เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2558 ที่ศูนย์ประสานงานเครือข่ายอนุรักษ์ลุ่มน้ำชมภู อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก ได้มีการประชุมเพื่อเตรียมการปล่อยจระเข้ธรรมชาติคืนสู่คลองชมพู ภายหลังจากที่ชาวบ้านพบจระเข้ยาว 2 เมตร ติดลอบดักปลาของชาวบ้านในคลองชมภู ตั้งแต่เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2557 และทางหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ สล.5 (วังแดง) ได้นำจระเข้ไปไว้ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด จังหวัดนครสรรค์ เพื่อทำการเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอไปพิสูจน์สายพันธุ์ จนกระทั่งดำเนินการตรวจพิสูจน์ดีเอ็นเอเสร็จสิ้นตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา โดยมีตัวแทนชาวบ้าน หัวหน้าอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง ตัวแทนทหาร และตัวแทนองค์การบริหารส่วนตำบลชมพู เข้าร่วมการประชุม
นายธีรเชษฐ์ โสทอง รองประธานเครือข่ายอนุรักษ์ลุ่มน้ำชมพู กล่าวว่า ที่ประชุมมีข้อสรุปร่วมกันว่าจะดำเนินการปล่อยจระเข้ในวันที่ 3 เมษายน 2558 โดยมอบหมายให้เครือข่ายฯในฐานะตัวแทนชาวบ้านเป็นผู้ประสานงานหลักร่วมกับอุทยานแห่งชาติทุงแสลงหลวง โดยจะเชิญผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตัวแทนทหาร และเครือข่ายภาคประชาชนด้านสิ่งแวดล้อมมาร่วมงาน ซึ่งชาวบ้านได้เตรียมพร้อมเดินทางไปรับจระเข้ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด จังหวัดนครสวรรค์ ในช่วงเช้า และจะนำจระเข้มาปล่อยคืนสู่คลองชมภูในช่วงบ่ายวันเดียวกัน
นายธีรเชษฐ์กล่าวว่า ได้เตรียมการจัดพิธีรับขวัญจระเข้และตั้งศาลเจ้าพ่อกะดำ(ศาลเจ้าป่าเจ้าเขา) ตามความเชื่อของชาวบ้านที่ว่า จระเข้ในคลองชมภูเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คอยปกปักษ์รักษาผืนป่าแถบนี้ ทั้งนี้จะมีการหารือร่วมกับทีมสัตว์แพทย์ของกรมอุทยานแห่งชาติฯ อีกครั้ง ถึงแผนการติดตามพฤติกรรมจระเข้ที่นำกลับมาปล่อย เนื่องจากยังมีความกังวลถึงการปรับตัวของจระเข้ หลังจากคืนสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ ทั้งเรื่องการหาอาหาร การดำรงชีวิต และการสืบพันธุ์ตามธรรมชาติ โดยยืนยันว่าชาวบ้านพร้อมที่จะร่วมมือกับหน่วยงานด้านการอนุรักษ์ของภาครัฐ ในการช่วยดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ทุกด้าน เพราะชาวบ้านถือว่าการรักษาป่าไม้หรือการอนุรักษ์สัตว์ป่าไว้ จะเป็นส่วนช่วยให้ลุ่มน้ำชมภูมีความอุดมสมบูรณ์อย่างยั่งยืน
ด้านนายหาญณรงค์ เยาวเลิศ อนุกรรมาธิการทรัพยากรน้ำ และสภาชิกสภาปฎิรูปแห่งชาติ(สนช.) กล่าวว่า หากย้อนดูประวัติของชุมชนชมภู เราจะมองเห็นบทเรียนมากมายจากการต่อสู้ด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติของชาวบ้าน โดยเฉพาะการคัดค้านการทำเหมืองหิน และการปฏิเสธโครงการก่อสร้างเขื่อนกั้นลำน้ำชมภู ซึ่งล้วนเป็นโครงการที่ชุมชนเห็นว่าจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง สำหรับความพยายามของชาวบ้านในการอนุรักษ์จระเข้ธรรมชาติที่มีแหล่งที่อยู่อาศัยในลุ่มน้ำชมภูก็เช่นเดียวกัน นับเป็นอีกบทเรียนที่ช่วยย้ำให้รัฐเห็นถึงโอกาสที่ดี อันจะเป็นแนวทางนำไปสู่การทำงานร่วมกันกับชุมชนหรือชาวบ้านในท้องถิ่น ที่สามารถเข้ามาช่วยแบ่งเบาภาระของหน่วยงานรัฐในบางพื้นที่ซึ่งอาจมีข้อจำกัดในการทำงาน
นายหาญณรงค์กล่าวว่า อยากเสนอต่อรัฐว่าหากชุมชนใดมีความจำนงต้องการมีส่วนร่วมในการดูแลทรัพยากรธรรมชาติแล้วเห็นว่ามีศักยภาพเหมือนกับที่ชาวบ้านชมภูกำลังทำ รัฐก็ควรตั้งชุมชนเหล่านี้ให้เข้าไปทำงานร่วมกับหน่วยงานรัฐ โดยอาจปรับเปลี่ยนบทบาทหน่วยงานรัฐให้เป็นผู้สนับสนุนด้านเทคนิค หรือสนับสนุนในส่วนงานที่จำต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญ ลงไปช่วยหนุนเสริมการทำงานของชาวบ้านแทน
นายหาญณรงค์ กล่าวอีกว่า สำหรับแนวความคิดที่ต้องการให้มีการขยายพันธุ์หรือปรับปรุงพันธุ์จระเข้ในคลองชมภูนั้น ตนไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง เพราะในเมื่อคลองชมภูเป็นแหล่งกำเนิดและดำรงชีวิตตามธรรมชาติของจระเข้ ก็ควรปล่อยให้จระเข้ดำรงอยู่ไปตามธรรมชาติ ไม่ควรนำจระเข้จากข้างนอกเข้าไปปล่อยหรือนำจระเข้คลองชมภูออกมาเพาะพันธุ์ เพราะจระเข้ที่นี่นั้นสามารถขยายพันธุ์กันเองได้ตามธรรมชาติอยู่แล้ว แม้อาจจะมีลักษณะที่แตกต่าง ซึ่งบางคนมองว่าเป็นลักษณะของยีนด้อย แต่นั่นก็เป็นวัฏจักรของจระเข้ที่ธรรมชาติสร้างขึ้นให้เหมาะสมกับระบบนิเวศ อีกทั้งชาวบ้านก็ไม่ได้ต้องการให้มีการนำจระเข้ข้างนอกมาปล่อยเพื่อให้ผสมพันธุ์ เพราะเขาคุ้นเคยกับจระเข้ที่มีอยู่เดิม ประเด็นนี้ตนเห็นว่ารัฐควรยึดความต้องการของชุมชนและข้อเท็จจริงเป็นตัวตั้ง เพราะบทเรียนที่ผ่านมาย้ำชัดอยู่แล้วว่าชาวบ้านชมภูมีจิตสำนึกที่ดีในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
////////////////