สำนักข่าวชายขอบ
Transborder News

กองทัพพม่าโหมหนักบินทิ้งระเบิด-เร่งเผด็จศึก KNU หวังยึดพื้นที่กะเหรี่ยง ชาวบ้านหนีตายทะลักฝั่งไทยเพิ่ม เผยความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมถูกสกัด-เข้าไม่ถึงผู้เดือดร้อนที่กำลังลำบาก

เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2564 แหล่งข่าวจากหน่วยงานด้านความมั่นคงในอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เปิดเผยถึงสถานการณ์การสู้รบระหว่างกองทัพพม่าและทหารกะเหรี่ยง KNU (Karen National Union-สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง) ว่าเมื่อรุ่งเช้าได้เกิดการปะทะกันบริเวณกอกาเร็ก ใกล้แนวถนนเอเชียไฮเวย์ AH1 ทางทิศตะวันตกของเมืองเมียวดี ทำให้มีทหารของกองกำลังพิทักษ์ชายแดน (BGF) ที่เป็นแนวร่วมของกองทัพพม่าเสียชีวิตจำนวนหนึ่ง

แหล่งข่าวกล่าวว่า สำหรับความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมนั้น ล่าสุดทางการไทยได้ย้ายผู้หนีภัยการสู้รบที่ข้ามมาฝั่งได้จากพื้นที่พักพิงจุดต่างๆมารวมอยู่ที่บริเวณคอกวัวมหาวันเมยโค้ง ต.มหาวัน ซึ่งอยู่ห่างจากตัวอำเภอแม่สอดประมาณ 20 กม. โดยพื้นที่ดังกล่าวเป็นของเอกชนรายหนึ่งที่มีจิตเมตตาผู้ที่หนีร้อนมาพึ่งเย็น ซึ่งขณะนี้มีผู้หนีภัยอยู่ในจุดนี้ประมาณ 7,000-8,000 คน อย่างไรก็ตามการย้ายผู้หนีภัยการสู้รบในครั้งนี้ แทบไม่มีหน่วยงานราชการเข้ามาช่วยอำนวยความสะดวก นอกจากองค์การบริหารส่วนตำบลมหาวัน

ทั้งนี้ตลอดเส้นทางสู่คอกวัวมหาวันเมยโค้ง เจ้าหน้าที่ทหารได้ตั้งด่านสกัดอย่างเข้มงวดโดยไม่ยอมให้บุคคลภายนอกเข้าไปยังศูนย์พักพิงแห่งนี้ นอกจากนี้ยังมีด่านของชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) ด้วย ทั้งนี้ได้มีคำสั่งห้ามสื่อมวลชนและเอ็นจีโอเข้าไปในพื้นที่เด็ดขาด

“ตอนนี้สถานการณ์ภายในศูนย์พักพิงชั่วคราวบ้านมหาวันเมยโค้งกำลังวุ่นวายเพราะมีผู้อพยพเยอะมาก เมื่อวานทางการบอกว่าจะส่งผู้หนีภัยเข้ามาเพิ่มไม่กี่ร้อยคน แต่เอาเข้าจริงๆ ส่งมานับพันคน แถมยังมีทยอยมาเพิ่มกันเรื่อยๆ ทำให้อาหารการกินไม่เพียงพอ ห้องสุขาที่เป็นแบบฉุกเฉินก็ 2 วันเต็ม ต้องให้รถมาสูบออกอยู่เรื่อยๆ สถานการณ์หนักหน่วงมากสำหรับเจ้าของที่ดินและคนกลุ่มเล็กๆที่กำลังช่วยกัน เพราะทางการไม่ยอมให้ประชาชนและองค์กรต่างๆเข้าไป แม้แต่ UNHCR ก็ยังไม่ได้เข้าไปช่วย” แหล่งข่าว กล่าว

แหล่งข่าวด้านความมั่นคงกล่าวต่อไปว่า ขณะนี้กองทัพพม่าพยายามระดมการโจมตีให้เสร็จสิ้นโดยเร็วและพยายามให้เสร็จสิ้นภายในสัปดาห์นี้ เมื่อประชาชนซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวกะเหรี่ยงหนีออกจากพื้นที่ ทหารพม่าก็จะเข้าไปยึดโดยจะให้ประชาชนพม่าเข้าไปอยู่แทนซึ่งในอนาคตพื้นที่บริเวณนี้จะเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษซึ่งนักธุรกิจชาวจีนมาลงทุน

ขณะที่ ดร. ชยันต์ วรรธนะภูติ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และคณะนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้สัมภาษณ์ภายหลังการลงพื้นที่ใน อ.แม่สอด ว่ามีผู้หนีภัยจากการโจมตีของเครื่องบินรบพม่ากว่า 7,000 คน หลบเข้ามาอยู่ในฝั่งไทยที่แม่สอด บางส่วนเดินทางกลับไปบ้างแล้ว แต่เวลานี้การช่วยเหลือผู้หนีภัยเป็นไปอย่างลำบาก ขาดแคลนห้องน้ำ สุขอนามัย รัฐบาลจำเป็นต้องทบทวนนโยบายเพื่อให้ภาคประชาสังคม ชาวบ้าน ชุมชน เข้ามาเป็นคณะกรรมการจัดการและระดมความช่วยเหลือ เพราะมีผู้พร้อมจะบริจาคจำนวนมาก แต่การดำเนินการเป็นเพียงเรื่องเฉพาะหน้า หากจัดระบบการมีส่วนร่วมให้ความช่วยเหลือทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ จะทำให้ประเทศไทยเป็นเพื่อนบ้านที่ทำหน้าที่ได้อย่างเหมาะสม

“ที่น่าเป็นห่วงมากในตอนนี้คือปัญหามนุษยธรรม เราจำเป็นต้องเปิดพื้นที่ให้ความช่วยเหลือโดยมิต้องรอให้ประชาชนข้ามมา เปิด ควรอนุญาตให้นำความช่วยเหลือข้ามแดนไปได้ และยังเป็นการการลดการประบาดของโควิด และอาจนำวัคซีนไปช่วยฉีดให้พวกเขาด้วย”ดร.ชยันต์ กล่าว

นายเจ (นามสมมุติ) ผู้หนีภัยการสู้รบจากฝั่งรัฐกะเหรี่ยง กล่าวว่า ตนและครอบครัวได้ข้ามมาจากบ้านแม่ทอตะเล ตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม เนื่องจากบ้านโดนระเบิดแทบไม่เหลือแล้ว และเหตุการณ์ถล่มโดยทหารพม่าในคืนนั้นมีผู้เสียชีวิตกว่า 10 คน ตนรู้จักชาวบ้านฝั่งแม่สอด จึงขอข้ามมาหลบภัยเพราะบริเวณหมู่บ้านมีการยิงระเบิดลูกใหญ่

“เมื่อคืนตอนตี 3 ทหารพม่าก็ยิงปืนอีก พวกเราซึ่งหลบภัยอยู่ริมแม่น้ำเมยก็ต้องหนีเข้าไปข้างในฝั่งประเทศไทยลึกขึ้น เรากลัวลูกระเบิดเพราะเขายิงใส่ในหมู่บ้าน ทำให้ชาวบ้านอยู่ไม่ได้แล้ว กระสุนปืนใหญ่ลงมา ประตูหน้าต่างหลังคาบ้านพังหมด ไม่รู้เหตุผลอะไรเขาต้องยิงใส่หมู่บ้าน” นายเจ กล่าว และว่ามีคนไทยเอาข้าวเอาอาหารมาให้ เอาผ้าห่มบริจาคมาให้ ถ้าสถานการร์สงบก็จะรีบเดินทางกลับ ตอนนี้มีทหารกะเหรี่ยงเฝ้าหมู่บ้านอยู่ ไม่เช่นนั้นทหารพม่าจะมาเผาหมด

ด้านคณะกรรมการกลาง พรรคก้าวหน้าแห่งชาติคะเรนนี ( Karenni National Progressive Party : KNPP) ได้ออกแถลงการณ์ ประณามการเผาทั้งเป็นพลเรือนชาวคะเรนนีผู้บริสุทธิ์กว่า 35 คนโดยสภาทหารพม่า (SAC) โดยระบุว่า KNPPขอประณามอย่างรุนแรงต่อสภาทหารพม่า ที่เผาทั้งเป็นพลเรือนชาวคะเรนนี 35 คน รวมถึงผู้หญิง เด็ก และเจ้าหน้าที่องค์กรนอกภาครัฐระหว่างประเทศ โดยเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2564 หลังการจับกุมและทุบตีพลเรือน สภาทหารพม่า จากกองกำลัง LIB No.108 ภายใต้การบังคับบัญชาของ กองพลที่ 66 ได้สาดน้ำมันใส่พวกเขาและเผาทั้งเป็นบนรถบรรทุกใกล้หมู่บ้านมอโซ ตำบลปยูโซ และยังได้เผายานพาหนะของพลเรือน

แถลงการณ์ระบุว่านอกจากนี้ยังมีผู้ชาย 4 คนจากกองกำลังรักษาชายแดนของแนวร่วมปลดปล่อยประชาชนชาวคะเรนนีซึ่งเข้ามาเจรจาเพื่อให้ปล่อยตัวพลเรือน ถูกมัดมือไว้ด้านหลังและยิงที่ศีรษะโดยมือปืนของสภาทหารพม่า ซึ่งทั้งสองกรณีเป็นการพิสูจน์อย่างชัดเจนว่ากองทัพของสภาทหารพม่า ได้ละเมิดบรรทัดฐานสากลในสงครามและจงใจก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติดังนั้น เราขอเรียกร้องให้รัฐบาลและชุมชนระหว่างประเทศ รวมทั้งสหประชาชาติ ให้ตีตัวออกห่างจากสภาทหารพม่า (SAC) ให้เร็วที่สุด ด้วยการดำเนินการอย่างรุนแรงกับพวกเขาโดยไม่ประวิงเวลา


On Key

Related Posts

กลุ่มติดตามสันติภาพพม่าเผยข้อมูลล่าสุดฝ่ายต่อต้าน SAC ยึดครองพื้นที่ได้ 55 เมืองทั่วประเทศ ขณะที่ญี่ปุ่นเชิญ 4 กองกำลังร่วมแสดงจุดยืน

วันที่ 17 พฤษภาคม 2567 กลุ่มติดตามสันติภาพพม่า BNIRead More →

คดีถึงที่สุด-ชาวเลราไวย์ชนะคดีพื้นที่หน้าหาด ศาลฎีกาพิพากษายืนชี้อยู่มานาน ชาวบ้านดีใจเผยมั่นใจขยายแผงขายปลา แต่ยังหวั่นเอกชนรุกเส้นทางเดินดั้งเดิมสู่ “บาลัย”

เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2567 นายสุรพงษ์ กองจันทึก ปRead More →