Search

9 มังกรพ่าย-ญวนวิกฤต! พิษเขื่อนกั้น”แม่น้ำโขง”

2

นักวิชาการ ,องค์กรพัฒนาเอกชนด้านแม่น้ำ และภาคประชาสังคมในเวียดนาม ต่างตระหนักถึงผลกระทบจากโครงการก่อสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขง 11 แห่งในจีน ลาว และกัมพูชาเป็นอย่างดี

พวกเขาจัดทำข้อมูล งานวิจัย สถิติ และปรากฏการณ์ในดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง (แม่โขงเดลต้า) นำเสนอรัฐบาล และสาธารณชนรับรู้เป็นระยะ รวมถึงแสวงหาแนวร่วมต่อต้านทั้งจากภายในและนอกประเทศ ดังเช่นที่ได้เชิญสื่อไทยมาเก็บข้อมูล เมื่อต้นเดือนเมษายน 2558

Center for Biodiversity and Development (CBD) 1 ใน 3 องค์กรด้านแม่น้ำในเวียดนาม ส่วนภาคใต้ ได้สรุปผลกระทบให้ทราบ ดังนี้ 1.ที่อยู่อาศัยนับหมื่นชุมชน 2.เปลี่ยนแปลงการไหลของน้ำ 3.สูญเสียดินตะกอน 4.ดินริมตลิ่งพังทลายมากขึ้น 5.ปัญหาการเดินเรือ 6.สูญเสียทรัพยากรปลา 7.สูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ 8.พื้นที่ชุ่มน้ำลดลง แคบลง 9.ความเสี่ยงอื่นๆที่ไม่อาจคาดเดา

สำคัญที่สุดคือ กัดกร่อน 3 เสาหลักทางเศรษฐกิจ และสังคมในเวียดนามตอนใต้ ได้แก่ 1.ประมง 2.เกษตรกรรม 3.ภาคบริการ

ย้อนกลับไป พ.ศ.2531 ชาวเวียดนามอดอยากหิวโหย พวกเขาฟันฝ่าอุปสรรคจนพัฒนาแม่โขงเดลต้าเป็น “คลังอาหารโลก” ใน พ.ศ.2555 ปลูกข้าวส่งออกสูงถึง 7.7 ล้านตัน ติดอันดับต้นๆโลก

“คุณคิดดูสิว่า เราต้องการปริมาณน้ำ ต้องการตะกอนจากแม่น้ำโขงเท่าไหร่ จึงจะทำให้วิถีชีวิตเราอยู่ได้” Vu Ngoc Long (วู หง๊อก ลอง) กรรมการบริหาร CBD ตั้งคำถาม แต่เมื่อพลิกดูสถิติปริมาณน้ำและตะกอนที่ไหลสู่แม่โขงเดลต้า CBD พบว่า มีปริมาณลดลงอย่างมากในปัจจุบัน

“หากเขื่อนทั้งหมดเป็นไปตามแผน เราจะหนักหนาสาหัสแค่ไหน จะมีผลกระทบกับข้าว ปลา อาหาร และดินดอนแถบนี้อย่างไร อย่าว่าแต่สร้างครบเลย เพียงเท่าที่มีอยู่ตอนนี้ก็ทำให้ชาวนาพูดถึงภัยแล้ง น้ำไม่พอปลูกข้าว ทุกคนเริ่มตระหนักว่าน้ำเปลี่ยนแปลงทั้งคุณภาพ ปริมาณ เวลา ทางเดิน และระดับ…เมื่อไหร่น้ำ และตะกอนถูกตัด เมื่อนั้นแหล่งอาหารโลกวิบัติ คนตายก็คือคนยากคนจน”

วู หง๊อก ลอง ประเมินด้วยว่า คนยากคนจนไม่สามารถอยู่รอดด้วยการปลูกข้าว และพืชผล ต้องหนีมาทำงานในเมือง แต่ CBD ยังไม่ได้ศึกษาเรื่องนี้ จึงไม่มีหลักฐานเป็นรูปธรรม

Ne Thes Tran (เน เจ ตวน) ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์เยาวชน “ต่วยแช”เสริมว่า ตัวเลขประชากรในโฮจิมินห์ตามเอกสารราชการ 8.7 ล้านคน แต่ตัวเลขจริงมากกว่า 10 ล้านคน ส่วนเกินนั้น ส่วนใหญ่อพยพมาจากแม่โขงเดลต้า

เวียดนามไม่ได้รับประโยชน์อะไรเลยจากเขื่อน นอกจากผลเสียมากมายข้างต้น

“ถึงตอนนี้ หากสรุปว่า รากฐานความมั่นคงของเวียดนาม ประกอบด้วย ทรัพยากรน้ำ อาหาร และสังคม คงไม่มีใครปฏิเสธ ถ้าทั้งสามดี เวียดนามก็มั่นคง แต่ถ้าหนึ่งในเสาหลักเศรษฐกิจคือข้าวมีปัญหา เวียดนามจะเป็นอย่างไร”กรรมการ CBD ตั้งคำถามอีก

สมมติฐานหนึ่งที่นักวิชาการ และเอ็นจีโอด้านแม่น้ำตอบตรงกันคือ ในอนาคตอันใกล้ เวียดนามจะสูญเสียความเป็นหนึ่งในผู้นำการส่งออกข้าวสู่ตลาดโลก ยิ่งกว่านั้น ในระยะยาว ระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำจะได้รับความเสียหายถาวร ไม่อาจฟื้นคืนมาได้ ส่งผลกระทบต่อคนยากคนจนในเขตเมืองและชนบท เกิดการอพยพขนานใหญ่ เกิดปัญหาสังคมตามมาเป็นลูกโซ่

องค์กรด้านแม่น้ำในเวียดนาม (Vietnam Rivers Network : VRN) 150 องค์กร พยายามทำทุกวิถีทางเพื่อกระตุ้นประชาชน และรัฐบาลตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว ตลอดปี 2557 ได้จัดประชุมใหญ่-ย่อยเครือข่ายประชาชนทุกระดับ ทุกเพศ ทุกวัย ,จัดเวทีแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างชุมชน 3 ระบบนิเวศ ,จัดสัมมนานักวิทยาศาสตร์ นักการเมือง เอ็นจีโอในกรุงฮานอย ,ล่าชื่อ-ทำโพลผ่านเว็บไซต์ 2 ภาษา (เกิน 90% ค้านเขื่อน) ฯลฯ

VRN พยายามสร้างเสียงจากชาวบ้านขึ้นสู่ส่วนกลางให้มากขึ้น จนเริ่มได้รับการยอมรับและสนับสนุนจากภาครัฐ โดยเฉพาะกระแสต้านเขื่อนดอนสะโฮงที่สีพันดอน (ลาว)นั้น แตกต่างจากตอนค้านเขื่อนไซยะบุรี เนื่องจากดอนสะโฮงใกล้ตัวมากกว่า เห็นผลกระทบชัดเจนกว่า ก่อนหน้านี้ คนไม่ทราบเรื่องเขื่อนดอนสะโฮงเลย หลังเผยแพร่ข้อมูล จึงรู้ว่าเขื่อนสร้างปัญหาตามมามากมาย

หลังติดอาวุธทางปัญญา องค์กรระดับภาคได้มีหนังสือและผลโพลถึงรัฐบาลหลายครั้ง หลายข้อเสนอ อาทิ 1.ให้เจรจารัฐบาลลาว ชะลอสร้างเขื่อนดอนสะโฮงไป 10 ปี เพื่อศึกษาผลกระทบหรือหาทางอื่น 2.ศึกษาผลกระทบระบบนิเวศท้ายน้ำ และปากแม่น้ำโขง 3.หารือกับรัฐบาลกัมพูชา หรือหารือในกรอบอาเซียนเพื่อกดดันให้ลาวยุติ 4.ในกรณีทุกวิธีล้มเหลว ขอให้ศึกษาแผนรับมือผลกระทบในระยะยาว เช่น วิจัยการพัฒนายั่งยืน หาอาชีพทดแทน

ไม่เพียงเอ็นจีโอเท่านั้น ยังมีนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยอันยาง เมืองอันยาง คือ Vo Lam (โว แลม) อาจารย์ภาควิชาสัตววิทยา และ Pham Xuan Phu (ฟาม ซวน ฟู) อาจารย์ภาควิชาการพัฒนาชนบท ร่วมให้ข้อมูลการศึกษาวิจัยความเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขงจากการสร้างเขื่อนตอนบน หลังส่งนักวิจัย-นักศึกษาลงพื้นที่เก็บข้อมูลมาต่อเนื่อง

งานวิจัยชัดเจนว่า มีการพังทลายของดิน น้ำขาดแคลนในหน้าแล้ง ฤดูฝนน้ำท่วมมาก น้ำทะเลทะลักเข้าแผ่นดินลึกถึง 70 กิโลเมตร ถ้ามีเขื่อนมากขึ้น ระดับน้ำลดเมื่อไหร่ ก็จะดึงน้ำทะเลเข้ามากกว่าเดิม

งานวิจัยยังพบด้วยว่า 10 ปีที่ผ่านมา ปลาธรรมชาติลดลง 70-80% เช่น ปี 2543 ปลาในตลาดเมืองอันยางซื้อขายกัน 91 ตัน/ปี พอมาปี 2555 เหลือแค่ 35 ตัน สาเหตุสำคัญมาจากเขื่อนกั้นขวางการอพยพแพร่พันธุ์ปลาในแม่น้ำโขง

โว แลม เปรียบแม่โขงตอนบนเป็น “ราก” ตอนล่างเป็น “ใบ” ถ้าใส่น้ำใส่ปุ๋ยบำรุงดี ใบก็งอกงาม แต่ถ้าบำรุงไม่ดี ผลก็เป็นอีกแบบ (ดูภาพประกอบ) ยิ่งแม่โขงเดลต้าใช้ระบบเกษตรกรรมแบบเข้มข้น จึงต้องใช้น้ำมากขึ้น (ข้าว 1 กิโลกรัมใช้น้ำถึง 13 ลบ.ม.)

เขายังพูดถึงเขื่อนดอนสะโฮงว่า รัฐบาลเวียดนามเคยร่วมกับรัฐบาลลาวศึกษาวิจัยผลกระทบอย่างรอบคอบแล้ว แต่ไม่สามารถคัดค้านได้ ส่วนตัวไม่คิดว่า รัฐบาลเวียดนามมีอำนาจพอที่จะหยุดยั้ง แต่ วู หง๊อก ลอง ยังมีความหวัง แม้จะเสียใจที่รู้ว่าลาวไม่รับฟังใคร และยังคงเดินหน้าสร้างเขื่อน

“จากนี้ไป เราต้องหามิตร หาแนวร่วมจากไทย ลาว หาหลักฐานให้ลาวเห็นชัดเจนว่า เขื่อนจะสร้างความเสียหายต่อปากแม่น้ำโขงอย่างไรบ้าง”

นักวิชาการ และนักอนุรักษ์เวียดนามต่างรู้ดีว่า ในอนาคตอันใกล้ พวกเขาหนีวิกฤตอู่ข้าวอู่น้ำไม่พ้น

คนเวียดนามเรียกแม่โขงเดลต้าว่า “กู๋ลอง” (Cuu Long) “กู๋” แปลว่า 9 “ลอง” แปลว่า มังกร มีพื้นที่ 39,000 ตารางกิโลเมตร ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และใหญ่ติดอันดับ 1 ใน 5 ของโลก

วู หง๊อก ลอง ถึงกับเปรียบเปรยว่า “การปิดกั้นแม่น้ำโขง จะทำให้มังกรป่วย”

——————-
ภาคภูมิ ป้องภัย
มติชน

On Key

Related Posts

ผบ.สส.เร่งหน่วยงานตรวจสอบคุณภาพน้ำกกหลังชุมชนผวาสารพิษเจือปนจากการทำเหมืองทองฝั่งพม่า ภาคประชาชนเผยน้ำกกขุ่นเพิ่มจากปีก่อน 8 เท่าหวั่นกระทบน้ำดิบทำประปา

เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2568 พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดีRead More →

ผบ.สส.รับมีการทำเหมืองต้นแม่น้ำสายเป็นเหตุให้น้ำขุ่นแต่ปัญหาน้อยกว่าปีก่อน ท้องถิ่นแม่สายเสนอ ผอ.ศอ.ปชด.ผ่อนปรนมาตรการตัดไฟ เผยส่งผลกระทบชาวบ้านและการค้า 2 ฝั่ง

เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2568 นายชัยยนต์  ศรีสมุRead More →