Search

นักวิชาการจวกรัฐบาลแก้ไขพ.ร.บ.ป่าไม้-สัตว์ป่าเปิดช่องโหว่ให้นักลงทุน พบมีจุดผ่อนปรนให้อำนาจอุทยานกำหนดเงื่อนไข-เปลี่ยนแปลงแผนได้

received_418803341613899

เมื่อวันที่  6 เมษายน 2558 ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย มูลนิธิสืบนาคเสถียรร่วมกับชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม จัดเวทีเสวนาเรื่อง  “แก้ไขกฎหมายป่าไม้-สัตว์ป่า ประโยชน์เพื่อใคร?”  ภายหลังรัฐบาลได้มีการเตรียมยกร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) อุทยานแห่งชาติ และร่าง พ.ร.บ. ส่งเสริมการอนุรักษ์สัตว์ป่า โดยนายศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบฯ กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า   ข้อกังวลที่มูลนิธิฯ และนักวิชาการหลายฝ่ายเสนอนั้น คือ การขอให้รัฐบาลชะลอการแก้ไขกฎหมายทั้ง 2 ฉบับแล้ว และเสนอหลักการเช่นเดิมคือ ต้องรับฟังความคิดเห็นทุกฝ่าย เพราะในร่างกฎหมายนั้นมีการให้อำนาจอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธ์พืชมากเกินความเหมาะสมและมีช่องโหว่มากมายที่เปิดให้มีการประกอบธุรกิจเหนือกฎเกณฑ์การอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า  เช่น กรณีรายละเอียดบางอย่างนั้นพบว่ามีข้อความคลุมเครือ เช่น กรณีเปิดทางให้เอกชนเข้ามาบริหารจัดการในกรณีมีที่พักและสิ่งอำนวยความสะดวกในอุทยานแห่งชาติเป็นต้น

ด้าน ดร.อนรรฆ พัฒนวิบูลย์ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ปัญหาสำคัญในร่างกฎหมายฉบับนี้ คือ ใช้พื้นที่ผ่อนปรน กรณีการใช้ประโยชน์ในเขตอุทยาน เป็นการใช้คำที่เลื่อนลอย ขาดหลักประกันการป้องกันความเสียหาย เช่น ชุมชนต้องอยู่อย่างยั่งยืน, ผู้ใดทำความเสียหายต่อธรรมชาติ ต้องทำให้สู่สภาพเดิม ซึ่งกรณีนี้จะไม่ส่งเสริมการอนุรักษ์เท่าใดนักเพราะหากสัตว์ป่าสูญพันธุ์ไปแล้ว กลับคืนมาไม่ได้ ไม่ว่าท้องถิ่นจะดีเพียงใดก็ย่อมจัดการไม่ได้ นอกจากนี้ยังพบว่าเรื่องแนวคิดการเล็งเสริมเพาะพันธ์ุสัตว์ป่าเพิ่มจำนวนประชากรแล้วหวังจะห้ามธุรกิจค้าสัตว์ป่านั้นเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ เพราะเมื่อใดก็ตามหากรัฐเปิดโอกาสให้เอกชน หรือสาธารณะมาใช้ประโยชน์จากเขตอนุรักษ์ เท่ากับว่าเปิดโอกาสให้คนรบกวนสัตว์ และนำไปสู่การผลักสัตว์ออกนอกเขตอนุรักษ์ ต่อมาสัตว์บางกลุ่มก็ทยอยหายไปเพราะถูกล่า

ดร.อนรรฆ กล่าวด้วยว่า เมื่ออุทยานส่งเสริมการท่องเที่ยวมากกว่าการอนุรักษ์ เจ้าหน้าที่หลายฝ่ายเข้ามาเพื่อดูแลนักท่องเที่ยวแทนการทำหน้าที่พิทักษ์ป่า สัตว์ป่า ทรัพยากรก็จะเสื่อมหายไป การเร่งขยายพันธ์ุหวังแก้ปัญหาจะเป็นการสบายทรัพยากรทางอ้อม ตัวอย่างความล้มเหลวนี้เกิดขึ้นแล้วที่แอฟฟริกาใต้ กรณีเคยเปิดโอกาสให้จีนกับญี่ปุ่นซื้อขายอวัยวะช้างได้แล้วมีการเร่งขยายพันธ์ุ ต่อมาก็พบว่าไม่ตอบสนอง มีแต่เร่งความต้องการสัตว์ป่ามากขึ้น และยิ่งประเด็นการบริหารต่างๆ ขึ้นอยู่กับอุทยานด้วยแล้ว การผ่อนปรนตามอำนาจบริหารย่อมไม่สามารถระงับปัญหาได้ เพราะที่เห็นอยู่ หัวหน้าอุทยานบางรายไม่ได้มีหน้าที่อนุรักษ์แต่มีหน้าที่ประกอบธุรกิจ ซึ่งส่วนนี้ฝ่ายผลักดันกฎหมายต้องเข้าใจว่า พ.ร.บ.ดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นเพราะส่งเสริมการท่องเที่ยว การค้า

“ตามหลักสากลในการอนุรักษ์และการสร้างกรอบของอุทยานคือ ต้องไม่เกี่ยวข้องกับการเปิดช่องคนมารบกวนพื้นที่อนุรักษ์ หรือหมายถึงห้ามคนยุ่งในเขตอนุรักษ์เว้นแค่เจ้าหน้าที่ที่คุ้มครองสัตว์ป่า ซึ่งไม่ใช่เจ้าหน้าที่ดูแลนักท่องเที่ยว และในส่วนของกฎหมายคุ้มครองสัตว์ป่า คือ ต้องไม่กล่าวถึงช่องทางการส่งเสริมการประกอบธุรกิจการค้าสัตว์ป่าเลย ดังนั้นต้องไม่มีการเสนอให้เพาะพันธ์ุ เพราะวิถีชีวิตเพาะพันธ์ุดูแลนั้นเป็นวิถีที่ขัดต่อธรรมชาติ ดังนั้นข้อเสนอของผม แบ่งส่วนให้ชัดเจน พื้นที่ใช้สอยในเขตอุทยาน พื้นที่หวงห้าม พื้นที่จำกัด ส่วนกรณีขยายพื้นที่ป่านั้น ไหนๆ รัฐก็มีแผนแม่บทที่รัฐทวงคืนจากนายทุนแล้ว ให้นำมาเป็นพื้นที่อนุรักษ์ได้เลย แต่ต้องมั่นใจว่ามีพื้นที่รองรับที่ทำกินให้ประชาชนด้วย อีกข้อคือกรณีชุมชนที่มีความเสี่ยงน้อยต่อการทำลายสัตว์ป่าและถิ่นอาศัย เพิกถอนจากป่าอนุรักษ์และจัดเป็นโฉนดชุมชน แล้วใช้พื้นที่พิเศษที่จำกัดการพัฒนา ซึ่งจะช่วยได้มากกว่าการแก้ไขกฎหมายทั้งฉบับ” ดร.อนรรฆ กล่าว

ด้านนายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน กล่าวว่า พ.ร.บ.ฉบับเดิมนั้นมีคุณภาพที่ดีเพียงพอแล้ว ประเทศไทยไม่จำเป็นต้องปรับปรุง เพราะปัญหาแท้จริงในพื้นที่อุทยานแห่งชาติและปัญหาด้านสัตว์ป่า ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะไม่มีกฎหมาย แต่เกิดขึ้นเนื่องจากการบังคับใช้กฎหมายที่บกพร่อง พ.ร.บ ฉบับใหม่จึงไม่สามารถแก้ปัญหาได้ตรงจุด กล่าวหยาบได้ว่า กฎหมายใหม่เปลี่ยนเจตนารมณ์ขององค์กรด้านอนุรักษ์อย่างสิ้นเชิง เพราะส่งเสริมให้นายทุนทุกด้าน ตนจึงเป็นบุคคลหนึ่งที่ขอคัดค้านการแก้ไขพ.ร.บ.ทั้งสองฉบับ

received_418803371613896

ขณะที่นายศักดิ์อนันต์ ปลาทอง คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า  บทเรียนที่ผ่านมานั้น การจัดการอุทยานแห่งชาติมุ่งเน้นไปที่การดูแลพื้นที่ทางบก แต่พื้นที่อุทยานแห่งชาติทางทะเล กล่าวถึงน้อยมาก และสถานการณ์ปัจจุบันพบว่าพื้นที่ทางทะเลถูกรบกวนมาก แต่ไม่มีการบังคับใช้กฎหมายใดเพื่อฟื้นฟู แก้ไขและป้องกัน ดังนั้นมาถึงยุคกฎหมายใหม่มองว่า มาตรา 29 กรณีการระบุข้อความว่า เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครอง ดูแล รักษา บำรุงและบริหารจัดการอุทยานแห่งชาติ ให้อธิบดีโดยคำเสนอแนะของหัวหน้าอุทยานแห่งชาติ มีอำนาจพิจารณาประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนด หรือเปลี่ยนแปลงให้พื้นที่บางส่วนของอุทยานแห่งชาติแต่ละแห่งเป็นเขตหวงห้าม เขตบริการ หรือเขตผ่อนปรนหรือไม่ก็ได้ และให้มีแผนที่แสดงบริเวณเขตนั้นและจัดทำแนวเขต ป้าย เครื่องหมายเพื่อแสดงเขตนั้นให้เห็นได้ง่าย ไม่สามารถช่วยได้เพราะหากระเบียบดังกล่าวมีคนละเมิด หรือเกิดข้อผิดพลาด คลาดเคลื่อน หมายความว่า อธิบดีหรือหัวหน้าที่อุทยานใช้อำนาจในการเปลี่ยนแปลงเขตได้ เช่น เปลี่ยนจากเขตหวงห้ามมาเป็นเขตอื่น ซึ่งไม่ใช่วิสัยทัศน์ในการพัฒนากฎหมายเพื่อการอนุรักษ์ ที่น่ากังวลกว่านั้น คือการเพิกถอนอุทยาน อนาคตต้องเกิดขึ้นหากกฎหมายนี้แก้ไขเสร็จ

นายศักดิ์อนันต์ กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ในมาตรา 26 ยังให้คณะกรรมการที่ปรึกษาอุทยานแห่งชาติมีหน้าที่ให้คำปรึกษาแนะนำแก่หัวหน้าอุทยานแห่งชาติ และรวมทั้งการให้ความเห็นในเรื่องดังต่อไปนี้ เช่น การจัดทำหรือจัดให้มีแผนแม่บทการบริหารจัดการและการพัฒนาอุทยานแห่งชาติ การกำหนดเขตต่างๆ ในอุทยานแห่งชาติ การกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับการอยู่อาศัยและทำประโยชน์ของบุคคลหรือชุมชนท้องถิ่นที่ได้รับการผ่อนผันให้อยู่ในเขตผ่อนปรนเป็นการชั่วคราวหรือใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติในเขตผ่อนปรน การจัดให้อุทยานแห่งชาติเป็นศูนย์ศึกษาธรรมชาติและแหล่งเรียนรู้เพื่อสร้างจิตสำนึกให้เยาวชนและประชาชนรู้คุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การประสานงานกับสถานศึกษาในท้องที่เพื่อให้ความรู้และสร้างจิตสำนึกเกี่ยวกับการอนุรักษ์และการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน คณะกรรมการที่ปรึกษาประจำอุทยานแห่งชาติมีหน้าที่ให้คำปรึกษาแนะนำ และให้ความเห็น แต่ไม่มีอำนาจหน้าที่ในการตัดสินใจ ต่างจากเมื่อก่อนที่มีฝ่ายวิชาการ ฝ่ายอนุรักษ์ฯลฯ เข้ามาร่วม ซึ่งหากมีใครท้วงติงแผนต่างต้องชะงัก แต่เมื่อให้อำนาจผู้บริหารเต็มที่ หมายความว่า หากกฎหมายถูกแก้แล้ว ฝ่ายวิชาการไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ต้องปล่อยตามอำนาจตัดสินใจ โดยเฉพาะการร่างแผนแม่บทจัดการพื้นที่อุทยาน หากปราศจากองค์ความรู้แล้ว เมื่ออุทยานสู่วิกฤติ ยากจะฟื้นฟูกลับ ดังพื้นที่ทะเลตามเกาะต่างๆ ที่นักท่องเที่ยวแยกไม่ออกว่าเป็นอุทยานแห่งชาติ หรือเป็นแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งเป็นสัญญาณอันตรายในการบริหารทรัพยากรธรรมชาติของไทย

“ผมอยากให้อุทยานยกเลิกการสร้างที่พักในเขตหวงห้าม  เขตใช้สอย เขตท่องเที่ยว และเขตอนุรักษ์ซะ แล้วแยกให้ออกว่าอะไรเป็นอุทยานแห่งชาติหรือสวนสาธารณะ หรือทะเลสาธารณะ ไม่เช่นนั้นเกาะต่างๆ ของไทยจะพังไป อีกอย่างที่ไม่เห็นด้วย คือ การเปิดบริการที่พักในอุทยานฯ จริงๆ แล้วที่พักควรอยู่รอบนอกอุทยาน ซึ่งอาจให้เอกชน ท้องถิ่นเปิดบริการแล้ว อุทยานก็ทำหน้าที่ของตนในการดูแลป่า ดูแลสัตว์ไปเท่านั้น กรมป่าไม้ก็เช่นกัน” นายศักดิ์อนันต์ กล่าว

///////////////////////////

On Key

Related Posts

ผู้นำแรงงานแฉอีกพิรุธงบ สปส.โครงการจัดอบรมแรงงานกว่า 30 ล้าน เผยกลายเป็นงบล่ำซำให้บางสภาแรงงานที่เข้าถึง ใช้วิธีเซ็นชื่อลงทะเบียนล่วงหน้า-เก็บค่าหัวคิว ชี้เป้าสอบงบทำปฏิทิน 54 ล้าน-ใครผูกขาดผลิต

เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2568 นายชาลี ลอยสูง ที่ปรึกษRead More →

รมว.กระทรวงน้ำของจีนเยือนไทย-ลงพื้นที่แม่น้ำโขง สทนช.ของบทำโครงการแก้ปัญหาอุทกภัยน้ำสาย-น้ำรวก นักอนุรักษ์แม่น้ำจี้รัฐบอกความจริง-ผลกระทบของคนท้ายน้ำจากเขื่อนจีน

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2568 เพจของสำนักงานทรัพยากรนRead More →

ผู้เชี่ยวชาญเตือนฤดูฝนหน้าลุ่มน้ำกก-ลุ่มน้ำสายเสี่ยงสึนามิโคลนอีก เหตุทำเหมืองต้นน้ำ แนะเร่งทำจุดตรวจวัดชายแดน เผยยังไม่มีหน่วยราชการตรวจสอบระบบนิเวศ ชาวบ้านท่าตอนยังกังวลน้ำกกขุ่น

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2568 ดร.ธนพล พิมาน หัวหน้าฝ่Read More →