
นักศึกษาประกาศหยุดประท้วงชั่วคราว เหตุนักเรียนชั้นมัธยมมีสอบ
กลุ่มนักศึกษาที่ออกมาประท้วงเรื่องการแก้กฎหมายด้านการศึกษา ที่เดินจากมัณฑะเลย์เพื่อไปยังกรุงย่างกุ้ง ได้ออกประกาศหยุดประท้วงเป็นเวลา 10 วัน จากเดิมมีแผนจะเดินประท้วงระหว่างวันที่ 19 ถึง 28 ก.พ.
โดยนักศึกษาระบุว่า เหตุที่เลื่อนประท้วงออกไป เนื่องจากนักเรียนในชั้นมัธยมมีสอบใหญ่ในช่วงนี้ นอกจากนี้เพื่อให้เวลากับรัฐสภาพม่าพิจารณาแก้ร่างกฎหมายด้านการศึกษาซึ่งได้เข้าสู่สภาเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา โดยนักศึกษาระบุ จะเดินหน้าประท้วงต่อหากรัฐสภาล้มเหลวในการแก้กฎหมายฉบับนี้ มีรายงานว่า นักศึกษาบางส่วนได้รออยู่ที่เมืองเล็ตปะด่อง ภาคพะโคแล้ว
ขณะที่นักศึกษากลุ่มอื่นๆที่มาจากเมืองปะโคะกู่ เมืองมงยวา จากภาคกลางของประเทศ และจากภาคตะนาวศรี ทางภาคใต้ของประเทศ รวมไปถึงจากเมืองมะละแหม่ง รัฐมอญ ได้ออกมาประกาศตั้งแต่เมื่อวันที่ 16 ก.พ.ที่ผ่านมา ว่าจะหยุดประท้วงเป็นเวลา 30 วัน ทั้งนี้ นักศึกษาจากหลายเมืองในประเทศได้ออกมาเดินประท้วง โดยมีจุดหมายปลายทางอยู่ที่ย่างกุ้ง เพื่อนัดรวมตัวกันประท้วงกฎหมายด้านการศึกษาฉบับใหม่ของประเทศ ที่นักศึกษามองว่า ไม่เป็นธรรมและไม่ให้อิสระต่อสถาบันการศึกษาและนักศึกษา นอกจากนี้ถูกมองว่าไม่เป็นประชาธิปไตย
ที่มา DVB/Irrawaddy
สภาสูงพม่าผ่านร่างกฎหมายควบคุมประชากร จำกัดให้ผู้หญิงมีบุตรได้แค่ 1 คนใน 3 ปี
เมื่อวันพุธ (19 ก.พ) สภาสูงพม่าได้ผ่านร่างกฎหมายการควบคุมประชากรเกิดใหม่ ซึ่งจำกัดให้ผู้หญิงในประเทศสามารถมีบุตรได้ในระยะเวลา 3 ปี ต่อบุตร 1 คน ซึ่งร่างกฎหมายนี้เป็น 1 ใน 4 ร่างกฎหมายซึ่งคือ ร่างกฎหมายเกี่ยวกับการเปลี่ยนศาสนา ร่างกฎหมายคู่สมรส ร่างกฎหมายการควบคุมประชากรและด้านสุขภาพ ร่างกฎหมายการแต่งงานของหญิงชาวพุทธ ซึ่งร่างกฎหมายทั้งหมดนี้ถูกเสนอโดยกลุ่มพระสงฆ์พม่าหัวรุนแรงในชื่อ “มาบาท่า”(Ma Ba Tha) และถูกนำเข้าสภาโดยประธานาธิบดีเต็งเส่ง
ก่อนหน้านี้ ข้อเสนอของกลุ่มพระสงฆ์ “มาบาท่า” ที่ห้ามหญิงชายต่างศาสนาแต่งงานกัน หรือการเปลี่ยนศาสนาจะต้องขออนุญาตจากทางการทราบ เป็นต้น กำลังถูกวิพากษณ์วิจารณ์อย่างหนัก ขณะที่เชื่อว่า กฎหมายเหล่านี้ตั้งขึ้นมาเพื่อใช้ควบคุมชาวมุสลิมในประเทศ หลังเกิดเหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างชาวพุทธและชาวมุสลิมเมื่อปีที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตามนักวิเคราะห์บางคนมองว่า กฎหมายเหล่านี้จะได้การสนับสนุนจากชาวพม่า โดยเฉพาะในชาวพุทธชนชั้นแรงงานและชนชั้นกลางที่มีความกังวลเกี่ยวกับการรุกรานของชาวมุสลิม ด้าน ขิ่นส่านโทย จากองค์กร สหภาพสตรีพม่า(Burmese Women Union – BWU) เปิดเผยว่า รู้สึกกังวลใจเกี่ยวกับกฎหมายนี้ ซึ่งจะเป็นการควบคุมและจำกัดสิทธิของผู้หญิงทั้งทางตรงและทางอ้อม และมองว่ากฎหมายเหล่านี้ ต้องการที่จะควบคุมการให้กำเนิดบุตรของผู้หญิงให้เป็นเรื่องถูกต้องตามกฎหมาย มากกว่าที่จะปกป้องผู้หญิงในประเทศ
ที่มา DVB

กลุ่มสิทธิกะเหรี่ยงเผย การละเมิดสิทธิในรัฐกะเหรี่ยงลดลง แต่ชาวบ้านยังผวาเหตุกองทัพพม่าขนเสบียง-อาวุธเข้าพื้นที่ต่อเนื่อง
กลุ่มเพื่อสิทธิมนุษยชนกะเหรี่ยง (Karen Human Rights Group) ได้ออกแถลงข่าวเมื่อวันพุธ (18 ก.พ) ที่ผ่านมา เผยว่า การละเมิดสิทธิมนุษยชนในรัฐกะเหรี่ยงลดลงก็ตาม
แม้ในช่วงระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา หรือหลังการลงนามหยุดยิงระหว่างกองทัพพม่าและสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงหรือ KNU เมื่อปี 2555 แต่กลับพบว่า ทางกองทัพพม่ายังคงเคลื่อนไหวทางทหารอย่างต่อเนื่องและมีดำเนินการอย่างเงียบๆ เช่น การซ่อมแซมปรับปรุงค่ายทหาร การขนย้ายอาวุธ เสบียงอาหาร รวมไปถึงการสร้างถนนเพื่อใช้ในทางทหารในอำเภอตองอู หย่องเลบิ่น ผาปูนและอำเภอ ดูพะยา ทางภาคใต้ของรัฐกะเหรี่ยง
ชาวบ้านในอำเภอตองอูเปิดเผยว่า กองทัพพม่ายังคงขนเสบียงและอาวุธเข้ามาในพื้นที่มากเกินความจำเป็น แม้ว่าจะไม่ได้รบกับ KNU แล้วก็ตาม นอกจากนี้ยังยิงปืนใหญ่ใส่พื้นที่ตั้งของหมู่บ้านเพื่อป้องกันการถูกโจมตีจากทหาร KNU ด้านชาวบ้านในอำเภอผาปู เปิดเผยว่า แม้ทางกองทัพจะลดความเคลื่อนไหวทางทหารในพื้นที่ แต่กลับส่งกองกำลังรักษาชายแดน(Border Guard Force) 2 กองพัน ภายใต้กองทัพพม่าเข้ามาแทน ซึ่งการเคลื่อนไหวทางทหารเหล่านี้ ทำให้ประชาชนในพื้นที่มีความรู้สึกไม่ปลอดภัยและหวั่นสงครามจะเกิดขึ้นอีกครั้ง
ที่มา Mizzima