
วันที่ 12 ก.พ.2558 เนื่องในวันสหภาพครบรอบ 68 ปี ทางรัฐบาลเต็งเส่งได้เชิญชนกลุ่มน้อย พรรคการเมืองเข้าร่วมงานวันสหภาพ ที่จัดขึ้นที่กรุงเนปีดอว์อย่างยิ่งใหญ่ วันสหภาพของพม่า มีความสำคัญเป็นวันที่นายพลอองซาน ซึ่งเป็นบิดาของนางอองซาน ซูจี ได้ลงนามสัญญาป๋างโหลงร่วมกับผู้นำชนกลุ่มน้อย วันที่ 12 ของทุกปี จึงถูกกำหนดให้เป็นเหมือนวันปรองดองแห่งชาติ ในวันนี้ จึงเป็นวันที่ชาวพม่าอาจจดจำภาพของวีรบุรุษอย่างนายพลอองซาน แต่สำหรับชนกลุ่มน้อยในประเทศ พวกเขาจดจำหลักการที่ถูกเขียนอยู่ในสัญญาป๋างโหลงมากกว่า ที่ระบุว่า ทุกกลุ่มชาติพันธุ์ในพม่ามีความเสมอภาคเท่าเทียม และสามารถแยกตัวออกไปปกครองตนเองหากครบ 10 ปีหลังได้รับเอกราชจากอังกฤษ แต่ฝันนี้ก็ไม่เคยเกิดขึ้นตลอดระยะเวลา 68 ปีที่ผ่านมา
วันสหภาพในปีนี้ ได้รับการจับตามองอย่างเป็นพิเศษ เนื่องจากก่อนหน้านี้ รัฐบาลพม่าวางแผนที่จะให้มีการลงนามหยุดยิงทั่วประเทศ (nationwide ceasefire) ท่ามกลางสงครามที่ยังคงเกิดขึ้นในรัฐคะฉิ่นและในรัฐฉาน มีรายงานว่า 13 กลุ่มติดอาวุธ ได้ปรากฎตัวที่กรุงเนปีดอว์ แต่มีเพียง 4 กลุ่มติดอาวุธชนกลุ่มน้อยเท่านั้น ที่ลงนามกับรัฐบาลพม่าในข้อตกลง การสร้างสันติภาพและความปรองดองแห่งชาติ (Deed of Commitment for Peace and national Reconciliation) 4 กลุ่มที่ลงนามคือ สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Union) สภาสันติภาพกองทัพปลดปล่อยชนชาติกะเหรี่ยง (Karen Nation Union/ Karen National Liberation Army Peace Council) สภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน/กองทัพรัฐฉาน (the Restoration Council of the Shan State/Shan State Army-RCSS/SSA) กองกำลังโกทูบลอ/(DKBA-5/ Klo Htoo Baw Battalion (Democratic Karen Benovelent Army)

โดยมีข้อตกลงร่วมกัน 6 ข้อ ซึ่งการลงนามครั้งนี้ไม่ใช่การลงนามหยุดยิงทั่วประเทศ ส่วนกลุ่มอื่นๆ ที่ไม่ได้ลงนามระบุว่า ไม่ได้รู้ล่วงหน้าเกี่ยวกับข้อตกลงดังกล่าว จึงต้องนำเรื่องนี้ไปหารือกันในกลุ่มก่อนตัดสินใจลงนาม โดยรัฐบาลระบุ การลงนามยังเปิดให้ทางกลุ่มอื่นๆสามารถมาลงนามได้เมื่อพร้อม เนื้อหาในการลงนามครั้งนี้คือ การร่วมกันสร้างสหภาพบนพื้นฐานตามหลักประชาธิปไตยและสหพันธรัฐ การหยุดใช้กำลังทางทหารแก้ปัญหาแต่ให้หันหน้าเจรจาแทน เพื่อจะผลักดันให้เกิดการลงนามหยุดยิงทั่วประเทศให้เร็วที่สุด ซึ่งจะนำไปสู่การเจรจาทางการเมือง โดยการเจรจาทางการเมืองจะต้องเกิดขึ้นก่อนการเลือกตั้งใหญ่ที่จะมีขึ้นปลายปีนี้
การลงนามครั้งนี้ นอกจากกลุ่มติดอาวุธ 4 กลุ่มแล้ว ยังมีพรรคการเมือง 55 พรรค ส.ส.ฝ่ายทำงานด้านชนกลุ่มน้อย 29 คน ฝ่ายรัฐบาล 17 คน ประธานสภา 2 คน และฝ่ายกองทัพพม่าอีก 3 คน เข้าร่วมลงนามด้วย แต่ไร้เงาของพลเอกมิ้นอ่องหล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดกองทัพพม่า เนื่องจากติดภารกิจเดินทางไปยังประเทศมาเลเซีย
ทางด้าน RCSS/SSA ออกแถลงการณ์ในวันนี้ (13 ก.พ.) ว่า ที่ได้ลงนามกับรัฐบาลเพราะเห็นว่า เนื้อหาในข้อตกลงไม่ได้ขัดกับนโยบายของทาง RCSS/SSA อีกทั้งเชื่อว่า จะช่วยสร้างกระบวนการสันติภาพในพม่า นอกจากนี้เพราะต้องการให้พม่าปกครองในระบอบสหพันธรัฐ ที่รับรองให้ทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน มีสิทธิตัดสินใจได้เองอย่างอิสระ จึงได้ลงนามในครั้งนี้ ด้าน มูตู เซ พอ ประธาน KNU กล่าวว่า เหตุที่ตัดสินใจลงนามครั้งนี้ เพราะต้องการผลักดันให้กระบวนการสันติภาพในประเทศดำเนินต่อไป ส่วนล่าหม่องฉ่วย ที่ปรึกษาของรัฐบาลพม่า กล่าวว่า การลงนามครั้งนี้น่าจะเป็นคำมั่นสัญญามากกว่าสนธิสัญญา และเป็นจุดเริ่มต้นของการหารือทางการเมือง
อย่างไรก็ตาม มีหลายกลุ่มติดอาวุธชนกลุ่มน้อยที่ไม่ได้ปรากฎตัวที่เนปีดอว์เมื่อวานนี้ เช่น พรรคก้าวหน้าแห่งชาติคะเรนนี(Karenni National Progressive Party) กองทัพเอกราชคะฉิ่น (Kachin Independence Army – KIA) กองกำลังปลดปล่อยแห่งชาติดาราอั้ง (Ta’ang National Liberation Army- TNLA) กำลังโกก้าง หรือ กองทัพสัมพันธมิตรชาติประชาธิปไตยพม่า (MNDAA-Myanmar National Democratic Alliance Army) ซึ่งทั้ง KIA TNLA และโกก้าง MNDAA ยังคงจับปืนต่อสู้กับกองทัพม่า
ขณะที่สำนักข่าว Panglong รายงานว่า กลุ่ม UNFC – United Nationalities Federal Council (สภาสหพันธรัฐแห่งชาติสหภาพ) ซึ่งเป็นตัวแทนของกลุ่มติดอาวุธชนกลุ่มน้อยที่จะเจรจาสันติภาพกับรัฐบาลที่ผ่านมา กลับไม่ได้รับจดหมายเชิญจากรัฐบาลพม่าให้เข้าร่วมประชุมที่เนปีดอว์เมื่อวานนี้ ไนหงสา จาก UNFC กล่าวว่า นี่อาจเป็นท่าทีของรัฐบาลเนปีดอว์ที่ไม่ยอมรับ UNFC

ทุนเมียตลิน เลขาธิการของกองกำลังโกก้าง MNDAA กล่าวว่า “เมื่อ 60 กว่าปีที่ผ่านมา ชนกลุ่มน้อยได้มีความยินดีลงนามข้อตกลงสัญญาป๋างโหลงร่วมกับรัฐบาล เพื่อให้เกิดความสามัคคี แต่ทุกวันนี้ ข้อตกลงนั้นถูกลืมไปแล้ว เราไม่ได้ชอบสงคราม แต่เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เพราะเราถูกกองทัพพม่าโจมตีมาตั้งแต่ปี 2552” ทุนเมียตลินกล่าว มีรายงานว่า ระหว่างวันที่ 9 – 12 ก.พ.ได้เกิดเหตุปะทะระหว่างกองทัพพม่าและโกก้างถึง 13 ครั้ง
อีกกลุ่มหนึ่งที่ยังคงสู้รบกับกองทัพพม่า ทางภาคเหนือของรัฐฉานอย่าง กองกำลังปลดปล่อยแห่งชาติดาราอั้ง (Ta’ang National Liberation Army- TNLA) ทาปานลา ฝ่ายด้านการต่างประเทศของ TNLA เปิดเผยว่า ทางผู้นำของ TNLA ไม่ได้เข้าไปร่วมที่เนปีดอว์ เนื่องจากขณะนี้กำลังถูกกองทัพพม่าโจมตีอย่างหนัก
“การสู้รบเข้มข้นขึ้นในเดือนนี้ และเราได้เรียนรู้ว่า กองทัพพม่าเองกำลังเตรียมการที่จะโจมตีครั้งใหญ่กับเราอีกครั้ง นั่นจึงทำให้ทางเจ้าหน้าที่ของเราไม่สามารถเข้าร่วมที่เนปีดอว์ได้” ทาปานลา ยังกล่าวโจมตีรัฐบาลเนปีดอว์ว่า ยังใช้วิธีแบบเดิมเหมือนที่รัฐบาลเผด็จการทหารพม่าเคยใช้คือ แบ่งแยกแล้วปกครอง (divide and rule) ในขณะที่เจรจาสันติภาพกับกลุ่มติดอาวุธชนกลุ่มน้อยบางกลุ่ม แต่ในอีกด้านกลับยังทำสงครามกับอีกกลุ่ม “พวกเขาเรียกตัวเอง หรือถูกเรียกว่าเป็น รัฐบาลพลเรือน แต่ที่จริงแล้วพวกเขาคือคนพวกเดียวกัน(กับรัฐบาลทหาร) พวกเขาใช้นโยบายเหมือนกัน วิธีการเหมือนกัน การต่อสู้รุนแรงขึ้น พวกเขาใช้การโจมตีทางอากาศถล่มเรา” ทาปานลานกล่าว
ทางด้านผู้นำคนหนึ่งของ กลุ่ม NCCT (คณะกรรมการประสานงานการหยุดยิงทั่วประเทศ) กล่าวว่า เหตุใดจึงต้องลงนามครั้งแล้วครั้งเล่า ทั้งที่ควรจะถึงเวลาหารือทางการเมืองแล้ว และตั้งข้อสังเกตว่า เหตุใดจึงต้องลงนามข้อตกลง การสร้างสันติภาพและความปรองดองแห่งชาติ (Deed of Commitment for Peace and national Reconciliation) แถมทางฝ่ายรัฐบาลยังระบุว่า กลุ่มไหนพร้อมก็ให้มาลงนาม
ส่วนผู้เชี่ยวชาญด้านพม่าและนักข่าวอาวุโส เบอร์ทิล ลินเนอร์ บอกว่านี่เป็นแค่พิธีปกป้องการขายหน้าต่อนานาชาติของรบ.พม่าเท่านั้น เพราะการสู้รบยังเกิดอยู่ทางภาคเหนือของรัฐฉานและในรัฐคะฉิ่น โดยอาจเรียกได้ว่า กระบวนการสันติภาพนั้นล้มเหลวก็ได้
ที่มา Panglong/Irrawaddy/Tai Freedom /RFA