สำนักข่าวชายขอบ
Transborder News

เมื่อกระแสโลกจับตา เขื่อนบนแม่น้ำโขง

ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ข่าวสถานการณ์และภัยคุกคามแม่น้ำโขงได้กลายเป็นกระแสระดับนานาชาติ โดยสื่อมวลชนหลายสำนักข่าวใหญ่ต่างพากันลงพื้นที่และเจาะลึกรายงานสู่สาธารณชนไว้อย่างน่าสนใจ

เริ่มต้นจากหนังสือพิมพ์นิวยอร์คไทมส์ ฉบับวันที่ 13 ตุลาคม 2562 ตีพิมพ์สารคดีเชิงข่าวเรื่อง “‘Our river was like a God’: How dams and Chinese might imperil the Mekong” หรือ “แม่น้ำของเราเป็นดังพระเจ้า :เขื่อนและจีนอาจคุกคามแม่น้ำโขง” โดยมีเนื้อหาบางส่วนพูดถึงผลกระทบจากเขื่อน 7 แห่งที่กั้นแม่น้ำอู (สาขาใหญ่ของแม่น้ำโขง) ที่สร้างโดยบริษัท Sinohydro ของจีน ทั้งนี้ได้สัมภาษณ์ชาวบ้านลาวที่ต้องอพยพจากการสร้างเขื่อนซึ่งระบุว่า “ที่ต้องย้ายเพราะเขาสั่งให้ย้าย ชีวิตเรากับที่ที่แม่น้ำนั้นจบไปแล้ว”

สารคดีของนิวยอร์คไทมส์ชิ้นนี้อธิบายว่า การที่รัฐบาลต่างๆ ในภูมิภาคแห่งนี้เปิดทางให้อุตสาหกรรมเขื่อนเพราะมองว่าเป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจซึ่งทำให้เกิดโครงการเขื่อนหลายร้อยแห่งบนแม่น้ำโขงและสาขา รวมถึงถนนและสาธารณูปโภคอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่อง

“แผนการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงตอนล่างได้เริ่มขึ้นในช่วงต้นทศวรรษที่ 2000 โดยคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง หรือเอ็มอาร์ซี คาดว่าประเทศสมาชิกทั้ง 4 ซึ่งประกอบด้วยไทย ลาว กัมพูชาและเวียดนาม จะได้ผลประโยชน์มูลค่าถึง 3 แสนล้านเหรียญสหรัฐ แต่การประเมินในหลายปีต่อมาโดยเอ็มอาร์ซีกลับพบว่า การลงทุนดังกล่าวมีความแตกต่างในผลประโยชน์เป็นอย่างมาก เพราะว่าประเทศในลุ่มน้ำโขงตอนล่างจะได้ประโยชน์สูงสุดจริงเพียงราว 7 หมื่นเหรียญสหรัฐ ล่าสุดระดับน้ำโขงได้ทุบสถิติมีระดับต่ำสุดตั้งแต่มีการบันทึกมา”

รายงานชิ้นนี้ระบุด้วยว่า ขณะที่การไหลของแม่น้ำโขงถูกเปลี่ยนไปเพื่อการผลิตไฟฟ้าของเขื่อนที่เพิ่งก่อสร้างเสร็จ ทำให้คนหาปลา เกษตรกรและระบบนิเวศท้องถิ่นได้รับผลกระทบอย่างสาหัส โดยการศึกษาของเอ็มอาร์ซีระบุว่า หากบรรดาเขื่อนบนแม่น้ำโขงมีการก่อสร้างทั้งหมด จะปิดกั้นตะกอนแร่ธาตุที่พัดพามากลับแม่น้ำโขงถึง 97% ภายในปี 2040 นั่นหมายถึงความเสียหายของความสมบูรณ์ของแร่ธาตุในพื้นที่เกษตร

รายงานชิ้นดังกล่าวได้สัมภาษณ์นายบรูซ ชูเมคเกอร์ นักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญเรื่องความขัดแย้งและทรัพยากรธรรมชาติที่เขียนหนังสือถึงเขื่อนน้ำเทิน 2 ในลาวโดยเขาระบุว่า “ประชาชนที่พึ่งพาแม่น้ำโขงมากที่สุดกลับมีอำนาจเหนือแม่น้ำโขงน้อยที่สุด” ขณะที่นายเอียน เบียร์ด นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-เมดิสัน บอกว่า “ปัญหาคือผู้ที่นั่งในรัฐบาลและกระทรวงต่างๆ ยังไม่เลิกความคิดที่จะให้โครงการขนาดใหญ่ เช่น เขื่อน จึงออกมาเป็นนโยบายที่ไม่เป็นธรรม”

เหล่าผู้เชี่ยวชาญหลายคนต่างตั้งคำถามว่า ลาวจะจัดการอย่างไรกับปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตได้และมีจำนวนมากนี้ทั้งๆ ที่ประชากรลาวมีเพียง 7 ล้านคน และประเทศไทยก็มีปริมาณไฟฟ้าสำรองอยู่จำนวนมาก โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือกฟผ. ซึ่งเดิมมีแผนรับซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนปากแบง บนแม่น้ำโขงก็กำลังทบทวนแผนดังกล่าว

ด้านรายการวิทยุ “รายงานธุรกิจโลก” ของสำนักข่าวบีบีซีในลอนดอนได้รายงานในวันที่ 13 ตุลาคมเช่นเดียวกัน ถึงแนวโน้มของอุตสาหกรรมเขื่อนทั่วโลกที่กำลังถูกตั้งคำถามถึงผลกระทบด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม และได้ให้น้ำหนักกับกรณีการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงในลาวที่กำลังถูกจับตามมอง โดยในรายการได้สัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญจากองค์กรแม่น้ำนานาชาติที่ระบุว่า การไหลของแม่น้ำโขงถูกควบคุมจากเขื่อนอย่างหนักในช่วงมรสุมที่ผ่านมา คำถามสำคัญคือจะมีการแก้ไขในเชิงนโยบายของภูมิภาคนี้อย่างไร

ก่อนหน้าหน้านี้สำนักข่าวอัลจาซีรา ได้รายงานถึงโครงการเขื่อนหลวงพระบางที่กำลังเข้าสู่ขั้นตอนปรึกษาหารือล่วงหน้าของเอ็มอาร์ซี โดยระบุว่าต้องมีการอพยพชาวบ้านกว่า 4,600 คน โดยได้มีการสัมภาษณ์นักสิ่งแวดล้อมจากเวียดนามที่ระบุว่า กลไกลการปรึกษาหารือไม่มีนัยใดๆ ต่อการตัดสินใจสร้างเขื่อน และทำให้ทุกคนเสียเวลาดังที่เกิดขึ้นแล้วกับโครงการสร้างเขื่อน 4 แห่งก่อนหน้านี้

นอกจากนี้ในช่วงเดียวกันยังมีสื่อในภูมิภาคต่างรายงานข่าวประเด็นเขื่อนแม่น้ำโขง ไม่ว่าจะเป็นวิทยุเอเชียเสรี หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ที่พากันเกาะติดข่าวแม่น้ำโขงและนำเสนอแบบเกาะติด นอกจากนี้ยังมีสื่อมวลชนจากประเทศเวียดนามต่างให้ความสนใจและเจาะข่าวนี้

การที่สื่อระดับโลกพากันนำเสนอประเด็นแม่น้ำโขงแบบเจาะลึก โดยเฉพาะผลกระทบจากการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขง ทำให้ชวนวิเคราะห์เป็นอย่างมากเพราะเป็นที่ทราบดีว่าแม่น้ำโขงตอนบนถูกยึดเบ็ดเสร็จจากเขื่อนในประเทศจีนมานานนับสิบปี และจีนเองได้ขยายอิทธิพลโดยใช้อำนาจละมุนล่องมาตามลำน้ำโขงจนสามารถปักหลักและกลืนกินชุมชนท้องถิ่นในลาวและกัมพูชาอย่างราบคาบ ขณะที่ไทยและเวียดนามต่างก็พยายามขอส่วนแบ่งผลประโยชน์บนลำน้ำโขงในประเทศลาวโดยเฉพาะในโครงการสร้างเขื่อนหลวงพระบางที่มีขนาดใหญ่กว่าเขื่อนไซยะบุรีเสียอีก

น่าสนใจว่าทิศทางข่าวของแม่น้ำโขงจะไหลไปทางใดต่อ ที่สำคัญข้อเท็จจริงต่างๆ เช่น ประชาชนที่เดือดร้อน ที่ถูกนำมาถ่ายทอดสู่สาธารณชนมากมายจะมีผลต่อการตัดสินใจของเหล่าผู้นำประเทศลุ่มน้ำโขงหรือไม่

On Key

Related Posts

กลุ่มติดตามสันติภาพพม่าเผยข้อมูลล่าสุดฝ่ายต่อต้าน SAC ยึดครองพื้นที่ได้ 55 เมืองทั่วประเทศ ขณะที่ญี่ปุ่นเชิญ 4 กองกำลังร่วมแสดงจุดยืน

วันที่ 17 พฤษภาคม 2567 กลุ่มติดตามสันติภาพพม่า BNIRead More →

คดีถึงที่สุด-ชาวเลราไวย์ชนะคดีพื้นที่หน้าหาด ศาลฎีกาพิพากษายืนชี้อยู่มานาน ชาวบ้านดีใจเผยมั่นใจขยายแผงขายปลา แต่ยังหวั่นเอกชนรุกเส้นทางเดินดั้งเดิมสู่ “บาลัย”

เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2567 นายสุรพงษ์ กองจันทึก ปRead More →