เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2565 นายคูโกเหร่ ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาสังคมรัฐคะเรนนี Karenni Civil Society Network ให้สัมภาษณ์ “สำนักข่าวชายขอบ”ว่า สถานการณ์ณ์ในรัฐคะเรนนียังคงยืดเยื้อและมีความรุนแรง ซึ่งพบว่าการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยกองทัพเผด็จการทหารพม่ามากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งการใช้ประชาชนเป็นโล่มนุษย์ การจับกุมคุมขัง การสังหารประชาชนผู้บริสุทธิ์ นอกจากนี้ยังพบว่าสุดทหารพม่ากำลังพุ่งเป้ามาที่คนทำงานบรรเทาทุกข์ที่นำสิ่งของต่างๆ ไปส่งให้แก่ผู้พลัดถิ่น มีการจับกุมและทำร้าย
ผู้สื่อข่าวถามว่าเรียกร้องให้นานาชาติมีท่าทีอย่างไรต่อสถานการณ์ในรัฐคะเรนนี ผู้ประสานงานชาวคะเรนนีกล่าวว่าประชาชนในพม่าได้ร่วมกันเรียกร้องให้นานาชาติกดดันรัฐบาลทหารพม่า ให้ยุติการโจมตีและเข่นฆ่าประชาชน ประกาศเขตห้ามบินเพื่อยุติการทำร้ายประชาชนทางอากาศ แต่ก็ยังไม่เป็นผลใดๆ
“สถานการณ์ในพม่า โดยเฉพาะในรัฐคะเรนนีเลวร้ายลงเรื่อยๆ ประชาชนนับแสนต้องทิ้งถิ่นฐานบ้านเรือนเพื่อเอาชีวิตรอด ยังไม่เห็นว่าความสงบจะเกิดได้เมื่อไหร่”นายคูโกเหร่ กล่าว
ในวันเดียวกันเครือข่ายประชาสังคมคะเรนนีได้ออกรายงานสรุปสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยทหารพม่าในรัฐคะเรนนี โดยมีเนื้อหาสำคัญว่า ใน 8 เมืองสำคัญในรัฐคะเรนนีปัจจุบันมีผู้พลัดถิ่นแล้วประมาณ 177,115 คน อาทิ เมืองลอยก่อ 52311 คน เมืองดีมอโส 68,265 คน ในเดือนมกราคม 2565 มีการปะทะทุกวัน ความรุนแรงส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากการยิงปืนใหญ่และทิ้งระเบิดโดยเครื่องบิน ทำให้บ้านเรือนและทรัพย์สินเสียหายจำนวนมาก ทั้งนี้ประชาชนได้หลบหนีไปยังเมืองชายแดนรัฐฉาน และเมืองตองยี พบว่ามีการเรียกเก็บส่วยจากทหารพม่าบนถนนสายหลักระหว่างลอยก่อและตองยี ในเมืองลอยก่อพบว่าทั้งทหารพม่าและโจรได้เข้ามาปล้นข้าวของของชาวบ้าน และประชาชนยังไม่สามารถกลับเข้าสู่บ้านเรือนได้ (อ่านรายละเอียดเพิ่มได้ที่ https://transbordernews.in.th/home/?p=30310)
ขณะที่สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) พรรคก้าวหน้าแห่งชาติคะเรนนี (KNPP) และแนวร่วมแห่งชาติชิน (Chin National Front-CNF) ได้ร่วมกันออกแถลงการณ์กรณีที่ทูตพิเศษแห่งสหประชาชาติประจำพม่าได้มีถ้อยแถลงหลังพบประธานอาเซียน โดยระบุว่าข้อเสนอของทูตพิเศษในการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม (humanitarian plus) โดยเร่งให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่พม่านั้น ระดับของความรุนแรงในพม่าเกิดขึ้นทั่วประเทศนับตั้งแต่มีรัฐประหาร ซึ่งกองกำลังทั้ง 3 แห่งนี้ได้แสดงจุดยืนสนับสนุนข้อเสนอของทูตพิเศษฯและมีข้อเสนอเพิ่มเติม 4 ข้อ 1.สนับสนุนข้อเสนอในการสร้างกลไกยูเอ็นอาเซียนที่เน้นเรื่องผู้หญิงและสันติภาพเพื่อให้เป็นพื้นที่ของผู้หญิงและเยาวชนโดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล 2.การให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในแผ่นดินพม่า ทั้งชิน คะฉิ่น กะเหรี่ยง คะเรนนี ไทใหญ่และพื้นที่อื่นในพม่า 3. humanitarian plus เป็นกลไกสำคัญในการแก้ปัญหาวิกฤตในพม่าที่ไม่ใช่แค่วิกฤตมนุษยธรรม 4.เรียกร้องให้ยูเอ็น อาเซียนและนานาชาติพิจารณาคุ้มครองพลเรือนจากการถูกโจมตีโดยประกาศให้พม่าเป็นเขตงดบินทางทหาร (military no-fly zone) และสร้างพื้นที่ปลอดภัย civilian safe zones ที่รับรองโดยนานาชาติ โดยมีเส้นทางการจัดส่งความช่วยเหลือ humanitarian corridors