ภายหลังจากที่ศาสตราจารย์(ศ.)ระพี สาคริก อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์(มก.) ได้แสดงความกังวลถึงอุดมการณ์ของมก.ที่เปลี่ยนแปลงโดยมุ่งเน้นการก่อสร้างมากกว่าการเข้าถึงเกษตรกรรายเล็กรายน้อยเนื่องจากถูกธุรกิจการเกษตรยักษ์ใหญ่ครอบงำ รวมถึงการนำมก.ออกนอกระบบ ซึ่งศ.ระพีไม่เห็นด้วย โดยศ.ระพีได้ขอให้ลบชื่อศ.ระพีออกจากชื่อถนน สวนกล้วยไม้ และอาคารในมก.หากมีการผู้บริหารมก.ยังคงดำเนินการนำมก.ออกนอกระบบ
เมื่อวันที่ 20 มีนาคม มีรายงานว่านายบดินทร์ รัศมีเทศ ว่าที่อธิการบดีมก. ได้ติดต่อไปยังศ.ระพีเพื่อขอเข้าพบในวันที่ 25 มีนาคม เวลา 10.00 น.ที่ห้องทำงานในสถาบันวิจัยพืชสวน กรมวิชาการเกษตร
นายบดินทร์กล่าวว่า จะเดินทางไปพบศ.ระพีจริงโดยเป็นการเข้าเยี่ยมคารวะตามปกติก่อนช่วงเทศกาลสงกรานต์ ส่วนกรณีที่มีการมองว่าอุดมการณ์ของมก.เปลี่ยนไปนั้น ตนคิดว่าไม่เคยเปลี่ยนเพราะทุกวันนี้มก.ยังเป็นมหาวิทยาลัยของประชาชนโดยเฉพาะเกษตรกร
ผู้สื่อข่าวถามว่าคิดอย่างไรที่มีคนพูดว่ามก.ถูกครองงำโดยบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านการเกษตรและสารเคมี นายบดินทร์กล่าวว่า ไม่เป็นความจริง มีแต่มก.จะครอบงำธุรกิจเอกชน ซึ่งอาจมีการเข้าใจผิดเพราะที่ผ่านมางานวิจัยต่างๆ ก็ทำให้ทั้งภาครัฐและเอกชน
เมื่อถามว่าในงานวันเกษตรแฟร์ได้มีการแจกเอกสารวิจัยสนับสนุนปุ๋ยเคมีมากกว่าเกษตรอินทรีย์ นายบดินทร์กล่าวว่า ทางมก.สนับสนุนทั้ง 2 ทางคือเกษตรอินทรีย์และวิทยาศาสตร์ ซึ่งทั้งสองอย่างต้องศึกษาควบคู่กันไป เพราะเราไม่สามารถปฎิเสธวิทยาศาสตร์ได้
ขณะที่นายชนวน รัตนวราหะ อดีตรองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร และศิษย์เก่ามก.กล่าวว่าการที่บอกว่าอุดมการณ์ของมก.ไม่เปลี่ยนแปลงนั้น พูดอย่างไรก็พูดได้ แต่ในทางพฤติกรรมนั้น เห็นได้ชัดเจนเพราะในช่วงที่ผ่านมามก.ไม่ได้มองที่ผลประโยชน์ของเกษตรกรรายย่อยเป็นหลัก ผลการวิจัยจำนวนมากไม่ถึงมือเกษตรกรที่ยากจน แต่มุ่งเน้นไปในเรื่องการค้า แม้แต่เรื่องจุลินทรีย์ก็ทำมาเพื่อขาย ทั้งๆ ที่งานวิจัยส่วนใหญ่ใช้เงินภาษีของประชาชน แต่กลับผลิตงานวิจัยขายให้เอกชนซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่แฟร์กับชาวบ้าน
“คุณลองเข้าไปในมก.ซิ ตอนนี้มองไปทางใดก็แทบไม่มีพื้นที่สำหรับเกษตรหลงเหลืออยู่เลย เพราะเต็มไปด้วยอาคารและสิ่งปลูกสร้างมากมายที่ใช้ประกอบธุรกิจ ผมอยากให้กำลังใจท่านอาจารย์ระพีที่ออกมาท้วงติงมหาวิทยาลัย เพราะมก.ควรเป็นสถาบันที่ตอบสนองเกษตรกรและแก้ปัญหาของประเทศก่อน ไม่ใช่คิดแต่จะยกระดับให้กลายเป็นมหาวิทยาลัยระดับโลกแล้วไปตามก้นต่างประเทศ แต่เกษตรกรไทยยังยากจนและแทบพึ่งตัวเองไม่ได้ เทคโนโลยีที่ใช้เกือบทั้งหมดก็ซื้อเข้ามาทั้งนั้น ทั้งปุ๋ยเคมี สารเคมีป้องกันศัตรูพืช หรือแม้แต่เมล็ดพันธุ์พืช ขณะที่เทคโนโลยีที่เป็นเรื่องของภูมิปัญญาท้องถิ่น กลับไม่ได้การส่งเสริมจากมก.” นายชนวนกล่าว
ศิษย์เก่ามก.รายนี้กล่าวถึงกรณีที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ที่นักวิชาการภาควิชาปฐพีวิทยา คณะเกษตร ที่สนับสนุนปุ๋ยเคมีและโจมตีเกษตรอินทรีย์ว่า ตนไม่แน่ใจว่านายบดินทร์ รัศมีเทศ ว่าที่อธิการบดีมก.ได้อ่านงานวิจัยชิ้นนี้หรือยัง เพื่อที่จะได้รู้ว่างานชิ้นนี้ออกไปทางใด ซึ่งเหตุการณ์ในลักษณะเดียวกันเคยเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อครั้งที่ได้มีการผลักดันเรื่องน้ำหมักชีวภาพในสมัยรัฐบาลคุณชวน หลีกภัย ซึ่งมก.ออกมาคัดค้านว่าเป็นเรื่องที่ไม่มีประโยชน์ แต่เมื่อเวลาผ่านไปจนมาถึงยุคนี้ทุกคนต่างเห็นประโยชน์ของน้ำหมักชีวภาพ
————–