สำนักข่าวชายขอบ
Transborder News

ประสานรัฐบาลอินโดช่วยเหยื่อลูกเรือประมงไทย “อดุลย์”ระดมทีม-ให้ดีเอสไอร่วมทำคดี เผยมีเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี-วอนขอปัจจัยสี่ด่วน

ขอบคุณภาพจาก LPN
ขอบคุณภาพจาก LPN

เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2558 ที่กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.)พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีพม. ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีมีลูกเรือประมงไทยจำนวนมากตกทุกข์ได้ยากอยู่ที่เกาะอัมบนในหมู่เกาะโมลุกกะ ประเทศอินโดนีเซีย เนื่องจากถูกหลอกและถูกบังคับไปทำงานในเรือประมงว่า ตนได้กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ติดตามตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมให้แน่ชัดถึงจำนวนแรงงานที่ตกเป็นเหยื่อและติดค้างอยู่ที่เกาะอัมบน โดยขณะนี้ได้มอบหมายให้ปลัดพม. ดำเนินการประสานกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงแรงงาน และกรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอ เพื่อหารือถึงแนวทางการช่วยเหลือเยียวยาและดำเนินคดีเอาผิดต่อนายจ้าง

รัฐมนตรีพม.กล่าวว่า ในเบื้องต้นที่ได้รับรายงานจากเจ้าหน้าที่มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน หรือ LPN ที่ได้ลงพื้นที่ช่วยเหลือแรงงานไทยในอินโดนีเซีย พบว่ามีแรงงานที่ตกค้างอยู่ถึง 500-600 คน ซึ่งทางรัฐบาลไทยจะเร่งประสานทางการอินโดฯ เพื่อช่วยดำเนินการตรวจสอบข้อมูลจำนวนคนไทยตกค้างให้แน่ชัดและช่วยเหลือส่งกลับประเทศไทยอย่างเร่งด่วน ส่วนเหยื่อที่เป็นชาวต่างชาติ พม่า ลาว กัมพูชานั้น จะช่วยประสานไปยังสถานทูตของแต่ละประจำประเทศในประเทศไทยให้ดำเนินการช่วยเหลือต่อไป

“หาก LPN หรือทางการอินโดฯ ต้องการให้รัฐบาลไทยส่งทีมเข้าไปสำรวจและช่วยเหลือแรงงาน เราก็พร้อมที่จะส่งทีมเฉพาะกิจไปช่วยตรวจสอบ พร้อมทั้งส่งทีมแพทย์ที่จะไปช่วยดูแลสุขภาพของแรงงานที่ป่วยอยู่ที่นั่น ปัญหาการค้ามนุษย์ถือเป็นเรื่องสำคัญที่รัฐบาลให้ความสนใจ หลังจากรัฐบาลได้เข้ามาดำเนินการจัดระเบียบแรงงานทำให้ปัญหานี้เบาบางลง” พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าว

รัฐมนตรีพม.กล่าวว่า ในปีที่แล้ว ได้มีการจับกุมนายจ้างหรือเจ้าของเรือ 5 ครั้ง ช่วยเหลือลูกเรือที่ถูกหลอกไปทำงานและตกค้างได้ถึง 40 คน แต่เป็นกรณีเหยื่อที่ตกค้างมานาน ไม่ใช่กรณีที่เกิดขึ้นใหม่ โดยในขณะนี้รัฐบาลกำลังเร่งผลักดันให้เกิดการแก้กฎหมายคุ้มครองแรงงานให้ดีขึ้น ซึ่งกำลังพิจารณาในสภา วาระ 2 เพื่อให้มีมาตรการป้องกันการค้ามนุษย์ที่มีประสิทธิภาพ และคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแส รวมถึงเจ้าหน้าที่ดำเนินการช่วยเหลือ ซึ่งจะช่วยป้องกันปัญหา และดำเนินคดีถึงต้นตอได้มากขึ้น

ขณะเดียวกันที่ประเทศอินโดนีเซียในช่วงบ่ายวันเดียวกัน น.ส.ปฏิมา ตั้งปรัชญากูล ผู้จัดการ LPN ได้ประสานกับสำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมือง แผนกสิทธิมนุษยชน เกาะอัมบน เพื่อขอนำแรงงานไทย 13 คนเข้าพักที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง(ตม.)เพิ่ม หลังทราบว่ามีการส่งแรงงานพม่ากลับไปแล้วทำให้มีห้องว่าง ซึ่งจนถึงขณะนี้มีคนไทยอยู่ในการดูแลของตม.แล้ว 23 คน ส่วนแรงงานกัมพูชามี 5 คน พม่า 5 คน และลาว 2 คน ซึ่งมีเด็กไทยและลาวที่ถูกหลอกมาทำงานตั้งแต่อายุ 13 จำนวน 2 คน รวมแรงงานเพื่อนบ้าน 12 คน ยังอยู่ในที่พักชั่วคราวที่ชาวอินโดนีเซียให้การช่วยเหลือรวม 45 คน

น.ส.ปฏิมากล่าวว่า การช่วยเหลือแรงงานไทยที่เกาะอัมบน ทางมูลนิธิฯ ได้ลงพื้นที่ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2557 สามารถช่วยเหลือแรงงานไทยกลับบ้านได้แล้ว 6 ชุด รวม 61 คน เป็นแรงงานเด็กอายุไม่ถึง 15 ปี 2 คน แต่ยังมีแรงงานต้องการกลับบ้านจำนวนมาก ทำให้มูลนิธิฯ ต้องลงพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากขั้นตอนของรัฐจะดำเนินการหลังทางมูลนิธินำตัวแรงงานที่ขอความช่วยเหลือ มาบันทึกประวัติเพื่อส่งรายชื่อสำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมือง อินโดนีเซีย แผนกสิทธิมนุษยชน เกาะอัมบน ทาง ตม.อินโดนีเซียจะตรวจสถานะบุคคล บันทึกประวัติเป็นผู้ประสบปัญหาจากเรือประมง ก่อนจะส่งรายชื่อให้สถานทูตไทยประจำอินโดนีเซียดำเนินการส่งกลับไทย ซึ่งที่ผ่านมาทางสถานทูตไทย ณ กรุงจาการ์ตาได้ช่วยเหลือเรื่องเอกสารและการเดินทางกลับเมื่อถึงไทย ขณะที่พม.ต้องรอรับตัวไปคัดแยก หากเป็นเหยื่อจากการค้ามนุษย์ ก็จะนำเงินกองทุนการค้ามนุษย์มาจ่ายค่าตั๋วเครื่องบินให้ ถ้าไม่ใช่เหยื่อก็ต้องใช้หนี้คืนรัฐ

“โชคดีว่าตม.อินโดนีเซียมีแผนกสิทธิมนุษยชน Human Rights ที่ทำงานด้วยหลักมนุษยธรรม และเขารู้ปัญหานี้ดี ว่าแรงงานเหล่านี้ถูกปลอมชื่อ ปลอมเอกสาร seaman book หนังสือคนประจำเรือ เมื่อตกเรือก็จะไม่มีเอกสารอะไร เขาจึงช่วยเหลือ แต่ปัญหาคือ ตม.อินโดฯ จะรับได้ครั้งละ 10 คน เพราะห้องมีจำกัด และงบประมาณน้อย ทำให้เราต้องช่วยค่าอาหาร ต้องใช้เงินค่าอาหารคนละ 45,000 rp.id. หรือ 150 บาท ต่อวัน : คน และต้องอยู่ที่นี่ประมาณ 2 อาทิตย์ จึงอยากให้รัฐช่วยดำเนินการอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะค่าอาหาร เสื้อผ้า ปัจจัย 4 เพราะพวกเขาไม่มีเงิน และบางคนเมื่อหนีจากเรือมาอยู่บนฝั่งก็กลายเป็นคนผี ต้องเร่ร่อน บางคนก็บาดเจ็บ พิการ และบางรายถูกฝังเป็นศพไร้ญาติ จึงอยากให้รัฐจัดชุดเฉพาะกิจมาช่วยเหลือด่วน” น.ส.ปฎิมา กล่าว

——————

On Key

Related Posts

โฆษก KNU ประกาศไม่เหลือพื้นที่เจรจาให้ SAC ระบุต้องรบให้ชนะเท่านั้น ชวนประชาชนร่วมกำจัดปีศาจร้ายออกจากแผ่นดินกอทูเล เผยพยายามให้กระทบเศรษฐกิจน้อยที่สุด “เศรษฐา” ตั้งกก.ชุดใหญ่ติดตามดูแลสถานการณ์ความไม่สงบในพม่า ให้ปานปรีย์เป็นประธาน

วันที่ 18 เมษายน 2567 พะโดซอตอนี (Padoh Saw Taw NeRead More →

NUG เชื่อการปฏิวัติเข้าใกล้ชัยชนะ ส่งจดหมายกระชับไมตรีกองทัพว้า ชื่นชมมีส่วนสำคัญถอนรากSAC จับตาความเปลี่ยนแปลงภายหลังทูตจีนพบอดีต 3 นายพลผู้นำพม่า

เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2567 สำนักข่าว Irrawaddy รายRead More →

นักวิชาการหลายสถาบันเห็นพ้องทบทวนโครงการผันน้ำยวม ชี้ไม่คุ้มค่าการลงทุนนับแสนล้าน-ปริมาณน้ำไม่พอ-อีไอเอไม่คลอบคลุม ชาวบ้านผู้รับผลกระทบวอนให้ลงดูพื้นที่จริง

เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2567 เวลา 9.00 น. ที่ห้องประRead More →

ร่วมรำลึก 10 ปี ‘บิลลี่’ ถูกอุ้มหาย ชี้สูญชีวิตแต่ไม่สูญเปล่า ไทยเกิดกฎหมายป้องกันคนหาย และเป็นแรงบันดาลใจคนบางกลอยรุ่นใหม่ต่อสู้เพื่อสิทธิชุมชนกะเหรี่ยง

เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2567 ที่บ้านบางกลอย ต.ห้วยแมRead More →

ย้ายอองซานซูจี-อูวินมิ้น ออกจากเรือนจำไปบ้านพักเหตุสุขภาพย่ำแย่ ฝ่ายต่อต้านโจมตีโรงเรียนนายร้อยทหารในเมืองปวินอูหลิ่น มีผู้เสียชีวิต 4 นาย บาดเจ็บอีก 12 นาย

เมื่อช่วงค่ำวันที่ 16 เมษายน 2567  สำนักข่าว ChindRead More →