Search

ชาวลาวกังวลค่าชดเชยเขื่อนปากลายคาดก่อสร้างตัวเขื่อนปลายปี

สำนักข่าววิทยุเอเชียเสรีรายงานเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2567 ว่า บริษัทปากลายพาวเวอร์ จำกัด เตรียมก่อสร้างโครงการเขื่อนไฟฟ้าปากลาย กำลังการผลิต 770 เมกะวัตต์ อย่างเป็นทางการในปลายปี 2024 นี้ นับเป็นเขื่อนบนแม่น้ำโขงสายหลักแห่งที่ 4 ในสปป.ลาว ต่อจากเขื่อนไซยะบุรี ดอนสะโฮง และเขื่อนหลวงพระบาง

ปัจจุบัน บริษัทซิโนไฮโด โฮลดิ้ง (Sinohydro Holding Ltd) สัญชาติจีน อยู่ระหว่างการสร้างอาคารสำนักงาน บ้านพักคนงาน ถนนและสะพานข้ามแม่น้ำโขง โดยคาดว่าจะก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้ภายในกลางปีนี้ ก่อนที่จะเริ่มดำเนินการก่อสร้างเขื่อนตามแผน

เจ้าหน้าที่กระทรวงพลังงานและบ่อแร่ รายหนึ่งกล่าวว่าปัจจุบันแม้ว่าจะมีการเริ่มต้นก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ถนนและสะพานแล้ว ส่วนตัวเขื่อนจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างในปลายปีนี้ และแผนการอพยพโยกย้ายก็ใกล้จะเสร็จแล้ว จะเป็นการดำเนินการไปพร้อมกัน

ส่วนการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสังคมนั้น อยู่ระหว่างการประชุมหารือโดยละเอียดโดยเฉพาะเรื่อง การจัดสรร โยกย้ายชาวบ้านและการบุกเบิกที่ดิน จะต้องได้มีการศึกษาอย่างละเอียด เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งขึ้น

ขณะนี้บริษัทซิโนไฮโดร จำกัด อยู่ระหว่างการก่อสร้างถนนระยะทางประมาณ 10 กิโลเมตร เริ่มต้นจากถนนหมายเลข 4 ตัดผ่านบ้านสุวันนะพูม บ้านกาง บ้านท่านา บ้านบ่อ บ้านม่วงเหนือ ไปยังพื้นที่ก่อสร้างเขื่อนปากลาย โดยบริเวณที่มีการก่อสร้างถนนนั้นเป็นที่ดินไร่นา และสวนของชาวบ้านจำนวนหนึ่ง ซึ่งทางบริษัทได้มอบเงินค่าชดเชยให้กับชาวบ้านที่สูญเสียที่ดินไปแล้ว แต่ชาวบ้านจำนวนหนึ่งเห็นว่า ค่าชดเชยนั้นน้อยเกินไปไม่สมเหตุสมผล

ชาวบ้านรายหนึ่งในเมืองปากลาย ไซยะบุรี ที่เสียที่ดินกล่าวว่า แม้จะไม่ต้องอพยพโยกย้าย แต่ว่าก็ได้รับความเสียหายจากการทำถนนของโครงการที่ต้องสูญเสียที่ดินไร่นา บริษัทได้ชดเชยแล้วแต่ไม่มากเท่าไหร่ แม้จะเรียกร้องไปก็ไม่ได้เท่าไหร่ โดยทางรัฐได้ชดเชยไปประมาณ 30-40 ล้านกีบ หรือประมาณ 61,500 บาท เท่านั้น

รายงานการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคมของโครงการเขื่อนไฟฟ้าปากลาย ระบุว่า โครงการส่งผลกระทบต่อชาวบ้านจำนวน 2 เมืองใน 2 แขวง รวมทั้งหมด 8 หมู่บ้าน 993 ครอบครัวที่จะต้องสูญเสียที่ดินประมาณ 3500 เฮกตาร์ และต้องถูกอพยพโยกย้ายไปยังหมู่บ้านแปลงอพยพคือ เมืองปากลาย แขวงไซยะบุรี มี 3 บ้านคือ บ้านปากตุง 147 ครัวเรือน บ้านหนองไก้ จำนวน 93 ครัวเรือน บ้านผาเลียบ จำนวน 136 ครัวเรือน เมืองแมด แขวงเวียงจันทร์ จำนวน 5 หมู่บ้านคือ บ้านปากยัน 82 ครัวเรือน บ้านปากแผน 106 ครัวเรือน บ้านดอนซายงาม 52 ครัวเรือน บ้านเมืองคี 249 ครัวเรือน และบ้านนาอุดมใต้ 128 ครัวเรือน

ชาวบ้านรายหนึ่งที่จะต้องถูกอพยพและเสียที่ดินในเมืองปากลายกล่าวว่า ตอนนี้น่าจะมีการก่อสร้างเขื่อนไฟฟ้าบนแม่น้ำโขง แต่ยังไม่รู้รายละเอียดของข้อมูลเงินค่าชดเชย และแผนการอพยพโยกย้าย แต่ไม่ได้อยากโยกย้ายออกจากหมู่บ้านเดิม เพราะกังวลว่า หากย้ายไปอยู่ที่ใหม่แล้ว จะทำให้คุณภาพชีวิตยุ่งยากกว่าเดิม

“ไม่รู้จะทำอย่างไร เพราะมีโครงการมาแล้ว ได้ยินแว่วๆนั่นแหละ แต่ตัวเงินค่าชดเชยยังไม่ได้รู้เลยว่าจะได้มากหรือน้อย หรือจะชดเชยแบบไหน” เขากล่าว

ชาวบ้านจากเมืองแมด แขวงเวียงจันทร์ กล่าวว่า ทางการลาวและบริษัทผู้พัฒนาโครงการเขื่อนปากลาย ได้ลงมาเก็บข้อมูลเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สังคมแล้ว 2 ครั้ง แต่ยังไม่ได้มีการแจ้งต่อชาวบ้านว่าจะชดเชยให้ชาวบ้านอย่างไร จำนวนเท่าไหร่และจะต้องอพยพย้ายออกจากพื้นที่เมื่อไหร่ ไปการชดเชยที่ดินใหม่ การจัดสรรอาชีพและอื่นๆ ก็ยังไม่มีการแจ้งให้ทราบชัดเจน

เจ้าหน้าที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ขณะนี้บริษัทซีโฮไดร จำกัดอยู่ระหว่างการก่อสร้างโครงสร้างพื้นที่ใกล้แล้วเสร็จ แต่ก่อนจะสร้างเขื่อนไฟฟ้าอย่างเป็นทางการ ต้องได้มีการประชุมหารือกันอย่างละเอียดเกี่ยวกับการอพยพ โยกย้ายและการชดเชยผลกระทบให้ชาวบ้านก่อน โดยต้องมีการจัดสรรที่ดินทำกิน สร้างบ้านใหม่ให้แล้วเสร็จ จึงจะได้ย้ายชาวบ้านก่อน จึงค่อยทำการก่อสร้างเขื่อน และต้องชดเชยผลกระทบต่อสังคม ธรรมชาติตามนโยบายของรัฐก่อน ต้องจัดการเรื่องนี้ให้เสร็จก่อน

โครงการเขื่อนไฟฟ้าปากลาย เป็นการร่วมทุนกันระหว่างบริษัทกัลฟ์ เดเวอลอปเมนต์จำกัด ถือหุ้น 40 % และบริษัทซิโนไฮโดร โฮลดิ้ง จำกัดของสปป.จีน ถือหุ้น 60 % ร่วมกันจัดตั้งบริษัท ปากลายพาวเวอร์ จำกัด โดยมีการเซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา เป็นระยะเวลา 29 ปี ในอัตราค่าไฟฟ้า 2.6 บาท กำลังการผลิต 770 เมกะวัตต์ ด้วยเงินลงทุนกว่า 2,134 ล้านเหรียญสหรัฐ แผนการส่งไฟฟ้าเชิงพานิชย์ทางการในปี 2030

On Key

Related Posts

ผวจ.เชียงรายยังไม่รู้เรื่องน้ำกกขุ่นข้น-เตรียมสั่งการทสจ.ตรวจคุณภาพน้ำ คนขับเรือเผยน้ำขุ่นต่อเนื่องตั้งแต่อุทกภัยใหญ่ 6 เดือนก่อน ผู้เชี่ยวชาญชี้ดินโคลนจากเหมืองทองเสี่ยงสารปรอทปนเปื้อน ระบุการตรวจสอบต้องทำให้ถูกวิธี เก็บตัวอย่างตะกอนดิน-ปลานักล่า

เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2568 นายชรินทร์ ทองสุข ผู้ว่Read More →

กรมควบคุมมลพิษลงพื้นที่เก็บตัวอย่างน้ำกก-ตรวจสารไซยาไนด์เหมืองทอง คาดรู้ผลภายใน 1 เดือน นักวิชาการเผยทหารว้าจับมือจีนแผ่อิทธิพลถึงชายแดนไทยใช้กลยุทธ์คุมต้นน้ำ-สร้างเหมืองกระทบไทย

เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2568 นายชัยวัฒน์ ปันสิน ผู้อRead More →

ผู้ตรวจการแผ่นดินหวั่นโครงการสร้างเขื่อนใหญ่กั้นโขงส่งผลกระทบเขตแดนไทย แนะสร้างกลไกหารือร่วมกับภาคประชาชน กรมสนธิสัญญาอ้างยังตรวจสอบไม่แล้วเสร็จ ภาคประชาชนจวก สนทช.งุบงิบข้อมูลจัดประชุมกรณีเขื่อนสานะคามแล้ว 4 ครั้ง

เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2568 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมRead More →