สำนักข่าวชายขอบ
Transborder News

สมรภูมิริมแม่น้ำเมย เหตุใดพม่าจึงรบดุเดือด KNU

ภาสกร จำลองราช  เรื่อง

JITTRAPON KAICOME ภาพ

คลื่นมนุษย์นับพันที่อพยพหนีตายจากฝั่งรัฐกะเหรี่ยง ประเทศพม่าข้ามมาหลบภัยอยู่ฝั่งไทยในอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ไม่ได้อยู่เหนือความคาดหมายเลยเพราะก่อนหน้านี้หลายฝ่ายทั้งหน่วยงานด้านความมั่นคงของไทย ผู้นำชุมชนชายแดน รวมถึงผู้นำทหารของ KNU ต่างพูดในทำนองเดียวกันว่าในช่วงฤดูแล้งนี้ กองทัพพม่าต้องเปิดเกมรุกบุกเดินหน้าปราบปรามกองกำลังชาติพันธุ์ โดยเฉพาะ KNU ซึ่งเมื่อต้นปีที่ผ่านมา กองทัพพม่าส่งเครื่องบินรบทิ้งระเบิดใส่ทหารกะเหรี่ยง KNU อย่างหนัก ทำให้ชาวบ้านหลายหมื่นคนต้องหนีตายออกจากหมู่บ้านและหลบซ่อนอยู่ในป่าและริมแม่น้ำสาละวิน บางส่วนข้ามมาหลับภัยในฝั่งไทย

สมรภูมิริมแม่น้ำเมยครั้งนี้ กองทัพพม่าได้ส่งเครื่องบินรบทิ้งระเบิดเฉียดแดนไทยเช่นเดียวกับสมรภูมิริมสาละวินซึ่งชาวบ้านท่าตาฝั่งในเขตอำเภอแม่สะเรียงสามารถแหงนมองและถ่ายคลิปเครื่องบินรบพม่าที่บินมากลับลำเหนือหัวตัวเองได้เลย โดยที่กองทัพไทยไม่มีปฏิกริยาใดๆ

“คนที่อยู่ด้านในก็แจ้งมาว่า ถ้าเข้าฤดูแล้งแล้วจะมีการสู้รบ และสถานการณ์จะรุนแรงขึ้น” พลเอกบอ จ่อ แฮ รองผู้บัญชาการทหาร KNLA (Karen National Liberation Army) ของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Union- KNU) ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวชายขอบ TransborderNews ไว้เมื่อกลางเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา 

“ผมคิดว่ากองทัพพม่าต้องปฏิบัติการปราบปรามแน่นอน เพียงแต่จะประเมินว่ากลุ่มต่อต้านแต่ละกลุ่ม ควรเริ่มปราบปรามกลุ่มไหนก่อน เขาไม่ปราบปรามพร้อมกันทุกกลุ่ม กองทัพพม่าจะวิเคราะห์กลุ่มกองกำลังแต่ละกลุ่ม วิเคราะห์ว่าต้องเริ่มทำลายกลุ่มไหนก่อนและใช้ปฏิบัติการฆ่าล้างบางและทำให้หวาดกลัว กองทัพพม่ามีแผนแน่นอน พวกเขาไม่ยอมอยู่แบบนี้แน่”

ความหมายของคำว่า “ไม่ยอมอยู่แบบนี้แน่”ที่นายพลแห่งกองทัพ KNLA พูดถึงคือการปล่อยให้กลุ่มกองกำลังต่างๆ รวมถึงประชาชนที่ไม่เห็นด้วยจับอาวุธขึ้นมาท้าทายและต่อสู้กับทหารพม่า

ล่าสุดกองทัพพม่าได้เลือกโจมตีกองกำลังทหารกะเหรี่ยงกองพล 6 ของ KNU ที่เมืองเมียวดีซึ่งอยู่ติดกับชายแดนไทยด้านอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก จึงเกิดคำถามว่าทำไมถึงทหารพม่าถึงเริ่มต้นเปิดยุทธการสู้รบในจุดนี้ก่อน

เมียวดีเป็นเมืองหน้าด่านที่เป็นประตูค้าขายระหว่างไทย-พม่า ในอดีตที่นี่เป็นฐานที่มั่นสำคัญของกองกำลังกะเหรี่ยง แต่หลังจากการสู้รบระหว่าง KNU และพม่าอันยาวนาน ทหารพม่าได้ใช้วิธีแบ่งแยกและปกครอง โดยให้การสนับสนุนให้ทหารกะเหรี่ยงจัดตั้งกองกำลังพิทักษ์ชายแดน (Border Guard Force) เพื่อผันตัวเองจากกองกำลังต่อต้านมาเป็นทหารชายแดนอาสาที่เป็นแนวร่วมกับรัฐบาลพม่า และมีสิทธิพิเศษด้านต่างๆโดยเฉพาะการอำนวยผลประโยชน์ในธุรกรรมทางเศรษฐกิจ

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาพื้นที่เมียวดีได้เติบโตอย่างรวดเร็ว มีการสร้างกาสิโนผุดขึ้นมากมาย พร้อมทั้งโรงแรม อาคารพาณิชย์และสถานบันเทิงต่างๆโดยเงินลงทุนจำนวนมหาศาลมาจากนักธุรกิจชาวจีน 

แน่นอนว่า กลุ่มกองกำลังกะเหรี่ยงที่แตกแตกตัวมาจาก KNU และกลายเป็นกองกำลัง BGF ย่อมได้ผลประโยชน์จากการที่ทหารพม่าให้สัมปทานนักลงทุนชาวจีนเข้ามาใช้พื้นที่นับแสนไร่ย่านนี้ซึ่งเรียกว่าเขตเศรษฐกิจพิเศษ “ชเวโก๊กโก่”

การเข้ามาลงทุนของนักธุรกิจจีนในย่านนี้เป็นที่จับตามองอย่างยิ่งว่าเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางสายไหมหรือไม่ คาดว่าในอนาคตเมืองใหม่แห่งนี้จะมีชาวจีนนับแสนคนหลั่งไหลเข้ามา

การเข้ามาของนักธุรกิจจีนเชื่อมโยงกับการลงทุนธุรกิจต่อเนื่องมากมาย เช่น ความต้องการพลังงานที่เพิ่มขึ้น จึงมีการผลักดันให้มีการสร้างแหล่งพลังงานแห่งใหม่โดยการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำสาละวิน ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่กองทัพพม่าโจมตีทหารกองกำลัง KNU กองพล 5 ซึ่งมีอิทธิพลเหนือพื้นที่แม่น้ำสาละวินบริเวณชายแดนไทย-รัฐกะเหรี่ยงของพม่า เพื่อที่ทหารพม่าจะได้ควบคุมพื้นที่สร้างเขื่อนให้ได้

เมื่อเร็วๆนี้นักธุรกิจจีนกลุ่มหนึ่งที่เสนอตัวสร้างอุโมงค์ยักษ์เพื่อผันน้ำจากแม่น้ำยวม-สาละวินสู่เขื่อนภูมิพลเล่าให้ ส.ส.ไทยรายหนึ่งฟังว่า นักธุรกิจจีนกลุ่มนี้ได้หารือกับรัฐบาลทหารพม่าแล้วเพื่อขออนุญาตสร้างเขื่อนบนแม่น้ำสาละวิน ซึ่งทหารพม่าไม่ขัดข้อง

การลงทุนของนักธุรกิจจีนในพื้นที่เมืองเมียวดีจึงเป็นเงื่อนไขหนึ่งที่สร้างความสลับซับซ้อนให้กับการสู้รบระหว่างทหารพม่าและกองกำลังกะเหรี่ยง KNU มากยิ่งขึ้น

ขณะเดียวกันภายหลังจากการทำรัฐประหารของทหารพม่าเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2546 ประชาชนที่ออกมาคัดค้านและหนีการปราบปรามของทหารพม่าบางส่วนโดยเฉพาะกลุ่มนักศึกษาและเยาวชนได้เข้าร่วมการฝึกยุทธวิธีการรบขั้นพื้นฐานกับกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์จัดตั้งเป็นกองกำลังป้องกันประชาชน (People’s Defense Force – PDF)

พื้นที่กองพล 6 ของกองกำลังกะเหรี่ยง KNU ถือว่าเป็นฐานฝึกอบรมที่สำคัญให้กับ PDF ซึ่งทหารพม่าก็รับรู้ดีและเคยมีการสังหารเยาวชนกลุ่มนี้ภายหลังการจบหลักสูตรและเตรียมกลับเข้าสู่เมือง ดังนั้นจึงไม่แปลกที่ KNU กองพล 6 ต้องเป็นเป้าหมายการโจมตีแรกของฤดูแล้งนี้จากกองทัพพม่า

คาดว่ามีประชาชนหลายหมื่นคนต้องหนีภัยการสู้รบและหลายพันคนหนีข้ามแม่น้ำเมยมาพักพิงยังฝั่งไทย แต่ส่วนใหญ่แล้วยังคงหลบๆซ่อนๆอยู่ตามป่าและริมแม่น้ำฝั่งรัฐกะเหรี่ยงเพราะการจะข้ามฟากได้ต้องได้รับการอนุญาตจากทหารไทย ซึ่งประชาชนกลุ่มนี้กำลังเผชิญความลำบากแสนสาหัสเพราะขาดแคลนอาหาร ยิ่งขณะนี้เป็นฤดูหนาวที่อุณหภูมิลดลงอย่างรวดเร็วในเวลาค่ำคืน แต่พวกเขาไม่มีเสื้อผ้ากันหนาวและผ้าห่มที่เพียงพอ ทำให้เกิดการเจ็บป่วยแต่ก็ไม่มียารักษาโรค

การสู้รบระหว่างกองทัพพม่าและกองกำลังกะเหรี่ยง KNU ยังไม่มีท่าทีว่าจะยุติได้เมื่อไร สภาวะทุกข์ยากของประชาชนชาวกะเหรี่ยงจึงยังคงดำเนินต่อไปโดยไม่มีใครรู้ว่าอีกนานแค่ไหนความสงบถึงจะคืนกลับมา

ท่าทีของกองทัพไทยยังคงเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้สมรภูมิริมแม่น้ำเมยและสาละวินดุเดือดหรือสงบเรียบง่าย


On Key

Related Posts

กลุ่มติดตามสันติภาพพม่าเผยข้อมูลล่าสุดฝ่ายต่อต้าน SAC ยึดครองพื้นที่ได้ 55 เมืองทั่วประเทศ ขณะที่ญี่ปุ่นเชิญ 4 กองกำลังร่วมแสดงจุดยืน

วันที่ 17 พฤษภาคม 2567 กลุ่มติดตามสันติภาพพม่า BNIRead More →

คดีถึงที่สุด-ชาวเลราไวย์ชนะคดีพื้นที่หน้าหาด ศาลฎีกาพิพากษายืนชี้อยู่มานาน ชาวบ้านดีใจเผยมั่นใจขยายแผงขายปลา แต่ยังหวั่นเอกชนรุกเส้นทางเดินดั้งเดิมสู่ “บาลัย”

เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2567 นายสุรพงษ์ กองจันทึก ปRead More →