received_932443843465568
วันที่ 22 มิถุนายน 2558 คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดเวที “ปาฐกถา 100 ปี ชาตกาล ศ.ดร.ป๋วย อี๊งภากรณ์” ครั้งที่ 3 ณ ห้องประชุมชั้น 5 คณะเศรษฐศาสตร์ โดยมี ศ.ดร.มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด ประธานมูลนิธิสถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ ปาฐกาถาพิเศษ หัวข้อ “สิ่งแวดล้อมไทย กับการกระจายอำนาจ”

ศ.ดร.มิ่งสรรพ์ กล่าวถึงนโยบายการจัดการด้านทรัพยากรของประเทศไทยว่า เป็นแผนการจัดการที่รัฐไม่มีทักษะ แต่ละหน่วยงานที่รับผิดชอบไม่มีความสามารถในการดูแล โดยเฉพาะการจัดการความขัดแย้ง นโยบายด้านทรัพยากรธรรมชาติ ยกเว้นเรื่องที่ดินและป่าไม้ จึงเป็นนโยบายที่ไร้ทิศทางมาตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน เวลามีปัญหาเกิดขึ้นแล้วไม่มีกติการ่วมว่าจะแก้อย่างไร ขณะที่กลไกและเครื่องมือของรัฐที่มีในปัจจุบันนั้น ไม่เพียงพอที่จะรับประกันความยุติธรรมอย่างยั่งยืน

ศ.ดร.มิ่งสรรพ์ กล่าวถึง เรื่องทรัพยากรที่ดินและป่าไม้ ว่า ปัจจุบันการจัดการที่ดินโดยชุมชนยังเป็นแนวทางที่ไม่ได้รับการยอมรับ เนื่องจากกลไกในปัจจุบันนั้น รัฐคือเจ้าของและผู้จัดการที่ดินสาธารณะและพื้นที่ป่า รัฐเป็นผู้จัดการทรัพยากร รวมทั้งระบบตลาดที่เป็นผู้จัดการเช่นเดียวกัน แม้จะมีกระแสเอาที่ดินสาธารณะให้ชุมชนจัดการ เนื่องจากที่ผ่านมารัฐไม่สามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะปัญหาที่เกิดจากจากคนรวย เช่น เอกสารสิทธิ์ครอบครองบวม หรือบิน การออกเอกสารสิทธิ์ในพื้นที่ป่า หรือปัญหาที่เกิดกับคนจน เช่น ประเด็นป่าทับที่ หรือคนทับป่า คำถามก็คือ ควรจะนำป่าเสื่อมโทรมไปแจกให้กับชาวบ้านผู้ยากจนหรือไม่ ถ้าได้ไปแล้วจะนำไปขายเปลี่ยนมือไปสู่นายทุนหรือไม่ เช่น กรณี สปก.ในอดีต

“ที่ดินในฐานะทรัพย์สินแทนเงินออม ซึ่งประเทศไทยมีค่าเฉลี่ยที่ดินต่อจำนวนประชากรถือว่าอยู่ในระดับสูงสุดในอาเซียนและหลายประเทศ แต่ที่ดินกำลังถูกทำให้ใช้ประโยชน์ไม่เต็มที่ คิดความสูญเสียที่มีมูลค่าสูงถึง 127,384 ล้านบาท ขณะที่มีคนไร้ที่ทำกินถึง 8 แสนครัวเรือน โดยที่ดินกว่าร้อยละ 70 ตกอยู่ในการถือครองของคนเพียงร้อยละ 10” ศ.ดร.มิ่งสรรพ์ กล่าว

ศ.ดร.มิ่งสรรพ์ กล่าวอีกว่า เดิมตลาดที่ดินเป็นตลาดเฉพาะถิ่น ผู้ซื้อกับผู้ขายอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง ทำให้ราคาไม่สูง แต่เมื่อตลาดเกิดการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีและการคมนาคม มีการเชื่อมโยงตลาดที่ดินท้องถิ่นกับตลาดภายนอก เกิดการพัฒนาการใช้ประโยชน์ในที่ดิน การมองเห็นคุณค่าจึงต่างกัน ยกตัวอย่าง จากที่ดินปลูกข้าวถูกเปลี่ยนไปทำนิคมอุตสาหกรรม คุณค่าจึงเปลี่ยนไป ตลาดที่ดินในยุคโลกาภิวัฒน์จึงทำให้ราคาที่ดินสูงลิ่ว เมื่อชาวบ้านขายออกไปแล้ว จึงไม่มีทางที่จะสามารถซื้อกลับมาในราคาที่สูงขึ้นจากเดิมมากได้

ศ.ดร.มิ่งสรรพ์ กล่าวต่อว่า เมื่อที่ดินเปลี่ยนมือจึงทำให้เกิดการพัฒนาที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่อาจนำไปสู่ความขัดแย้งทางสังคม เกิดปัญหาความเสื่อมโทรมด้านสิ่งแวดล้อม ที่ดินหลุดมือ คนจนไม่สามารถซื้อกลับได้ ส่วนที่ดินที่เหลืออยู่เป็นที่ดินของรัฐ คือพื้นที่ป่า ทำให้เกิดปัญหาการบุกรุกป่า จนเกิดความขัดแย้งมากขึ้น และเกิดการเรียกร้องให้ท้องถิ่นมีอำนาจในการจัดการพื้นที่ตนเอง เช่น การขอโฉนดชุมชน ซึ่งอยู่ในรูปแบบที่ไม่ได้ขอสิทธิ์ความเป็นเจ้าของ แต่เป็นความต้องการสิทธิทำกิน

“แม้การให้ชุมชนจัดการตัวเองจะเป็นนโยบายที่ดี แต่ถ้าเอาที่สาธารณะมาแบ่งให้ชาวบ้านในขณะที่ตลาดที่ดินยังที่ไม่มีความเท่าเทียมอย่างในตอนนี้ เมื่อตลาดขาดความสมดุลแล้วฝืนให้ชุมชนจัดการตนเอง ก็อาจยิ่งจะสร้างความเลื่อมล้ำมากขึ้น จำเป็นต้องกลับไปทำให้กลับไปเป็นตลาดเฉพาะถิ่น ลดความเหลื่อมล้ำ ลดการเก็งกำไรจากคนภายนอก และให้สิทธิการใช้ประโยชน์ในท้องถิ่น ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ชุมชนเรียกร้องมาโดยตลอด เช่นที่ อบต.แม่ทา เดิมเอาที่ดินเสื่อมจากการทำไม้ มาแบ่งกันใช้ อีกส่วนกันไว้รักษาป่า เพื่อให้รัฐเห็นว่าเขารักษาป่าได้ หรือเทศบาลศรีเตี้ย ที่ชุมชนร่วมมือกับ อปท. นำที่ดินของนายทุนซึ่งได้มาโดยมิชอบกลับมาจัดการกันเอง เป็นกระบวนการชุมชนที่ต่อสู้เพื่อให้ที่ดินนี้คืนมา ซึ่งมันเป็นความรู้เฉพาะของแต่ละพื้นที่ ถ้าอยากเอาที่ดินจากนายทุนคืนให้ประชาชน ต้องไม่ให้ที่ดินแก่ชาวบ้านเพียงอย่างเดียว เพราะมันจะถูกขายกลับไปเช่นเดิม และด้วยการเมืองของประเทศซึ่งที่ดินล้วนเป็นของผู้มีวาสนาทางการเมือง และมูลค่าที่ดินมันมหาศาลอันมหาศาล จึงเป็นไปไม่ได้ที่รัฐจะยึดกลับมา” ศ.ดร.มิ่งสรรพ์ กล่าว

สำหรับประเด็นทรัพยากรน้ำ ประธานมูลนิธิสถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ กล่าวว่า คำกล่าวที่ว่าประเทศไทยมีน้ำท่าอุดมสมบูรณ์ เป็นเพียงมายาคติที่ทำให้ถูกเชื่อเช่นนั้น เนื่องจากค่าเฉลี่ยปริมาณน้ำต่อหัวของไทยนั้นถือว่าต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลก และไทยไม่เคยมีนโยบายบริหารจัดการน้ำที่ใช้แก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง น้ำเสีย แม้จะมีองค์กรหรือกลไกที่เกี่ยวข้องกว่า 40 หน่วยงาน ขณะที่การจัดการน้ำเสียของไทยล้าหลังที่สุดในอาเซียน เช่นเดียวกับ ลาว กัมพูชา และพม่า ไม่มีการนำต้นทุนการจัดการน้ำเสียไปคิดรวมในต้นทุนน้ำ ส่วนการจัดการน้ำท่วมนั้นปัญหาไม่ได้อยู่ที่การบรรเทาอุทกภัยอย่างเดียว แต่ยังอยู่ที่การจัดการน้ำท่วมที่ต้องเกี่ยวข้องด้วย โดยเฉพาะปัญหาการใช้ประโยชน์จากที่ดิน ทั้งแก้ปัญหาสภาพดิน การปิดกั้นทางน้ำ ที่ต้องชัดเจนว่าพื้นที่ไหนสร้างได้หรือไม่ได้ หรือต้องมีพื้นที่กักเก็บร่วมกัน โดยเป็นการจัดการอย่างเป็นระบบ

“ต้องมีแผนจัดการอย่างเป็นระบบ ว่าต้องจัดการกับสภาพที่ดิน ทางน้ำปิดกั้นอย่างไร ซึ่งไม่มีเคยการจัดการ ต้องบอกชัดว่าพื้นที่ไหนสร้างได้ หรือไม่ได้ หรือต้องมีพื้นที่กักเก็บน้ำร่วมกัน ไม่ใช่จะสร้างแต่ฟลัดเวย์ ส่วนถนนเป็นคนละแผนแม่บท รถไฟก็อีกแผนหนึ่ง ซึ่งไมได้มีแผนหรือนโยบายร่วม ยกตัวอย่าง เมื่อน้ำท่วมในปี 2554 หากเกิดในต่างประเทศที่มีระบบจัดการที่ดี หากพบว่าถนนสายหลักปิดกั้นทางน้ำก็ต้องเร่งเปิดทางระบายน้ำให้ลงอ่าวไทยเร็วที่สุด” ศ.ดร.มิ่งสรรพ์ กล่าว

ศ.ดร.มิ่งสรรพ์ กล่าวถึงความเป็นธรรมในการใช้ทรัพยากรน้ำว่า ผู้ใช้น้ำต้องไม่ละเมิดสิทธิของผู้ที่อยู่ในลุ่มน้ำเดียวกัน การใช้น้ำของคนรุ่นหนึ่งย่อมไม่กระทบต่อการใช้น้ำของคนรุ่นหลัง ทั้งระหว่างคนพื้นที่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำต้องมีสิทธิในการใช้น้ำที่เพียงพอ ต้องมีการคิดต้นทุนอย่างสมบูรณ์ คือต้องมีคิดต้นทุนการเสียโอกาสในการใช้น้ำทั้งหมดไว้ด้วย แม้เป็นทฤษฎีที่ดี แต่ไม่มีประเทศใดเลยที่ใช้แนวคิดเช่นนี้ เพราะจะทำให้ต้นทุนทรัพยากรน้ำมีราคาสูงมาก

นอกจากนี้ ศ.ดร.มิ่งสรรพ์ กล่าวอีกว่า มีการศึกษาที่ยืนยันว่าการจัดสรรทรัพยากรน้ำที่มีประสิทธิภาพ คือการกระจายอำนาจให้กับผู้ใช้น้ำ แต่รัฐยังขาดความเข้าใจระนาบของสิทธิ ว่ามีหลายระนาบ เช่น น้ำอุปโภค บริโภค น้ำเพื่อการผลิต น้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศ น้ำเพื่อสัญจร น้ำเพื่อการท่องเที่ยว เพราะรัฐยังถือว่าเป็นเจ้าของทรัพยากร จึงขาดความเข้าใจสิทธิการจัดการน้ำแต่ไม่ใช่การเป็นเจ้าของ จนไม่สามารถแก้ปัญหาได้ว่าเมื่อน้ำแล้งใครควรมีสิทธิ์ก่อน ระหว่างโรงงานหรือชาวนา จึงจำเป็นต้องมีกระบวนการร่วมกันคิดและตัดสินใจ และไม่ควรให้กลไกตลาดที่เป็นเครื่องมือสร้างประสิทธิภาพ มาเป็นเครื่องมือรักษาความยุติธรรม แต่ควรใช้กติกาสังคมในท้องถิ่น เช่นระบบเหมืองฝายของชุมชนเข้ามาจัดการ เช่นที่ ภูฏาน วัดใช้วิธีจัดการน้ำ คือให้สิทธิ์การใช้น้ำแก่ผู้ที่ทำบุญ ซึ่งเป็นกติกาสังคมที่เกิดจากวิวัฒนการของเงื่อนไขทางสังคมที่ทุกคนยอมรับ

ส่วนแนวทางการกระจายอำนาจนั้น ศ.ดร.มิ่งสรรพ์ กล่าวว่า กฎหมายไทยให้อำนาจแก่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) เพียงการคุ้มครอง การดูแล และการบำรุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติเท่านั้น แต่ไม่ยอมให้อำนาจในการอนุญาตการใช้ประโยชน์ในทรัพยากรของท้องถิ่น ทั้งที่ความเป็นจริงแล้ว อปท.ถือเป็นฐานปฏิบัติการสำคัญในการแก้ปัญหาให้แก่ชาวบ้าน เนื่องจากรัฐยังไม่มีความจริงใจในการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น อปท.จึงมีหน้าที่เพียงทำตามนโยบายหลักของรัฐ เมื่อเกิดปัญหาจึงไม่สามารถใช้อำนาจได้เต็มที่ โดยเฉพาะการออกกฎหมายที่สอดคล้องกับปัญหาในแต่ละพื้นที่

“ด้วยกฎหมายและนโยบายอันซับซ้อนจากส่วนกลาง ทำให้ อปท.แทบไม่มีโอกาสสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ มากแก้ปัญหา จึงเป็นรูปแบบการกระจายอำนาจที่มอบให้ทำตามนโยบายจากส่วนกลาง ขาดแนวทางที่ชัดเจน ไม่มีอำนาจไปกำกับดูแลกิจกรรมขนาดใหญ่ที่เข้ามาในพื้นที่ได้” ศ.ดร.มิ่งสรรพ์ กล่าว

ศ.ดร.มิ่งสรรพ์ กล่าวถึงข้อเสนอว่า ประเทศไทยควรมีการจัดการเก็บภาษีสิ่งแวดล้อม ควรคิดต้นทุนทรัพยากรจากต้นทุนที่มองไม่เห็นด้วย ยกตัวอย่างเรื่องน้ำปะปาที่แม้ถือว่าเป็นสาธารณูปโภค แต่เมื่อเกิดวิกฤติขาดแคลนน้ำขึ้นมา ควรมีการคิดอัตราเพิ่มในกิจกรรมที่ใช้น้ำสิ้นเปลือง เช่น โรงงานอุตสาหกรรม สวนน้ำ ห้างสรรพสินค้า เป็นต้น แต่ดูเหมือนเป็นเพียงแนวคิดที่อยู่ในความฝันของนักเศรษฐศาสตร์ ที่ไม่เคยมีรัฐบาลไหนกล้านำมาใช้

ทั้งนี้ กิจกรรม “ปาฐกถา 100 ปี ป๋วย อึ๊งภากรณ์” จัดขึ้นเป็นประจำทุกเดือนตั้งแต่เดือนเมษายน 2558 – เดือนมกราคม 2559 โดยมีกำหนดการจัดเวทีปาฐกาถาทั้งหมด 10 ครั้ง ซึ่งมีนักวิชาการ 10 คนร่วมแสดงปาฐกาถาพิเศษในหัวข้อต่างๆ เพื่อเป็นการสะท้อนถึงความคิด ชีวิต และจิตวิญญาณของ ศ.ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์

 

Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.