วานนี้ (27 ส.ค.) ไทยและพม่าได้ทดลองเปิดค้าขายโดยได้จัดงาน ‘ตลาดนัดคนเดิน 2 แผ่นดิน’ ที่ฝั่งไทย บริเวณจุดผ่อนปรนการค้าบ้านหลักแต่ง อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ โดยมีประชาชนจาก กิ่ง อ.เมืองทา จ.เมืองสาด ฝั่งพม่านำสินค้าข้ามมาขายยังฝั่งไทย เช่นเดียวกับประชาชนฝั่งไทยนำสินค้ามาขายแลกเปลี่ยน มีรายงานว่า ชาวบ้านจากฝั่งไทยให้ความสนใจมาจับจ่ายซื้อของกันอย่างคึกคัก โดยที่ผ่านมา ผู้ค้าชายแดนเวียงแหงได้ร้องขอให้พิจารณาเปิดจุดผ่อนปรนแห่งนี้หวังกระตุ้นเศรษฐกิจบริเวณชายแดนเหมือนในอดีต หลังจุดผ่อนปรนแห่งนี้ถูกปิดมาตั้งแต่เมื่อปี 2545
ด้านนายศิวะ ธมิกานนท์ นายอำเภอคนใหม่เวียงแหงกล่าวว่า แนวคิดการจัด’ตลาดนัดคนเดิน 2 แผ่นดิน’เริ่มต้นมาจากที่ประชาชนในพื้นที่ร้องขอให้มีการเปิดจุดผ่อนปรนหลักแต่ง หลังไม่มีเหตุสู้รบในฝั่งพม่า ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับจุดผ่อนปรนหลักแต่ง ประกอบกับทาง อ.เวียงแหงต้องการที่จะประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยว โดยเฉพาะในหน้าหนาวนี้ โดยมุ่งหวังให้การท่องเที่ยวในเวียงแหงมีความหลากหลาย ทั้งในด้านเชิงธรรมชาติ วัฒนธรรมและศาสนา โดยหวังให้นักท่องเที่ยวได้มาเยี่ยมชมวัดฟ้าเวียงอินทร์ วัดที่ตั้งอยู่ระหว่างสองแผนดินไทยและพม่า อีกทั้งมาชื่นชมอุดหนุนสินค้าของชาวบ้านจากทั้งสองฝั่ง
นายอำเภอเวียงแหงกล่าวว่า การทดลองเปิดตลาดนัก 2 แผ่นดินในครั้งนี้ ยังสอดคล้องกับนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลท่านพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยระบุ ถ้าหากพี่น้องทั้งสองฝั่งสามารถไปมาหาสู่กันได้เหมือนเดิม เชื่อว่าจะทำให้เศรษฐกิจโดยรวมดีขึ้น อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นจะทดลองเปิดตลาดนัดสัปดาห์ละครั้งไปก่อน โดยหากการทดลองค้าขายเป็นไปตามเป้าหมายที่ทุกฝ่ายคาดหวังไว้ จุดผ่อนปรนหลักแต่งก็จะได้รับการพัฒนาเป็นจุดผ่อนปรนชั่วคราวที่ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และอาจได้รับการพัฒนาเป็นด่านถาวรในอนาคต แต่ขณะนี้เป็นเพียงการเริ่มต้นเท่านั้น โดยจะทดลองจัดตลาดนัดอีกครั้งในวันวันพฤหัสบดี (6 ก.ย.) และในวันที่ 10 – 12 ก.ย. โดยจะมีโครงการธงฟ้าของจังหวัดเชียงใหม่มาร่วมด้วย
ที่ผ่านมา ทางอำเภอเวียงแหงได้ทำเรื่องขออนุมัติการทดลองเปิดจุดผ่อนปรนหลักแต่งให้เหมือนเมื่อปี 2545 ทั้งนี้ มติที่ประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติเมื่อเดือน ก.ย.ปีที่แล้ว และมติที่ประชุมของคณะกรรมการชายแดนไทย -พม่า ทั้งสองฝ่ายเห็นด้วยที่จะให้ทำการทดลองเปิดจุดผ่อนปรนหลักแต่งเป็นจุดผ่อนปรนชั่วคราวเหมือนเดิม เพื่อเป็นการช่วยเหลือประชาชนทั้งสองฝ่ายที่ขาดแคลนสินค้า
ขณะที่นายสุริยะ ประสาทบัณฑิตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่เคยให้สัมภาษณ์เมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมาว่า พร้อมผลักดันเรื่องนี้ เพราะเป็นนโยบายของรัฐบาลอยู่แล้วในการเปิดด่านตามชายแดนต่างๆ เช่นที่ด่านสิงขร เจดีย์สามองค์ พบพระ และแม่ฮ่องสอนเป็นต้น แต่ในส่วนของในจังหวัดเชียงใหม่นั้นยังไม่เรียบร้อย
ขณะนี้เหลือเพียงรอคำตอบจากฝ่ายพม่าและการเก็บระเบิดที่ยังไม่ปลอดภัยในฝั่งเพื่อนบ้าน พร้อมทั้งมีประกาศจากกระทรวงมหาดไทย และการประสานงานของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ โดยหอการค้าเชียงใหม่ก็เห็นด้วย หากมีการเปิดจุดผ่อนปรนหลักแต่งเนื่องจากจะส่งผลดีต่อการส่งออกสินค้าจากไทยไปพม่าได้ง่ายขึ้น เพราะสามารถย่นระยะทางในการขนส่งสินค้า ไม่ต้องเดินทางผ่านด้าน อ.แม่สาย จ.เชียงราย
ด้านชาวบ้านรายหนึ่งจากกิ่ง อ.เมืองทา ฝั่งพม่า ที่นำสินค้ามาขายยังฝั่งไทยเปิดเผยว่า ขณะนี้ที่เมืองทานั้นมีบ้านเรือนทั้งสิ้นประมาณกว่า 40 หลังคาเรือน และมีชาวบ้านอาศัยอยู่ประมาณ 1,000 คน และมีแนวโน้มว่าจะมีชาวบ้านจากที่อื่นๆ มาอาศัยในพื้นที่เพิ่มมากขึ้น โดยระบุ การเปิดให้ประชาชนทั้งสองฝั่งได้มาค้าขายกันเป็นเรื่องที่ดี ทำให้ประชาชนจากฝั่งโน้นสามารถข้ามมาซื้อสินค้าที่จำเป็นในการดำรงชีวิตในฝั่งไทย ซึ่งสินค้าจำเป็นยังขาดแคลนอยู่มากในฝั่งพม่า และทางการพม่าในเมืองทาก็พยายามสนับสนุนชาวบ้านในเรื่องนี้อย่างเต็มที่ แต่ชาวบ้านยอมรับว่า ทางฝั่งพม่านั้นเรื่องถนนหนทางยังไม่พร้อม โดยจากจุดผ่อนปรนหลักแต่งไปยังเมืองทามีระยะทางประมาณ 44 กิโลเมตร
ขณะที่ฝั่งพม่าตรงข้ามจุดผ่อนปรนหลักแต่งนั้น มีน้ำพุร้อนขนาดใหญ่อยู่ที่หมู่บ้านห้วยยาว ในเขตกิ่ง อ.เมืองทา ซึ่งหากในอนาคตมีการเปิดจุดผ่อนปรน เชื่อว่าอาจจะสามารถพัฒนาในพื้นที่นี้เป็นสถานท่องเที่ยวของฝั่งพม่าได้เช่นเดียวกัน
จุดผ่อนปรนหลักแต่งถูกปิดลงเมื่อปี 2545 หลังเกิดการสู้รบอย่างหนักระหว่างทหารพม่าและทหารไทใหญ่ RCSS/SSA หลังเหตการณ์สงบลง ทหารพม่าได้ขับไล่ชาวบ้านกว่า 4-5 หมู่บ้านมายังฝั่งไทย ทำให้ชุมชนในฝั่งพม่าเหลือเพียงไม่กี่แห่ง อย่างไรก็ตามขณะนี้ทางพม่าและทหารไทใหญ่ RCSS/SSA ได้ลงนามหยุดยิงกับรัฐบาลพม่าแล้ว และได้ตั้งสำนักงานประสานงานไว้ที่เมืองทา
ในอดีตนั้น การค้าขายระหว่างไทยและพม่าผ่านตรงบริเวณจุดผ่อนปรนหลักแต่งเป็นไปอย่างคึกคัก ผู้ประกอบการค้าขายใน อ.เวียงแหงมีรายได้วันละ 10 ล้านบาทจากการส่งสินค้าไปขายยังฝั่งพม่า หลังปิดด่านทำให้เศรษฐกิจในพื้นที่ซบเซา ประชาชนในพื้นที่ชายแดนต้องลงไปหางานทำในตัวเมืองใหญ่ โดยในขณะนี้ชาวบ้านในพื้นที่หวังให้มีการเปิดด่านเพื่อกลับมาค้าขายและกลับมาพัฒนาท้องถิ่น