สำนักข่าวชายขอบ
Transborder News

เสียงสะท้อนจากเจ้าของรางวัล “มนัส เศียรสิงห์” ปี 60 “ศิลปะไม่ใช่แค่ความสุนทรีย์”

ย้อนกลับไปเมื่อเหตุการณ์ตุลาคม 2516 รัฐบาลไทยมีการปราบจลาจลนักศึกษาจำนวนมากที่เรียกร้องประชาธิปไตย ซึ่งมีทั้งนักศึกษาที่บาดเจ็บและเสียชีวิต “แดง” หรือ มนัส เศียรสิงห์ คือศิลปินนักกิจกรรมในยุคนั้นที่เลือกใช้สื่อทัศนศิลป์ในการสร้างสรรค์การเคลื่อนไหวทางการเมืองรวมทั้งใช้ทัศนศิลป์รณรงค์เพื่อเอกราชสันติภาพ ประชาธิปไตย และความเป็นธรรม และถูกนำไปใช้ต่อเนื่อง พัฒนามาจนถึงช่วงการเรียกร้องประชาธิปไตยอีกครั้ง เมื่อ 6 ตุลาคม 2519 ซึ่ง”มนัส”ได้เสียชีวิตในเสียชีวิตลง แต่ชื่อเสียงยังถูกยกย่องจากเพื่อนนักศึกษาและประชาชนทั่วไปในปี 2544 ทางสถาบันปรีดี พนมยงค์ จึงได้ริเริ่มจัดตั้งรางวัล “มนัส เศียรสิงห์(แดง) ขึ้นเพื่อมอบเป็นเกียรติแก่ศิลปินทัศนศิลป์ ชาวไทย ที่สร้างสรรค์ผลงานด้านสันติภาพประชาธิปไตยความเป็นธรรมเพื่อเป็นกำลังใจและเชิดชูศิลปินผู้สะท้อนปัญหาสังคม ซึ่งพิธีมอบรางวัล 5 ปี ต่อ 1 ครั้ง
“ประวัติศาสตร์ศิลปะ จากอดีตถึงศิลปะสมัยปัจจุบันผมเชื่อว่ามีศิลปะทั้งแบบการสร้างสรรค์ผลงานเพื่อผู้เสพศิลปะโดยตรงและศิลปะเพื่อสังคมเพื่อความเป็นธรรมเพื่อคนเล็กคนน้อยและเพื่อสะท้อนความขัดแย้งในบางโอกาส แต่วัตถุประสงค์ต่างๆเหล่านี้ล้วนขึ้นอยู่กับศิลปินผู้สรรค์สร้างว่าจะทำงานศิลปะเพื่ออะไร แต่รางวัลมนัส เศียรสิงห์ “แดง” เป็นรางวัลที่มุ่งประกาศเกียรติคุณ ให้กำลังใจและเชิดชูศิลปินที่สะท้อนปัญหาให้กับสังคม และเพื่อรำลึกถึงมนัส เศียรสิงห์ ” สินธุ์สวัสดิ์ ยอดบางเตย หนึ่งในคณะกรรมการตัดสินพูดถึงเหตุผลในการก่อตั้งรางวัล ฯ

เมื่อวันที่ 23 กันยายน ที่ผ่านมาสถาบันปรีดีได้มีการจัดกิจกรรมศิลปะกับสังคม: เทศกาลศิลปะนานาพันธุ์ ขึ้นพร้อมกับมอบรางวัล มนัส เศียรสิงห์ “แดง” ครั้ง ที่ 4 ปี 2560 ขึ้น ในปีนี้ผู้ที่ได้รับรางวัลได้แก่ 1 เลอพงษ์ พุฒิชาติ 2 สมชาย วัชระสมบัตร 3 จิตติมา ผลเสวก และ 4 พิน สาเสาร์

สินธุ์สวัสดิ์ ระบุว่า ครั้งก่อนการคัดเลือกศิลปินทางสถาบันจะเปิดโอกาสให้องค์กรบุคคลเสนอชื่อและประวัติผลงานศิลปินไทยเข้ามา โดยรางวัลนี้จะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ รางวัลเกียรติยศมอบแก่ผู้ที่มีการสร้างสรรค์ผลงานเป็นเวลาอย่างน้อย 30 ปีและรางวัลดีเด่นมอบแด่ผู้ที่สร้างสรรค์ผลงานเป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 10 ปี ซึ่งศิลปินที่ได้รับรางวัลในปีนี้ล้วนเป็นผู้สร้างสรรค์ศิลปะที่มีเนื้อหาสาระเพื่อสังคม ส่งเสริมสันติภาพ ประชาธิปไตย ความเป็นธรรมและแสดงออกทางศิลปะที่หลากหลายอีกทั้งมีการใช้ชีวิตเป็นแบบอย่างและเป็นที่ประจักษ์ต่อสังคมด้วย

“ศิลปะเป็นภาษาสากลเราจะสื่อออกด้วยวิธีใดก็ได้และสะท้อนให้ชนชาติใดดูก็ได้ดังนั้นศิลปะคือสื่อที่สามารถแสดงออกได้หลายแบบ ดังนั้นถ้าใช้ศิลปะมาเป็นสื่อสะท้อนเรื่องราวทางสังคมผมเชื่อว่าจะสื่อสารความเข้าใจให้แก่บุคคลที่หลากหลายได้ ศิลปินที่ได้รับรางวัลนี้ก็มีผลงานที่ไม่ใช่แค่การสื่อสารในสังคมไทยเท่านั้นแต่ช่วยให้คนชาติอื่นมีความรู้ความเข้าใจด้วย”

พิน สาเสาร์ หนึ่งในศิลปินที่ได้รับรางวัล กำลังอยู่ระหว่างการจัดโครงการศิลปะ”เย็บแผ่นดิน” เพื่อสร้างศิลปะให้กับผู้พิการขาที่ประสบอุบัติเหตุเหยียบกับระเบิดบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา ที่จังหวัดอุบลราชธานี ชายแดนไทย-พม่าที่จังหวดตาก ซึ่งกับระเบิดเป็นผลกระทบจากความขัดแย้งระหว่างไทยและประเทศเพื่อนบ้านในอดีต โดยแนวความคิดในการทำโครงการดังกล่าวคือการใช้ศิลปะในการแต่งแต้มลวดลายบนขาเทียมใหม่ให้กับชาวบ้าน แล้วนำขาเทียมเก่ามาจัดแสดงนิทรรศการในเทศกาลศิลปะต่างๆ

“ในการจัดกิจกรรมแต่ละครั้ง ผมก็จะให้ชาวบ้านที่เป็นเจ้าของขาเทียมวาดรูปบนขาของตัวเองโดยมีศิลปินผู้ช่วยที่เป็นทั้งนักศึกษาหรืออาจารย์ที่คอยดูแลการสร้างสรรค์ผลงาน และให้คำปรึกษาระหว่างจัดกิจกรรม เพราะผมเชื่อว่าศิลปะช่วยเยียวยาความเจ็บปวดได้และมีพลังที่จะทำให้จิตใจดีขึ้น ศิลปะคือ soft power” พิน กล่าว

ศิลปินหนุ่มระบุได้ว่าขณะนี้ได้สร้างสรรค์ขาเทียมเสร็จแล้ว 60 ขา และตั้งเป้าจะทำอีกให้ครบ 200 ขา ซึ่งในอนาคตอาจจะขยายโครงการไปยังชายแดนลาวเพิ่มเติม

พิน สาเสาร์ เป็นศิลปินจากจังหวัดร้อยเอ็ดมีความสนใจด้านศิลปะในมิติที่เชื่อมโยงกับสังคมวัฒนธรรมสิ่งแวดล้อมและมีโครงการศิลปะหลายอย่างเช่นศิลปะเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ศิลปะเพื่อการต่อต้านบรรษัทบุหรี่ข้ามชาติสนับสนุนศิลปะของเยาวชน การแสดงงานศิลปะเพื่อรำลึกถึงการหายตัวไปของนักกิจกรรมทางสังคมเช่นเจริญ วัดอักษร ทนายสมชาย นีละไพจิตร เป็นต้น

——–
“รอยเท้าที่เลือนหาย
บนทางย่ำซ้ำเดิม
เทือกเขาพังทลาย
ฝุ่นสีทองปลิวคว้างในสายลม
มายาลวงตาคุณค่าที่ไม่มีอยู่จริง
เช่นทุ่งกว้างที่ร้างวัวควาย
กระดึงผูกคอร่ำไห้
ครวญครางอย่างไร้ท่วงทำนอง
ในลำคอสากคาย
ลึกลงไปเกือบถึงเมืองบาดาล
พญานาคเร่าร้อนด้วยไฟฟอน
แร่ธาตุถูกดูดดึง”

นี่คือส่วนหนึ่งจาก บทกวี ที่จิตติมา ผลเสวก ศิลปินหญิงคนเดียวที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้ เขียนขึ้น พร้อมทั้งอ่านบทกวี ร่วมกับศิลปะการแสดงสดในงานของชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม และจัดเป็นหนึ่งในผลงานหลายโครงการที่จิตติมาได้ทำมา ซึ่งในแวดวงศิลปะที่รู้จักเธอดีจะทราบว่าเธอเป็นทั้งนักเขียนและศิลปิน

ในวงการขีดเขียน จิตติมาได้สร้างสรรค์ผลงานทั้งบทความหลายชิ้น แลงานเขียนหลายเล่ม เช่น คอปือฮักก้า เรื่องเล่าจากขุนเขา แผ่นดิน/เมืองใหม่ เป็นต้น เคยมีผลงานเขียนในนิตยสารไฮคลาส แพรว มติชนรายสัปดาห์ สยามรัฐสัปดาวิจารณ์ ฯลฯ ขณะที่ประวัติการแสดงผลงานศิลปะมีหลายโครงการ เช่น โครงการศิลปะชุมชนที่จิตติมาก่อตั้ง โดยเชื้อเชิญศิลปินเดินทางไปยังชุมชนต่างๆเพื่อทำงานศิลปะแสดงสดเล่าเรื่องสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตชุมชน โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีปัญหาหรือขัดแย้ง จากกรณีโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของรัฐ เช่น โครงการที่แม่น้ำสาละวิน โครงการศิลปะชุมชนที่แม่น้ำโขงหลายต่อหลายครั้ง รวมถึงโครงการที่ชุมชนอูรักลาโว้ย เกาะลันตา จังหวัดกระบี่ เป็นต้น

ไม่เพียงแต่การจัดกิจกรรมแสดงศิลปะในประเทศเท่านั้นแต่ในต่างประเทศจิตติมาก็ได้ร่วมกับศิลปินไทยและศิลปินชาติอื่นเพื่อทำผลงานศิลปะในหลายประเทศ

“เมื่อก่อนเขียนหนังสือเยอะทั้งบทความลงในหนังสือพิมพ์นิตยสารและบทสารคดีโทรทัศน์ แต่ตอนนี้ที่ทำเยอะคือศิลปะแสดงสด หรือ performance art ซึ่งส่วนมากจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับสังคมและสิ่งแวดล้อม เพราะในช่วง 6 ตุลาคม และ 14 ตุลาคมนั้น เราก็เป็นวัยรุ่นตอนต้น และอยู่ในช่วงเหตุการณ์ที่มีนักศึกษาชุมนุมด้วย ก็มีความสนใจเรื่องสังคมตั้งแต่ตอนนั้นเป็นต้นมา ทีนี้นิสัยส่วนตัวของเรามันชอบเดินทางและเขียนสารคดีด้วย ไปเจอเรื่องราวของชาวบ้านหลากหลายพื้นที่ เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้สนใจปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชนต่างๆ ยิ่งตอนนี้เรามาเจอความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคมเรายิ่งเห็นชัดขึ้นว่ากรณีที่ชุมชนและชาวบ้านถูกรุกจากโครงการพัฒนาของระบบทุนโดยไม่ยั้งนั้น มันไม่มีทางที่จะมีสันติภาพเกิดขึ้น เราเน้นการทำศิลปะแสดงสดเพราะมันสด มีพลังและปะทะกับพื้นที่กับคนดูโดยตรง”

เธอบอกว่าศิลปะสำหรับเธอนั้นคือเครื่องมือสื่อสารอย่างหนึ่ง และการที่สนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมเพราะเชื่อว่าหากความหลากทางชีวภาพถูกทำลาย ความหลากหลายทางศิลปวัฒนธรรมก็สิ้นสลายเช่นกัน หากสิ่งแวดล้อมกลับกลาย ศิลปวัฒนธรรมก็จะถูกกลายกลืนไปเช่นกัน

ในโอกาสที่ รางวัล “มนัส เศียรสิงห์ “แดง” เป็นรางวัลที่มอบแด่ศิลปินผู้มีผลงานศิลปะเพื่อประชาธิปไตยและความเป็นธรรม เราจึงขอให้จิตติมาพูดถึงสถานการณ์ของสังคมสมัยนี้ว่าเป็นประชาธิปไตยหรือเปล่า มีสันติภาพจริงหรือไม่ และทั้ง 2 อย่างนี้ หากขาดสิ่งใด สิ่งหนึ่ง จะเป็นอย่างไร

“เวลาที่เราเห็นชาวบ้านต้องมาทนทุกข์กับความกังวลตลอดเวลา เช่น บางคนต้องคิดเสมอว่าไม่รู้จะทำอย่างไรหากถูกไล่ออกจากบ้านเกิดเมืองนอนเพื่อโครงการอะไรสักอย่างจากภาครัฐภาคเอกชน พวกเขาต้องออกมาต่อสู้เพื่อปกป้องบ้านเกิด ปกป้องทรัพยากรของตัวเอง นั่นแปลว่าความขัดแย้งความไม่สงบเกิดขึ้นแล้ว ในเมื่อมันไม่มีประชาธิปไตยที่ทำให้ทุกคนมีปากเสียงเท่าเทียม และคนยังถูกกดหัว มันจะมีสันติภาพได้ยังไง” คำตอบค่อยๆพรั่งพรูออกมาจากปากคำของเธอชัดเจน และนั่นคงมีเหตุผลพอที่เธอเชื่อว่าจะต้องใช้ศิลปะสื่อสารสังคมต่อไป

ศิลปินหญิงทิ้งท้ายว่าแม้ปัจจุบันโลกสังคมออนไลน์จะพัฒนาขึ้นและศิลปินมีช่องทางในการประชาสัมพันธ์ผลงานของตนเองง่ายขึ้น แต่ในแง่ของคนดูคนเสพศิลปะเวลาไปแสดงศิลปะจริงๆ ในพื้นที่จริง คนจะน้อยมาก การแสดงผลงานศิลปะแต่ละครั้งศิลปินผู้จัดงานจึงต้องทุ่มเทและเหนื่อยกว่าในอดีต คนจะเลือกชื่นชมผ่านโลกออนไลน์มากกว่าโลกความเป็นจริง

ถึงแม้ศิลปินหลายท่านจะถูกจารึกชื่อไว้ว่าเป็นผู้สร้างสรรค์งานศิลปะเพื่อสังคมประชาธิปไตยและความเป็นธรรมในฐานะผู้ได้รับรางวัล มนัส เศียรสิงห์ “แดง” ปี 2560 รางวัลนี้จะเปลี่ยนชื่อผู้ได้รับรางวัลไปทุก ๆ 5 ปี แต่ในโลกของความจริง ผลงานที่พวกเขาทำถูกจารึกชื่อไว้แล้วโดยกลุ่มคน ชุมชน ที่มีส่วนในกิจกรรมศิลปะของพวกเขา และนั่นคงตรงกับเจตนารมณ์ของมนัส เศียรสิงห์ ศิลปินกิจกรรมผู้ล่วงลับอย่างแท้จริง เพราะพลังของศิลปะถูกพัฒนาขึ้นมาอย่างหลากหลายรูปแบบและถูกสื่อออกไปเพื่อสังคมอย่างแท้จริง

เรื่องโดย จารยา บุญมาก

On Key

Related Posts

กลุ่มติดตามสันติภาพพม่าเผยข้อมูลล่าสุดฝ่ายต่อต้าน SAC ยึดครองพื้นที่ได้ 55 เมืองทั่วประเทศ ขณะที่ญี่ปุ่นเชิญ 4 กองกำลังร่วมแสดงจุดยืน

วันที่ 17 พฤษภาคม 2567 กลุ่มติดตามสันติภาพพม่า BNIRead More →

คดีถึงที่สุด-ชาวเลราไวย์ชนะคดีพื้นที่หน้าหาด ศาลฎีกาพิพากษายืนชี้อยู่มานาน ชาวบ้านดีใจเผยมั่นใจขยายแผงขายปลา แต่ยังหวั่นเอกชนรุกเส้นทางเดินดั้งเดิมสู่ “บาลัย”

เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2567 นายสุรพงษ์ กองจันทึก ปRead More →