Search

จับตากระบวนสันติภาพ ในสถานการณ์สู้รบที่ดุเดือดของพม่า

พม่า.1

แม้การลงนามครั้งประวัติศาสตร์ของพม่า จะถูกปรับขนาดเล็กลงจากการลงนามในข้อตกลงหยุดยิงระหว่างรัฐบาลพม่ากับกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์เหลือเพียงข้อตกลงเจรจาทางการเมือง แต่ถือว่าเป็นความคืบหน้าของกระบวนการสันติภาพที่น่าสนใจไม่น้อย

การลงนามครั้งนี้จัดขึ้น ณ กรุงเนปีดอว์ เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ที่ผ่าน ซึ่งตรงกับวันสหภาพ Union Day ของพม่าที่ได้มีการลงนามข้อตกลงครั้งประวัติศาสตร์เมื่อปี 2490

ความขัดแย้งในประเทศพม่าตลอดระยะเวลากว่า 6 ทศวรรษ ทำให้เกิดการสู้รับระหว่างกองทัพพม่าและกลุ่มชาติพันธุ์ ก่อให้เกิดความสูญเสียมากมาย จนกระทั่ง 3 ปีที่ผ่านมาที่รัฐบาลพม่าได้ดำเนินกระบวนการสันติภาพ แม้ยังเป็นที่คลางแคลงใจของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ที่ถามถึงความจริงใจของผู้นำประเทศพม่า

ก่อนหน้านี้รัฐบาลพม่าได้เพียรพยายามเจรจาให้กองกำลังของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆหยุดยิงและแปลงสภาพเป็นกองกำลังพิทักษ์ชายแดน (Border Guard Force – BGF) เพื่อแลกกับผลประโยชน์และการไม่ถูกโจมตีจากทหารพม่า ซึ่งตอนแรกหลายกลุ่มชาติพันธุ์ต่างตกอยู่ในสภาวะจำยอม ทำให้ทหารพม่าสามารถรุกเข้าไปยังหลายพื้นที่ในเขตอิทธิพลของชนกลุ่มน้อย ท้ายที่สุดเมื่อขบวนการเจรจาสันติภาพไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควร โดยเฉพาะในประเด็นการปกครองในรูปแบบสหพันธรัฐ ทำให้การสู้รบรุนแรงปะทุขึ้นอีกครั้งในหลายพื้นที่

ก่อนการลงนามในเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ผู้นำกลุ่มกองกำลังต่างๆ ยังคงมีท่าทีหวาดระแวงรัฐบาลพม่าอย่างชัดเจน ที่สำคัญคือเหตุการณ์สู้รบกันทั้งในรัฐคะฉิ่นและรัฐฉานเหนือของกองกำลังโกก้าง MNDAA (กองทัพสัมพันธมิตรชาติประชาธิปไตยพม่า- Myanmar National Democratic Alliance Army) และดาราอั้ง (Ta’ang National Liberation Army- TNLA) เป็นปัจจัยสำคัญทำให้การลงนามข้อตกลงหยุดยิงถูกแปรสภาพเหลือเพียงการเจรจาทางการเมือง และมีผู้ร่วมลงนามเพียง 4 กลุ่ม

การลงนามสันติภาพระหว่างรัฐบาลพม่าโดยประธานาธิบดีเต็งเส่ง และผู้นำกลุ่มชาติพันธ์ มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า Deed of Commitment for Peace and National Reconciliation หรือ ตราสารพันธกรณีเพื่อสันติภาพและการปรองดองแห่งชาติ

ตราสารดังกล่าวมี 5 ประเด็นสำคัญในเจตนารมณ์สันติภาพมีเป้าหมายที่จะเห็นความสามัคคีของทุก ชาติพันธุ์เพื่อความมั่นคงของชาติ ตามสนธิสัญญาปางโหลงที่เคยลงนามร่วมกันเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2490 หรือ 68 ปีที่แล้ว ที่ให้ทุกชาติพันธุ์มีเสรีภาพและมีสิทธิในการปกครองตนเองตามหลักประชาธิปไตยรูปแบบสหพันธรัฐ ส่วนการหยุดยิงทั่วประเทศ (Nationwide Ceasefire Agreement) จะต้องมีขึ้นในเร็ววันนี้ เพื่อนำไปสู่ขั้นตอนเจรจาทางการเมือง ที่จะให้เปิดเจรจาครั้งแรกก่อนการเลือกตั้งปี 2015 และระหว่างการสร้างสันติภาพจะหลีกเลี่ยงการสู้รบ

4 กลุ่มที่ลงนามคือ สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Union) สภาสันติภาพกองทัพปลดปล่อยชนชาติกะเหรี่ยง (Karen Nation Union/ Karen National Liberation Army Peace Council) สภา เพื่อการกอบกู้รัฐฉาน/กองทัพรัฐฉาน (the Restoration Council of the Shan State/Shan State Army-RCSS/SSA) กองกำลังโกทูบลอ/(DKBA-5/ Klo Htoo Baw Battalion (Democratic Karen Benovelent Army)
ความชัดเจนเรื่องการยอมรับที่จะเปิดเจรจาการเมือง โดยเฉพาะการปกครองแบบสหพันธรัฐ เป็นเหตุผลที่เจ้ายอดศึก ประธานสภากอบกู้รัฐฉานร่วมลงนาม รวมถึงนายมูตูเซโพ ประธาน KNU ก็เห็นว่าเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการเจรจาทางการเมือง

ส่วน 9 กลุ่มชาติพันธุ์ที่ไม่ร่วมลงนาม เช่น นายขุน มิน ทู องค์กรปลดปล่อยแห่งชาติปะโอ ซึ่งแม้เขายอมรับว่าเห็นด้วยในหลักการแต่ไม่ทราบเนื้อหามาก่อน จึงต้องกลับไปหารือกับกลุ่มและมาลงนามในภายหลัง และเห็นว่ารัฐบาลต้องสร้างความจริงใจในการหยุดยิงให้สำเร็จเพราะยังมีการสู้รบในรัฐฉานเหนือและรัฐคะฉิ่น เช่นเดียวกับกองทัพว้า กองกำลังเมืองลา พรรคก้าวหน้าแห่งชาติคะเรนนี พรรครัฐมอญใหม่ กองทัพรัฐฉานเหนือ กองทัพปลดปล่อยอารากัน กองกำลังแนวร่วมแห่งชาติฉิ่น สภาสังคมนิยมนากาลิม และแนวร่วมนักศึกษาพม่า ซึ่งแจ้งว่าจะร่วมลงนามในภายหลัง

ดูเหมือนรัฐบาลพม่าให้ความสำคัญกับการลงนามในครั้งนี้เป็นอย่างมาก เพราะทั้งประธานาธิบดีเต็งเส่ง รองประธานาธิบดี 2 คน ประธานรัฐสภา ประธานวุฒิสภา ตัวแทนกองทัพ ต่างมาร่วมลงนามและเป็นสักขีพยานอย่างพร้อมเพียง เช่นเดียวกับพรรคการเมือง 50 พรรคและสส.กลุ่มชาติพันธ์ 29 คน

ภายหลังการลงนามครั้งนี้ บางกลุ่มชาติพันธุ์ต้องกลับไปตอบคำถามถึงการตัดสินใจครั้งนี้ เช่น KNU ซึ่งบทบาทการนำของฝ่ายการเมืองและฝ่ายทหารยังไม่ค่อยสอดคล้องกันเท่าที่ควรเนื่องจากบทวิเคราะห์เกมการเมืองของรัฐบาลพม่าที่แตกต่างกัน

ชนวนสำคัญที่อาจเกิดความแตกแยกภายในของ KNU คือ ก่อนการเดินทางไปของประธาน ได้มีการประชุมร่วมกันทั้งองค์กรภาคประชาชนและผู้บริหารระดับสูงของKNU โดยมีการให้สัญญากันในที่ประชุมว่าการเดินทางเข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้จะเป็นการไปร่วมงานตามมารยาทเท่านั้น และจะไม่มีการลงนามใดๆ ทั้งสิ้น หลังจากนั้นก่อนการร่วมงาน 1 สัปดาห์ รองเลขาธิการคนที่ 2 ของ KNU ก็ได้ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวที่เมืองพะอันยืนยันว่าจะไม่มีการลงนามใดๆ เป็นเพียงการไปร่วมงาน แต่ในวันที่ 12 กุมภา ประธาน KNU กลับตัดสินใจลงนามกับรัฐบาลพม่า ทำให้เกิดความสับสนในการกำหนดทิศทางของ KNU และองค์กรภาคประชาชนของกะเหรี่ยงพอสมควร

อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากการลงนามเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ มีคำอธิบายภายในกลุ่มกะเหรี่ยงกันเองจากตัวแทนที่ร่วมลงนามซึ่งระบุข้อตกลง 6 ข้อว่ามีเนื้อหาที่ไม่ได้เป็นการลงนามหยุดยิง แต่เป็นข้อตกลงร่วมกันในการจะพูดคุยกันต่อไป คือ 1. เพื่อให้เกิดการเป็นสหพันธรัฐขึ้น และแนวทางการเจรจาสันติภาพจะยึดตามสนธิสัญญาปางโหลง เพื่อให้มีเสมอภาค ความเท่าเทียมกันของประชาชน ตามแนวทางประชาธิปไตย

2. การสู้รบนั้นดำเนินมานาน ปัญหาทางการเมืองจึงต้องแก้ไขด้วยการเจรจาทางการเมือง 3.จะสร้างเวทีทางการเมืองที่เป็นรูปธรรมเพื่อให้เกิดการหยุดยิงทั่วประเทศ 4.ในการเจรจาเรื่องการหยุดยิง จะต้องกำหนดแนวทางที่ชัดเจนเป็นลายลักษณ์อักษร

5.ความชัดเจนในการหยุดยิงต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนการเลือกตั้งทั่วไปที่จะเกิดขึ้นในปี 2015 และ 6. หลีกเลี่ยงสิ่งที่จะทำลายกระบวนการสันติภาพที่กำลังดำเนินอยู่ เช่น การเลี่ยงการปะทะทางทหาร เป็นต้น

การลงนามระหว่างรัฐบาลพม่ากับ 4 กลุ่มชาติพันธุ์ เกิดขึ้นท่ามกลางการสู้รบอย่างรุนแรงที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาในบริเวณภาคเหนือของรัฐฉานติดชายแดนจีน กองกำลังโกก้างยังคงสู้รบกับกองทัพพม่าที่เมืองเหล่ากาย เขตปกครองพิเศษของโกก้าง ซึ่งสื่อของรัฐบาลพม่า The Global New Light of Myanmar เปิดเผยว่า สามารถสังหารทหารโกก้างได้ 18 นาย และจับกุมได้อีก 8 นาย และยึดอาวุธได้จำนวนหนึ่ง โดยทหารที่ถูกจับในเวลาต่อมามีรายงานว่าเสียชีวิตทั้งหมด ซึ่งสื่อพม่าอ้างว่าทหารโกก้างเสียชีวิตจากอาการบาดเจ็บจากการสู้รบอยู่ก่อน สถานการณ์ในเมืองเหล่ากาย เข้าสู่ภาวะวิกฤติและไม่ปลอดภัย มีพลเรือน 12 คนถูกพบเสียชีวิต แต่ข่าวที่ออกมาจากกองกำลังโกก้างระบุว่า อาจมีประชาชนมากถึง 50 คนเสียชีวิตในระหว่างเกิดเหตุสู้รบ โดยโจมตีว่าทหารพม่าจากกองพันที่ 33 ยิงทุกคนที่เข้าไปยังเมืองเหล่ากาย นอกจากนี้ยังมีการค้นบ้านของประชาชนในพื้นที่
ขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ต้องอพยพออกจากเมืองเหล่ากายแล้ว ตั้งแต่เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ทางด้านแรงงานชาวพม่าจากภาคกลางของประเทศที่ไปทำงานที่เมืองเหล่ากาย รวมไปถึงครอบครัวของทหารและเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ไปประจำอยู่ที่เมืองเหล่ากายราว 4500 คน ก็ได้เดินทางออกจากเมืองโกก้าง

เหตุการณ์ยังคงบานปลาย จนประธานาธิบดีเตงเส่งได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและกฎอัยการศึกในพื้นที่ดังกล่าวแล้ว

พลเอกมิ้นอ่องหล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกองทัพพม่าระบุว่าชนกลุ่มน้อยอื่นๆ ที่ให้ความช่วยเหลือโกก้างจะต้องรับผิดชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้น ระบุจะไม่อ่อนข้อแต่จะตอบโต้อย่างหนักต่อกองกำลังโกก้าง และหากจำเป็นต้องใช้ปฏิบัติการโจมตีทางอากาศก็จะทำ

ขณะเดียวกันมีรายงานข่าวจากสื่อท้องถิ่นว่า ทางกองทัพพม่าได้ใช้เฮลิคอปเตอร์ติดอาวุธ 2 ลำ และเครื่องบินรบ 2 ลำ โจมตีทั้งโกก้าง และกองกำลังปลดปล่อยแห่งชาติดาราอั้ง และกองทัพอาระกัน (Arakan Army) ออกมายอมรับว่าได้ร่วมสนับสนุนกองกำลังโกก้าง ขณะที่เชื่อว่า กองทัพว้า กลุ่มติดอาวุธชนกลุ่มน้อยที่ใหญ่ที่สุด อาจสนับสนุนในด้านอาวุธให้แก่โกก้างด้วยเช่นกัน

การที่ทหารพม่าพยายามเปิดเกมรุกในเขตกองกำลังชาติพันธุ์เหล่านี้ จนเกิดการตายของพลเรือนและความสูญเสียมากมาย กำลังเป็นที่จับตามองของเหล่าผู้นำชาติพันธุ์ต่างๆ ซึ่งรวมตัวกันเป็นสภาสหพันธรัฐแห่งชาติสหภาพ UNFC – United Nationalities Federal Council และมีข้อตกลงที่จะยืนเคียงข้างกัน
คำถามถึงรูปแบบการปกครองระบบสหพันธรัฐ ที่เหล่ากลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ต้องการจึงเกิดขึ้นมากมาย โดยเฉพาะรัฐบาลพม่าใจกว้างพอที่จะให้กลุ่มชาติพันธุ์ที่มีอยู่มากมายได้คงสิทธิดูแลตัวเองได้แค่ไหน

กระบวนการสันติภาพในพม่าที่ยังไม่ห่างไกลจากจุดเริ่มต้นมากนัก จะเดินหน้าไปได้แค่ไหน คงต้องติดตามกันต่อไป

—————–
เรื่องโดย โลมาอิรวดี

ตีพิมพ์ใน เนชั่นสุดสัปดาห์ 20 กุมภาพันธ์ 2558

—————-

ขอบคุณรูปการเจรจาที่เนปีดอว์ วันที่ 12 กพ. จากคุณฐปณีย์ เอียดศรีชัย

On Key

Related Posts

7 ชุมชมลุ่มน้ำกกจับมืออุทกวิทยา-ปภ.-เครือข่ายค.อ.ก. “คิกออฟ”ระบบเตือนภัยน้ำท่วม-พระอาจารย์มหานิคมเผยป่าต้นน้ำถูกทำลาย-ทำเหมืองทอง เป็นเหตุน้ำเชี่ยวโคลนถล่ม แนะรัฐเร่งเจรจา

เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2568 ณ ห้องประชุมเทศบาลตำบลแRead More →

สส.ปชน.เชียงรายจี้รัฐบาลสร้างระบบเตือนภัยแม่น้ำกก-แนะเร่งถอดบทเรียน 6 เดือนภัยพิบัติ คนขับเรือลำบากหลังนักท่องเที่ยวลดฮวบ ผวจ.เชียงรายเตรียมตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนแก้ปัญหาคุณภาพน้ำข้ามแดน

เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2568 นายชิตวัน ชินอนุวัฒน์ สRead More →

วัวควายเดือดร้อนถ้วนหน้าหลังน้ำกก-สายปนเปื้อนสารหนู-ใช้น้ำทำการเกษตรไม่ได้ “ครูแดง”แนะเร่งแก้ปัญหาต้นเหตุ “ดร.ลลิตา”เผยว้าตั้งหน่วยให้สัมปทานเหมืองแร่ จี้หารือทางการจีนช่วยปราม

เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2568 นางเตือนใจ ดีเทศน์ อดีตRead More →