สำนักข่าว Tai TV Online รายงานว่า เมื่อวานนี้ (17 กุมภาพันธ์ 2565) ได้มีการทำพิธีทางศาสนาและตามประเพณีของชาวเชียงตุง เพื่อสร้างหอหลวงเชียงตุงหลังใหม่ขึ้น โดยมีพลเอกมิน อ่อง หล่าย เป็นประธานพร้อมกับวางอิฐก้อนแรกเพื่อก่อสร้างหอหลวงเชียงตุง ทางภาคตะวันออกของรัฐฉาน ซึ่งผู้นำกองทัพพม่าอยู่ระหว่างเยือนเมืองแห่งนี้
จายสายติ้บเสือ 1 ในคณะกรรมการ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีส่วนเกี่ยวข้องเปิดเผยว่า การกลับมาสร้างหอหลวงเชียงตุงอีกครั้ง เป็นเพราะความต้องการของคนเมืองเชียงตุง เป็นความพยายามตั้งใจของประชาชนที่พยายามผลักดันเรื่องนี้มานาน รวมถึงสมัยที่พรรคเอ็นแอลดีเป็นรัฐบาล
จายสายติ้บเสือยังกล่าวว่า แม้ว่าในพื้นที่ที่จะสร้างหอหลวงแห่งใหม่นั้น ไม่ได้อยู่ในพื้นที่เดิมก็ตาม แต่ก็เป็นพื้นที่ติดกับหอหลวงเชียงตุงหลังเก่า และเป็นที่ดินของเจ้าฟ้าเชียงตุง ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับหนองตุง ถึงแม้ภูมิหลังจะเป็นมาอย่างไรก็ตาม แต่ในวันนี้สิ่งที่คนเชียงตุงได้ร้องขอได้เกิดขึ้นจริงแล้ว ส่วนตัวรู้สึกพอใจในระดับหนึ่ง
“เมื่อมีโอกาสเราแค่คว้าไว้ก่อน เพราะเราร้องขอเรื่องนี้มาหลายปีแล้ว หากเราจะสร้างเอง เราไม่มีทั้งอำนาจและไม่มีทั้งเงินที่จะไปก่อสร้าง ใจจริงอยากได้ที่ดินที่หอหลวงเชียงตุงหลังเดิมเคยสร้างไว้ แต่เป็นไปได้ยากมากเพราะที่ดินนั้นรัฐได้ทำสัญญาเช่ากับบริษัทเป็นเวลา 50 ปี จึงต้องสร้างบนที่ดินที่อยู่ใกล้เคียงที่อยู่ในอาณาเขตหอหลวงเชียงตุงหลังเดิมแทน” เขากล่าว
ทั้งนี้ทางกองทัพจะเป็นผู้จัดหาบริษัทก่อสร้าง แต่ยังไม่มีกำหนดการว่าจะแล้วเสร็จเมื่อไหร่ อย่างไรก็ตาม หากหอหลวงเชียงตุงหลังใหม่ก่อสร้างแล้วเสร็จ ทางการมีแผนจะเปิดเป็นพื้นที่แสดงประวัติศาสตร์เมืองเชียงตุง โดยกองทัพพม่าและประชาชนในพื้นที่จะเป็นผู้ดูแลหอหลวงแห่งใหม่นี้ร่วมกัน
ในงานพิธีมงคลก่อสร้างหอหลวงเชียงตุงมีทั้งคณะสงฆ์ ฝ่ายเกี่ยวข้อง ลูกหลานเจ้าฟ้าเชียงตุง และประชาชนในเมืองเชียงตุงมาร่วมในพิธีด้วย



สำนักข่าว Tai TV Online รายงานด้วยว่า 1 ในลูกหลานเจ้าฟ้าเชียงตุงที่ร่วมพิธีมี ดร.หยิ่นหยิ่นหน่วย ซึ่งมีศักดิ์เป็นหลานเจ้าฟ้าเชียงตุง (บุตรของเจ้าแสงเมือง มังราย) และเป็น 1 ในคณะกรรมการที่ดูแลเกี่ยวข้องเรื่องมรดก หลังนายพลมิน อ่อง หล่ายยึดอำนาจ ดร.หยิ่นหยิ่นหน่วย ยังได้รับแต่งตั้งให้ได้รับตำแหน่งในคณะรัฐบาลของพล.อ.มิน อ่อง หล่ายด้วย จึงเชื่อว่า ดร.หยิ่นหยิ่นหน่วย น่าจะมีส่วนผลักดันเรื่องนี้อยู่ไม่น้อย
ด้านสำนักข่าว SHAN เผยแพร่บทสัมภาษณ์ของเยาวชนรุ่นใหม่ในพื้นที่ว่า พล.อ.มิน อ่อง หล่าย ต้องการสร้างภาพว่า คนเชียงตุงเห็นด้วยกับการยึดอำนาจของเขา คนรุ่นใหม่ในพื้นที่ระบุว่าต้องการให้สร้างในพื้นที่เดิม และสิ่งคนรุ่นใหม่ที่นี่ยังไม่ลืมคือเพื่อนของพวกเขานับสิบคนที่ถูกจับเพราะออกมาต่อต้านกองทัพพม่ายังไม่ได้รับการปล่อยตัวตั้งแต่เมื่อปีที่แล้ว
สอดคล้องกับคนเชียงตุงบางส่วนที่ระบุว่า รู้สึกดีใจแต่ไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะหอหลวงหลังใหม่ที่จะสร้างขึ้นเหมือนของคัดลอกขึ้นมาใหม่เท่านั้น ไม่ได้มีคุณค่าทางจิตใจ ขณะที่ชาวเชียงตุงอีกคนหนึ่งระบุ กองทัพต้องการเอาใจคนเชียงตุงไม่ให้ออกมาต่อต้านเท่านั้น เป็นการสร้างภาพและเป็นเกมการเมืองของเผด็จการทหารเท่านั้น
ในบรรดาเมืองในรัฐฉานนั้น เชียงตุงนั้นถือเป็นเมืองที่มีความสำคัญอีกเมืองหนึ่งนับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยหอหลวงเชียงตุง สร้างขึ้นอย่างงดงามและใหญ่โตที่สุดในบรรดาหอหลวงเจ้าฟ้าในรัฐฉาน ซึ่งสร้างขึ้นเมื่อกว่า 100 ปีก่อนใน พ.ศ.2448 หลังจากที่เจ้าก้อนแก้ว อินแถลง ดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองเชียงตุง หลังเดินทางกลับจากประเทศอินเดีย หอหลวงเชียงตุงออกแบบผสมผสานระหว่างอินเดียและยุโรป มีหลังคาโดดเด่นแบบไทเขิน เป็นที่ทำงานว่าราชการและที่พำนักของครอบครัวเจ้าฟ้า
ภายหลังยึดอำนาจของนายพลเนวิน ทหารพม่าได้ยึดเอาหอเชียงตุงและยึดเอาทรัพย์สินมีค่าต่างๆ ภายในหอและทรัพย์สินของเจ้าจายหลวง เจ้าฟ้าเชียงตุงขณะนั้น ในปี 2534 ทหารพม่าได้ทุบทำลายหอหลวงเชียงตุงทิ้งอย่างน่าเสียดาย แม้จะถูกห้ามปรามและร้องขอจากชาวเมืองเชียงตุงก็ไม่เป็นผล ทหารพม่ายังย่ำยี ดูถูกคนเชียงตุงโดยการนำซากไม้หอหลวงเชียงตุงไปสร้างเป็นสะพานเข้าเมืองเชียงตุง หรือนำเศษซากอิฐ หิน ปูน ไปเททับพื้นถนนรอบเมืองเชียงตุงเพื่อให้คนเหยียบย่ำ ในปี 2540 ยังสร้างโรงแรมชื่อ ‘นิวเชียงตุง’ ขึ้นมาบนพื้นที่ซึ่งเคยมีหอหลวงตั้งอยู่ เป็นเหตุการณ์ที่สร้างความเจ็บช้ำใจให้คนในเมืองเชียงตุงและคนในรัฐฉานมาจนถึงทุกวันนี้