สำนักข่าวชายขอบ
Transborder News

วิจัยพบสตรีชาติพันธุ์ถูกเอาเปรียบสุด ถูกวัฒนธรรม-ความเชื่อชนเผ่ากดขี่ 4 คนยังรอสัญชาติ-เข้าไม่ถึงกฏหมาย

lahu

เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2557 ที่โรงแรมอมารี ดอนเมือง กรุงเทพฯ มีการจัดเวทีเรื่อง “ประสบการณ์ กับการเข้าถึงความยุติธรรม” : การศึกษาวิจัยแบบอัตชีวประวัติของผู้หญิงชาติพันธุ์ โดยความร่วมมือสำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) และองค์การเพื่อการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ และเพิ่มพลังของผู้หญิงแห่งสหประชาชาติ (UN Women) โดยคณะวิจัย 5 คนนำเสนอข้อมูลการศึกษากรณีชาติพันธุ์ 5 ชนเผ่า เกี่ยวกับบทบาทและประวัติการดำเนินชีวิตในชาติพันธุ์ ลาหู่ เมี่ยน ม้ง ดาราอาง(ดาราอั้ง) และปกาเกอะญอ ซึ่งพบสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำในหลายด้าน อาทิ ขาดสิทธิ์ครอบครองที่ดิน การขาดสิทธิตัดสินใจหย่าร้าง สิทธิการเป็นผู้นำท้องถิ่น สิทธิการครองเรือน สิทธิการตรวจสุขภาพทางเพศ ไร้อำนาจกำหนดความสัมพันธ์ทางเพศ เป็นต้น

 

นางสุนี ไชยรส รองประธาน คปก. กล่าวในการเปิดงานว่า หลายครั้งที่เพศหญิงต้องถูกกดขี่ผ่านรูปแบบวัฒนธรรมสังคมที่คอยกำกับดูแลโดยเพศชายเป็นใหญ่โดยเฉพาะชาติพันธุ์ต่างๆในประเทศไทยนั้น ยังถือว่าการเข้าถึงความยุติธรรมในสิทธิของตนยากที่สุด อาทิ เรื่องการขอสัญชาติไทยของชาติพันธุ์จะยากกว่า เพราะกฎหมายกำหนดให้สื่อสารภาษาไทยได้ แต่ด้วยวัฒนธรรมชนเผ่าที่มองเพศหญิงเป็นผู้ตามทำให้หลายคนต้องตกในสภาวะจำยอมและมักไม่ถูกยอมรับจากคนส่วนใหญ่

 

นางสุนีกล่าวว่าคปก.และคณะวิจัยที่เกี่ยวข้องจึงเลือกนำเสนอความจริงจากการสัมภาษณ์สตรีชาติพันธุ์มาสื่อสารสู่สาธารณะเพื่อจะได้เป็นแนวทางในการส่งเสริมสิทธิของสตรีในสังคมไทยเพิ่มเติม รวมทั้งเป็นจุดเริ่มต้นของการศึกษาสภาพปัญหาให้ชัดเจนนำไปสู่การแก้กฎหมายและระเบียบสังคมที่เอให้สตรีเข้าสู่ความยุติธรรมมากขึ้น โดยศึกษาประวัติของสตรี 5 ชนเผ่าที่อยู่ในประเทศไทย มานำเสนอผ่านการเล่าปัญหาและอุปสรรคการใช้ชีวิต รวมทั้งข้อจำกัดต่างๆที่เกิดขึ้นในแต่ละคน จากนักวิจัย 5 คน ที่ดำเนินการตั้งแต่ปี 2555-2556

 

ดร.นงเยาว์ เนาวรัตน์ กรรมการพิจารณาปรับปรุงและพัฒนากฎหมายด้านความเสมอภาคระหว่างเพศ และผู้ศึกษาเรื่อง ประสบการณ์กับการเข้าถึงความยุติธรรมของผู้หญิงลาหู่ :อัตชีวประวัติ ลาเคละ จะทอ กล่าวว่า ปัจจุบันมีเพศหญิงในชาติพันธุ์ต่างๆ อยู่ระหว่างกระบวนการพิสูจน์สัญชาติประมาณ 4 แสนคน โดยข้อจำกัดของสตรีนั้นยังคงเป็นเรื่องการสื่อสารภาษาไทยไม่ได้ ในการรับสวัสดิการสุขภาพจากภาครัฐ ลาหู่ถูกมองว่าสกปรก แม้ว่าลาเคละจะมีการศึกษามาบ้าง แต่เมื่อเธอเข้ารับการรักษาพยาบาลก็ถูกวัฒนธรรมชนเผ่ากดขี่อีกครั้ง เมื่ออยากตรวจมะเร็งปากมดลูก แต่ถูกปฏิเสธคนในชุมชนไม่ให้ไปพบแพทย์ โดยเฉพาะผู้นำชุมชนที่ไม่อนุญาตให้ไปตรวจสุขภาพ เพราะมองว่าการเปิดเผยอวัยวะเพสให้แพทย์นั้นเป็นเรื่องน่าอาย ทำให้การเข้าถึงสาธารณะสุขมีขั้นตอนที่ลำบาก

 

นางอังศุรักษ์ พรหมสุวรรณ์ ภาควิชาสตรีศึกษา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวถึงงานวิจัยกรณี ประสบการณ์กับการเข้าถึงความยุติธรรมของผู้หญิงชาติพันธุ์ม้ง ว่า ข้อจำกัดของหญิงชาวม้ง คือ ไม่สามารถเป็นผู้นำได้ และสิทธิการดำรงชีวิตถูกควบคุมโดยฝ่ายชาย การหย่าร้าง การแต่งงาน และการใช้ชีวิตครอบครัวต้องขึ้นอยู่กับญาติและครอบครัวของฝ่ายชายทั้งสิ้น โดยปัญหาของชาติพันธุ์ม้ง คือ ชายชาวม้งสามารถมีภรรยาได้มากกว่า 1 คน แต่กรณีศึกษาที่พบ คือ “แน่งน้อย” เป็นสาวม้งที่โตมากับพี่น้องสตรีล้วน ไม่เคยได้เรียนรู้เกี่ยวกับการใช้ชีวิตกับเพศชายและไม่มีประสบการณ์ครองเรือน กระทั่งเมื่อเธอถูกฉุดจากครอบครัวมาเป็นภรรยาคนที่สองของชายคนหนึ่ง แล้วแต่งงานตามประเพณี แต่สิทธิในฐานะภรรยาแทบไม่มี ซึ่งในเวลาต่อมาพบว่าภรรยาน้อยต้องทำงานทุกอย่างและห้ามกินข้าวกับสามีในเวลาเดียวกัน

 

นางอังศุรักษ์กล่าวว่า ผู้หญิงม้งถูกกีดกันไม่ให้พบครอบครัวเดิม ห้ามนำปัญหาชีวิตคู่ไปเล่าให้ครอบครัวเดิมฟัง เมื่อละเมิดข้อห้าม เธอจะถูกลงโทษทั้งวาจาและการผลักไสให้ออกจากชุมชน นอกจากนี้กฎเหล็กของวัฒนธรรมระบุไว้ว่า หญิงม้งเมื่อแต่งงานแล้วจะทนจะทุกข์ก็ห้ามเดินออกจากสามี จะเป็นอย่างไรต้องอยู่ด้วยตลอดเวลา แต่ใช้ชีวิตสามคนสามีและภรรยาไม่ใช่เรื่องง่าย ปัญหาที่ยากที่สุด คือ เมื่อถึงขั้นตอนการขอสัญชาติ เมื่อสามีของเธอเป็นผู้ใหญ่บ้านที่อยากมีสัญชาติไทยเต็มรูปแบบ เลยต้องเอาชื่อคนจีนที่เสียชีวิตมาอ้างในการขอบัตรประชาชน แต่แล้วพอเจ้าหน้าที่ตรวจสอบพบความจริง ภรรยาต้องรับผิดแทน และด้วยความรักจึงยอมทำ ทั้งที่รู้ว่าผิดต่อมาก็กลายเป็นคนติดคุกแทนสามี ทั้งที่ไม่ได้รับสิทธิอะไรเลย เธอจึงทบทวนแล้วตัดสินใจหย่าร้างโดยไม่ได้รับอะไรเป็นการตอบแทนแม้จะร่วมหาเงินและมีที่ดินที่นาร่วมกันก็ตาม เธอจึงตัดสินใจออกมาช่วยสตรีม้งในการเคลื่อนไหวผลักดันเกี่ยวกับกฎหมายการส่งเสริมสิทธิผู้หญิงในชาติพันธุ์ม้ง

 

“จากตัวอย่างที่ไปเห็นมา จึงอยากเสนอว่า สังคมไทยควรที่จะเดินหน้าแก้ปัญหาเรื่องสัญชาติโดยเร็ว แล้วสิทธิสตรีทั้งการศึกษา สิทธิการเมือง สิทธิการครองเรือนก็จะตามมาในฐานะคนไทย จึงอยากให้ทุกหน่วยงานช่วยกัน” นางอังศุรักษ์ กล่าว

 

ทั้งนี้ในตอนท้ายทีมวิจัย ได้สรุปข้อเสนอในการปฏิรูปกลุ่มกฎหมายระหว่างเพศ ที่เกี่ยวข้อง หลายข้อ อาทิ กฎกระทรวงเรื่องความมั่นคงของมนุษย์ ในการลดอคติทางชาติพันธุ์ ลดอคติต่อเพศหญิง พระราชบัญญัติสัญชาติ ที่ว่าด้วยการพิจารณารายละเอียดลงรายการสัญชาติไทย เช่น กรณีการกำหนดทักษะภาษานั้นจำเป็นต้องคำนึงถึงคนขาดแคลนและมีวัฒนธรรมที่เหลื่อมล้ำทางสังคมด้วย เพราะวัฒนธรรมชนเผ่าที่มีบางครั้งกฎหมายไทยก็ไม่สามารถไปแก้รายละเอียดได้ แต่การจะทำได้ต้องพัฒนาพวกเขาให้เป็นคนไทย และได้รับสิทธิตามที่พลเมืองไทยพึงมี

On Key

Related Posts

กลุ่มติดตามสันติภาพพม่าเผยข้อมูลล่าสุดฝ่ายต่อต้าน SAC ยึดครองพื้นที่ได้ 55 เมืองทั่วประเทศ ขณะที่ญี่ปุ่นเชิญ 4 กองกำลังร่วมแสดงจุดยืน

วันที่ 17 พฤษภาคม 2567 กลุ่มติดตามสันติภาพพม่า BNIRead More →

คดีถึงที่สุด-ชาวเลราไวย์ชนะคดีพื้นที่หน้าหาด ศาลฎีกาพิพากษายืนชี้อยู่มานาน ชาวบ้านดีใจเผยมั่นใจขยายแผงขายปลา แต่ยังหวั่นเอกชนรุกเส้นทางเดินดั้งเดิมสู่ “บาลัย”

เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2567 นายสุรพงษ์ กองจันทึก ปRead More →