
รัฐบาลพม่าประกาศกฎอัยการศึกในเขตปกครองพิเศษโกก้าง
รัฐบาลพม่าได้ประกาศภาวะฉุกเฉินและกฎอัยการศึกในเขตปกครองพิเศษโกก้างเมื่อคืนวันอังคาร (17 ก.พ.) เป็นต้นไป หลังการสู้รบระหว่างกองทัพพม่าและโกก้าง หรือ กองทัพสัมพันธมิตรชาติประชาธิปไตยพม่า (MNDAA-Myanmar National Democratic Alliance Army) ยังรุนแรง ล่าสุดในวันเดียวกัน มีรายงานว่า รถบรรทุกของสภากาชาดพม่าซึ่งเดินทางเข้าไปช่วยนำผู้ลี้ภัยออกจากเมืองเหล่ากาย เพื่อไปยังเมืองล่าเสี้ยว ซึ่งมีนักข่าวติดตามไปด้วยถูกกลุ่มไม่ทราบฝ่ายโจมตี มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 2 ราย ขณะที่กองทัพพม่าโจมตีเป็นฝีมือของโกก้าง
การประกาศกฎอัยการศึกเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ในแถลงการณ์ของประธานาธิบดีเต็งเส่ง ระบุว่า แม้รัฐบาลจะประกาศเคอร์ฟิวตั้งแต่วันที่ 12 ก.พ.ที่ผ่านมาแล้วก็ตาม แต่การถูกโจมตีอย่างต่อเนื่องจากโกก้าง จึงทำให้รัฐบาลจำเป็นต้องประกาศกฎอัยการศึกในพื้นที่ นอกจากนี้ยังระบุ เพราะชีวิตของประชาชนตกอยู่ในความเสี่ยง โดยประกาศอฏอัยการศึกเป็นเวลา 3 เดือน
ส่วนแถลงการณ์อีกฉบับที่ออกในวันเดียวกัน ระบุ รัฐบาลได้มอบอำนาจการบริหารให้พลเอกมิ้นอ่องหล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ดูแลในเขตปกครองพิเศษโกก้าง ซึ่งทางพลเอกมิ้นอ่องหล่าย สามารถเลือกเจ้าหน้าที่ ที่เหมาะสมดำเนินการแทนได้ ทั้งนี้ ก็เพื่อฟื้นฟูกฎหมายและความเป็นระเบียบในพื้นที่ให้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ในแถลงการณ์ระบุ
ที่มา Irrawaddy

KNU ออกแถลงการณ์ประณามผู้นำตน ลงนามเมื่อวันที่ 12 ก.พ.กับรัฐบาล ขัดจุดยืนของกลุ่ม
สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง หรือ KNU (Karen National Union) ได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันจันทร์ (17 ก.พ.) ประณามการลงนามในข้อตกลง การสร้างสันติภาพและความปรองดองแห่งชาติ (Deed of Commitment for Peace and national Reconciliation) ซึ่งลงนามโดยนายพล มูตู เซพอ ประธาน KNU และซอ เคว ทู เลขาธิการของ KNU ว่าไม่ได้ทำหน้าที่ตามจุดยืนคณะกรรมการ KNU
นางซิปโปรา เส่ง รองประธาน KNU เปิดเผยว่า การประชุมของกลุ่มเมื่อช่วงต้นเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา จุดยืนของคณะกรรมการ KNU เห็นด้วยที่ให้มีการส่งตัวแทนไปร่วมงานสหภาพที่เนปีดอว์ และเห็นด้วยในข้อที่ว่า หากมีการลงนามใดๆกับรัฐบาล ไม่เฉพาะแต่กลุ่ม KNU เท่านั้นที่ยอมรับได้ ชนกลุ่มน้อยอื่นๆก็จะต้องยอมรับได้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม ทางคณะกรรมการ KNU ได้ตัดสินใจว่าจะยังไม่มีการลงนามในข้อตกลงใดๆ แต่ทางสองผู้นำ KNU กลับลงนามที่ผ่านมา แม้คนอื่นๆไม่เห็นด้วย เรื่องนี้อาจทำให้กลุ่มอื่นๆเข้าใจ KNU ผิด และถือเป็นเรื่องน่ากังวลใจ นางซิปโปรา เส่ง กล่าว
รองประธาน KNU ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า การนำมาซึ่งการหยุดยิงและการเจรจาทางการเมือง ชนกลุ่มน้อยหลากหลายกลุ่มควรที่จะพยายามเป็นหนึ่งเดียวกัน ไม่ใช่แค่หนึ่งหรือสองกลุ่ม โดยยังระบุ สิ่งที่รัฐบาลกำลังทำคือเจรจากับชนกลุ่มน้อยเป็นกลุ่มๆไม่ผ่าน NCCT (คณะประสานงานหยุดยิงของชนกลุ่มน้อย) ซึ่งจะนำไปสู่ความไม่เข้าใจกันระหว่างชนกลุ่มน้อย ทางด้านประธาน KNU มูตู เซพอ ยังไม่ออกมาแสดงความคิดเห็นใดๆเกี่ยวกับเรื่องนี้ การลงนามเมื่อวันที่ 12 ก.พ.ที่ผ่านมา มีเพียงชนกลุ่มน้อย 4 กลุ่มที่ลงนามกับรัฐบาล จากทั้งหมด 13 กลุ่มที่ได้รับเชิญเข้าร่วม
ที่มา DVB

ชายคะฉิ่น ถูกศาลตัดสินมีความผิด หลังฟ้องศาลให้เอาผิดกองทัพพม่าฆ่าลูกสาว
ชายัม บรางเชา ชายชาวคะฉิ่นถูกศาลในเมืองผากั้น รัฐคะฉิ่น ตัดสินว่ามีความผิดเมื่อวันที่ 13 ก.พ.ที่ผ่านมา หลังพยายามฟ้องศาลว่ากองทัพพม่าได้ฆ่าลูกสาววัย 14 ปีของเขา อย่างไรก็ตามในเวลาต่อมา ทางกองทัพพม่าได้ฟ้องกลับนายชายัม บรางเชา ในข้อหาหมิ่นประมาท โดยศาลตัดสินให้เขาติดคุกเป็นเวลา 6 เดือน หรือจ่ายค่าปรับเป็นเงิน 50,000 จั๊ต (ประมาณ 1500 บาท) มีรายงานว่า ชายคะฉิ่นได้รับการปล่อยตัวหลังเสียค่าปรับ แต่เขาวางแผนจะยื่นอุทธรณ์ต่อ
จา แซง อิง เด็กสาววัย 14 เสียชีวิตระหว่างเดินทางกลับจากโรงเรียน เมื่อปี 2555 ในระหว่างที่เกิดเหตุสู้รบระหว่างกองทัพพม่าและกองทัพเอกราชคะฉิ่น KIA แม้มีพยานเห็นเหตุการณ์ว่าทหารพม่าได้ยิงเด็กสาว แต่ทางด้านกองทัพพม่าอ้างว่า เด็กสาวเสียชีวิตจากกับระเบิดของทหารคะฉิ่น KIA ด้านองค์การนิรโทษกรรมเชื่อว่า การตั้งข้อหากลับต่อชายคะฉิ่นผู้นี้ มีแรงจูงใจทางการเมืองเกี่ยวข้อ เนื่องจากเขาร้องเรียนพฤติกรรมของกองทัพพม่า
ที่มา Mizzima