สำนักข่าวชายขอบ
Transborder News

Search

ป่าชุ่มน้ำบุญเรือง ชัยชนะของชุมชนและฝูงควาย

โดย ภาสกร จำลองราช

ควายฝูงใหญ่เดินชักแถวเลียบเลาะริมแม่น้ำอิงเข้ามาหลบแดดยามบ่ายในแนวป่าซึ่งอยู่ติดแม่น้ำ พวกมันแต่ละตัวอ้วนกลมจนท้องเต่งเพราะมีอาหารการกินที่อุดมสมบูรณ์

    “แต่ละตัวมีชื่ออยู่น่ะ ไอ้ตัวที่เดินนำนั่นเป็นจ่าฝูง มันเป็นพ่อพันธุ์ตัวเดียวที่เรามีอยู่” ลุงแก้ว จินะสาม ชี้ไปที่ควายเขาโง้งตัวใหญ่บึกบึน ปีนี้มันทำหน้าที่ได้ดีจนเกิดลูกแล้ว 6 ตัว ช่วยเพิ่มประชากรฝูงควายให้คึกคักขึ้นเป็น 20 ตัว

    ป่าที่ลุงแก้วเลี้ยงควาย คือ ป่าชุ่มน้ำบ้านบุญเรือง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ซึ่งในอดีตป่าผืนนี้เคยเป็นแหล่งเลี้ยงควายนับร้อยๆ ตัว แต่ค่อยๆ หดหายตามกาลเวลาและยุคสมัย

    “ลุงรับจ้างเลี้ยงควายมาตั้งแต่เด็กๆ ตอนปี 2509 ได้ค่าจ้างเดือนละ 20 บาท เลี้ยงควาย 6-7 ตัว พอควายหายไปสักตัวหนึ่ง ต้องตามหาข้ามวันข้ามคืน” ลุงแก้วหัวเราะเมื่อได้ย้อนคืนวันเก่าๆ 

“ควายมันหายไปจากป่านี้ราวๆ 10 ปีก่อน เพราะทุกคนไปทำอย่างอื่นกันหมด ทำนาเขาก็ไม่ใช่ควายกัน เลยไม่รู้เลี้ยงไปทำไม”

    ป่าชุ่มน้ำบุญเรืองมีพื้นที่กว่า 3 พันไร่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำอิง ชาวบ้านช่วยกันดูแลรักษามาหลายชั่วอายุคนเพื่อให้ผืนป่าแห่งนี้เป็นของชุมชนโดยมีกฎกติกาที่กำหนดกันขึ้นมาเป็นเป็นรั้ว

    ในยามฤดูน้ำหลาก ราวเดือนสิงหาคม-กันยายน น้ำจากแม่น้ำโขงมีปริมาณมาก ไหลเอ่อเข้าสู่แม่น้ำสาขา ทำให้ท่วมผืนป่าริมแม่น้ำอิง ฝูงปลาใหญ่น้อยต่างว่ายทวนน้ำขึ้นมาหากินและเพาะพันธุ์ตามแหล่งต่างๆ ป่าริมแม่น้ำจึงเป็นระบบนิเวศน์ที่สำคัญและเป็นป่าที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ ทั้งพืชพรรณที่ทนน้ำท่วมขังและสัตว์ต่างๆ ที่อาศัยอยู่ 

ในอดีตผืนป่าชุ่มน้ำริมแม่น้ำอิงมีมากมายและชาวบ้านตลอดลำน้ำต่างมีวิถีในการอนุรักษ์ดูแลป่าและทุ่งเลี้ยงสัตว์ของชุมชน ธรรมชาติและมนุษย์ต่างเกื้อกูลกัน แต่ปัจจุบันป่าชุ่มน้ำถูกรุกล้ำและแปลงเป็นเอกสารสิทธิ์ให้บุคคลและนายทุนต่างถิ่น ทำให้เหลือป่าริมแม่น้ำอิงอยู่เพียง 25 แห่ง ส่วนใหญ่ผืนป่าถูกทำให้หดเล็กลงเรื่อยๆ โดยป่าบุญเรืองเป็นผืนที่หลงเหลือใหญ่ที่สุด

ในปี 2557 รัฐบาล คสช.มีนโยบายพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษเมืองชายแดน โดยจังหวัดเชียงรายเป็น 1 ใน 10 จังหวัดที่อยู่ในแนวนโยบายดังกล่าว และป่าชุ่มน้ำบุญเรือง กลายเป็นพื้นที่หนึ่งที่รัฐบาลหมายตาเอาไว้ดึงดูดนักลงทุนเพราะคิดว่าที่ดินสาธารณะแปลงนี้ไม่มีเจ้าของซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการผลิตให้นักลงทุนได้พอสมควร แต่เมื่อชาวบ้านบุญเรืองทราบข่าวจึงพร้อมใจกันคัดค้าน

“มันเป็นไปไม่ได้ที่จะมาสร้างเขตเศรษฐกิจอะไรแถวนี้ พอเวลาหน้าน้ำ น้ำท่วมสูงมาก มีแต่ต้นไม้บางประเภทที่อยู่ได้ สัตว์ต่างๆ ก็หนีขึ้นไปอยู่ตามเนินดินและจอมปลวก ป่าผืนนี้เป็นของปู่ย่าตายายที่ดูแลกันมา จู่ๆ จะเอาไปสร้างอะไรก็ไม่รู้ พวกเราจึงไม่ยอม” ลุงแก้วและชาวบ้านประชุมกันเพื่อหาแนวทางต่อสู้จนเป็นจุดเริ่มต้นของปฏิบัติการชุมชน ซึ่งมีการจัดตั้งตัวแทนกลุ่มปกป้อง กลุ่มระดมทุนเพื่อต่อสู้ กลุ่มรณรงค์ต่างๆ ทั้งทำป้ายและจัดทำเสื้อสีเขียว

ขณะเดียวกันชาวบ้านได้จัดทำข้อมูลอย่างเข้มข้นภายใต้โครงการอนุรักษ์แม่น้ำอิง พร้อมทั้งประสานไปยังเครือข่ายภาคประชาชนและเครือข่ายด้านทรัพยากรสิ่งแวดล้อม รวมทั้งนักวิชาการและสถาบันการศึกษา โดยเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2558 ชาวบ้านจัดเวทีให้ข้อมูลแก่ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย คณะอาจารย์ สื่อมวลชนและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ทำให้หลายฝ่ายประจักษ์ถึงคุณค่าป่าชุ่มน้ำบ้านบุญเรือง

“เราได้ฟื้นฟูปางควายขึ้นมาอีกครั้ง ชาวบ้านร่วมกันลงขันถือหุ้น เราผลัดกันมาเลี้ยงควาย เพราะควายเองก็เป็นตัวชี้วัดอย่างหนึ่งของความอุดมสมบูรณ์ของป่าผืนนี้” ลุงแก้วพูดถึงการได้กลับมาเลี้ยงควายอีกครั้ง 

เรื่องราวการต่อสู้ของชาวบ้านบุญเรืองที่ลุกขึ้นมาปกป้องผืนป่าชุมน้ำได้ขยายวงกว้างขึ้นตามลำดับ มีสถาบันการศึกษาและองค์กรต่างๆ มีเยี่ยมชม-ดูงานอยู่บ่อยครั้ง ขณะที่นโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษเมืองชายแดนของรัฐบาลก็ไม่ไปถึงไหนเพราะรูปแบบและวิธีการในลักษณะเดิมๆ แบบนี้ไม่สามารถดึงดูดนักลงทุนได้อีกแล้ว ในที่สุดรัฐบาลจึงยอมถอยและป่าชุ่มน้ำบุญเรืองก็รอดพ้นจากการเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษซึ่งถือว่าเป็นชัยชนะของชาวบ้านบุญเรืองและเครือข่าย

“ผมดีใจมากที่ฝูงควายกลับมาหากินในป่า ช่วยปกป้องผืนป่า ทำให้เราสัมผัสกับบรรยากาศเดิมๆ ลุงชอบอยู่แถวป่านี้มากกว่าอยู่บ้านอีก มันเงียบสงบ มันมีความรู้สึกดีๆ อย่างบอกไม่ถูก” ลุงแก้วรู้สึกปลาบปลื้มที่ฝูงควายและคนเลียงควายอย่างแกได้เป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้ดูแลผืนป่า

ขณะที่ชาวบ้านบุญเรืองได้เข้าร่วมสภาลุ่มน้ำอิง และเดินหน้าเพื่อผลักดันให้พื้นที่ป่าชุ่มน้ำริมแม่น้ำอิงได้ขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำระดับนานาชาติ

วันที่ 5 มิถุนายน 2563 โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ได้ประกาศให้ชุมชนบุญเรืองเป็น 1 ใน 10 ชุมชนที่ได้รับรางวัลอิเควเตอร์ (Equator Prize) ประจำปี 2020 จากชุมชนที่ได้รับการเสนอชื่อเกือบ 600 แห่ง 120 ประเทศทั่วโลก โดยรางวัลนี้มอบให้เพื่อเป็นเกียรติในความสำเร็จของการปกป้อง ฟื้นฟู และจัดการความหลากหลายทางชีวภาพได้อย่างยั่งยืน

ความสำเร็จของชาวบ้านบุญเรืองครั้งนี้ถือว่าเป็นแบบอย่างให้อีกหลายชุมชนในสังคมไทย ขณะที่จังหวัดเชียงรายเองก็รู้สึกยินดีในผลงานของชาวบ้าน

———————

หมายเหตุ-ในวันที่ 15 กันยายน 2563 ชาวบ้านบุญเรืองและภาคีเครือข่ายจะร่วมกันจัดงานในโอกาสที่ได้รับรางวัลจาก UNDP ณ ป่าบุญเรือง อ.เชียงของ จ.เชียงราย

//////////////////////

On Key

Related Posts

“ครูแดง”ชี้มติ ครม.ลดขั้นตอนให้สัญชาติ 4.8 แสนคนถือว่าปฎิรูประบบพัฒนาสถานะบุคคล จี้สมช.-มท.ออกกม.เร่งช่วยคนเฒ่าไร้สัญชาตินับแสนคนที่กำลังเปราะบาง พ่อเฒ่าแม่เฒ่ากลุ่มชาติพันธุ์คึกคักสอบสัมภาษณ์ขอสัญชาติไทย เผยอยู่ไทยร่วม 50 ปีแต่ไม่มีบัตรประชาชน

เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2567 ที่ห้องประชุมธรรมลังกRead More →

เหยื่อทวงคืนผืนป่า “ป้าวันเสาร์” ห่วงชาวบ้านหนองหญ้าปล้องถูกจับบุกรุกป่า ด้าน กมธ.ที่ดินฯ ชี้ควรเร่งสำรวจที่ดินร่วมกับชุมชนรอบป่าแก่งกระจาน

เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า Read More →

“กัณวีร์”จี้รัฐบาลเร่งช่วยเหยื่อขบวนการค้ามนุษย์ 110 คนจากแหล่งอาชญากรรมริมน้ำเมย แฉฟรีวีซ่าจีนกลายเป็นช่องทางข้ามไปคาสิโน ระบุรัฐบาลไทยตกหล่มรัฐบาลทหารพม่า เหยื่อชาวบังคลาเทศวอนรัฐบาลช่วยเหลือด่วน เผยจีนเทาสุดโหด

เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2567 นายกัณวีร์ สืบแสง สส.พรRead More →