
สำนักข่าว Irrawaddy รายงานเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2566 ว่า แม้การท่องเที่ยวในพม่าจะได้รับผลกระทบจากโควิด – 19 และการรัฐประหาร แต่ก็กลับมาคึกคักอีกครั้งในปีนี้ โดยเฉพาะโรงแรมตามสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมที่ถูกจองเต็มในช่วงวันหนยุดยาว 1 สัปดาห์ ซึ่งตรงกับเทศกาลสงกรานต์หรือเทศกาลปีใหม่ตะจ่านของพม่า
จุดหมายปลายทางยอดนิยมของนักท่องเที่ยวในประเทศ ได้แก่ พุกาม อังวะ และมิงกุน ทางภาคกลางของพม่า นอกจากนี้ยังมี หาดหง่าปาลี ชองต่า และหง่วยส่อง ก็กำลังเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวในประเทศเช่นเดียวกัน โดยเที่ยวบินไปยังสถานที่เหล่านี้ถูกจองเต็ม เช่นเดียวกับโรงแรม ทั้งนี้ หาดชองต่ และหง่วยส่อง ซึ่งอยู่ในเขตอิรวดีนั้นเป็นพื้นที่ที่มีความเสถียรภาพกว่าพื้นที่อื่น ๆ ของพม่า โดยผู้ประกอบการท่องเที่ยวที่หาดชองต่าเปิดเผยว่า ขณะนี้โรงแรมในพื้นที่ถูกจองคิดเป็น 75 % แล้ว
เช่นเดียวกับโรงแรมในพุกามบางแห่งก็พบว่าถูกจองเต็มในช่วงเทศกาลหยุดยาวที่จะถึงนี้ ขณะที่อัตราค่าโรงแรมแตกต่างกันไปในแต่ละสถานที่ขึ้นอยู่กับความพร้อมของไฟฟ้า
แหล่งข่าวในท้องถิ่นเปิดเผย ขณะที่เมืองหลวงเก่าในอดีตอย่างเมืองอังวะและเมืองมินกุงสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวมาเยี่ยมชมไม่น้อยหน้า โดยคนขับรถม้าในพื้นที่เปิดเผยว่า นักท่องเที่ยวมักเดินทางมาท่องเที่ยวกันเป็นครอบครัว
“จำนวนนักท่องเที่ยวลดลงอย่างมากหลังการรัฐประหาร แต่เราได้เห็นจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วตั้งแต่ต้นปีนี้ แต่พวกเขาเป็นนักท่องเที่ยวในประเทศ ไม่ใช่ชาวต่างชาติ” ชาวเมืองอังวะรายหนึ่ง กล่าว
อย่างไรก็ตามสถานการณ์นี้กลับแตกต่างออกไปกับพื้นที่อื่น ๆ ซึ่งเคยเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวในอดีตเช่นเดียวกัน การสู้รบระหว่างกองทัพพม่าและกองกำลังต่อต้านกำลังทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น เช่น ในเขตสะกาย เขตมะกวย รัฐชิน รัฐกะเหรี่ยง รัฐกะยา และรัฐฉาน เหตุระเบิดยังคงเกิดขึ้นในเมืองใหญ่อย่างเมืองย่างกุ้งและมัณฑะเลย์ ถึงแม้จะมีการป้องกันอย่างแน่นหนา
ทั้งนี้ ยอดนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ลดฮวบหลังเกิดโรคระบาด และนับตั้งแต่รัฐประหารปี 2564 เป็นต้นมา บางประเทศรวมถึงสหรัฐอเมริกาได้ออกคำเตือนไม่ให้เดินทางมายังประเทศพม่า เช่นเดียวกับกระทรวงต่างประเทศของอังกฤษที่ได้ออกคำเตือนเมื่อวันที่ 6 มีนาคมที่ผ่านมา โดยเตือนพลเมืองของตนห้ามเดินทางมายังเขตสะกาย เขตมะกวย รวมไปถึงรัฐมอญ รัฐคะฉิ่น รัฐชิน รัฐกะยา รัฐกะเหรี่ยง และทางเหนือของรัฐอาระกัน เนื่องจากเกิดเหตุการณ์ความรุนแรง เช่น เหตุยิงสู้รบกันและเหตุระเบิด
กระทรวงต่างประเทศของอังกฤษระบุว่า สถานการณ์ความมั่นคงในพม่านั้นคาดเดาไม่ได้และมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนแปลงโดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้า พื้นที่ส่วนใหญ่ที่เป็นเป้าหมายถูกโจมตี ซึ่งรวมถึงในย่างกุ้งและเมืองหลวงเนปิดอว์ คือสถานที่ทางทหารหรือหน่วยงานของรัฐบาลทหาร เช่น อาคารและจุดตรวจของทหาร รวมไปถึงอาคารธุรกิจที่เป็นของกองทัพ ขณะที่เมื่อปีที่แล้ว ชาวพม่าส่วนใหญ่ได้คว่ำบาตรงานเฉลิมฉลองตะจ่าน หรือเทศกาลสงกรานต์เพื่อประท้วงการปกครองของทหาร