
เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2566 ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลธานี จ.อุบลราชธานี ได้มีการจัดเวทีเสวนา “มองหลากมุมกับโครงการผันน้ำเลี่ยงเมืองอุบล” โดยมีนักศึกษาและประชาชนที่สนใจเข้าร่วมรับฟังกว่า 100 คน ผู้แทนกรมชลประทานเห็นว่าเป็นโครงการที่ศึกษาความเหมาะสมและทำการศึกษาเบื้องต้นเสร็จแล้ว โดยไม่จำเป็นต้องศึกษาผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อม หรืออีไอเอ เนื่องจากโครงการนี้ไม่เข้าเกณฑ์ตาม พรบ.สิ่งแวดล้อม ส่วนภาคนักวิชาการและภาคประชาชนต่างให้ความเห็นว่าควรหาเลือกการจัดการน้ำที่ไม่ส่งผลกระทบต่อคนในพื้นที่และใช้งบประมาณไม่มาก
นายไพโรจน์ เตชะเจริญสุขจีระ ผู้อำนวยการส่วนวางโครงการที่ 2 สำนักงานบริหารโครงการ กรมชลประทาน กล่าวว่า โครงการผันน้ำเลี่ยงเมืองอุบลฯมีการดำเนินการศึกษาร่วมกับมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีแล้วในปี2554 ซึ่งผลการศึกษาพบว่าในแม่น้ำมูลมีเกาะแก่งเยอะมาก มีสภาพท้องน้ำที่สูงๆ ต่ำๆ ซึ่งในตอนนั้นการแก้ปัญหาที่ดีที่สุดคือการขุดลอกและการทำลายเกาะแก่งต่างๆ เพื่อที่จะให้น้ำระบายได้ง่ายยิ่งขึ้น แต่มีผลกระทบต่อธรรมชาติมาก ซึ่งได้ศึกษาในหลากหลายมิติและมวลชนสัมพันธ์ เริ่มตั้งแต่ ปี 2564 ประชุมเวทีย่อยในสถานการณ์โควิดทำให้เวทีย่อยที่มีผู้เข้าร่วมไม่ค่อยเยอะ และมีการจัดเวทีออนไลน์
นายไพโรจน์กล่าวว่ามีการประชุมกลุ่มเป้าหมาย 7 เวทีโดยได้ข้อสรุปแนวทางว่าจะผันน้ำมากแค่ไหน ผู้ได้รับผลกระทบจำนวนกี่ราย และเวทีปัจฉิมนิเทศเดือนสิงหาคม 2565 ได้ข้อสรุปว่าจะมีการก่อสร้างออกมาในแนวทางใด ค่าก่อสร้างเท่าไหร่และมูลค่าทางเศรษฐกิจเท่าไหร่ ซึ่งในปัจจุบันโครงการผันน้ำเลี่ยงเมืองอุบลยังมีประชาชนที่คัดค้านและเห็นด้วยเช่นเดียวกัน ซึ่งยังไม่ไปถึงขั้นตอนการออกแบบในการก่อสร้างและดำเนินการแต่ต้องการที่จะบูรณาการให้ได้ข้อยุติที่สามารถไปต่อได้ทั้งสองฝ่ายควบคู่กับแนวทางในการแก้ไขปัญหาต่อไป

นายสุเวช จันทร์จิตร นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ไร่ใต้ อ.พิบูลมังสาหาร กล่าวว่าตำบลไร่ใต้เป็นพื้นที่ตอนล่างของแม่น้ำมูลและลำโดมใหญ่ ตลอดระยะเวลาสิบปีที่ดำรงตำแหน่งนายกอบต. ได้เผชิญและแก้ปัญหาน้ำท่วมถึง 3 ครั้งคือในปี 2558, 2562 และ 2565 โดยปีที่น้ำท่วมสูงที่สุดตั้งแต่ก่อตั้งหมู่บ้านมาร้อยกว่าปีคือ ปี 2565 ประชาชนชาวไร่ใต้มีประสบการณ์เผชิญน้ำท่วมจึงได้เรียนรู้และแก้ปัญหา ความเสียหายจึงเกิดไม่มาก เมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมาทราบเรื่องโครงการคลองผันน้ำยักษ์ซึ่งมีความกว้าง 120 เมตร ทีแรกก็พากันดีใจอยู่ แต่เมื่อมาดูแนวเขตคลองผันน้ำที่จะพาดผ่านตั้งแต่เขื่อนหัวนา ลงมาที่ห้วยตองแวด ห้วยแม่ข้าวสาร ข้ามลำโดม ไปที่ไร่ใต้ ลงที่ลำห้วยกว้าง ออกที่แม่น้ำมูลบริเวณตำบลคันไร่ ซึ่งจะผ่ากลางตำบลไร่ใต้บริเวณบ้านโนนสุขและบ้านโนนสร้างคำ ซึ่งเป็นที่ลุ่ม มีประชากรกว่า 300 ครัวเรือน
“สรุปคือถ้าคลองผันน้ำมา ทั้งสองหมู่บ้านต้องหายไปเลย วัด 2 แห่ง บ้านเรือนกว่า 300 หลัง คลองผันน้ำมีระยะพาดผ่านกว่า 7 กิโลเมตร ซึ่งนำไปสู่หมู่บ้านอีกหลายๆ แห่งตามแนวที่พาดผ่าน ถามว่าเราได้มีส่วนร่วมอะไรมากมายมั้ย ทางอบต.และชุมชน ผมเป็นนายกฯ เป็นปีที่ 10 ในเบื้องต้นไม่ทราบเลย จึงได้คุยกับพี่น้องประชาชนและโทรไปหากรมชลประทานเพราะเกิดความกังวล เราอยู่มาตั้งแต่เกิด ไม่มีใครอยากจะย้ายบ้าน เรากังวลมากที่สุด คือ มี 2 หมู่บ้าน เรียกว่าคลองได้หรือไม่ ในเมื่อมันมีขนาดใหญ่ ผมและชาวบ้านคิดว่ามันก็เป็นแม่น้ำดีๆ นี่เอง เพราะคลองผันน้ำจะมีขนาดใหญ่กว่าลำโดมใหญ่เกือบ 2 เท่า อยากถามว่ากรมชลประทานสามารถการันตีได้หรือไม่ว่าน้ำจะไม่ทะลักท่วมพื้นที่เรา พื้นที่เราเป็นพื้นที่ลุ่ม การันตีได้หรือไม่ว่าคันคูที่จะพาดผ่านตำบลไร่ใต้จะไม่ขาด ผมต้องลุกขึ้นมาพูดในจุดนี้เพื่อความอยู่รอดของชุมชน” นายกอบต. กล่าว
นายนิรันดร คำนุ นักวิชาการคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวว่า มีโอกาสร่วมช่วยกระบวนการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับเรื่องการบริหารจัดการน้ำในหลายพื้นที่ลุ่มน้ำมูล สถานการณ์น้ำท่วมช่วงปี 2565 ที่มหาสารคามเกิดน้ำก็ท่วมหนัก เนื่องจากมีแม่น้ำชีไหลผ่านและมีความสัมพันธ์กับลุ่มน้ำมูล ในระบบของลุ่มน้ำภาคอีสาน วิธีคิดเรื่องน้ำท่วมอุบล จะพิจารณาเพียงแค่บริบทของพื้นที่อุบล ไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องของปัญหาระบบลุ่มน้ำที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน
“ปัญหาสำคัญในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมปัจจุบันมีประเด็นที่ต้องตั้งคำถามคือความรู้ และเทคโนโลยีในการจัดการน้ำที่เราใช้อยู่ เหมาะสมและสอดคล้องกับพฤติกรรม และปริมาณน้ำที่เปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ เพียงพอหรือไม่ ข้อกังวลใจของชาวบ้านเกี่ยวกับผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นก็ควรตอบคำถามให้ได้ชัดเจน ควรให้ความสำคัญกับกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างครอบคลุม และชัดเจน” นายนิรันดร กล่าว

นายสิริศักดิ์ สะดวก ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำอีสาน กล่าวว่าการผันน้ำเลี่ยงเมืองอุบล ถ้าจะจัดการน้ำที่ไม่ต้องใช้งบประมาณสูงถึง 4 หมื่นล้านบาท เราพร่องน้ำออกก่อนได้หรือไม่ ซึ่งหลักการง่ายๆ ที่ไม่มีใครพูดถึง เราไม่พูดถึงเมกกะโปรเจกต์ได้หรือไม่ มีเขื่อนหลายแห่งบนแม่น้ำอยู่แล้ว หากพร่องน้ำออกเพื่อรอรับน้ำใหม่ที่กำลังจะมา เป็นการเพิ่มพื้นที่ที่รองรับน้ำใหม่ที่เพิ่มขึ้น หลักการนี้ใช้ได้และลดความเสี่ยงด้วยโดยไม่ต้องใช้งบประมาณมหาศาล ดังนั้นกรณีโครงการผันน้ำเลี่ยงเมืองอุบลราชธานี ถึงแม้โครงการนี้จะเป็นทางเลือกหนึ่ง แต่ไม่พูดถึงมิติด้านระบบนิเวศและสังคม อีกทั้งโครงการนี้ยังไม่ได้ศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอ ฉะนั้นในการดำเนินการตรงนี้คำถามคือ เราได้ศึกษาและเข้าใจการจัดการน้ำแบบดั้งเดิมที่เคยใช้มาก่อนหรือไม่
“โครงการผันน้ำเลี่ยงเมืองอุบลราชธานีใช้งบกว่า 4 หมื่นล้านบาท คำถามคือความคุ้มค่ามากน้อยแค่ไหน เป็นการมองแค่เฉพาะจุดว่าอุบลเกิดน้ำท่วมแค่นั้น แต่ไม่มองลุ่มน้ำทั้งระบบว่ามีเขื่อนกี่ตัวแล้วจะจัดการยังไงโดยไม่ต้องใช้งบประมาณมากมายมหาศาล และลดความเสี่ยงไม่ให้น้ำท่วมตัวเมืองอุบลราชธานี และพื้นที่การเกษตรของพี่น้องลุ่มน้ำชีและน้ำมูลที่กินระยะเวลานาน”นายสิริศักดิ์ กล่าว
นายสิริศักดิ์กล่าวว่า อยากจะเสนอว่ารูปแบบในการจัดการน้ำมีการรวมศูนย์อำนาจในการจัดการน้ำอยู่ที่ภาครัฐนั้น อยากให้เกิดการกระจายอำนาจโดยท้องถิ่นจัดการตนเองจริง ๆ และเสนอว่าประเด็นเรื่องการทำการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) มีความสำคัญมาก อยากให้แต่ละจังหวัดมีการจัดทำ SEA