เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2558 ที่อาคาร Wisma MCA กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ได้มีการจัดประชุมอาเซียนภาคประชาชน (APF 2015) ในหัวข้อยึดคืนอาเซียนกลับมาเป็นของประชาชน (RECLAIMING THE ASEAN COMMUNITY FOR THE PEOPLE) โดยมีประชาชนจากประเทศต่างๆ ในกลุ่มอาเซียนเข้าร่วมกว่า 1,400 คน ทั้งนี้องค์กรภาคประชาสังคมได้ออกแถลงการณ์มีเนื้อหาส่วนหนึ่งว่า ปี 2015 ครบรอบ 10 ปีของการจัดเวทีของภาคประชาสังคม นับตั้งแต่ที่มีการจัดขึ้นครั้งแรกที่มาเลเซีย และแม้จะมีการจัดทำและนำส่งข้อเสนอแนะต่ออาเซียนมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2005 พวกเราภาคประชาสังคม รู้สึกชื่นชมกับความมุ่งมั่นในความพยายามของอาเซียนในช่วงปีที่ผ่านมาในการสร้างอาเซียนที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง พร้อมกับสร้างสันติภาพและสังคมที่มั่งคั่ง แต่พวกเรารู้สึกผิดหวังและกังวลเป็นอย่างมากที่ข้อเสนอที่ได้ยื่นให้กับประเทศสมาชิกอาเซียนกลับไม่ได้รับการตอบสนองและนำไปปฏิบัติอย่างจริงจัง
ในแถลงการณ์ของภาคประชาชนระบุว่า ขณะที่รัฐบาลในอาเซียนกำลังเดินหน้าสู่การพัฒนาวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียนภายหลังปี 2558 ประชาชนของอาเซียนกลับยังคงได้รับผลกระทบจากระบอบเผด็จการทหาร ความรุนแรง และการปราบปรามโดยใช้อาวุธ การแทรกแซงจากต่างประเทศอย่างไร้ความยุติธรรม ขาดเสรีภาพขั้นพื้นฐาน เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน ขาดกระบวนการที่เป็นประชาธิปไตย ขาดธรรมาภิบาลและเกิดการคอรัปชั่น มีการพัฒนาอย่างไม่เป็นธรรม สร้างความเหลื่อมล้ำ เลือกปฏิบัติ และขาดความเสมอภาค การตีความอย่างจำกัดของอาเซียนต่อหลักการอธิปไตยของชาติและการไม่แทรกแซงยังคงเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินการและจัดการกับความท้าทายต่างๆ อย่างมีประสิทธิผลในภูมิภาค นอกจากนี้ ประชาชนของอาเซียนยังคงไม่สามารถเข้ามีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ในกระบวนการตัดสินใจในระดับอาเซียน
“ความล้มเหลวของอาเซียน ในฐานะที่เป็นองค์กรระดับภูมิภาค ในการจัดการกับประเด็นปัญหาของประชาชนนั้น มีรากฐานมาจากการเปิดรับแนวทางและรูปแบบเสรีนิยมสมัยใหม่ในการรวมตัวกันของภูมิภาค ซึ่งเป็นรูปแบบที่ให้ความสำคัญกับการลงทุนและผลประโยชน์ของธุรกิจและกลุ่มชนชั้นสูงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มากกว่าความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ ดังนั้น การมีส่วนร่วมของพวกเราต่อกระบวนการของอาเซียน จึงยึดมั่นอยู่บนฐานของการวิพากษ์วิจารณ์และการปฏิเสธการเปิดเสรีการค้า การแปรรูป รวมถึงนโยบายและการลงทุนที่ให้ธุรกิจอุตสาหกรรมเป็นตัวขับเคลื่อน ซึ่งล้วนแล้วแต่จะยิ่งสร้างความเหลื่อมล้ำ ไม่เท่าเทียมกัน และเป็นอุปสรรคต่อการสร้างสันติภาพ ประชาธิปไตย ความกินดีอยู่ดี และความก้าวหน้าทางสังคมในภูมิภาค” ในแถลงการณ์ระบุ
ทั้งนี้ในเวทีเสวนาช่วงเช้า ได้มีการนำเสนอจากผู้เข้าร่วมชาวลาว โดยกล่าวถึงปัญหาข้ามพรมแดนที่เกี่ยวข้องกับประเทศลาวว่า อาเซียนต้องนำเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและสิทธิมนุษยชนสู่ลาว เพราะขณะนี้ลาวกำลังประสบปัญหาหนักเรื่องเขื่อนไซยะบุรีและดอนสะโฮง (บนแม่น้ำโขง) เพราะเรา (ชาวลาว) ไม่มีสิทธิใดๆ การนำเสนอประเด็นดังกล่าวสร้างความแปลกใจแก่ผู้เข้าร่วมเนื่องจากไม่คาดคิดว่าจะมีชาวลาวขึ้นมาพูดในเรื่องที่อ่อนไหวดังเช่นโครงการเขื่อนขนาดใหญ่ หลังการประชุมเช้านี้มีการแสดงออกของหลายกลุ่ม เช่น กลุ่มที่คัดค้านโครงการเขื่อนขนาดใหญ่ในมาเลเซีย กลุ่มตามหาบิลลี่ กลุ่มตามหานายสมบัด สมพอน และตัวแทนชาวบ้านลุ่มน้ำโขงจากกัมพูชามาแสดงออกเพื่อคัดค้านเขื่อนเซซาน 2 และเขื่อนดอนสะโฮง ซึ่งมีการชูป้ายต่างๆ อาทิ No Donsahong Dam, Stop Maram Dam Say No to Mega Dam โดยมีผู้สนใจถ่ายรูปและแชร์ในสื่อสังคมออนไลน์กันอย่างคึกคัก
—————-
รูปโดย mirindarin