สำนักข่าวชายขอบ
Transborder News

ก่อนศึกใหญ่ทหารพม่ารบกะเหรี่ยง อ่านมุมมองของแม่ทัพใหญ่ KNU “พลเอก บอ จ่อ แฮ” (ตอน1)

การรบพุ่งอย่างดุเดือดริมแม่น้ำสาละวิน ระหว่างทหารกองทัพพม่า และทหารกะเหรี่ยง แห่งสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง KNU (Karen National Union) เมื่อเดือนมีนาคม-พฤษภาคม 2564 ทำให้หลายคนเหลียวกลับมามอง KNU กองพล 5 ภายใต้การนำของพลเอกบอ จ่อ แฮ แม่ทัพคนสำคัญในการต่อกรกับกองทัพพม่า

กองพล 5 เป็น 1 ใน 7 กองพลทหารกะเหรี่ยง KNU ซึ่งมีพื้นที่รับผิดชอบตั้งแต่ชายแดนรัฐคะเรนนี ตามลำน้ำสาละวินลัดเลาะชายแดนไทย ตรงข้าม อ.แม่สะเรียง และ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ไปจรดเมืองพะอัน ในรัฐกะเหรี่ยง

พื้นที่แนวตะเข็บส่วนใหญ่ยังเป็นดินแดนที่ทหารพม่าเข้าไม่ถึง

KNU กองพล 5 มีเป้าหมายผลักดันให้ทหารพม่าที่เข้ามาประจำการอยู่ตามฐานริมแม่น้ำสาละวินราว 14 แห่ง(ปัจจุบันเหลืออยู่ 8 แห่ง) ออกไปจากพื้นที่ทั้งหมด และเริ่มต้นปฏิบัติการภายหลังจากกองทัพพม่าภายใต้การนำของ พลเอกมิน อ่อง หลาย ทำการรัฐประหาร-ยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนของนางอองซานซูจี โดยการตัดเส้นทางลำเลียงเสบียงและยุทธปัจจัยของทหารพม่า

พื้นที่ริมแม่น้ำสาละวินในรัฐกะเหรี่ยง ดินแดน” กอทูเล” เคยเป็นอิสระ จนกระทั่งถูกพม่าบุกยึดและผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของประเทศพม่า แต่บริเวณริมแม่น้ำสาละวินยังอยู่ภายใต้การดูเลของ KNU มาโดยตลอด จนกระทั่งเกิดการแตกแยกครั้งใหญ่ใน KNU เมื่อกว่า 20 ปีก่อน ทำให้ทหารพม่าสามารถแทรกตัวเข้ามาตั้งฐานทหารในบางจุดสลับกับฐาน KNU ที่ประจำการตลอดลำน้ำสาละวิน

การใช้ยุทธวิธีตัดเส้นทางลำเลียง ทำให้ทหารพม่าขาดแคลนเสบียงอย่างหนัก จนกระทั่งกลายเป็นข่าวดัง ในเดือนมีนาคม 2564 เมื่อปรากฏ “ข้าวปริศนา 700 กระสอบ” ถูกนำมาวางกองอยู่ที่ท่าเรือแม่สามแลบ อ.สบเมย เพื่อเตรียมจัดส่งไปยังฐานทหารพม่าริมแม่น้ำสาละวิน

แม้ภายหลังผู้นำรัฐบาลไทยและกองทัพไทย พยายามอธิบายว่า กองทัพไทยยังคงเป็นกลางและไม่มีส่วนรู้เห็นกับการส่งเสบียงให้ทหารพม่า แต่ภาพวิดีโอการขนส่ง “ข้าว” ชุดดังกล่าวที่ผ่านด่านทหารพรานไทย บริเวณท่าเรือแม่สามแลบได้อย่างสะดวก พร้อมกับคำถามถึงเส้นทางการลำเลียงเสบียงจากด่านเมียวดี มายัง อ.แม่สอด จ.ตาก ข้ามทะลุแผ่นดินไทยผ่านทางหลวง มาถึงท่าเรือแม่สามแลบได้อย่างไม่ติดขัดเลย กลับไม่มีคำอธิบายใดๆที่ ชัดเจน นอกจากเสียงอ้อมๆ แอ้มๆ ของเหล่าผู้นำที่ตอบกันไปคนละทาง

ขณะที่ KNU ได้บุกยึดฐานทหารพม่า “ซอแลท่า” ตรงข้ามบ้านแม่สามแลบ และอีก 2-3 จุด โดยพุ่งเป้าไปที่ฐานใหญ่ของทหารพม่า “ดา-กวิน” ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับบ้านท่าตาฝั่ง อ.แม่สะเรียง หลังจากมีการเผยแพร่ภาพฐานของกองทัพพม่าถูกเผา ผ่านสื่อต่างๆ รวมทั้งสื่อระดับโลก

ทหารพม่าก็ตอบโต้อย่างรุนแรงด้วยการส่งเครื่องบินทิ้งระเบิดครั้งใหญ่ในเขตฐานที่มั่นใหญ่ของทหาร KNU กองพล 5  ทำให้ประชาชนกว่า 7 หมื่นคนต้องพากันอพยพหลบหนีเข้าไปซ่อนตัวอยู่ในป่า และมุ่งหน้ามายังแม่น้ำสาละวินโดยหลายพันคนได้ข้ามมาหลบภัยบนฝั่งไทย

การเผชิญหน้าและห้ำหั่นกันระหว่างกองทัพพม่าและKNU เป็นไปอย่างดุเดือด จนกระทั่งเข้าฤดูฝน สถานการณ์จึงเบาบางลง

แต่ทหารพม่ายังคงปฏิบัติการด้านจิตวิทยาอย่างต่อเนื่องด้วยการส่งเครื่องบิน และโดรนลาดตระเวน

เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงของไทย รวมถึงผู้นำหมู่บ้านแนวชายแดนสาละวิน ต่างเชื่อว่าช่วงหลังฤดูฝน ศึกครั้งใหญ่ระหว่างกองทัพพม่าและKNU จะเกิดขึ้นอีก

ถึงขนาดที่โรงเรียนบ้านท่าตาฝั่ง จรงข้ามฐานทหารพม่า ดา-กวิน ต้องทำบังเกอร์ไว้ให้เด็กๆ หลบภัย ขณะที่ชาวบ้านต่างใช้กระสอบทรายที่ได้รับมอบจากทางจังหวัดทำหลุมหลบภัย

เช่นเดียวกับพลเอก บอ จ่อ แฮ รองผู้บัญชาการกองกำลังปลดปล่อยประชาชนกะเหรี่ยง (Karen National Liberation Army :KNLA) ซึ่งเป็นหน่วยงานทางทหารของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Union: KNU) ก็คาดการณ์ไว้เช่นนั้น

“คนที่อยู่ด้านในก็แจ้งมาว่า ถ้าเข้าฤดูแล้งแล้วจะมีการสู้รบ และสถานการณ์จะรุนแรงขึ้น” นายพลแห่งกองทัพ KNLA ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวชายขอบ TransborderNews

“ถ้ามองสถานการณ์ตอนนี้ ชาวบ้านยังอยู่ในภาวะที่มีความหวาดกลัวอยู่ เพราะโดรนลาดตระเวน (ของกองทัพพม่า) เข้ามาในพื้นที่แทบจะทุกวัน ทุกคืน เพื่อมาจับพิกัด ส่วนเครื่องบินลาดตระเวนก็มีรายงานว่าบินเข้ามา 2-3 วันครั้ง หรือ สัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง ชาวบ้านจึงรู้สึกกังวล แม้ที่ผ่านมามีโดรนเข้ามา แต่ชาวบ้านไม่คิดว่าจะมีการใช้เครื่องบินโจมตี แต่ครั้งที่ผ่านมากลับมีการใช้เครื่องบินโจมตีชุมชนจนชาวบ้านเสียชีวิต”

การสู้รบเมื่อฤดูแล้งที่ผ่านมา ทำให้ชาวบ้านยังคงหวาดผวา แม้ส่วนใหญ่ตัดสินใจกลับเข้าไปอยู่ในหมู่บ้านแล้ว แต่บางส่วนยังเลือกที่จะหลบซ่อนอยู่ในป่า ขณะที่วิกฤติเรื่องอาหารกำลังจะเกิดขึ้น เนื่องจากการหลบหนีในครั้งก่อนเป็นช่วงฤดูกาลเพาะปลูก

“ประชาชนกังวลมาก เพราะปฏิบัติของกองทัพพม่าการที่จะเกิดขึ้นจะมีความแม่นยำกว่าเดิม เนื่องจากที่ผ่านมาเครื่องบินลาดตระเวนได้เข้ามาจับพิกัดไว้บ้าง แต่ไม่มาก เราเคยไม่คิดว่าทหารพม่าจะยิงประชาชนจนเกิดความหวาดกลัวและต้องหนี แต่กองทัพพม่าก็ทำกับประชาชนชาวกะเหรี่ยง ซึ่งหลังจากเหตุโจมตี ทั้งเครื่องบินลาดตระเวน และโดรน เข้ามาในพื้นที่บ่อยขึ้นจากที่เคย เราจึงกังวลว่าความไม่สงบที่จะเกิดขึ้นนี้ ทางกองทัพพม่าจะทำการโจมตีพื้นที่ในวงกว้างขึ้น และจุดโจมตีมากกว่าเดิมที่เคยปฏิบัติการมา เรามีความเป็นห่วงต่อประชาชนชาวรัฐกะเหรี่ยงของเรา”   แม่ทัพใหญ่ของกองพล 5 เปิดเผยถึงความรู้สึกที่เห็นประชาชน ที่ต้องหอบลูกจูงหลานอพยพหนีตายในวันที่เสียงเครื่องบินทิ้งระเบิดกระหึ่มเหนือแผ่นดิน “กอทูเล”

“เราเข้าใจดีแต่ละประเทศต่างมีกฎหมาย เราจะหนีไปแบบนั้นไม่ได้ เราก็ไม่หวังให้ชาวบ้านหนีข้ามไป แต่พอเครื่องบินมาโจมตีและมีคนตาย ชาวบ้านบางส่วนก็หนีเลย ไม่กล้าอยู่ ชาวบ้านรู้สึกว่าการได้ข้ามพรมแดนแม่น้ำสาละวินไปก็ปลอดภัยแล้ว รู้สึกว่าเครื่องบินจะไปไม่ถึงที่นั่น เราพยายามให้พวกเขากลับมาแต่ไม่กล้ากลับ หวาดกลัว พอข้ามสาละวินไปก็รู้สึกปลอดภัย แม้อากาศร้อนขนาดไหนก็ทนอยู่ได้ ผมก็ไม่อยากให้ชายแดนมีปัญหา แต่ความกลัวมันไม่มียาแก้ เราบอกว่าอย่ากลัว แต่คนที่กลัวเขาก็กลัว ก็หนีไปอยู่พักใหญ่ ตอนนี้ความกลัวยังคงมีอยู่ เราบอกว่าถ้าเครื่องบินมาอย่าเพิ่งหนี แต่จะมีคนหนีไปไกลแน่นอน พวกเขารู้ว่าถ้าอยู่ในแผ่นดินกอทูเล เครื่องบินพม่าเข้ามายิงได้ แต่ถ้าพวกเขาหนีไปฝั่งตะวันออกสาละวิน เครื่องบินจะไม่ไปยิง ห้ามยังไงเขาก็จะหนี” พล.อ.บอ จ่อ แฮ บอกถึงสถานการณ์ความเดือดร้อนของประชาชนที่ยังคงหนักใจซึ่งกลายเป็นโจทย์ใหญ่ที่ทำให้ผู้นำกองทัพกะเหรี่ยงต้องคลี่คลาย

“สิ่งที่ผมอยากบอกคือ พม่าโจมตีเรามานานหลายสิบปี ถ้าจะตายก็ขอตายในแผ่นดินของเรา ถ้าชาวบ้านหนีไปฝั่งนู้นก็จะเป็นปัญหากับทางนู้น เราก็ไม่อยากให้ไป เพราะการหนีแบบนั้นจะเป็นปัญหาต่อตัวชาวบ้านเอง และจะเป็นปัญหาตามมาถึงองค์กร บางคนหนีไปอยู่ทางโน้น 2 สัปดาห์ ไม่มีใครให้อาหารหมูและไก่ที่บ้าน บางคนกลับมาหมูตาย งานที่ต้องทำแต่ไม่ได้ทำ พวกเขาเองก็ต้องเดือดร้อน

“ผมรู้สึกเสียใจ เพราะเหมือนเราไม่สามารถปกป้องประชาชนได้ เราไม่สามารถคุ้มกันได้ แต่มันเกิดขึ้นแล้ว และผมเชื่อว่าถ้ามีเหตุอีก ก็จะมีเรื่องแบบนี้อีก คงมีคนที่หนีเหมือนเดิม”

แม้ภาพการอพยพหนีตายของประชาชนชาวกะเหรี่ยงเป็นเรื่องที่เจ็บปวดของผู้นำทหาร KNU และเชื่อว่าการบุกจู่โจมของทหารพม่ายังคงซ้ำรอยเดิมซึ่งเป็นเรื่องที่ KNU ต้องเตรียมรับมือในสถานการณ์อันหนักหน่วง

“หลังจากเหตุการณ์ครั้งที่ผ่านมา เราทำความเข้าใจกันว่า ถ้ามีเหตุต้องทำอย่างไร ต้องป้องกันตนเองอย่างไร เราให้ความรู้กับประชาชนของเรา ให้สบายใจขึ้น เช่น เราบอกชาวบ้านว่า ถ้าเครื่องบินพม่ามาโจมตีก็จะโจมตีแต่พื้นที่ทหาร ไม่โจมตีพื้นที่พลเรือน เราบอกแบบนั้น แต่พื้นที่บางแห่ง เช่น หมู่บ้านเกอกอหลู่ และบ้านทีโพท่า ทหารพม่ายิงมาในที่ทำกินชาวบ้าน มีชาวบ้านเสียชีวิตและบาดเจ็บหลายคน  เราจึงให้ประชาชนสร้างหลุมหลบภัยและสอนวิธีปฏิบัติตัวว่าต้องทำอย่างไร”

หลายคนที่ไม่เข้าใจประวัติศาสตร์ของคนกะเหรี่ยงมักตั้งคำถามถึงการที่ KNU ขับไล่ทหารพม่าออกจากพื้นที่ริมสาละวินทั้งๆ ที่เป็นเขตแดนของรัฐชาติสมัยใหม่ระบุว่าเป็นประเทศพม่า ซึ่งพล.อ.บอ จ่อ แฮ อธิบายว่า “เดิมทีพม่าไม่มีประเทศของตัวเอง แต่ที่มีอยู่ทุกวันนี้คือ แผ่นดินของแต่ละชาติพันธ์ุที่อยู่กันมาก่อนหลายร้อยปี พม่ามาอยู่ทีหลัง ต่อมาพม่าอยากให้ทุกรัฐเป็นประเทศเดียวกัน และพม่าเป็นชนชั้นปกครอง แต่พวกเขาไม่สามารถปกครองได้ ดูแลไม่ทั่วถึง อย่างแผ่นดินกอทูเล ที่พวกเราอยู่ บางพื้นที่พม่ายังไม่เคยมาเลย พม่าไม่รู้ว่ามีทรัพยากรอะไรบ้าง แม่น้ำ ภูเขาเป็นอย่างไร พม่าปกครองไม่ได้ อย่างรัฐฉาน รัฐคะฉิ่น และรัฐกะเหรี่ยง พม่าไม่เคยมาปกครอง แต่บอกว่าเป็นประเทศของพม่าโดยไม่เคยมาช่วยพัฒนา เราปกครองตัวเราเอง”

“ตั้งแต่ปี 1988 กระทั่งปี 1995 กองกำลัง DKBA (Democratic Karen Buddhist Army-กองกำลังกะเหรี่ยงประชาธิปไตยฝ่ายพุทธ) เกิดขึ้นเราจึงต้องสละมาเนอปลอ(ศูนย์บัญชาการใหญ่เดิมของ KNU ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเมย) ตอนนั้นทหารพม่าจึงค่อย ๆ เข้ามาวางฐานตามชายแดนเป็นจุด ๆ ทหารพม่ามาอยู่พื้นที่ชายแดนไม่ทำอะไรเลย ไม่มีประโยชน์กับชาวบ้าน ไม่เป็นประโยชน์ต่อรัฐไทยด้วย เข้ามาอยู่เพื่อแสดงตัวว่าเป็นประเทศพม่า เราก็แจ้งขอให้ทหารพม่ากลับ แต่ไม่ยอมกลับ ถ้าทหารพม่ายอมถอนกำลังกลับออกไป ตลอดริมฝั่งแม่น้ำเมย และสาละวิน ทุกคนคงอยู่ร่วมกันอย่างสงบสูข คนกะเหรี่ยงทั่งสองฝั่งอยู่ร่วมกันอย่างสันติ

“ถ้าไม่มีทหารพม่าเข้ามาอยู่ เราปกครองประชาชนกันเองอย่างสงบสูข ภายใต้การปกครองของ KNU งานสาธารณสูข งานการศึกษา เรามีของเราเองชาวกะเหรี่ยง ปัจจุบันเราก็บริหารด้วยระบบ KNU ไม่มีอะไรเป็นของรัฐบาลพม่าเลย เราจึงเรียกร้องสิทธิของเรา ในฐานะที่เราเป็นชนชาติหนึ่ง เรามีวัฒนธรรม องค์ความรู้ ความก้าวหน้าเช่นเดียวกับที่คนอื่นมี เราก็จะสร้างความร่วมมือกับกลุ่มชาติพันธ์ุและชนชาติอื่น เช่น ไทใหญ่ คะฉิ่น อาระกัน พม่า และไทย รวมถึงชาติอื่นๆ สร้างกรอบความร่วมมือร่วมกัน และพัฒนาไปด้วยกัน” เป้าหมายสำคัญที่พลเอกบอ จ่อ แฮ และทหารกะเหรี่ยงกองพล 5 กำลังดำเนินไปอย่างเข้มข้น

นายพลแห่งกองทัพ KNLA  เน้นย้ำว่าสิ่งที่ทหารกะเหรี่ยง KNU ทำอยู่ทุกวันนี้เพื่อต้องการสร้างความสงบสุขและสันติภาพในพื้นที่ชายแดน แต่การที่ทหารพม่าเข้ามาประจำการตามฐานต่างๆ ริมแม่น้ำสาละวินนั้น ไม่มีประโยชน์อะไรเลยแถมยังสร้างปัญหา ทั้งการรีดนานาเร้น ทำร้าย สังหารประชาชนชาวกะเหรี่ยง

“ทหารพม่าเหมือนต้นไทร ที่มาเกาะเราแล้วค่อยๆ รัดให้เราตาย  ทหารพม่าเหมือนเป็นแขกที่มาอยู่ในบ้านเรา แล้วประกาศขายบ้านเรา”

พล.อ. บอ จ่อ แฮ กล่าวว่าเป้าหมายสูงสุดของกองทัพพม่าคือ ต้องการมีอำนาจเหนือทุกฝ่าย และ ต้องการควบคุมพื้นที่ทั้งหมด แม้กระทั่งประชาชนพม่าที่ต่อต้านระบบการปกครองเผด็จการ กองทัพพม่ายังจับกุมและเข่นฆ่า เพราะทหารพม่าต้องการที่จะปกครอง และยึดครองพื้นที่ทั้งหมดจึงได้ปฏิบัติการตามแผนการอยู่ตลอดเวลาและต่อเนื่อง กองทัพพม่า มีแผนและเป้าหมายที่ชัดเจน

“ปัจจุบันแม้กองทัพพม่าเผชิญกับการโจมตีหลายพื้นที่ รวมถึงพื้นที่เขตเมือง เมื่อกำลังพลของพวกเขาไม่เพียงพอ กองทัพพม่าก็จะใช้วิธีปฏิบัติการรูปแบบใหม่ หรือ สงครามรูปแบบใหม่ เช่น การโจมตีทางอากาศ จะมีการใช้วิธีการแบบนี้มากขึ้น กองทัพพม่าจะหาวิธีการที่ทำให้ประชาชนกลัว เพื่อไม่ให้ประชาชนกล้าที่จะลุกขึ้นมาต่อสู้อีก หรือ ตัดกำลังสนับสนุนฝ่ายประชาชน ซึ่งไม่ใช่การต่อสู้กับประชาชนเพียงอย่างเดียว แต่จะหาวิธีการทำให้ประชาชนหวาดกลัวและไม่กล้าต่อสู้ เพื่อกองทัพพม่าจะได้ปกครองและควบคุมทุกอย่างได้”

ยังมีอีกหลายคำตอบที่น่าสนใจจากพลเอกบอ จ่อ แฮ ไม่ว่าเป็นประเด็นการรวมตัวกันของกองกำลังชาติพันธุ์ในการต่อสู้กับกองทัพพม่าจะเป็นจริงได้หรือไม่ ประเด็นที่กองกำลังชาติพันธุ์หลายแห่งฝึกอาวุธให้กับประชาชนพม่าที่มีความเห็นต่างจากรัฐบาลทหาร รวมถึงภาพที่ฝันถึงแม่น้ำสาละวินของนายพลผู้นี้

(ติดตามตอน 2)


On Key

Related Posts

กลุ่มติดตามสันติภาพพม่าเผยข้อมูลล่าสุดฝ่ายต่อต้าน SAC ยึดครองพื้นที่ได้ 55 เมืองทั่วประเทศ ขณะที่ญี่ปุ่นเชิญ 4 กองกำลังร่วมแสดงจุดยืน

วันที่ 17 พฤษภาคม 2567 กลุ่มติดตามสันติภาพพม่า BNIRead More →

คดีถึงที่สุด-ชาวเลราไวย์ชนะคดีพื้นที่หน้าหาด ศาลฎีกาพิพากษายืนชี้อยู่มานาน ชาวบ้านดีใจเผยมั่นใจขยายแผงขายปลา แต่ยังหวั่นเอกชนรุกเส้นทางเดินดั้งเดิมสู่ “บาลัย”

เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2567 นายสุรพงษ์ กองจันทึก ปRead More →