สำนักข่าวชายขอบ
Transborder News

เมื่อศิลปินต้านคอรัปชั่น ทำไมต้อง “ม้าลาย”

13815193_1154744954568788_2086058984_n

แม้รับรู้กันอยู่ว่า การคอรัปชั่นเป็นมะเร็งร้ายของสังคมไทย ที่นับวันยิ่งเติบใหญ่ไม่หยุดหย่อน แต่ดูเหมือนความตื่นตัวที่จะลุกขึ้นมาดูแลตัวเองและขจัดเชื้อร้ายให้พ้นไปนั้น ยังไม่ไปถึงไหน แม้รัฐบาลจะออกมารณรงค์ “ปราบโกง” แต่ช่างดูบางเบาเมื่อเทียบกับอาการฉ้อราษฏร์-บังหลวง ที่หนักหนาสาหัสนักในวงราชการ

เมื่อเร็ว ๆ นี้ศิลปินเล็ก ๆ กลุ่มหนึ่งได้ร่วมกันออกมาต่อต้านคอรัปชั่น เพื่อรณรงค์ให้สังคมไทยและสังคมโลกตระหนักถึงภัยร้ายนี้

จุดเริ่มต้นของการรณรงค์ครั้งนี้เกิดขึ้นที่ประเทศโปแลนด์ โดยศิลปินกลุ่มนี้ได้เดินทางไปแสดงผลงานผ่านผลงานศิลปะ ประเภท Conceptual Art เพื่อสื่อสารว่า “คอรัปชั่นเกิดขึ้นได้ทุกที่ และเราสามารถปฏิเสธหรือตอบรับก็ได้ อยู่ที่ใจ” โดยพวกเขาได้คิดโครงการที่ชื่อว่า “Zebra Project” เพื่อผลักดันและเพิ่มคุณค่าของศิลปะในแบบอีเวนท์ รณรงค์ให้สังคมหยุดสนับสนุนการคอรัปชั่นทุกประเภท

13647049_1154745001235450_1038529161_o

ศิลปินกลุ่มนี้ประกอบด้วย 1.จุมพล อภิสุข 2.จิตติมา ผลเสวก 3.ภัทรี ฉิมนอก 4.สาธิต รักษาศรี และ5.สมพงษ์ ทวี

สมพงษ์ ทวี หนึ่งในศิลปินผู้ทำโครงการฯ ระบุว่า โครงการ Zebra Project เดิมทีเป็นการคิดแค่ Theme เพื่อการแสดงสดที่โปแลนด์ ตามคำเชิญของศิลปินต่างชาติเท่านั้น โดยทางกลุ่มวางแผนไว้ว่าจะแสดงสดเพื่อต้านการโกง การคิดสินบน และคอรัปชั่นทุกประเภท โดยได้แนวคิดจากสภาพสังคมไทยที่มีความเชื่อนำเอารูปปั้น “ม้าลาย” มาวางหน้าศาลเจ้า ตามจุดต่าง ๆ ทั่วไทย เพื่อแก้บน หลังการอธิษฐาน ขอพร ทางกลุ่มมองว่า พฤติกรรมดังกล่าว น่าจะอธิบายได้ดีว่า สังคมไทยมีวัฒนธรรมติดสินบนทุกระดับ แม้แต่กับความเชื่อเรื่อง เทวดา ผีสาง ก็ยังมีรูปจำลองสัตว์ที่ไม่เคยมีในไทย ไปวางหน้าศาลเป็นร้อยเป็นพันในแต่ละที่ ดังนั้น ไม่ต้องคิดถึงระดับอื่นแล้ว การคิดสินบนกลายเป็นวัฒนธรรมไปแล้ว สะท้อนถึงโลกมาถึงจุดวิกฤติด้านนี้จริง ๆ

13819875_1154745031235447_1922205275_n

“การแสดงสดที่โปแลนด์ครั้งนี้ ผลตอบรับเกินคาด คนที่สนใจศิลปะไม่ได้มองม้าลายเป็นเพียงสัญลักษณ์การโกงอย่างที่เราต้องการสื่อสารเท่านั้น แต่พวกเขามีการมองเชื่อมโยงไปถึงการอพยพลี้ภัยสงครามของชาวตะวันออกกลางและอาฟริกาเหนือ ซึ่งกำลังเป็นปัญหาใหญ่ในยุโรป ด้วยความกลัวการรับผิดชอบและความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นตามมา โปแลนด์เป็นประเทศแรกที่ประกาศไม่รับผู้ลี้ภัย นอกจากนี้ เพื่อนศิลปินชาวยุโรปบางคนยังเปรียบเทียบขบวนการม้าลายของเรากับการเหยียดสีผิว ซึ่งการทำงานศิลปะ เราไม่จำกัดความคิดและการตีความของคนดูอยู่แล้ว” สมพงษ์กล่าวปิดท้าย

ในมุมมองของศิลปินกลุ่มนี้มองว่า การต่อต้านคอรัปชั่นไม่จำเป็นต้องลงทุนสูง แต่ทุกคนมีสิทธิ์มีส่วนร่วมได้ แม้ว่าจะเป็นสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็ตาม

13819350_1154745861235364_1003010965_n

วันที่ 27 กรกฎาคม 2559 จะมีการเปิดตัวโครงการม้าลาย ศิลปะต้านการคอรัปชั่น ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพฯ โดยจะมีการระดมทุนสำหรับพัฒนาการทำศิลปะรณรงค์ให้สังคมร่วมปฏิเสธผู้มีพฤติกรรมคดโกง รับสินบน และคอรัปชั่นประเทศต่อไป ทั้งนี้จะมีกิจกรรมเคลื่อนไหวครั้งต่อไปในเดือนกันยายน ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน

ด้านจิตติมา ผลเสวก ศิลปินอิสระและนักเขียนสารคดี ได้เขียนถึงโครงการนี้ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวไว้อย่างน่าสนใจว่า นานเท่าไหร่แล้ว ที่สังคมไทยตกอยู่ในค่านิยมการติดสินบน อาจจะเริ่มจากยุคพญาแถนเป็นต้นมา ครั้งที่ชาวบ้านประสบกับความแห้งแล้ง ฝนฟ้าไม่ตกต้องตามฤดูกาล จนต้องทำพิธีบวงสรวงอ้อนวอนพญาแถน จุดบั้งไฟขึ้นสู่ฟ้า ส่งสัญญาณเตือนพญาแถนให้ก้มหน้าดูลูกหลานผู้เดือดร้อน หรือกระทั่งการแห่นางแมวขอฝน ซึ่งเชื่อว่า แมวเป็นสัตว์ลึกลับที่สามารถร้องเรียกฝนได้ แต่คิดอีกอย่าง นี่คือการกระทำทุกขกิริยาแก่สัตว์เพื่อให้เบื้องบนสำเหนียกในหน้าที่ เหมือนการที่ชาวบ้านต้องออกมาอดข้าวประท้วงรัฐบาลเหล่านี้ เป็นต้น

13823687_1154745864568697_679973931_n

“การบนบานศาลกล่าวกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเรา อาจเป็นเพราะชีวิตที่ขาดการดูแลจากภาครัฐ ชีวิตที่ขาดสวัสดิการ ทั้งที่เสียภาษีตั้งแต่แรกเกิดจนตาย เมื่อพึ่งพาอาศัยฝ่ายปกครองบ้านเมืองไม่ได้ การพึ่งพาสิ่งศักดิ์สิทธิอาจจะช่วยจิตใจได้ดีกว่า หนำซ้ำบางครั้งบนบานแล้วประสิทธิผลความเชื่อจึงยิ่งฝังรากหยั่งลึก และแผ่ออกไปกว้างไกล สิ่งของที่ใช้ในการติดสินบน หรือบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิมีหลากหลาย ขึ้นอยู่กับจริตและความพึงใจของเจ้าแม่เจ้าพ่อหรือสิ่งศักดิ์สิทธิอันมีอยู่มากมาย”

จิตติมาบอกว่า ส่วนใหญ่เรามักจะเห็นรูปสัตว์ต่าง ๆ วางบูชาตามศาล โดยมาจากความเชื่อว่า สิ่งศักดิ์สิทธิผู้มากอิทธิฤทธิ์มักจะมีสัตว์เป็นพาหนะ และม้าก็เป็นหนึ่งในพาหนะเหล่านั้น กล่าวกันว่าสมัยก่อนก็นำรูปปั้นม้าธรรมดามาวางบวงสรวง แต่ต่อมาเพื่อให้สวยสะดุดตามากขึ้นจึงทำเป็นม้าลาย ครั้นคนที่ใช้ม้าลายมาติดสินบนประสพความสำเร็จในสิ่งที่ขอมากขึ้น ศาลบางแห่งจึงมีแต่คนนำม้าลายวางแก้บนไว้จนล้น กระทั่งความเชื่อไกลไปถึงระดับบนบานขอความปลอดภัยทางการใช้ถนน ผู้ที่มีอาชีพเกี่ยวกับการขับขี่รถที่ใช้ถนนเป็นประจำ มักจะบนบานศาลกล่าวด้วยม้าลาย เพื่อให้ปลอดภัยตลอดการเดินทาง

13672582_1154746294568654_1190725428_n

จิตติมามองว่า ม้าลายนั้น ถ้าเป็นทางศิลปะก็ถือว่าเป็นโมเดิ้นอาร์ตในวัฒนธรรมการติดสินบนก็ว่าได้ ด้วยลวดลายที่แปลกตาแบบป็อบอาร์ต ไม่เคยตกสมัย ไม่ว่าธรรมชาติจะเปลี่ยนแปลงไปเช่นไร หรือแฟชั่นโลกจะหมุนไปทางไหน ม้าลายจะยังคงอยู่ และกลับมาทันสมัยได้เสมอ อาจจะเปรียบได้กับการคอรัปชั่นของบ้านเราที่ลบเลือน จะยังคงทันสมัยและปรับเปลี่ยนได้อยู่เสมอ

สำหรับผู้ที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรมและสนับสนุนเสื้อยืดระดมทุนสามารถร่วมงานได้ที่หอศิลป์ฯ กรุงเทพ ในวันที่ 27 กรกฎาคม ตั้งแต่เวลา 17.00 น. เป็นต้นไป โดยภายในงาน จะมีการเสวนาและฉายสารคดีสั้นเกี่ยวกับประสบการณ์ของศิลปินกลุ่มดังกล่าว ที่ได้ไปแสดงในโปแลนด์

/////////

On Key

Related Posts

กลุ่มติดตามสันติภาพพม่าเผยข้อมูลล่าสุดฝ่ายต่อต้าน SAC ยึดครองพื้นที่ได้ 55 เมืองทั่วประเทศ ขณะที่ญี่ปุ่นเชิญ 4 กองกำลังร่วมแสดงจุดยืน

วันที่ 17 พฤษภาคม 2567 กลุ่มติดตามสันติภาพพม่า BNIRead More →

คดีถึงที่สุด-ชาวเลราไวย์ชนะคดีพื้นที่หน้าหาด ศาลฎีกาพิพากษายืนชี้อยู่มานาน ชาวบ้านดีใจเผยมั่นใจขยายแผงขายปลา แต่ยังหวั่นเอกชนรุกเส้นทางเดินดั้งเดิมสู่ “บาลัย”

เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2567 นายสุรพงษ์ กองจันทึก ปRead More →