Search

สหพันธ์ข้าวพม่าร้องระงับส่งออกข้าวจนถึงกลางเดือนกย. หวั่นไม่พอบริโภคภายใน-ราคาพุ่งซ้ำเติมเหตุน้ำท่วม ชาวโรฮิงญาสาหัส ขาดแคลนน้ำ-อาหาร แถมโรคระบาดกำลังแพร่กระจาย

ภาพ Irrawaddy
ภาพ Irrawaddy

เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม กลุ่มสหพันธ์ข้าวพม่า (The Myanmar Rice Federation – MRF) ได้ออกมาเรียกร้องให้สมาชิกรังับการส่งออกข้าวไปจนถึงกลางเดือนกันยายน เพื่อปกป้องผู้บริโภคในประเทศ หลังพบราคาข้าวในพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมมีราคาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และหวั่นว่าการเก็บเกี่ยวข้าวทั่วประเทศจะได้น้อยหลังเกิดน้ำท่วม ทั้งนี้ น้ำท่วมเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้นาข้าวทางภาคเหนือของประเทศพม่าได้รับความเสียหาย โดยทางกลุ่มประกาศจะช่วยเหลือด้านอาหารแก่ในพื้นที่ประสบภัยและจะดำเนินการเพื่อป้องกันการขาดแคลนข้าว

มีรายงานว่า ทางกลุ่ม MRF ได้ส่งข้าวจำนวน 45 ตันไปช่วยเหลือในรัฐอาระกัน นอกจากนี้ได้บริจาคข้าวไปช่วยในเขตสะกายรวมถึงเขตมะเกวด้วย ทั้งนี้ กระทรวงกิจการด้านกลุ่มชาติพันธุ์จะเป็นผู้ดำเนินการจำหน่ายข้าวในราคาช่วยอุดหนุนกระสอบ (50 กิโลกรัม) ละ 22,000 จั้ต (ประมาณ 660 บาท )ทั้งนี้เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา พบราคาข้าวในเมืองชิตต่วย รัฐอาระกันขายกันสูงถึงราคากระสอบละ 60,000 – 96,000 จ๊าต (ประมาณ 1,700 – 2,700 บาท)

นายมิ้น เทต อ่อง เลขาธิการกลุ่ม MRF สาขามัณฑะเลย์ กล่าวว่า ทางกลุ่มผู้ส่งออกข้าวเห็นด้วยกับแผนที่จะหยุดส่งออกข้าวไปจนถึงกลางเดือนกันยายน เพื่อไม่ให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากราคาอาหารที่แพงขึ้น นอกจากนี้ทางกลุ่มเห็นด้วยที่จะขายข้าวในราคาปกติให้กับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากภัยน้ำท่วม โดยขณะนี้ทางกลุ่มได้กักตุนข้าวไว้ 85,000 กระสอบในย่างกุ้ง และอีก 15,000 กระสอบในมัณฑะเลย์ ซึ่งอาจจะนำข้าวส่วนนี้ไว้ช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยทางกลุ่มยังประกาศจะช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ค้าข้าวที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม โดยจะช่วยเหลือทั้งในด้านเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย รวมไปถึงอุปกรณ์ที่จำเป็นต้องใช้ เป็นต้น

ขณะเดียวกัน ทางการพม่าออกมาเปิดเผยว่า ยอดผู้เสียชีวิตจากเหตุน้ำท่วมในรัฐอาระกันเพียงรัฐเดียวเพิ่มเป็น 35 รายแล้ว ขณะที่ผู้เสียชีวิตจากทั่วประเทศมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้รัฐอาระกันเผชิญกับพายุไซโคลนโกเมนเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้เกิดพายุและฝนตกหนักในพื้นที่ โดยจนถึงขณะนี้ยังไม่สามารถประเมินความเสียหายได้ เบื้องต้นมีรายงานว่า บ้านเรือน 5,979 หลังได้รับเสียหาย เช่นเดียวกับวัดและโรงเรียนหลายสิบแห่งในพื้นที่ โดยพบว่าในบางพื้นที่บ้านทั้งหลังจมอยู่ใต้น้ำ

นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า ชาวบ้านใน 60 ถึง 80 หมู่บ้านในรัฐอาระกัน รวมถึงค่ายที่มีชาวมุสลิมโรฮิงญาอาศัยอยู่ เช่นที่เมืองเจ้าก์ทอว์ ซึ่งตั้งอยู่ในเขตชนบทห่างไกลกำลังเสี่ยงที่จะขาดแคลนอาหาร เนื่องจากพืชผลทางการเกษตรและอาหารที่กักตุนไว้ได้รับความเสียหาย ขณะที่ชาวโรฮิงญาเหล่านี้ต้องกลายเป็นคนไร้บ้าน หลังเกิดเหตุการณ์ความขัดแย้งทางศาสนาเมื่อช่วงปีที่ผ่านมา ซึ่งชาวโรฮิงญาไร้บ้านจำนวน 100,000 คน อาศัยอยู่ตามค่ายพักพิงที่ทางการจัดไว้ให้ ขณะที่เมืองมรัคอู เมืองเก่าแก่ของรัฐอาระกันนั้นก็ได้รับผลกระทบหนักสุด ซึ่งในเมืองแห่งนี้ มีประชากรอาศัยอยู่ราว 200,000 คน

ทั้งนี้ หน่วยงานภาคสังคมที่เข้าไปช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ได้เปิดเผยว่า สิ่งที่ต้องการมากที่สุดขณะนี้คืออาหารและน้ำดื่ม ในบางพื้นที่ของเมือง เด็กในพื้นที่ไม่มีอาหารกินและต้องดื่มน้ำจากน้ำที่ท่วมขัง เช่นเดียวกับในบางหมู่บ้านเริ่มพบโรคท้องร่วงระบาดในเด็กแล้ว นอกจากอาหารและน้ำดื่มแล้ว ประชาชนในพื้นที่ต้องการอย่างเร่งด่วนคือยารักษาโรคและสุขา นอกจากเผชิญกับน้ำท่วมแล้ว ประชาชนในรัฐอาระกันยังต้องเผชิญกับราคาสิ่งของเครื่องใช้และอาหารแพงขึ้นหลายเท่าตัว ขณะที่รัฐบาลพม่าประกาศภาวะฉุกเฉินใน 4 พื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมคือที่เขตมะเกว เขตสกาย รัฐชิน และรัฐอาระกัน

ที่มา Irrawaddy/DVB
————-

On Key

Related Posts

ผบ.สส.เร่งหน่วยงานตรวจสอบคุณภาพน้ำกกหลังชุมชนผวาสารพิษเจือปนจากการทำเหมืองทองฝั่งพม่า ภาคประชาชนเผยน้ำกกขุ่นเพิ่มจากปีก่อน 8 เท่าหวั่นกระทบน้ำดิบทำประปา

เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2568 พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดีRead More →

ผบ.สส.รับมีการทำเหมืองต้นแม่น้ำสายเป็นเหตุให้น้ำขุ่นแต่ปัญหาน้อยกว่าปีก่อน ท้องถิ่นแม่สายเสนอ ผอ.ศอ.ปชด.ผ่อนปรนมาตรการตัดไฟ เผยส่งผลกระทบชาวบ้านและการค้า 2 ฝั่ง

เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2568 นายชัยยนต์  ศรีสมุRead More →