สำนักข่าว Narinjara รายงานเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2567 ว่า องค์กร Press Emblem Campaign (PEC) ซึ่งก่อตั้งขึ้นมาเพื่อส่งเสริมการคุ้มครองทางกฎหมายและความปลอดภัยแก่ผู้สื่อข่าวในพื้นที่ความขัดแย้งและพื้นที่ความไม่สงบได้เรียกร้องให้มีการปล่อยตัว “ฉิ่นเด่วี” นักสร้างหนังสารคดีหญิงวัย 50 ปี ที่เพิ่งถูกศาลในเรือนจำอินเส่ง กรุงย่างกุ้ง ตัดสินลงโทษจำคุกตลอดชีวิตเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา พร้อมกันนี้ PEC ยังเรียกร้องให้รัฐบาลทหารพม่าปล่อยตัวผู้สื่อข่าวอีก 50 คนที่ยังคงถูกควบคุมตัวอยู่ในเรือนจำพม่า
มีรายงานว่า ฉิ่นเด่วีถูกจับตัวที่สถานีขนส่งอ่องมิงกะลา ในกรุงย่างกุ้ง เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา โดยเจ้าหน้าที่ตรวจสอบพบโดรนในกระเป๋าเดินทางของเธอ ซึ่งขณะนั้นเธออยู่ระหว่างถ่ายทำภาพยนตร์สารคดี หลังจากถูกควบคุมตัว เธอถูกสอบสวนปากคำอย่างหนัก และมีคนพบเห็นเธอในสภาพมีบาดแผลฟกช้ำตามร่างกาย หลังจากที่ถูกสอบปากคำและถูกซ้อมทรมานที่สถานีตำรวจ
“นักสร้างหนังสารคดีหญิงคนนี้ถูกลงโทษภายใต้ข้อกฎหมายการก่อการร้ายและให้ทุนสนับสนุนในการก่อการร้ายโดยเธอเป็นแค่คนทำหนังสารคดีและเป็นอาสาสมัคร ไม่ได้เป็นผู้ก่ออาชญากรรมแต่อย่างใด ครอบครัวต้องการให้เธอกลับบ้าน ” แหล่งข่าวระบุ และมีรายงานด้วยว่า ครอบครัวของเธอไม่พบเห็นเธออีกเลย นับตั้งแต่เธอถูกควบคุมตัว
ฉิ่นเด่วี นั้นเป็นนักสร้างหนังสารคดีที่กวาดรางวัลทั้งในและนอกประเทศ หนังสารคดีของเธอที่ได้รับความนิยมในพม่าคือสารคดีเรื่อง “Rahula” นอกจากนี้ยังสารคดีเรื่อง “Now I Am 13” ซึ่งเป็นเรื่องราวของเด็กวัยรุ่นจากทางภาคกลางของประเทศที่ดิ้นรนในการดำเนินชีวิตและถูกปฏิเสธด้านการศึกษาเนื่องจากความยากจน ซึ่งสารคดีเรื่องนี้ได้รับรางวัลในเทศกาลหนัง Kota Kinabalu International Film Festival และถูกยกย่องว่าเป็นสารคดียอดเยี่ยมที่สุดในเทศกาลหนังในพม่า “Wathann Film Festival” เมื่อปี 2557
แหล่งข่าวในครอบครัวกล่าวว่า ฉิ่นเด่วี กระตือรือร้นที่จะช่วยเหลือผู้อื่นอยู่เสมอ เธอเคยถูกจำคุกเป็นเวลาหนึ่งเดือนในปี พ.ศ. 2533 และหนึ่งปีในปี พ.ศ. 2534 จากการมีส่วนร่วมในการประท้วงเพื่อประชาธิปไตย