัด แต่ในวันที 11 คาดว่าจะมีการนำเสนอข้อมูลส่วนดังกล่าว จึงขอให้ประชาชนเข้าร่วมทุกภาคส่วน
อนึ่งผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนการเข้าพบ กพร. ชาวบ้านได้เข้าพบคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เพื่อยื่นหนังสือในกรณีเดียวกัน เพื่อขอให้ กสม.พิจารณาคำสั่งของ กพร.ว่าเป็นไปอย่างชอบธรรมหรือไม่
/////////////////////