Search

ข้ามแดนอุ้มผาง ฟังเสียงที่คนไทยไม่ได้ยิน

บึงบัวขนาดใหญ่ที่หมู่บ้านหนองมั่ง
บึงบัวขนาดใหญ่ที่หมู่บ้านหนองมั่ง

 

 

ผมตื่นลืมตาตั้งแต่ตี 4 กว่า เพราะนาฬิกาธรรมชาติทำหน้าที่ตั้งแต่ฟ้ายังไม่สาง เสียงไก่ขันดังรับกันเป็นทอดๆ รวมถึงไก่เจ้าบ้านที่ผมไปนอนด้วยก็กำลังเพลิดเพลินโก่งคอขันอยู่ห่างจากผมไปไม่กี่เมตร

ตื่นแล้วแต่ก็ยังนอนเล่นไปเรื่อยๆ อากาศเย็นๆ ขดตัวอยู่ในถุงนอน มันช่างสุขเหลือหลาย

พระจันทร์ดวงกลมสีเหลืองนวลแกมแดงกำลังเคลื่อนคล้อยต่ำในฟากตะวันตก แต่ยังส่องสว่างทำให้เห็นบึงบัวขนาดใหญ่ที่มีหมอกจางๆลอยอยู่เหนือน้ำ โดยมีโบสถ์กลางน้ำยืนรำไรอยู่ทางขอบขวา

ผมคิดไม่ผิดที่เลือกผูกเปลนอนใต้ต้นหมาก ฉากธรรมชาติรอบตัวดูช่างเพลิดเพลินไปหมด แหงนหน้าก็เห็นยอดหมากพริ้วไหวเหมือนชะโงกหน้าทักทายกัน นอนตะแคงข้างก็เห็นแสงจันทร์นวลผ่องฉาบบึงบัวยังกับภาพเขียน โดยมีเสียงนกร้องและเสียงไก่ขันร่วมบรรเลงรมย์
ขนาดปวดฉี่ ผมยังไม่อยากลงจากเปลเลย เพราะกลัวอารมณ์ขาดช่วง

ความอ่อนล้าจากการเดินทางไกลร่วม 6-7 ชั่วโมงของเมื่อวาน ได้รับการเยียวยาจากน้ำใจของธรรมชาติและคนในหมู่บ้าน “หนองมั่ง” จนเรี่ยวแรงคืนกลับ

ผมและเพื่อนๆอีก 3 คนเดินทางมายังอุ้มผาง จังหวัดตาก ตามคำชักชวนของแมว-จันทราภา จินดาทอง นักสังคมสงเคราะห์ประจำโรงพยาบาลอุ้มผาง เพื่อข้ามไปเยี่ยมไปเยือนหมู่บ้าน 3 คือหนองมั่ง หนองโคและโต้งมะโด่งในรัฐกะเหรี่ยง ฝั่งประเทศพม่า โดยที่เราไม่รู้อะไรมากนัก

แมวทำงานใกล้ชิดชาวบ้านแนวชายแดนอุ้มผาง แต่หลายครั้งเธอต้องแปลกใจที่ชาวบ้านจากฝั่งพม่าจำนวนไม่น้อยสามารถสื่อสารภาษาไทยได้ชัดเจน เมื่อสอบถามถึงได้รู้ว่าลึกเข้าไปในรัฐกะเหรี่ยง มีชุมชนที่อพยพจากสยามไปตั้งรกรากอยู่นานนม

พวกเราติดตามหญิงสาวชาวไทยยอนคนหนึ่งซึ่งเป็นคนในหมู่บ้านโต้งมะโด่ง แต่มาทำงานในเมืองอุ้มผาง กลับบ้าน โดยเธอได้ชวนน้าสาวร่วมทางไปด้วย และนัดแนะให้ญาติชื่อ “หมอ”เอารถมารับที่ด่านชายแดน

หมอ อายุ 27 ปีเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านโต้งมะโด่ง เขาพูดภาษาไทยสำเนียงยอนหรือเมืองเหนือชัดเจน ก่อนหน้านั้นเขาเคยหลบหนีภัยคุกคามของทหารพม่าเข้าไปอยู่ในศูนย์พักพิงชั่วคราวบ้านนุโพอยู่หลายปี ทำให้รับรู้เรื่องราวและสถานการณ์ต่างๆได้คมชัด

หมู่บ้านและต้นหมากที่พบเห็นทั่วไป
หมู่บ้านและต้นหมากที่พบเห็นทั่วไป

 

ถนนจากด่านชายแดนเบิ่งเคลิ่งมุ่งไปยังหมู่บ้านเป้าหมายระยะทางราว 80 กิโลเมตร ตอนแรกผมคิดว่าคงไม่เท่าไหร่ และไม่สมบุกสมบันอะไรนัก แต่พอเอาเข้าจริงๆหนักกว่าที่คาด หินเป็นหิน ฝุ่นเป็นฝุ่น ตลอดเส้นทางเจอทั้งหินและฝุ่นกลายเป็นกองกำลังร่วมผสมท้าทายพวกเราอยู่ตลอดเวลา

ดูเหมือนทางการพม่ากำลังเร่งรัดสร้างเส้นทาง แต่วิธีการสร้างของเขาเป็นงานระดับฝีมือเพราะทำจากมือจริงๆ หินก้อนใหญ่ๆถูกทุบเหลือก้อนโตกว่ากำปั้นและนำมาเรียงบนถนน ก่อนราดยางมะตอยที่เผากันสดๆแล้วนำหินละเอียดโรยทับอีกที แต่งานราดยางกระดึ๊บไปอย่างช้าๆ ขณะที่การเรียงหินสำเร็จล่วงหน้าไปไกลกว่ามาก ดังนั้นทั้งรถอีแต๊ก รถมอเตอร์ไซ ต่างต้องวิ่งซิกแซกหลบซ้ายหลบขวาเลี่ยงความขรุขระให้ได้มากที่สุดกันตลอดเส้นทาง

บนเส้นทางแห่งนี้ รถอีแต๊กถือว่าเป็นเจ้าถนนตัวจริง เพราะเป็นทั้งรถโดยสาร รถพยาบาล รถขนสินค้า รถบรรทุกพืชผลทางการเกษตร ชาวบ้านเล่าว่าเมื่อก่อนคนส่วนใหญ่ยังใช้เกวียนกันอยู่ เพิ่งมาเปลี่ยนเป็นรถอีแต๊กเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา

รถกระบะโฟร์วิล พาพวกเราวิ่งไปบนถนนหินเรียงที่รอราดยาง กระแทกกระเด็นกระดอนได้อย่างสะใจ ท่ามกลางเปลวแดดยามบ่ายที่พุ่งเข้าหาจุดเดือด

พวกเราข้ามแม่น้ำสุริยะที่ไหลลงแม่น้ำสาละวิน และข้ามลำห้วย 2-3 แห่ง ผ่านด่านทหารกะเหรี่ยง(เคเอ็นยู-กองพล 6) และบีจีเอฟ(กองกำลังพิทักษ์ชายแดน)ได้อย่างฉลุยเพราะมีการประสานงานไว้ล่วงหน้า ชาวบ้านเล่าว่าปกติหากขนสินค้าไปขายต้องจ่ายค่าผ่านทางให้แต่ละด่าน

เรามาถึงหมู่บ้านหนองมั่งบ่าย 2 กว่าหลังออกจากด่านชายแดนเบิ่งเคลิ่งเมื่อตอน 10 โมงเช้า ถือว่าใช้เวลาออกกำลังกายโยกย้ายส่ายเอวอยู่บนรถได้อึดพอสมควร

บ้านหนองมั่งมี 145 หลังคาเรือน ชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นคนลาวที่อพยพจากเวียงจันทร์มานานมากกว่า 100 ปี สำเนียงภาษายืนยันตัวตนได้ชัดเจน เพียงแต่สาเหตุของการอพยพและช่วงเวลาที่อพยพมีเพียงคำบอกเล่าหลากหลายที่ไม่อาจสรุปได้

“พวกเราก็ได้ยินได้ฟังจากคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ว่า คนรุ่นก่อนๆหนีสงครามมาจากเวียงจันทร์ บางส่วนก็เป็นคนอุตรดิตถ์ที่มาค้าขายและได้เมียอยู่ที่นี่”ลุงหล่ำ อายุ 70 ปี ผู้อาวุโสประจำบ้านหนองมั่งเล่าให้เราฟัง ในขณะที่ชาวบ้านคนอื่นก็เล่าสิ่งที่ได้ยินได้ฟังจากคนรุ่นก่อนมาเช่นกัน

สายวันรุ่งขึ้น หลังจากล่ำลาพระจันทร์และบึงบัวแล้ว พวกเราขอบคุณลุงเหน่งและเมีย เจ้าของบ้านที่มากน้ำใจและยอมให้คนแปลกหน้าพักอยู่ด้วยความเต็มอกเต็มใจ คำพูดที่มักได้ยินเมื่อหันหลังลงจากเรือนชาวบ้านที่เราขึ้นไปหาคือ “อย่าลืมกลับมาเยี่ยมกันอีก”หรือไม่ก็ “อะไร? มาคุยกันแป๊บเดียวเอง วันหลังมาค้างด้วยกันน่ะ” น้ำใสใจจริงของคนที่นี่ ทำให้ผมนึกถึงสังคมชนบทบ้านเรา โดยเฉพาะในยุคก่อนที่หันไปทางใดก็มักได้ยินภาษาน้ำใจเช่นนี้

 

ครูบายัง อายุ 111 ปี
ครูบายัง อายุ 111 ปี

ขากลับพวกเราได้แวะวัดหนองโคซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นไทยยวนอพยพมาจากภาคเหนือของไทย และมีโอกาสกราบครูบายัง อายุ 111 ปี

“พ่อของอาตมาเป็นคนน่าน หนีทหารมาอยู่ที่นี่ได้แม่ซึ่งเป็นคนยาง(กะเหรี่ยง) หลังจากแม่ท้อง พ่อก็หนีไปต่อ” ครูบาเล่าถึงประวัติของท่านเป็นภาษาคำเมือง หลังจากที่พวกเราถือโอกาสเรียนถาม

“บ้านหนองโคตั้งมาก่อน คนรุ่นนั้นที่เข้ามาปักหลักที่นี่เพราะมีหนองขนาดใหญ่ชื่อหนองโค เลยปักหลักทำกินกันที่นี่ แล้วค่อยขยายไปหมู่บ้านหนองมั่งและที่อื่นๆ”

แม้อายุมาก แต่ดูเหมือนความทรงจำของครูบายังแจ่มชัด ท่านสามารถเล่าเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยในอดีตให้พวกเราฟังได้อย่างน่าสนใจ เช่น เรื่องการแบ่งเขตแดนระหว่างไทยกับพม่า

ครูบายังเคยเข้ามาจำวัดอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่เพื่อศึกษาธรรมอยู่ 7 ปี แล้วกลับไปอยู่วัดโต้งมะโด่ง สุดท้ายบั้นปลายของชีวิตท่านขอกลับไปอยู่บ้านเกิดที่วัดหนองโค
“คนรุ่นแรกที่มาตั้งหมู่บ้านหนองโคคือผู้เฒ่าเชียงเงินและผู้เฒ่าเชียงเกิน แต่ตอนหลังคนหนองโคก็กระจัดกระจายกันไปอยู่หมู่บ้านอื่นๆ”

จากคำบอกเล่าของชาวบ้าน ระบุว่ามีหมู่บ้านที่พูดภาษาไทยและเว้าลาวอยู่ในย่านนี้รวมแล้วไม่น้อยกว่า 10 แห่ง ทั้งหมดเหมือนเป็นเครือญาติที่รู้จักและเพิ่งพาอาศัยกัน แต่พวกเขาเป็นกลุ่มคนน้อยนิดในฝั่งพม่า ดังนั้นเมื่อทหารพม่าและทหารกะเหรี่ยงรบกัน พวกเขาจึงต้องหนีตายกลับมาอยู่ฝั่งไทย แม้จะกลายเป็นคนเถื่อน

อีกหมู่บ้านหนึ่งที่พวกเราแวะตอนขากลับคือบ้านโต้งมะโด่งซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่เรียกตัวเองว่าไทยยวนเช่นกัน และได้พูดคุยกับพ่อเฒ่าคำมาหรือที่ชาวบ้านเรียกแกว่าหนานอ้าย อายุ 92 ปี ซึ่งบอกว่าบรรพบุรุษอพยพมาจากเมืองน่านของไทยเหมือนกัน แต่เป็นการเข้ามาทำมาหากินในยุคที่อังกฤษเข้ามาทำไม้

“อยากกลับไปดูเมืองน่านเหมือนกันน่ะว่าเป็นอย่างไร คงมีญาติพี่น้องที่นั่นเหมือนกัน แต่พ่อแม่ตายหมดแล้วก็ไม่รู้จะไปหาใคร” ตอนนี้หนานอ้ายใช้ชีวิตโสดอยู่ในวัดโต้งมะโด่ง พ่อของหนานเสียชีวิตตอนอายุ 70 ปี และมีหนานอ้ายซึ่งเกิดที่หมู่บ้านนี้ตอนพ่ออายุ 20 ปี นั่นหมายความว่าตระกูลของหนานอ้ายเข้ามาปักหลักที่บ้านโต้งมะโด่งไม่น้อยกว่า 140 ปีมาแล้ว

สรุปคือพวกเราได้รับฟังคำบอกเล่าของชาวบ้านที่เคยอยู่ในแดนสยามและเวียงจันทร์ แต่หนีร้อนไปพึ่งเย็นและปักหลักอยู่ที่นั่นมานานนับร้อยสองร้อยปี จนไม่สามารถอพยพกลับคืนถิ่นที่อยู่เดิมหลังจากมีการปักปันเขตแดนของรัฐสมัยใหม่ได้ แม้ต้องการจะกลับ พวกเขาต้องเป็นคนแปลกหน้า กลายเป็นคนพม่าและคนเถื่อนของสังคมไทย

พวกเรานั่งรถฝ่าเปลวแดดและถนนเรียงหิน-คลุกฝุ่น เหมือนเดิม แต่ขากลับดูจะถึงง่ายและถึงไวกว่าขาไป ขณะที่แต่ละคนต่างมีบันทึกอยู่ในใจมากกว่าในหัว และพร้อมที่จะถ่ายทอดเสียงที่ไม่ค่อยได้ยินจากหมู่บ้านแดนไกล

 

เรื่องโดย ภาสกร จำลองราช
ภาพโดย เฉลิมศักดิ์ กิตติตระกูล

…………..

ตีพิมพ์ครั้งแรกใน เนชั่นสุดสัปดาห์ 17 เมษายน 2558

On Key

Related Posts

ผวจ.เชียงรายยังไม่รู้เรื่องน้ำกกขุ่นข้น-เตรียมสั่งการทสจ.ตรวจคุณภาพน้ำ คนขับเรือเผยน้ำขุ่นต่อเนื่องตั้งแต่อุทกภัยใหญ่ 6 เดือนก่อน ผู้เชี่ยวชาญชี้ดินโคลนจากเหมืองทองเสี่ยงสารปรอทปนเปื้อน ระบุการตรวจสอบต้องทำให้ถูกวิธี เก็บตัวอย่างตะกอนดิน-ปลานักล่า

เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2568 นายชรินทร์ ทองสุข ผู้ว่Read More →

กรมควบคุมมลพิษลงพื้นที่เก็บตัวอย่างน้ำกก-ตรวจสารไซยาไนด์เหมืองทอง คาดรู้ผลภายใน 1 เดือน นักวิชาการเผยทหารว้าจับมือจีนแผ่อิทธิพลถึงชายแดนไทยใช้กลยุทธ์คุมต้นน้ำ-สร้างเหมืองกระทบไทย

เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2568 นายชัยวัฒน์ ปันสิน ผู้อRead More →

ผู้ตรวจการแผ่นดินหวั่นโครงการสร้างเขื่อนใหญ่กั้นโขงส่งผลกระทบเขตแดนไทย แนะสร้างกลไกหารือร่วมกับภาคประชาชน กรมสนธิสัญญาอ้างยังตรวจสอบไม่แล้วเสร็จ ภาคประชาชนจวก สนทช.งุบงิบข้อมูลจัดประชุมกรณีเขื่อนสานะคามแล้ว 4 ครั้ง

เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2568 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมRead More →