Search

สิ่งที่เรารู้คือ “ความกลัว” ความขัดแย้งในรัฐคะฉิ่น ดินแดนที่ถูกลืม

Kachin News Group

ในแนวหน้าสนามรบ กองทัพพม่ากำลังบดขยี้กลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ด้วยเครื่องบินรบและปืนใหญ่ลูกแล้วลูกเล่า ในขณะเดียวกัน ในค่ายผู้อพยพหนีภัยจากสงคราม ชาวบ้านได้สร้างหลุมหลบภัยจากระเบิดด้วยกระสอบทรายและหิน ทุกหนทุกแห่งในภาคเหนือของประเทศกำลังเต็มไปด้วยความขัดแย้งที่นับวันยิ่งจะเลวร้ายลงไปเรื่อยๆ

ขณะที่โลกจับจ้องไปยังชาวมุสลิมโรฮิงญา ทางเหนือของรัฐยะไข่ ในเวลาเดียวกัน พื้นที่รัฐคะฉิ่นแห่งนี้ก็กำลังเกิดสงครามกลางเมืองอยู่เช่นกัน กองทัพของรัฐบาลได้ทำการต่อต้านต่อกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์อีกกลุ่มหนึ่ง

ชาวคะฉิ่น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวคริสเตียน ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของสงครามยาวนานที่สุดในโลก ตามข้อมูลของสหประชาชาติ วิกฤติความขัดแย้งที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ส่งผลให้มีผู้พลัดถิ่นในรัฐคะฉิ่นอย่างน้อย 10,000 คน ในเดือนมกราคมเพียงเดือนเดียว วิกฤติความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในภูมิภาคนี้ถูกบดบังด้วยเหตุการณ์ความรุนแรงในรัฐอาระกัน หรือรัฐยะไข่ ที่ทำให้มีชาวโรฮิงญาเกือบ 700,000 คน กลุ่มชาติพันธุ์ส่วนน้อยทางตะวันตก ถูกกองทัพพม่าเนรเทศออกจากประเทศ

Kachin News Group

ชาวคะฉิ่น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวคริสเตียนได้ต่อสู้เพื่อเอกราชของตนเอง ในประเทศพุทธศาสนามาตั้งแต่ปี 2504 เป็น 1 ในกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์อย่างน้อย 20 กลุ่มที่ตัดสินใจจับปืนต่อสู้กับกองทัพพม่าหลังพม่าได้รับเอกราช จากอังกฤษในปี 2491 และไม่กี่ปีที่ผ่านมา รัฐบาลพม่าได้ลงนามหยุดยิงกับกลุ่มติดอาวุธเหล่านี้นับ 10 กลุ่ม แต่กลุ่มคะฉิ่นยังคงสู้รบกับกองทัพพม่าและยังไม่ลงนามหยุดยิง แม้รายงานเรื่องการสังหารของทหารพม่าจะไม่รุนแรงเท่าในรัฐอาระกัน อย่างไรก็ตาม สหประชาชาติได้ออกมารายงานเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาว่า ความขัดแย้งทั้งในรัฐอาระกันและในรัฐคะฉิ่นก็มีความคล้ายคลึงกัน ตามข้อมูลของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นได้รายงานว่า ได้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนเช่นการสังหาร การลักพาตัว การปล้นสะดม การทรมาน การข่มขืน และการบังคับใช้แรงงาน รวมทั้งรัฐบาลยังกีดกันความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมให้กับผู้ลี้ภัยสงครามจำนวน 120,000 คน ทั้งในรัฐคะฉิ่นและรัฐเพื่อนบ้านอย่างในรัฐฉาน

ซอรา หัวหน้าคณะกรรมการที่ให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในเขตควบคุมของกลุ่มติดอาวุธตามแนวชายแดนเปิดเผยว่า รัฐบาลได้ยุติห้ามสหประชาชาติและองค์กรระหว่างประเทศเกือบทั้งหมดเข้าถึงในเขตพื้นที่ของกลุ่มติดอาวุธ โดยการดำเนินการเช่นนี้เริ่มเห็นชัดนับตั้งแต่รัฐบาลของนางอองซาน ซูจีขึ้นมาบริหารประเทศเมื่อปี 2559 เช่นเดียวกับเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ทางชุมชนชาวคะฉิ่นได้ร้องขอให้รัฐบาลพม่าเปิดทางให้ความช่วยเหลือด้านการแพทย์แก่ผู้ลี้ภัยสงครามจำนวน 2,000 คน ที่ต้องติดอยู่ในป่าใกล้กับพื้นที่เกิดเหตุสู้รบ ในจำนวนคนเหล่านี้มีทั้งหญิงตั้งครรภ์และเด็ก คนเหล่านี้อาศัยอยู๋ในป่า ในขณะที่อาหารและน้ำดื่มเหลือเพียงน้อยนิดเป็นเวลากว่าหนึ่งสัปดาห์ แต่ก็ยังไม่มีท่าทีใด ๆ ออกมาจากทางการพม่า

ขณะที่ทางการพม่ากล่าวหาว่า การช่วยเหลือผู้ลี้ภัยจากสงครามต้องยุติลงเป็นเพราะกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ แต่ทั้งกลุ่มติดอาวุธและองค์กรช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมต่างก็ออกมาปฏิเสธ ด้าน ซอรา กล่าวว่า รัฐบาลพม่ากำลังทำให้ชีวิตของพลเรือนที่อาศัยอยู่ในเขตควบคุมของกลุ่มติดอาวุธย่ำแย่ลง โดยเขายังระบุว่า การขาดแคลนอาหารในเด็กที่อยู่ท่ามกลางสมรภูมิรบกำลังเลวร้ายลงไปเรื่อย ๆ เช่นเดียวกัน ทางด้านโฆษกของประธานาธิบดีพม่า นายซอเท ได้ออกมายอมรับว่า มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งทั้งกองทัพพม่าและกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ต่างก็ควรถูกตำหนิในเรื่องนี้ “เมื่อไหร่ที่มีสงคราม เมื่อนั้นมีความเสียหาย ดังนั้นรัฐบาลจึงพยายามเพื่อที่จะหยุดสงคราม ดังนั้นเราจึงร้องขอให้กลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์เข้ามาลงนามหยุดยิง” นายซอเท กล่าว

Kachin News Group

ที่ผ่านมา ทางคะฉิ่น KIA ได้เจรจาสันติภาพอยู่หลายครั้ง แต่ทางกลุ่มก็ยังปฏิเสธที่จะลงนามหยุดยิง เนื่องจากรัฐบาลปฏิเสธที่จะยอมรับพันธมิตรของคะฉิ่น KIA หลายกลุ่ม และคะฉิ่น KIA ยังไม่ยอมรับรัฐธรรมนูญปี 2551 ที่ให้อำนาจแก่กองทัพพม่ามหาศาล โดยทั้งกองทัพพม่าและคะฉิ่น KIA ต่างก็โทษอักฝ่ายที่ทำให้เกิดสงครามในรัฐคะฉิ่น สัญญาหยุดยิงที่ทำร่วมกันมา 17 ปี ต้องขาดสะบั้นลงในปี 2554 โดยมีรายงานว่า กองทัพพม่าสามารถยึดฐานที่มั่นของคะฉิ่น KIA มากกว่า 200 แห่ง ในรัฐที่ร่ำรวยไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติอย่างหยก ความขัดแย้งและการสู้รบระหว่างทั้งสองฝ่ายครั้งล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ในเมืองทาไน เมืองที่เป็นที่ตั้งของเหมืองทองและเหมืองอำพันหลายแห่ง ทหารคะฉิ่น KIA รายหนึ่งที่รอดชีวิตจากเหตุสู้รบในครั้งนั้นเผยว่า ทางกลุ่มถูกกองทัพพม่าใช้เครื่องบินรบ เฮลิคอปเตอร์และปืนใหญ่โจมตีฐานที่มั่นอย่างหนักหน่วงนับเดือน เขาอธิายเหตุการณ์สู้รบในวันสุดท้ายว่า ถูกทหารพม่าโจมตีด้วยระเบิดอย่างไม่หยุดหย่อนจนไม่สามารถนำร่างของเพื่อนทหารอีก 5 คน ที่เสียชีวิตออกมาจากในพื้นที่สู้รบได้

“พวกเขาใช้เครื่องบินบังคับเพื่อค้นหาตำแหน่งของเรา จากนั้นก็ใช้ปฏิบัติการทางอากาศโจมตีเรา เราสูญเสียทุกอย่าง มันเป็นความล้มเหลว”ทหารคะฉิ่นวัย 39 ปี บอกเล่าถึงเหตุการณ์รบในเมืองทาไน ขณะนี้เขาสูญเสียตาข้างหนึ่งและได้รับบาดเจ็บที่แขนจากเหตุระเบิด โดยตัวเขากำลังนอนรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลในเมืองไลซา เมืองเล็กๆที่ถูกตั้งขึ้นเป็นศูนย์บัญชาการใหญ่ของ KIA

Kachin News Group

แม้ทั้งกองทัพพม่าและคะฉิ่น KIA จะต่างถูกกล่าวหาว่าได้วางกับระเบิดและเกณฑ์เด็กไปเป็นทหารเข้าไปในกองทัพตน แต่เป็นที่รู้กันดีว่า กองทัพพม่านั้นขึ้นชื่อว่าเป็นกองทัพที่โหดเหี้ยมกับกลุ่มอื่นๆ ทางสภาเพื่อสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติได้รับรายงานชิ้นใหม่ๆว่ากองทัพพม่ายังคงใช้ยุทธวิธีทหารแบบเก่าในพื้นที่สู้รบที่นี่ เช่นการส่งทหารลาดตระเวนยึดพื้นที่พลเรือน การทำร้ายร่างกายและละเมิดทางเพศ หรือการบังคับให้ทำงานเป็นลูกหาบหรือโล่กำบังมนุษย์ นอกจากนี้ยังมีรายงานการฆ่าสังหารชาวบ้านก็ถูกเปิดเผยออกมาเรื่อยๆ เช่นร่างของชายคะฉิ่น 2 คนที่อาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยในเขตควบคุมของรัฐบาลก็ถูกพบเป็นศพเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ก่อนหน้านี้ก็มีชายคะฉิ่นอีก 3 คนจากค่ายผู้ลี้ภัยเดียวกัน ก็ถูกพบเสียชีวิตก่อนหน้านี้ หลังจากที่ชายทั้ง 3 คน ถูกทหารพม่าจับกุมตัวและกุมขังไว้

กองทัพพม่ายังโจมตีฐานบัญชาการใหญ่อย่างเมืองไลซาต่อเนื่องเป็นเวลานับปี เหตุการณ์ล่าสุดเมื่อวันที่ 12 เมษายนที่ผ่านมา มีชาวบ้านจำนวน 2 คนได้รับบาดเจ็บ และมีชาวบ้านอีก 3 คนเสียชีวิต ขณที่ผู้อพยพจากค่ายผู้ลี้ภัย 2 แห่งจากค่าย Mumg Lai Hkyet และค่าย Woi Chyai ต่างก็สร้างหลุมหลบภัยระเบิดหลายแห่งขึ้นใกล้กับบ้านของพวกเขา เป็นข้อพิสูจน์ได้ถึงความหวาดกลัวเนื่องมาจากสงครามที่ยาวนาน หลุมหลบภัยคล้ายๆกันถูกสร้างขึ้นในค่ายผู้ลี้ภัยใกล้เมืองไลซา หลังจากเมื่อปี 2556 ในพื้นที่นี้ถูกเครื่องบินรบของฝ่ายกองทัพพม่าโจมตีอย่างหนัก

“สิ่งที่เรารู้คือความกลัว” ละทอ ไคริง วัย 35 กล่าว ขณะที่เธอยังสร้างหลุมหลบภัยของตัวเองไม่เสร็จ แต่เหตุโจมตีที่เกิดขึ้นในพื้นที่ใกล้เคียงทำให้เธอและลูกน้อยวัย 5 ขวบและ 8 ขวบต้องเข้าไปหลบภัยเมื่อวันคริสต์มาสอีฟที่ผ่านมา “ไม่มีใครรู้ว่า เมื่อไหร่หรือตอนไหนกระสุนจะตกลงมา นั่นเป็นสิ่งที่เรากลัวมากที่สุด” เธอสะอื้นร้องไห้และเล่าต่อว่า ลูก ๆ ของเธอมักขอให้เธอพาหนีด้วยความหวาดกลัวแม้แต่กับเสียงพลุก็ตาม

ที่มา AP
แปลและเรียบเรียงโดย สำนักข่าวชายขอบ

On Key

Related Posts

กระบอกเสียง SAC แฉแหล่งอาชญากรรมเมืองเมียวดีใช้ไฟฟ้า-อินเตอร์เน็ตจากประเทศเพื่อนบ้าน-ติดต่อกับองค์กรติดอาวุธชาติพันธุ์ เผยรัฐบาลทหารพม่าปราบจริงจังส่งกลับชาวต่างชาติแล้วกว่า 5 หมื่นคน

เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2568 หนังสือพิมพ์ The GlobalRead More →

หวั่นแหล่งท่องเที่ยวชื่อดัง “แก่งคุดคู้”-“พันโขดแสนไคร้”รับผลกระทบจากโครงการสร้างเขื่อนสานะคามกั้นแม่น้ำโขง ชาวอุบลโวยถูกกีดกันเข้าร่วมเวทีรับฟัง  เลขาสทนช.แจงกลัวเสียภาพลักษณ์ เครือข่ายภาคประชาชนจวกใช้วิธีสกปรก

เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2568 เวลาประมาณ 9.00 น. ณ ห้Read More →