เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2558 ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อมชักชวนสื่อมวลชนหลายสำนักลงพื้นที่ลุ่มน้ำโขงและร่วมกิจกรรม “2 ทศวรรษแม่น้ำโขงกับการพัฒนา” โดยล่องเรือสำรวจนิเวศในแม่น้ำโขง ตั้งแต่อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ไปจนถึงอำเภอเชียงของ โดยมีนายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว และนายสมเกียรติ เขื่อนเชียงสา ผู้แทนเครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง-ล้านนา ร่วมบรรยาย
ทั้งนี้ปริมาณน้ำโขงในวันนี้ได้ลดลงเหลือ 2.34 เมตร หลังจากเพิ่มสูงขึ้น 2.62 เมตรเมื่อวันที่ 8 มีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งได้สร้างความเสียหายให้กับเกษตรกรรมริมน้ำโขงอย่างหนัก รวมทั้งไก(สาหร่าย)ในแม่น้ำโขงต้องหลุดออก และชาวบ้านหลายอาชีพที่เชื่อมโยงอยู่กับแม่น้ำโขงต้องเดือดร้อนซึ่งขณะนี้ยังเหลือร่องรอยให้เห็น
ขณะเดียวกันเป็นที่น่าสังเกตว่า ตลอดริมฝั่งในเขตประเทศลาวในระยะทางราว 20 กิโลเมตรก่อนถึงเขตเชียงของ เต็มไปด้วยสวนกล้วยหอมที่ลงทุนโดยชาวจีน โดยนายนิวัฒน์กล่าวว่า การปลูกกล้วยหอมซึ่งส่งกลับไปขายจีนนั้น ต้องใช้ปุ๋ยและสารเคมีอย่างหนัก ทำให้ลำห้วยบางสายในลาวเริ่มใช้น้ำไม่ได้ เพราะเต็มไปด้วยสารเคมี
นายนิวัฒน์ กล่าวว่า นับตั้งแต่มีโครงการใหญ่เกิดขึ้นในแม่น้ำโขง ทั้งเรื่องการระเบิดเกาะแก่งเพื่อการขนส่งทางเรือ และมีการสร้างท่าเรือน้ำลึกเพื่ออำนวยความสะดวกสำหรับการเดินเรือพาณิชย์ การสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขง และโครงการปลูกพืชเศรษฐกิจในประเทศลาวโดยการลงทุนจากจีนนั้น ล้วนส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศในน้ำโขงอย่างมาก อย่างกรณีระดับน้ำที่ไม่แน่นอน และไม่มีการประกาศเตือนหรือแจ้งข้อมูลจากภาครัฐก็ส่งผลให้เกษตรกรที่ประกอบอาชีพริมโขงเสียหาย ทั้งอาชีพเลี้ยงปลาในกระชัง อาชีพเก็บไก อาชีพร่อนทอง ประมงพื้นบ้าน แปลงผักริมโขง ทุกคนเจอกับปัญหาน้ำท่วมแปลงเกษตร ไม่มีไก(สาหร่ายแม่น้ำโขง)ให้เก็บบริโภคและขาย
“ไกเนี่ยไม่ใช่แค่อาหารของพี่น้องไทย-ลาวริมโขงเท่านั้นนะ แต่เป็นเหมือนพืชเศรษฐกิจที่มีความสำคัญกับชาวบ้านริมโขงและเป็นอาหารหลักของปลาน้ำโขงด้วย อย่างปลาบึกเมื่อยังเป็นลูกปลาก็กินเนื้อปลาชนิดอื่น แต่พอโตขึ้นก็กินพืชโดยเฉพาะไก แต่เมื่อปล่อยน้ำจนน้ำท่วม แสงแดดจะส่องไกไม่ถึง ทำให้ไกตาย” นายนิวัฒน์ กล่าว
ด้านนายธาตรี วงศ์วิวัฒนากุล เจ้าของกระชังปลา อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย เปิดเผยว่า ช่วงที่ระดับน้ำขึ้นลงในแม่น้ำโขงในปีที่ผ่านมา ส่งผลให้น้ำโขงขุ่นและมีลูกปลาตายซึ่งเป็นเช่นนี้มาหลายปีต่อเนื่องแล้ว ขณะที่เกษตรกรผู้เลี้ยงปลาในกระชังไม่สามารถแก้ไขปัญหาหรือป้องกันปัญหาเฉพาะหน้าได้ เนื่องจากน้ำขึ้นหรือลง ทางเทศบาลไม่เคยมีการประกาศหรือระบุข้อมูลให้เกษตรกรที่ประกอบอาชีพเกษตรริมน้ำได้รับรู้ล่วงหน้า ดังนั้นพวกตนจึงต้องเสี่ยงกับข้อมูลหรือการคาดเดาสถานการณ์ด้วยตัวเอง แต่ส่วนมากก็เดาไม่ได้ จึงต้องปล่อยให้พืชผลหรือกระชังปลาเสียหาย ที่ซ้ำร้ายกว่านั้น ขณะนี้เทศบาลมีนโยบายขยายปรับภูมิทัศน์ถนนเลียบโขง ตัด โค่นต้นไม้ลงเพื่อปรับพื้นที่ รวมทั้งพยายามดูดทรายริมโขงออก โดยอ้างว่าจะนำหินมากั้นดินสไลด์ แต่ปรากฏว่ากิ่งไม้บางแห่งถูกโค่น คนเก็บทำความสะอาดไม่ทัน พอน้ำขึ้นต้นไม้ถูกแม่น้ำโขงพัดพาไป บางครั้งไปกระทบกับกระชังปลาก็มีความเสียหายเกิดขึ้น แต่เกษตรกรไม่รู้จะไปร้องเรียนที่ใด
“น้ำขุ่นมาปลาก็ตาย ตะกอนดินถูกกระทบมากมาย ซ้ำร้ายยังมีคราบน้ำมันจากลูกเรือบรรทุกบางลำที่ติดอยู่กลางลำน้ำโขง แล้วมีการถ่ายน้ำมันเครื่องในแม่น้ำ พอกระแสน้ำพัดเข้ามาก็มีคราบน้ำมัน คราบขยะเข้ามาบริเวณแปลงเกษตรและกระชังปลา วันไหนไม่ได้ลงมาดู กระชังก็เสียหายไปหลายส่วน บางครั้งปลาก็อมคราบน้ำมัน กรณีนี้เกิดขึ้นหลายครั้งเพราะระดับน้ำและนโยบายการจัดการที่ล้มเหลว อย่างคนปลูกพืชและเพาะถั่วงอกในเชียงของ เวียงแก่น บางครั้งผมไปพูดคุยกับคนรู้จัก ลือกันหนักว่ากรณีการกำจัดทรายริมโขงเพื่ออำนวยความสะดวกการเดินเรือนั้น เป็นเรื่องทีพวกเขาไม่เห็นด้วย พอน้ำขึ้น เชื่อไหมว่าคนปลูกถั่วงอกนั้นบางครั้งต้องจ้างคนขนทรายไว้ด้านบน เพราะไม่ต้องการเสียอาชีพแต่หลายหน่วยงานมักมองว่าเป็นอาชีพของคนกลุ่มน้อย ไม่กระทบมากมาย ต้องเสียสละ ซึ่งผมเองไม่เห็นด้วย เพราะเราอยู่พื้นที่ตรงนี้มาก่อน ให้เรารื้อกระชัง รื้อแปลงเกษตรมันยากนะ จะไปเช่าคนอื่นก็ลำบาก ” นายธาตรีกล่าว
อนึ่ง ในระหว่างวันที่ 13-14 มีนาคม จะมีการจัดงาน “2 ทศวรรษแม่น้ำโขงกับการพัฒนา” ขึ้นที่โฮงเฮียนแม่น้ำโขง อ.เชียงของ จ.เชียงราย โดยมีชาวบ้านลุ่มน้ำโขงและเครือข่ายจากพื้นที่ต่างๆเข้าร่วม
//////////////////////////////