สำนักข่าวชายขอบ
Transborder News

ผู้แทนชนเผ่าพื้นเมืองโลกจวกประชุม กก.มรดกโลกกลายเป็น “ล็อค”การเมือง-ไม่เคารพสิทธิมนุษชน หลังเห็นชอบขึ้นทะเบียนป่าแก่งกระจาน “ลูกท็อป” ปลื้มบอกเป็นของขวัญของไทย นักวิชาการทำรายงานฉบับประชาชนเสนอยูเนสโก

เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม ได้มีการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก โดยได้พิจารณาข้อเสนอของรัฐบาลไทยที่เสนอให้กลุ่มป่าแก่งกระจานขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ซึ่งที่ประชุมเสียงส่วนใหญ่ให้การรับรองตามข้อเสนอของรัฐบาลไทย แม้สหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) จะทำรายงานเสนอแนะให้มีการเลื่อนการขึ้นทะเบียนออกไป ทั้งนี้การประชุมจัดขึ้นในระบบออนไลน์โดยมีผู้แทนประเทศจีนเป็นเจ้าภาพ และวาระกลุ่มป่าแก่งกระจานเริ่มขึ้นเมื่อเวลา 17.40 น.

การประชุมเริ่มขึ้นโดยเริ่มต้นจากรายงานข้อเสนอแนะของ IUCN ที่ระบุว่าขอให้เลื่อนการขึ้นทะเบียนออกไป เพราะต้องพูดถึงการประเมินคุณค่าและคนพื้นเมืองที่เกี่ยวข้องโดย IUCN ขอให้จัดการความกังวลของชนเผ่าพื้นเมืองตามข้อเสนอของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนก่อน และการยินยอมต้องเกิดจากคำยินยอมของประชาชนอย่างแท้จริง ขณะที่ผู้แทนของประเทศนอร์เวย์ได้ให้ความสำคัญเรื่องสิทธิมนุษยชนและเสนอให้ผู้แทนพิเศษด้านชนเผ่าพื้นเมืองได้พูดก่อน แต่ที่ประชุมไม่เห็นด้วยและให้ประเทศสมาชิกได้เสนอความเห็นก่อนซึ่งผู้แทนประเทศต่างๆ ที่เป็นรัฐภาคีต่างให้เหตุผลในการสนับสนุนการขึ้นทะเบียนมรดกโลก ไม่ว่าจะเป็นจีน รัสเซีย ซาอุดิอารเบีย โอมาน แอฟริกาใต้ มาลี ไนจีเรีย กัวเตมาลา

ทั้งนี้ก่อนการพิจารณาในรายละเอียดของรายงานในเอกสาร ผู้แทนนอร์เวย์ได้ขอให้ผู้แทนพิเศษชนเผ่าพื้นเมืองได้รายงานอีกครั้ง แต่ประธานในที่ประชุมได้สั่งให้มีการดำเนินการต่อไป ทำให้ผู้แทนนอร์เวย์ กล่าวว่า “เราไม่สามารถสนับสนุนเอกสารได้ หากเราไม่ได้ข้อมูลครบถ้วน และขอให้บันทึกการประชุมด้วยว่าเป็นการลงมติที่ไม่เป็นเอกฉันท์และนอร์เวย์ไม่เห็นด้วยกับการรับรองครั้งนี้”

ผู้แทนประเทศไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมา 7 ปีเราทำงานอย่างมุ่งมั่นที่เสนอแก่งกระจานเป็นมรดกโลก เราทำทุกอย่างที่ให้ได้รับการรับรอง ข้อเสนอแนะหลายเรื่องทำแล้วประสบความสำเร็จ เช่น การลงนามเรื่องเขตแดนกับพม่า ที่สำคัญเกิดการจัดการแบบมีส่วนร่วมจากคนในพื้นที่ทำงานร่วมกับชนเผ่าพื้นเมืองในแก่งกระจาน เราจัดให้ประชาชนในท้องถิ่นได้รับที่ดิน เราจัดให้เขามีไฟ มีน้ำ มียารักษาโรค มีการศึกษา มีการอบรมเรื่องอาชีพ มีหน่วยงานเข้าไปปรับปรุงฟื้นฟู เราคิดว่าประเทศไทยมีศักยภาพในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของไทย

ผู้แทนนอรเวย์กล่าวว่า ไม่ขอสนับสนุน กรมต.ท็อปกล่าวว่าขอขอบคุณที่สนับสนุนการเป็นมรดกโลก เป็นความพยายามของความตั้งใจในการเตรียมการ เรารู้สึกภูมิใจแต่จริงๆ แล้วเป็นการเริ่มต้นรักษาความหลากหลายทางธรรมชาติ เราทำงานอย่างไม่เหน็ดเหนื่อยแม้มีการวิพากษ์วิจารณ์ซ้ำแล้วซ้ำอีก อย่าไปฟังเสียงของบุคคลที่ 3 เราต้องการสร้างความร่วมมือในด้านการบริหารสิ่งแวดล้อม เรามีความมุ่งมั่นว่าสิ่งแวดล้อมอยู่ร่วมกับคนได้ เรามุ่งมั่นรักษามรดกโลกผืนนี้ การประชุมต้องได้ฉันทมติ เราจะไม่รับรองและไม่มีความเห็นครั้งนี้ ขอให้บันทึกไว้ด้วย

ขณะที่ตอนท้ายการประชุม ผู้แทนพิเศษด้านชนเผ่าพื้นเมือง กล่าวว่า แม้การประชุมครั้งนี้ไม่อนุญาตให้ชนเผ่าพื้นเมืองเข้าประชุมใดๆ เราอยากให้แน่ใจว่าชนเผ่าพื้นเมืองจะได้มีส่วนร่วม อุทยานแก่งกระจานไม่สามารถดำเนินต่อไปได้หากบุคคลยังถูกดำเนินคดีหรือบริหารจัดการ เรื่องสิทธิมนุษยชนเลวร้าย และข้อเสนอของ IUCN ไม่ได้รับการตอบสนอง โดยเฉพาะการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นแล้ว การจัดการทรัพยากรต้องมีส่วนร่วมของประชาชน

นอกจากนี้ยังมีผู้แทนองค์กรชนเผ่าพื้นเมืองอีกแห่งหนึ่งกล่าวว่า ขอคัดค้านคำตัดสินของคณะกรรมการมรดกโลกครั้งนี้เพราะยูเนสโกควรเคารพในอนุสัญญาและจะยอมให้เกิดการละเมิดสิทธิได้อย่างไร เราอยากให้ยูเนสโกเห็นความสำคัญของสิทธิมนุษยชนด้วย การประชุมครั้งนี้เป็นการล็อคทางการเมืองอย่างรุนแรง การตัดสินใจครั้งนี้ให้คุณค่ามรดกโลกตกต่ำลง

ขณะที่นายวราวุธ ศิลปะอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.)กล่าวว่า ขอขอบคุณที่สนับสนุนการเป็นมรดกโลก เป็นความพยายามของความตั้งใจในการเตรียมการ เรารู้สึกภูมิใจแต่จริงๆ แล้วเป็นการเริ่มต้นรักษาความหลากหลายทางธรรมชาติ เราทำงานอย่างไม่เหน็ดเหนื่อยแม้มีการวิพากษ์วิจารณ์ซ้ำแล้วซ้ำอีก อย่าไปฟังเสียงของบุคคลที่ 3

“วันนี้ประเทศไทยได้ของขวัญ และการรักษาผืนป่าให้สมบูรณ์และดูแลประชาชนให้สมดุล การที่ผืนป่าได้ขึ้นทะเบียนต้องขอเรียนว่าไม่ใช่ของไทยแล้ว แต่เป็นของทั่วโลกที่ต้องรักษาไว้ถึงลูกหลาน การขึ้นทะเบียนครั้งนี้เป็นขวัญและเป็นกำลังใจให้เจ้าหน้าที่ พรุ่งนี้จะรายงานในคณะรัฐมนตรี” นายวราวุธ กล่าวระหว่างการแถลงข่าว

ดร.เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ นักวิชาการอิสระ กล่าวว่า มติที่ออกมาถามว่าดีใจมั้ย ก็ดีใจแทนประเทศไทย แต่ที่เสียใจคือเราเสียโอกาสที่จะใช้เวทีระดับโลกกลับมาปรับปรุงพัฒนากลไกการทำงานที่นำไปสู่การคุ้มครองและพัฒนาอย่างยั่งยืน แทนที่จะใช้กลไกยูเนสโกผ่ากลไกที่ล้าสมัย ตนอยากเสนอให้มีการทำรายงานภาคประชาชนสะท้อนข้อเท็จจริงภายใน 3 เดือนส่งต่อยูเนสโก เพราะเราอยากเห็นมรดกโลกที่สมบูรณ์มีเกียรติและศักดิ์ศรี ถ้ายูเนสโกไม่รับรองเรื่องสิทธิมนุษยชนและการจัดการทรัพยากรยั่งยืน มรดกโลกเช่นนี้ก็ไม่สามารถจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืนได้

“ผมฟังคำสัมภาษณ์จากผู้บริหารกระทรวง ทส.มาหลายครั้ง เขาเชื่อมั่นว่าได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกแน่ ถ้าการประชุมครั้งนี้เป็นประชาธิปไตยไม่โปร่งใสและจะเป็นมลทินกับประเทศไทยเอง” ดร.เพิ่มศักดิ์ กล่าว

ดร.เพิ่มศักดิ์ กล่าวว่าความจริงของชุมชนชาติพันธุ์กะเหรี่ยงท้องถิ่นดั้งเดิม อยู่กับป่าแก่งกระจานอย่างเกื้อกูลพอเพียงและยั่งยืนบนฐานวัฒนธรรมที่เข้มแข็งนานนับศตวรรษถูกทำลายลงยับเยินด้วยข้อหาบุกรุกทำลายป่าและเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ ชาวบ้านกว่า 70 ครอบครัวโดนอพยพไล่รื้อออกจากที่ดินถิ่นกำเนิดเดิมมาอยู่ในบริเวณจำกัดที่เป็นกรวดหินไม่เหมาะกับการอยู่อาศัยทำกิน  เพียงไม่นานก็อยู่ไม่ได้ ไม่พออยู่พอกิน ต้องอาศัยความช่วยเหลือทั้งเงิน งาน และอาหารจากการบริจาค ชีวิตย่ำแย่เศร้าหมอง

ดร.เพิ่มศักดิ์กล่าวว่า เมื่อชาวบ้านไม่อาจทนรอความตายได้ ต้องกลับขึ้นไปทำกินในที่เดิมก็โดนไล่กลับมา ขึ้นๆลงๆไปปลูกข้าวกินเอาชีวิตให้รอดอยู่นานนับสิบปี จนสุดท้ายก็ถูกห้ามไม่ให้กลับขึ้นไปอีกเลย อยู่ไม่ต่างจากตกนรกทั้งเป็นมา 24 ปี ใครจะอดทนเท่าเขา ใครจะมองโลกอย่างมีความหวังเช่นเขา ใครจะมีวัฒนธรรมสันติวิธีเช่นเขา ทุกวันนี้ชาวบ้าน 200 กว่าครอบครัวหรือราว 800 คนอยู่อย่างยากลำบาก  ชาวบ้านทั้งผู้พิการผู้หญิงและเด็กเยาวชนรวม 28 รายที่กลับขึ้นไปที่ดินเดิมถูกจับกุมและจำกัดบริเวณขณะรอการตัดสินจากศาล ต้องอดอยากขาดอาหาร เจ็บป่วย แม่ไม่มีนมให้ลูกกิน ชีวิตพวกเขาสิ้นไร้ซึ่งความหวังใดๆ  คนที่อยากเข้าไปช่วยเหลือเขายังถูกกึดกัน

“แปลกใจที่ฟังนักการเมืองและผู้บริหารระดับสูงโกหกคำโตครั้งแล้วครั้งเล่าว่าดูแลชาวบ้านเป็นอย่างดีโดยไม่มีสื่อใดตรวจสอบความจริง ซึ่งความจริง นอกจากตั้งกรรมการแก้ปัญหาบนกระดาษโดยไม่ลงพื้นที่แล้ว  รัฐก็ไม่ได้ทำอะไรให้เป็นประโยชน์แก่ชุมชนเลย ยังกดดันเขาอีก การบริหารที่ไร้ประสิทธิภาพพราะตัดสินใจผิดพลาดที่คิดว่าชุมชนชาติพันธุ์ดั้งเดิมเป็นภัยต่อความมั่นคง ปฏิบัติการยุทธการตะนาวศรีต้นปี 2554 สะท้อนปัญหานี้ได้ชัดเจน”ดร.เพิ่มศักดิ์ กล่าว


On Key

Related Posts

กลุ่มติดตามสันติภาพพม่าเผยข้อมูลล่าสุดฝ่ายต่อต้าน SAC ยึดครองพื้นที่ได้ 55 เมืองทั่วประเทศ ขณะที่ญี่ปุ่นเชิญ 4 กองกำลังร่วมแสดงจุดยืน

วันที่ 17 พฤษภาคม 2567 กลุ่มติดตามสันติภาพพม่า BNIRead More →

คดีถึงที่สุด-ชาวเลราไวย์ชนะคดีพื้นที่หน้าหาด ศาลฎีกาพิพากษายืนชี้อยู่มานาน ชาวบ้านดีใจเผยมั่นใจขยายแผงขายปลา แต่ยังหวั่นเอกชนรุกเส้นทางเดินดั้งเดิมสู่ “บาลัย”

เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2567 นายสุรพงษ์ กองจันทึก ปRead More →