Search

จับไม้สักเถื่อนล็อตใหญ่ในแม่น้ำสาละวิน กองกำลังเคเอ็นยูบุกยึด 180 ท่อน คาดถูกลักลอบตัดบนฝั่งไทย อาศัยจังหวะปลอดเจ้าหน้าที่ทางการไทย ช่วงฝนตกหนัก-น้ำหลากชักลากผูกเป็นแพล่องตามลำน้ำ

11846183_954669807909638_1012425908_n

เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจากทหารกองกำลังสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง(เคเอ็นยู) ซึ่งดูแลพื้นที่ริมแม่น้ำสาละวิน จังหวัดแม่ฮ่องสอน ว่าเมื่อวันที่ 5 ที่ผ่านมา หน่วยปฏิบัติการชายแดน ชุด K1 ของเคเอ็นยู ได้รับแจ้งข่าวว่าจะมีการขนไม้เถื่อนในแม่น้ำสาละวินชุดใหญ่ จึงได้สนธิกำลังซุ่มตรวจจับ จนกระทั่งเวลา 02.00 น. ได้ยินเสียแพไม้ที่ไหลมาตามลำน้ำสาละวินกระแทกกับโขดหินดังขึ้นเป็นระยะๆ กองกำลังจึงได้ส่งสัญญาณโดยเปิดสปอตไลต์ เพื่อให้กลุ่มขบวนการที่กำลังล่องแพไม้หยุด แต่ชายฉกรรจ์หลายคนที่อยู่บนแพไม้พยายามหลบหนี กองกำลังเคเอ็นยูจึงไล่ติดตามโดยการใช้เรือไล่จับ ทำให้กลุ่มขบวนการกระโดดลงจากแพไม้ว่ายน้ำหนีไปคนละทิศคนละทาง ด้วยความมืดจึงทำให้ทั้งหมดหลุดรอดไป

11845949_954669811242971_556881626_n

หลังจากนั้น ทหารเคเอ็นยูได้บุกยึดแพไม้สักไม้ไว้ได้ในที่สุด เนื่องจากกระแสน้ำที่เชี่ยวกราก ทำให้ไม้สักท่อนบางส่วนหลุดลอยไปกับสายน้ำ

ผู้ควบคุมกองกำลังเคเอ็นยูให้สัมภาษณ์ว่า ขบวนการลักลอบตัดไม้ครั้งนี้ น่าจะตัดไม้สักและล่องมาจากบริเวณระหว่างบ้านท่าตาฝั่ง อำเภอแม่สะเรียง และหน่วยอุมดา ซึ่งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติสาละวินและรอยต่อเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสาละวิน ซึ่งจากการตรวจสอบไม้ทั้งหมดที่จับกุมได้มีอยู่ 180 ท่อนซึ่งมีทั้งไม้สักที่ตัดไว้นานแล้วและไม้สักที่เพิ่งตัดใหม่

“จริงๆ แล้วมีไม้สักที่ถูกลักลอบตัดจำนวนมากกว่า แต่เนื่องจากช่วงนี้เป็นหน้าน้ำและฝนตกหนักทุกวัน ทำให้แม่น้ำไหลเชี่ยว เรือที่พวกเราใช้ไม่แรงพอที่จะไล่เก็บไม้ได้ทั้งหมด ประกอบกับขบวนการลักลอบตัดไม้มักทำงานในช่วงกลางดึก ทำให้ยากในการปฎิบัติการ บางครั้ง เราต้องตัดเชือกที่ผูกยึดไม้เอาไว้ออก เพื่อปล่อยไม้บางส่วนทิ้ง เพราะเรามีเรือลำเดียว ไม่สามารถลากไม้ทั้งแพเข้าฝั่งได้หมด เพราะน้ำกำลังเชี่ยว มันอันตรายมาก” ทหารเคเอ็นยูรายนี้กล่าว

ทหารเคเอ็นยูกล่าวด้วยว่า เชื่อว่าไม้ทั้งหมด ส่วนใหญ่เป็นไม้ที่ตัดจากฝั่งไทย เพราะไม้จากฝั่งพม่าถูกตัดหมดไปนานแล้ว ซึ่งที่ผ่านมาเคเอ็นยูได้รับแจ้งข่าวว่ามีการลักลอบตัดไม้และขนล่องตามลำน้ำสาละวินอยู่เป็นประจำ โดยขบวนการลักลอบตัดไม้ไม่เคยหยุดตัดแม้จะมีข่าวดังในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เพราะทราบกันดีว่าทางการไทยไม่ได้มีการตรวจค้นหรือตั้งจุดสกัดกันอย่างจริงจัง ยิ่งในช่วงนี้เป็นฤดูที่ปริมาณน้ำในแม่น้ำสาละวินมีเยอะ ทำให้ชักลากไม้จากป่าลงมายังแม่น้ำทำได้โดยง่าย ประกอบกับเมื่อฝนตก เจ้าหน้าที่ฝั่งไทยมักไม่ตั้งจุดสกัด ทำให้ช่วงโอกาสที่ลักลอบขนไม้ได้โดยง่าย ทั้งนี้ไม้ที่จับได้ทั้งหมดได้ถูกบันทึกและชักลากไปไว้ที่ฐานปฏิบัติการของเคเอ็นยูและรายงานให้ผู้บังคับบัญชาระดับสูงทราบต่อไป

ทั้งนี้ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ได้มีการลักลอบตัดไม้ในป่าสาละวินอย่างหนัก ทั้งในเขตอุทยาน ป่าสงวน และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสาละวิน โดยทำกันเป็นขบวนการใหญ่ซึ่งมีทั้งนายทุน เจ้าหน้าที่ทางการหลายหน่วยงาน ชาวบ้าน ร่วมมือกัน ตัดไม้สักขนาดใหญ่ล่องตามลำน้ำสาละวินเข้าไปในพม่า แม้ที่ผ่านมาจะกลายเป็นข่าวใหญ่ในหลายระลอก แต่ทางการไทยไม่ได้มีความจริงจังมากนักและไม่มีการจับกุมตัวการใหญ่ของขบวนการได้ ทำให้การลักลอบตัดไม้ยังคงเกิดขึ้นเสมอโดยเฉพาะยามค่ำคืน ซึ่งก่อนหน้านี้เคยมีการเสนอให้หน่วยงานด้านความมั่นคงไทยตั้งจุดตรวจริมแม่น้ำสาละวินโดยเฉพาะช่วงก่อนที่แพไม้สักจะถูกชักลากเข้าพม่าที่บ้านสบเมย แต่ท้ายที่สุดกลับไม่มีการปฎิบัติอย่างจริงจัง ทำให้การลักลอบตัดไม้และชักลากเข้าพม่ายังคงเกิดขึ้นอยู่เป็นประจำ

—————–

On Key

Related Posts

ผู้เชี่ยวชาญเตือนฤดูฝนหน้าลุ่มน้ำกก-ลุ่มน้ำสายเสี่ยงสึนามิโคลนอีก เหตุทำเหมืองต้นน้ำ แนะเร่งทำจุดตรวจวัดชายแดน เผยยังไม่มีหน่วยราชการตรวจสอบระบบนิเวศ ชาวบ้านท่าตอนยังกังวลน้ำกกขุ่น

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2568 ดร.ธนพล พิมาน หัวหน้าฝ่Read More →

ชุมชนในป่าเครียดหนักเหตุรัฐแก้ปัญหาเหมารวม-ห้ามเผาแบบไม่แยกแยะ ไฟป่า-ไฟเกษตร หวั่นวิกฤตอาหารบนดอย สส.ปชน.ชี้รัฐผูกขาดจัดการทรัพยากรนำสังคมสู่วิกฤต

เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2568 ที่ห้องประชุมคณะสังคมศาRead More →

เผยเปิดหน้าดินนับพันไร่ทำเหมืองทองต้นน้ำกก สส.ปชน.ยื่น กมธ.ที่ดินสอบ หวั่นคนปลายน้ำตายผ่อนส่งจี้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาผลกระทบข้ามแดน ผวจ.เชียงรายสั่งตรวจคุณภาพน้ำ 24 มี.ค.

เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2568 นายสมดุลย์ อุตเจริญ สส.Read More →

ลาวดำเนินคดีอดีตรองผู้ว่าการไฟฟ้าลาว-ผู้รับเหมาฐานฉ้อโกงเหตุสร้างเขื่อนไม่แล้วเสร็จ-เกินเวลานาน เผยโครงการได้รับสินเชื่อจากธนาคารกรุงไทย

เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2568 สำนักข่าวลาว Laotian TiRead More →