
เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2561 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การปล่อยน้ำจากเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงทางใต้ของประเทศจีน ยังคงส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตชุมชนและสัตว์ในลุ่มน้ำแม่น้ำโขงอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคมที่ผ่านมา กลุ่ม “บึงกาฬรักนก” ในจังหวัดบึงกาฬ ได้ลงสำรวจพื้นที่บริเวณชายหาดริมแม่น้ำโขงซึ่งทำเป็นกิจกรรมประจำ กลับพบว่า ไข่นกแอ่นทุ่งเล็กที่เคยสำรวจไว้ถูกน้ำท่วมถึง 21 รัง นับจำนวนไข่ที่เสียหายได้ถึง 41 ฟอง ซึ่งเกินครึ่งของจำนวนรังนกที่สำรวจพบ ทั้งนี้สาเหตุสำคัญที่น้ำท่วมรังนกเนื่องจากการปล่อยน้ำจากเขื่อนจีนซึ่งทำให้แม่น้ำโขงมีปริมาณน้ำขึ้น-ลงผิดธรรมชาติ ขณะที่เหล่านกนานาชนิดยังคงยึดเอาระบบนิเวศน์และเวลาเดิมเป็นสัญชาติญาณในการวางไข่

นายนพดล บัวโรย สมาชิกกลุ่มบึงกาฬรักนกเปิดเผยว่า ตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงพฤษภาคมซึ่งเป็นฤดูกาลทำรังวางไข่ของนกแอ่นทุ่งเล็ก และนกหัวโตเล็กขาเหลืองที่มาทำรังบนหาดทรายริมแม่น้ำโขงของจังหวัดบึงกาฬ ทางกลุ่มจะลงสำรวจนับจำนวนนกและรัง เพื่อการเก็บข้อมูลเป็นประจำติดต่อกันมาหลายปี โดยช่วงเวลานี้จะสำรวจถี่วันเว้นวัน หรือบางครั้งเว้น 2 วัน ตามแต่โอกาส โดยก่อนหน้านี้สำรวจเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พบรังนกแอ่นทุ่งเล็ก จำนวน 43 รัง


“เรามีการบันทึกจำนวนไข่ในแต่ละรัง เก็บภาพโดยระบุวันที่สำรวจ มีการใช้จีพีเอสในการจดจำตำแหน่ง เราจึงสามารถกลับมาสำรวจซ้ำในจุดรังเดิมได้อย่างแม่นยำ เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม เราเจอรังนกแอ่นทุ่งเล็กที่กำลังฟักไข่ ทั้งหมด 43 รัง แต่วันนี้ถูกน้ำท่วมไป 21 รัง ซึ่งมีจำนวนไข่รวมกัน 41 ฟอง บางรังที่น้ำสูงหน่อย ไข่ถูกน้ำพัดหายไป บางรังไข่โดนน้ำขังอยู่บริเวณใกล้ๆ แต่ทั้งหมดก็เสียหาย ไม่สามารถฟักเป็นตัวได้อีก” นายนพดล กล่าว


ทั้งนี้นกแอ่นทุ่งเล็ก หรือ Small Pratincole เป็นนกประจำถิ่นที่พบเจอได้เฉพาะบางพื้นที่ ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ติดแม่น้ำโขง หรือตามบึงและหนองน้ำขนาดใหญ่ โดยหากินแมลงศัตรูพืช แมลงน้ำ อาศัยอยู่กันเป็นกลุ่ม และทำรังวางไข่ในบริเวณเดียวกันในช่วงเดือน มกราคม ถึงพฤษภาคม ซึ่งทำรังบนพื้นทรายใช้ความร้อนของทรายช่วยกกไข่ พ่อแม่นกมีหน้าคอยดูแลพลิกไข่ไม่ให้ร้อนจนเกินไป

“นกจะเริ่มทำรัง เมื่อระดับน้ำเริ่มลดลง มันเป็นสัญชาตญาณตามธรรมชาติว่าเข้าสู่ฤดูแล้งแล้ว ใช้เวลา 16-18 วัน ไข่จะฟักเป็นตัว ซึ่งปกติน้ำโขงในหน้าแล้งจะไม่สูงขึ้นพรวดพราด จนกว่าจะถึงหน้าฝน ก่อนมีเขื่อนไม่เคยเจอรังนกถูกน้ำท่วม แต่หลังจากมีเขื่อน น้ำท่วมรังทุกปี มากบ้าง น้อยบ้าง แต่คราวนี้ถือว่าหนักหนาที่สุด ซึ่งครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 ของปีนี้แล้ว ที่เราเจอน้ำสูงขึ้นจนท่วมรังนก” หัวหน้ากลุ่มบึงกาฬรักนกกล่าว
