เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2558 ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย มีเวทีเสวนาวิชาการเนื่องในวันต่อต้านการค้ามนุษย์ของประเทศไทย ในหัวข้อ “สำเร็จหรือล้มเหลว และแนวทางแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ไทยสู่อาเซียน” โดยมีตัวแทนองค์กรภาคประชาชน หน่วยงานเอกชน และรัฐเข้าร่วมหลายส่วน อาทิ มูลนิธิกระจกเงา มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (HRDF) มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN) และศูนย์ต่อต้านการค้ามนุษย์และเด็กถูกล่วงละเมิด
นายวิธนะพัฒน์ รัตนาวลีพงษ์ มูลนิธิกระจกเงา กล่าวว่า ปัญหาหารค้ามนุษย์ในประเทศไทยนั้นมีปัญหามาต่อเนื่อง โดยส่วนมากยังเป็นสถานการณ์การนำเด็กข้ามชาติมาทำธุรกิจนั่งขอทาน ต่อมาเป็นแรงงานประมง แรงงานทาส และการค้าประเวณีตามลำดับ โดยกลุ่มค้ามนุษย์มีการกระจายตัวในทุกพื้นที่ของประเทศไทย โดยเฉพาะพื้นที่ชายขอบอย่างชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน จากข้อมูลที่ทางมูลนิธิรับแจ้งในปี 2558 พบว่ามีเหยื่อขอทานจำนวน 108 ราย โดยส่วนมากเกิดจากช่องโหว่ในการบริหารจัดการพื้นที่เสี่ยง และการใช้พนักงานสอบสวนสืบสวนที่ไม่สามารถมีอำนาจปราบปราบกลุ่มค้ามนุษย์ได้ตรงจุด เพราะบางขบวนการนั้นเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย
“ค่านายหน้าแก๊งขอทาน อย่างของกัมพูชาในชายแดนอรัญประเทศ จังหวัดสระแก้วนั้นมีเฉลี่ยตั้งแต่ 1,000-3,000 บาท โดยเด็กที่ถูกส่งมาทำงานขอทานนั้นจะถูกกระจายไปยังกรุงเทพและปริมณฑลแถวจังหวัดชลบุรี ทางภาคเหนือของประเทศไทยอย่างเชียงใหม่ ส่วนภาคใต้ก็ส่งไปจังหวัดท่องเที่ยวอย่างภูเก็ต โดยปัญหาขอทานเด็กนำไปสู่ปัญหาค้าประเวณีเด็กหญิงเด็กชายในช่วงวัยรุ่นด้วย ซึ่งจากการรวบรวมข้อมูลสัมภาษณ์ทราบว่า เหตุผลที่ประเทศไทยจัดเป็นแหล่งค้ามนุษย์แบบขอทานแหล่งใหญ่เพราะเป็นประเทศที่นิยมช่วยเหลือและบริจาค” นายวิธนะพัฒน์ กล่าว
นายวิธนะพัฒน์ กล่าวด้วยว่า การจัดการขบวนการค้าเด็กนั้นต้องทำทั้งระบบ คือ หนึ่ง เมื่อได้เหยื่อมาแล้วก็ต้องบริหารเรื่องการส่งกลับประเทศต้นทางอย่างมีประสิทธิภาพ โดยประสานเรื่องแผนพัฒนาระบบการศึกษา เศรษฐกิจ สังคมกับประเทศเพื่อนบ้านแบบตรงไปตรงมา และหากเหยื่อเป็นคนไทยต้องไม่ปล่อยให้เขาจบชีวิตแค่ช่วยเหลือออกมาจากแหล่งมั่วสุม แหล่งขอทานเท่านั้น แต่ต้องหาพื้นที่ปลอดภัยเพื่อส่งเสริมอาชีพและช่วยเหลือเรื่องอื่นด้วย ซึ่งประเทศไทยไม่จำเป็นต้องแบกภาระอุปถัมภ์เหยื่อ แต่ต้องส่งเสริมคุณภาพชีวิตและเพิ่มโอกาสด้านการงานโดยไม่แบ่งแยกพวกเขาจากกลุ่มอื่น เว้นแต่ช่วงแรกของการเยียวยา อย่างไรก็ตามการค้าเด็กและสตรียังคงน่าห่วงเพราะมีข้อมูลว่าพบในอายุน้อยลงทุกปี อย่างเด็กที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศอายุระหว่าง 14-15 ปี เป็นสถานการณ์ที่น่าห่วง เพราะปัจจุบันพบว่าในร้านเกมออนไลน์ ทั่วไปก็มีเด็กเป็นเหยื่อล่วงละเมิดทางเพศ ด้วยการหลอกเด็กให้เล่นเกมฟรีแล้วล่อลวงไปละเมิดทางเพศ
ด้านนางชลีรัตน์ แสงสุวรรณ ตัวแทนจากมูลนิธิพิทักษ์สตรี กล่าวว่า ธุรกิจการค้ามนุษย์เพื่อกิจการทางเพศนั้นเป็นธุรกิจที่ซับซ้อนและเกิดขึ้นทั้งในไทย เชื่อมโยงไปทั่วโลก เพราะมีการขนถ่ายและล่อลวงผู้หญิงไปยังต่างประเทศมากมาย โดยมีนายหน้ามากกว่า 10 คนในหนึ่งขบวนการ เกิดการล่อลวงสตรีไปค้าประเวณีแบบข้ามชาติ ซึ่งต่อมาพัฒนาจากการค้าประเวณีทั่วไปมาเป็นรูปแบบการอุ้มบุญที่ส่งต่อหญิงชาวเวียดนาม หญิงไทยขายให้ต่างชาติ อาทิ ไต้หวัน และชาติตะวันตกเพื่อเป็นแม่อุ้มบุญ โดยค่าตอบแทนรวมกับค่านายหน้าก็ตกหลักแสน เป็นปัญหาใหญ่ที่ไทยต้องเปิดใจคุยกับนานาชาติ เพราะไทยแก้ปัญหาลำพังไม่ได้
ขณะที่นายปภพ เสียมหาญ มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา กล่าวว่า เนื่องจากประเทศในอาเซียนกำลังถูกนานาชาติจับตามองเรื่องชาติพันธ์ุโรฮิงญาอยู่ กิจกรรมเร่งด่วนที่ประเทศไทยต้องร่วมมือกับนานาชาติ คือ การแก้ปัญหาชาวโรฮิงญา ที่ลอยเรือในทะเล ซึ่งโดยส่วนตัวมองว่าการจัดประชุมใหญ่ปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาเป็นแค่การเริ่มต้นไม่ใช่จุดจบของการแก้ปัญหา หากสังเกตสถานการณ์โรฮิงญาในประเทศไทยจะพบว่ามีข่าวคราวมาหลายปีแล้ว ช่วงแรกๆ นั้น แน่นอนว่าโรฮิงญาเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่หนีภัยการเมือง ภัยสังคมมาจากพม่า แต่ปัจจุบันพบว่า คนบนเรือที่ถูกตั้งภาพลักษณ์โดยรวมว่าโรฮิงญานั้น ไม่ใช่โรฮิงญาทั้งหมด แต่บางส่วนเป็นชาวบังกลาเทศที่ต้องการสร้างรายได้ในประเทศที่ 3 โดยยอมจ่ายเงินค่านายหน้าเข้ามายังประเทศที่ 3 ที่เป็นทั้งอินโดนีเซีย ไทย และมาเลเซีย ซึ่งกลุ่มหลังอาจจัดเป็นแรงงานข้ามชาติที่เข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย แต่กลุ่มแรกไม่ใช่ ดังนั้นการคัดกรองเหยื่อต้องทำอย่างระมัดระวัง เพื่อไม่ให้เป้าหมายคลาดเคลื่อน
“คือกลุ่มที่น่าห่วง คือ กลุ่มโรฮิงญาแท้ เพราะเขามักจะเป็นเหยื่อของนายหน้าที่นำชาวบังกลาเทศเข้ามา โดยอ้างว่าจะช่วยเหลือให้พ้นวิกฤติมีงานทำ แต่แล้วเมื่อมีคนเชื่อ หลงเข้ามาลอยเรือลำเดียวกัน แล้วฝ่ายความมั่นคงจับได้ ก็โดยบาปให้กลุ่มแรก บางรายถูกขู่ฆ่า ถูกทำร้ายและถูกขูดรีดค่าไถ่รายบุคคล ซึ่งเมื่อขบวนการคัดกรองไม่ได้ผล การเยียวยาโรฮิงญาแท้ก็ไม่เกิดขึ้น บางประเทศก็ส่งต่อชะตากรรมของเหยื่อเป็นไปตามสภาพแก้ไขชั่วคราว ดังนั้นทางออกของเรื่องนี้ คือ ขบวนการกลั่นกรองและการใช้กฎหมายให้ถูกกลุ่ม” นายปภพ กล่าว
นางสาวปฏิมา ตั้งปรัชยากูล ตัวแทนจาก LPN กล่าวว่า เมื่อก่อนนั้นประเทศไทยต้องแบกรับกับปัญหาค้ามนุษย์ของแรงงานข้ามชาติ แต่ปัจจุบันพบว่าคนไทยจำนวนไม่น้อยเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ในต่างประเทศ โดยล่าสุดทางมูลนิธิฯ ได้ร่วมกับหลายฝ่ายช่วยเหลือลูกเรือประมงที่เกาะเบนจิน่า ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเดินทางกลับไทยได้แล้วจำนวน 306 คน โดยจำนวนนี้บางส่วนเป็นแรงงานขัดหนี้ ที่มักถูกสังคมมองอย่างมีอคติและเหมารวมว่า ติดเหล้า ติดการพนัน ทั้งๆ ที่พวกเขาทำงานแบบไม่ได้รับค่าจ้างและบางคนถูกทรมานด้วยการงดอาหาร ส่วนคนที่ตายไปแล้ว การประสานงานขอตรวจ DNA เป็นเรื่องซับซ้อนและต้องอาศัยการช่วยเหลือด้านงบประมาณหลายส่วน ลำพังมูลนิธิก็ดำเนินการเองทั้งหมดไม่ได้ เรื่องนี้รัฐบาลไทยต้องเข้าใจว่าเป็นเรื่องที่ต้องแก้ด่วน เพราะนายหน้าและไต๋เรือส่วนมากเป็นคนไทย และผู้ประกอบกิจการเรือประมงก็เป็นคนไทยเช่นกัน มีบางส่วนที่มีคนอินโดนีเซียร่วมด้วย
นาย ชัยรัตน์ ราชปักษี ตัวแทนเหยื่อลูกเรือประมง ในอินโดนีเซีย กล่าวว่า ตนเป็นคนหนึ่งที่เต็มใจไปทำงานประมง แต่ถูกบริษัทระงับการถือ “Sea man book” หรือบัตรลูกเรือ โดยที่ตนไม่ทราบว่าการทำบัตรดังกล่าวเมื่อทำกับกรมเจ้าท่าแล้ว ตนจะต้องครอบครองเองไม่ใช่บริษัท แต่แล้วก็พลาดท่าหลงไปทำงานอยู่นานเป็นปี โดยจากข้อมูลที่คุยกับเพื่อนร่วมชะตากรรม ทราบว่า การทำงานประมงนั้นได้รับความนิยมน้อยมาก แรงงานที่สมัครใจไปทำงานเองก็มีน้อย แต่ส่วนมากนั้นไปเพราะถูกหลอก วางยา ล่อลวง หลายกรณี โดยคนร่วมทำประมงที่ตนรู้จักใน 27 คนมี 5 คนเท่านั้นที่มีบัตรลูกเรือตัวจริง นอกนั้นบัตรปลอม หรือถูกเอาบัตรไปสวมชื่อคนอื่น เป็นเรื่องที่ทำให้คนไทยหลายคนต้องตกเป็นเครื่องมืออุตสาหกรรมสัตว์ทะเล และหากย้อนเวลากลับไปได้ ตนไม่ขอใช้ชีวิตกลางทะเลลึกอีกแล้ว เพราะเชื่อว่าแรงงานทาสมีจริง