วันที่ 24 เมษายน ที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินทร มูลนิธิเล็กประไพวิริยะพันธุ์ร่วมกับเสมสิกขาลัย จัดสัมมนาในหัวข้อ “ทวาย บ้านเมืองที่เราไม่รู้จัก” โดยมีนักวิชาการ นักศึกษา สื่อมวลชนทั้งไทยและพม่า รวมทั้งประชาชนผู้สนใจเข้าร่วมประมาณ 120 คน
รศ.ศรีศักร วัลลิโภดม นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดีกล่าวว่า คนที่ไม่รู้จักทวายคือคนไทยยุคปัจจุบัน แต่คนรุ่นก่อนรู้จัก เรารู้จักทวายทางเศรษฐกิจท่าเรือน้ำลึก แล้วคน สังคม เรากลับไม่รู้จัก รู้แต่ว่าจะลงทุนมีรายได้เท่านั้น ทวายมีความสัมพันธ์กับเราอย่างใกล้ชิด โดยสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เมืองทวายเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรสยาม ต่อมาสมัยราชวงคองบองพม่ามาทวงคืนเพื่อทำเป็นเมืองท่าการค้า อ่าวเมาะตะมะเป็นเวิ้งใหญ่ มีเมืองท่าคือทวาย มะริด ตะนาวศรี เป็นแหล่งท่าเรือการค้าทางทะเลตั้งแต่ศตวรรษ 11-12 ลงมา
รศ.ศรีศักร กล่าวว่า การที่ทวายกลายเป็นที่ฮือฮาของคนไทยเพราะจะมีโครงการสร้างท่าเรือน้ำลึก หากลงทุนมากๆข้ามคาบสมุทร เมืองทวายกระทบแน่ เพราะปากน้ำทวายเป็นทะเลใน เป็นลากูนแบบสงขลา เกิดบ้านเมือง พื้นที่เวิ้งน้ำที่ราบลุ่มเป็นภูมิประเทศที่ดีทางภูมิศาสตร์ ขณะที่มะริดอยู่ตรงกลาง ปัจจุบันมีเรือประมงจอด ส่วนตะนาวศรีเป็นเมืองภายใน ไม่ได้อยู่ติดทะเล เป็นเมืองคุมเส้นทางติดต่อผ่านมายังไทย หากเทียบความสำคัญทางเมืองท่า 3 แห่งนี้ ทวายสำคัญที่สุด การค้าข้ามคาบสมุทรจากอินเดียมาทะเลจีน
รศ.ศรีศักร์กล่าวว่า ตอนต้นคริสตกาลเส้นทางสายไหมจากอินเดียผ่านยะไข่ สะเทิม ทวาย แล้วขนถ่ายสินค้าข้ามคาบสมุทรมากาญจนบุรี ราชบุรี เป็นเส้นทางโบราณ สมัยหลังจากนั้นเริ่มมีการเดินเรือผ่านมาทางระนอง ตะกั่วป่า อ้อมแหลมมลายู คือยุคศรีวิชัย นี่คือเส้นทางข้ามคาบสมุทรสมัยสุวรรณภูมิ หลักฐานที่เก่าที่สุดเราพบของพวกพยู (เพียว Pyu) เราพบเมืองโบราณรุ่นแรกๆ ที่นครปฐม เห็นเส้นทางสมัยรับเอาพุทธศาสนาที่ข้ามมาถึงฝั่งนี้
“คนทวายสัมพันธ์กับคนสยามมานาน คนทวายปัจจุบันที่ผมเพิ่งไปมา พบว่าเขามีสิ่งที่เรามีเมื่อ 50-60 ปีก่อน เมืองไม่แออัด บ้านเมืองเป็นระเบียบ กลางคืนเดินได้สบาย และนับถือพุทธศาสนา ชุมชนชนบทมีวัดเป็นศูนย์กลาง เรือนทวายสำหรับสถาปนิก ควรศึกษา เป็นบ้านชาวสวนใต้ถุนสูง เป็นแบบขนบที่ผมไม่พบที่อื่นนอกจากศรีลังกา แนะนำให้ไปเที่ยวแบบสังคมวัฒนธรรม เรียนรู้จากเขา อย่าเอาแค่เรื่องเศรษฐกิจ”รศ.ศรีศักร กล่าว
นายซอทูระ นักวิชาการจากสมาคมวิจัยทวาย ประเทศพม่า กล่าวว่า ไม่คาดว่าจะมีคนมาฟังจำนวนมาก ทวายตอนนี้มีชื่อในเรื่องท่าเรือน้ำลึก ปีที่แล้วนักธุรกิจญี่ปุ่นบอกว่าทวายคือสวรรค์แห่งสุดท้ายของญี่ปุ่น ตอนนี้นักลงทุนยุโรป เกาหลี ต่างเข้ามา แต่ประสบการณ์ในพม่าคือสงครามที่ยังยืดเยื้อ การแย่งที่ดิน คำถามคือตอนนี้ทวายเราพร้อมหรือยังสำหรับการพัฒนา ทวายอยู่ในมณฑลตะนาวศรี หรือตะนิ้นตายี ภาคใต้สุดของพม่า คนทวายอยู่ที่นี่มานาน อยู่อย่างสงบสุข คำว่า ทวาย หมายถึงพื้นที่และชาติพันธุ์ทวาย เราอาศัยอยู่ที่ลุ่มน้ำทวาย พูดภาษาทวายที่ไม่ใช่ภาษาพม่า มีเพลงมีการร่ายรำแบบทวาย ประชาชนทวายราว 8 แสนคนเป็นชาวประมง ชาวสวน
นายซอทูระกล่าวว่า พงศาวดารทวายพบเมืองโบราณ 16 แห่ง ที่ใหญ่ที่สุดคือเมืองธากะระ หรือสาคะระ (Tagaya) รัฐบาลได้ขุดค้นเมืองโบราณเล็กน้อย แต่ในปี 2008 ก็มีการลงนามระหว่างรัฐบาลไทยกับพม่าเดินหน้าโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษและท่าเรือน้ำลึกทวาย ซึ่งห่างจากที่ตั้งเมืองโบราณธาการะ เพียง 3 กิโลเมตร เราจึงได้ยื่นจดหมายถึงรัฐบาล ทำรายงานเรื่องเมืองโบราณส่งรัฐบาล มีการรณรงค์กับชุมชน แต่รัฐบาลพม่าสนใจเพียงภาคกลาง แต่ทวายอยู่ภาคใต้ รัฐบาลจึงไม่สนใจ เมืองโบราณที่ทวาย ยังมีที่พบคือเมืองโมกตี เมืองเวยดี และเมืองซินเสก ตั้งอยู่บนฝั่งตะวันออกและตะวันตกของแม่น้ำทวายอย่างละ 2 เมือง พบแผ่นหินจารึกอักษรมอญ ทั้งพระ กำแพง เหรียญโลหะที่จารึกอักษรโบราณ แต่หกทศวรรษของสงครามในพม่าทำให้หลักฐานโบราณคดีมากมายหายไปจำนวนมาก
นายซอทูระกล่าวว่า ยุคก่อนพุกามแทบไม่มีการบันทึกเรื่องทวาย ในยุคก่อนพุกามรัฐบาลพม่าศึกษาและมีข้ออ้างอิง แต่เรื่องทวายซึ่งอยู่ในยุคเดียวกันกลับไม่มีบันทึก เมืองธากะระ ทั้งๆที่พบกำแพง 3 ชั้น แต่เมื่อไปเดินในพื้นที่พบถึง 6 ชั้น ส่วนนาบูเล่ เขตเมืองเก่าที่ชาวทวายเชื่อว่าบรรพบุรุษทวายกำเนิดจากที่นี่ แต่เป็นหนึ่งในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมทวาย
“เราหลักฐานทวายพบย้อนกลับไปถึง 4,000 ปีก่อน แต่ไม่พบหลักฐานยุคโลหะ เราทำงานก็ขุดหากันง่ายๆ ไม่มีเครื่องมือหรือวิธีการซับซ้อน ที่เมืองธาการะ เรายังหวังว่าจะได้ศึกษาและพบหลักฐานลึกกว่านี้” นายซอทูระกล่าว
นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ทวายผู้นี้ยังกล่าวด้วยว่า ทุกวันนี้รัฐบาลพม่ารวมชาวทวายไว้ในกลุ่มพม่า แต่เราไม่ใช่พม่า เราใกล้เคียงกับพยูมากกว่า เราเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ 1 ใน 9 ซึ่งรวมถึงอาระกันและพยู นี่เป็นการจัดหมวดที่ใช้มิติทางการเมือง ตอนนี้มีโครงการพัฒนาใหญ่ๆ เกิดขึ้น เราอยากได้อยากรู้ข้อมูล ก็พยายามหาช่องทาง ภายใต้รัฐบาลทหารระบบการศึกษาก็ไม่ดีนัก ทรัพยากรมนุษย์ของเรายังน้อย แคว้นตะนาวศรีมีประชากร 2 ล้านคน มาทำงานเมืองไทยมากมาย รัฐบาลพม่าคุยกับรัฐบาลไทยพัฒนาโครงการ แต่ผมอยากทำงานประชาชนต่อประชาชน ต้องฟังคนทวาย เรามีประเพณี ประวัติศาสตร์ ของเราเอง เมื่อก่อนทวายเข้าไปยาก ไม่มีใครเข้ามา แต่เวลานี้ทุกอย่างทะลักเข้ามาในทวาย ทั้งการพัฒนา การท่องเที่ยว เราแทบจะรับไม่ไหว
น.ส.ลัลธริมา หลงเจริญ นักวิชาการอิสระ กล่าวว่าโครงการทวายเริ่มในปี 2551 คนพม่ายังสงสัยว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร ให้บริษัทอิตาเลียนไทยทำการศึกษา และก่อนหน้าเลือกตั้งครั้งแรกของพม่าเพียงไม่กี่วันก็ลงนามให้พัฒนาโครงการและสุดท้ายรัฐบาลไทยและพม่าต่างถือหุ้นคนละครึ่ง หลังรัฐประหารชาวทวายดีใจเพราะคิดว่าจะหยุด แต่นายกฯไทยกลับประกาศเดินหน้าโครงการทวายต่อ
//////////////////