สำนักข่าวชายขอบ
Transborder News

ดันรัฐบาลเดินหน้าโฉนดชุมชน สกน.เตรียมประเด็นนำเสนอ “ปนัดดา” ปราชญ์ชาวบ้านแนะเปิดใจกว้าง-ลงพื้นที่

patee

 

เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน  2557  นายประยงค์ ดอกลำไย  ที่ปรึกษาสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จะเดินทางมาหารือกับสกน.และภาคีในวันที่ 13 พฤศจิกายนว่า เครือข่ายฯ จะพยายามนำเสนอเรื่องนโยบายธนาคารที่ดินและโฉนดชุมชน เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนได้ใช้ที่ดินอย่างเป็นธรรม  และลดความขัดแย้งระหว่างนายทุน ภาครัฐ และชุมชน  อย่างกรณีตัวอย่างบ้านโป่ง อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ นั้นเป็นความสำเร็จของชุมชนที่สะท้อนได้ชัดเจนที่สุดว่า ชาวบ้านมีความเข้มแข็งและมีความพยายามเข้าถึงสิทธิในการครอบครองที่ดินเพียงเพื่อยังชีพและหารายได้เสริมเท่านั้น ไม่ใช่ครอบครองเพื่อเก็งกำไร

 

“กว่าเราจะผ่านมาถึงขั้นเดินเท้า และรณรงค์เรื่องที่ดินได้ขนาดนี้ มันมีระยะเวลายาวนาน ผมไม่อยากเห็นการประท้วงแล้วไม่ได้อะไร  แต่เมื่อวันนี้เราเดินเท้าออกมา แล้วผู้มีอำนาจเต็มมืออย่าง คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยอมจะเปิดเวทีพูดคุยแล้ว เรื่องปฏิรูปที่ดิน เป็นความจำเป็นขั้นพื้นฐาน ที่ประเทศกสิกรรมอย่างไทยหลีกเลี่ยงไม่ได้  คนจนอีกนับแสนๆ คนขาดแคลนที่ดิน ถูกฟ้องร้องดำเนินคดี ยังไม่ได้รับการแก้ไขเลย แผนแม่บทป่าไม้ก็มาอีกแล้ว  ชาวบ้านเสียยางพารา เสียไร่ เสียนา ดังนั้นพรุ่งนี้ โฉนดชุมชนที่ค้างมาหลายรัฐบาล จะต้องได้เจรจากับรัฐบาลให้ได้   นอกจากนี้จำเป็นต้องเสนอตัวอย่างหมู่บ้านที่จัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน และหมู่บ้านที่เดือดร้อนจากแผนแม่บทป่าไม้ด้วย”  นายประยงค์ กล่าว

 

ขณะที่นายตาแย๊ะ  ยอดฉัตรมิ่งบุญ  หรือพะตีระแย๊ะ ปราชญ์ชาวปกาเกอะญอแห่งบ้านสบลาน อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่าใน 13 พฤศจิกายตนและชาวบ้านจากหลายพื้นที่จะมีโอกาสเข้าพบม.ล.ปนัดดา และตัวแทนผู้บริหารบ้านเมืองอีกหลายฝ่าย ที่ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่  เพื่อเจรจาเรื่องแผนแม่บทป่าไม้และแผนปฏิรูปที่ดิน ตนจะนำแผนที่ซึ่งชาวบ้านปกาเกอะญอร่วมกันจัดทำ ไปเสนอให้รัฐมนตรีรับทราบ  พร้อมรูปภาพวิถีชีวิตปกาเกอะญอและรายงานสถานการณ์ป่าไม้ โดยเฉพาะเรื่องราวของการจัดการทรัพยากรป่าไม้ จำนวนกว่า 10,000 ไร่ แบ่งเป็นป่าใช้สอย ไร่หมุนเวียน ป่าอนุรักษ์  ฯลฯ  เป็นหลักฐานยืนยันชัดเจนว่าชาวบ้านต่างมีบทบาท ในการดูแลรักษาป่าได้ดีและยั่งยืน และไม่มีใครอยากให้ภาพวันวานแห่งการประกาศพื้นที่ป่า หรือสัมปทานป่าไม้ทับที่ทำกินชาวบ้านเหมือนในอดีตอีกแล้ว แม้บ้านสบลานไม่ใช่พื้นที่ได้รับผลกระทบจากแผนแม่บทโดยตรง แต่ก็เป็นต้นแบบให้รัฐบาลเห็นชัดเจนว่าชาวบ้านบริหารทรัพยากรได้  จึงอยากให้รัฐลงมาดูพื้นที่ให้เห็นกับตา แล้วการเดินเท้าประท้วง หรือเรียกร้องสิทธิจะได้ไม่เกิดขึ้นอีก  แต่ที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งเพราะรัฐไม่ได้เข้ามารับฟัง

 

 

พะตีตาแย๊ะ  กล่าวว่า  ขณะนี้ภัยคุกคามชาวสบลานไม่ใช่แผนแม่บทฯเพียงอย่างเดียว แต่ขณะนี้ชาวบ้านกำลังพบกับบริษัทใหญ่เข้ามาส่งเสริมให้ปลูกพืชเศรษฐกิจ โดยมี 2-3 รายลองทำดูแล้ว พบว่า ขาดทุนหลายบาท จึงระงับโครงการไป หันมาเลี้ยงควาย ทำนา  ทำไร่  ซึ่งตอนนี้ยังทำได้ปกติ แต่ถ้าหากเจอรัฐบาลกดดันเหมือนพื้นที่อื่น ไม่มีใครรู้ว่าอนาคตต้องเปลี่ยนรูปแบบใช้ชีวิตหรือไม่ แม้ว่าปัจจุบันนี้คนสบลานยังไม่เจอสถานการณ์ถูกทำลายนา ไร่ แต่ก็มีบางคนนึกกลัวว่าในอนาคตอาจต้องเผชิญชะตากรรมเดียวกัน จึงทำได้แค่เร่งอนุรักษ์ป่าไม้ไว้ และพยายามอธิบายหลักการให้รัฐบาลเข้าใจ เหมือนเมื่อครั้งอธิบายเรื่องผลกระทบของเขื่อน

 

“ตอนนี้เราพยายามทำโครงการปลูกพืช ผัก ไร่นาสวนผสม เพิ่มเติมมาจากการทำไร่ ทำนา  บ้านเราไม่มีร้านค้า ไม่มีอะไรมาอำนวยความสะดวก เงินรายได้ส่วนมากซื้อน้ำมันรถ เพื่อสัญจรไปมาในเมืองใหญ่เท่านั้น พรุ่งนี้เราอยากให้รัฐบาลเปิดใจคุยกับเราอย่างเข้าใจ และเชื่อมั่นในชุมชนบ้าง” นายตาแย๊ะ กล่าว

—————–

 

On Key

Related Posts

กลุ่มติดตามสันติภาพพม่าเผยข้อมูลล่าสุดฝ่ายต่อต้าน SAC ยึดครองพื้นที่ได้ 55 เมืองทั่วประเทศ ขณะที่ญี่ปุ่นเชิญ 4 กองกำลังร่วมแสดงจุดยืน

วันที่ 17 พฤษภาคม 2567 กลุ่มติดตามสันติภาพพม่า BNIRead More →

คดีถึงที่สุด-ชาวเลราไวย์ชนะคดีพื้นที่หน้าหาด ศาลฎีกาพิพากษายืนชี้อยู่มานาน ชาวบ้านดีใจเผยมั่นใจขยายแผงขายปลา แต่ยังหวั่นเอกชนรุกเส้นทางเดินดั้งเดิมสู่ “บาลัย”

เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2567 นายสุรพงษ์ กองจันทึก ปRead More →