สถานการณ์การสู้รบในประเทศพม่าที่ยังรุนแรงทั่วทุกภาค โดยฝ่ายกองกำลังฝ่ายต่อต้านสามารถยึดพื้นที่ฐานที่มั่นทางทหารพม่าได้เป็นจำนวนมากโดยเฉพาะในรัฐชาติพันธุ์ต่างๆ ซึ่งในรัฐฉานกลุ่มพันธมิตรทางเหนือของพม่า ที่เรียกตัวเองว่า The Brotherhood Alliance ประกอบด้วย กองทัพโกก้าง (Myanmar National Democratic Alliance Army-MNDAA) กองทัพตะอางหรือปะหล่อง (Ta’ang National Liberation Army-TNLA) และกองทัพอาระกัน (Arakan Army-AA) ได้ปฏิบัติการโจมตีในชื่อ Operation 1027 ตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคม 2566 และสามารถยึดพื้นที่ต่างๆ ในภาคเหนือของรัฐฉานไว้ได้จำนวนมาก ขณะที่ทหารพม่าจำนวนไม่น้อยได้ยอมวางอาวุธ ทำให้หลายฝ่ายคาดการณ์ว่า ประเทศพม่ากำลังเข้าสู่จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ แต่ยังไม่มีใครสามารถให้คำตอบได้ชัดเจนว่าสถานการณ์จะก้าวไปสู่จุดไหน
เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2567 ดร.ลลิตา หาญวงษ์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดน ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ว่า จริงๆ แล้วการสู้รบในพม่าก็เกิดขึ้นมาโดยตลอดเพียงแต่ครั้งนี้มีกองกำลังจากหลายกลุ่มเพิ่มขึ้น มีคู่ขัดแย้งเพิ่มขึ้น เช่น PDF (People’s Defense Force หรือกองกำลังพิทักษ์ประชาชน) NUG รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (National Unity Government) ตอนนี้มีพลวัตของความขัดแย้งมากกว่าเดิม มีคู่ขัดแย้งมากขึ้น แล้วกลุ่มต่างๆ ก็มีมิติใหม่คือจับกลุ่มกัน อย่างกรณีที่ประสบความสำเร็จ Operation 1027 ของกลุ่ม 3 พี่น้องคือโกก้าง ตะอาง และอาระกัน
“โดยส่วนตัวคิดว่ามีพัฒนาการที่สำคัญอย่างมากในช่วงนี้คือการแทรกแซงกิจการภายในของจีน ซึ่งเป็นมหาอำนาจภายนอก อย่าง Operation 1027 ที่ทราบกันว่าดีเข้าไปแทรกแซงโดยให้กลุ่ม 3 พี่น้องไปซ้าย-ขวา จนในที่สุดก็สามารถยึดเมืองเล่าก์ก่ายและพื้นที่รอบข้างที่ถือว่าเป็นเมืองเอกในเขตปกครองพิเศษของโกก้างได้สำเร็จ แม้ล่าสุดจีนยังมีความพยายามที่จะเป็นสื่อกลางจัดประชุมประสานใจระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่ม 3 พี่น้องกับกองทัพพม่า แต่สุดท้ายก็มีการเปิดฉากโจมตีกันอยู่ดี เขาแซวกันว่าการไปเจรจาสันติภาพให้หยุดยิงที่คุนหมิงครั้งนี้ทำไปเพื่อให้บรรลุ KPI ของกระทรวงการต่างประเทศจีนเท่านั้น” นักวิชาการด้านพม่า กล่าว
ผศ.ดร.ลลิตา กล่าวอีกว่า การที่จีนเข้าไปปลุกปั่นกลุ่มกองกำลัง 3 พี่น้องมีส่วนทำให้เมืองเล่าก์ก่ายแตก เพราะเคยส่งคำเตือนถึงกองทัพพม่าหลายรอบแล้วให้ปราบปรามกลุ่มจีนเทาในเขตเล่าก์ก่ายและเขตโกก้าง แต่กองทัพของพม่าไม่ได้มีอำนาจสิทธิเด็ดขาดที่จะปกครองเขตโกก้างทั้งหมด ทำให้ไม่สามารถปราบปรามได้ กลุ่มที่ควบคุมได้คือ BGF ของโกก้าง เพราะฉะนั้นถ้าจะทำความเข้าใจความขัดแย้งทั้งหมดในประเทศพม่าปัจจุบัน มีปัจจัย 2-3 ข้อ อย่างแรกคือกลุ่มชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มมีวาระที่แตกต่างกัน 2.มีการแทรกแซงจากประเทศที่ทรงอิทธิพลที่สุดในภูมิภาคนี้คือจีน ที่ตัดสินใจว่าถ้ารัฐบาลพม่าไม่ทำอะไรก็จะเข้าไปจัดการเอง เช่น ส่งตำรวจเข้าไปในเขตเล่าก์ก่ายเพราะชายแดนติดกัน แล้วเขตโกก้างจีนก็มีอิทธิพลอยู่แล้ว ทำให้สถานการณ์แย่ลงเรื่อยๆ ในมุมของกลุ่มชาติพันธุ์ ประโยชน์ในอนาคตจาก Operation1027 ชัดเจนมากกว่าทำให้กลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ได้รับแรงบันดาลใจ และอาจมีเซอร์ไพรส์เกิดขึ้นในกลุ่มชาติพันธุ์อื่นเรื่อยๆ
ที่ปรึกษา กมธ. ความมั่นคงแห่งรัฐฯ มองว่า หากกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รวมตัวกันได้ แล้วร่วมกันตีกองทัพพม่า SAC (State Administration Council หรือสภาบริหารแห่งรัฐ) เรื่อยๆ จะทำให้เหลือกรุงเนปิดอว์ กรุงย่างกุ้ง และมัณฑะเลย์ ซึ่งเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ของกองกำลัง PBF การยึดมัณฑะเลย์ได้อาจจะไม่ใช่เรื่องที่ไกลเกินเอื้อม
“โดยส่วนตัวเท่าที่เช็คกับหน่วยงานความมั่นคง เขาลงความเห็นกันว่าการที่กลุ่มชาติพันธุ์ตีได้ถึงเนปิดอว์อาจจะยากกว่าที่เราคิด แต่ถ้าไปถามอีกกลุ่มที่สนับสนุนฝ่ายต่อต้าน ก็จะบอกว่าง่ายมาก เพราะกองทัพพม่าเสียขวัญและกำลังใจหมดแล้ว ทหารทิ้งกองทัพ ชี้ให้เห็นว่าขวัญกำลังของทหารพม่าอยู่ในขั้นวิกฤติแล้ว ส่วนตัวคิดว่า กรุงเนปิดอว์ กรุงย่างกุ้ง ไม่ใช่เมืองที่อยู่ดีๆ จะเข้าไปตีได้เดี๋ยวนี้ ถนนกี่สิบเลน จะเดินทัพเข้าไปตีอย่างไร ต้องเข้าใจก่อนว่าเนปิดอว์สร้างมาเพื่อรับภัยคุกคามในลักษณะคล้ายๆ แบบนี้โดยตรง สร้างเพื่อปิดจุดอ่อนของย่างกุ้งที่ติดแม่น้ำซึ่งข้าศึกเข้าไปตีประชิดได้ค่อนข้างง่าย” นักวิชาการผู้นี้ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ผลที่เกิดขึ้นจาก Operation1027 ผศ.ดร.ลลิตา กล่าวว่า จีนน่าจะพอใจแล้ว เพราะสามารถปกป้องเขตโกก้างและรัฐฉานตอนเหนือไว้ได้ การที่ 3 พันธมิตรยึดเขตเล่าก์ก่ายกับรอบๆ ได้แปลว่าจีนสามารถปกป้องเขตโกก้างไว้ได้เพราะตรงนั้นเป็นพื้นฐานที่จีนไปสร้างไว้ ก็มีความจำเป็นต้องปกป้อง ตราบใดที่จีนเทาออกไป ไม่มีการสู้รบที่สร้างความสูญเสียให้กับเขตโกก้าง โดยตั้งแต่ Operation1027 ท่าทีของ NUG ก็พยายามปรับเปลี่ยนว่าสนับสนุนจีน สนับสนุนนโยบาย One China เพราะรู้แล้วว่า SAC จะแพ้หรือไม่ขึ้นอยู่กับจีนมากกว่าคิด ดังนั้นการที่จีนไปจัดประชุมสันติภาพก็ตอบโจทย์ของจีน คือ 1. ไม่มีการสู้รบในเขตพื้นที่ผลประโยชน์ของจีน 2. กำจัดกลุ่ม BGF ของโกก้างที่จีนไม่สามารถควบคุมออกไปได้ 3. กำจัดจีนเทาที่มีกรณีการลักพาตัว ก่ออาชญากรรมที่รัฐบาลจีนถือว่าเป็นภัยความมั่นคงสูงสุดออกไปได้ Operation1027 ประสบความสำเร็จแล้ว จริงๆ จีนก็ไม่ได้ต้องการให้เกิดความสงบสุขในพม่า จีนอยากให้ชนกลุ่มน้อยรบกันอยู่เรื่อยๆ แบบพอเป็นพิธีเพื่อรักษาบูรณภาพทางชายแดนของจีนไว้ แล้วให้ชนกลุ่มน้อยของโกก้างเป็นกันชนในพื้นที่อื่นๆ
ผู้สื่อข่าวถามว่า ด้านหนึ่งจีนสนับสนุนกลุ่มกองกำลังชาติพันธุ์ แต่อีกด้านหนึ่งจีนกับ SAC ก็ยังแนบแน่นในผลประโยชน์ ความสัมพันธ์ของรัฐบาลจีนกับรัฐบาลพม่าเป็นอย่างไรกันแน่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ผู้นี้ กล่าวว่าความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับพม่าตั้งแต่พม่าได้รับเอกราช พม่าก็ไม่เคยมีความขัดแย้งแบบเผชิญหน้ากับจีน แม้ไม่ชอบหน้าแต่ก็ต้องเข้าหาไว้ กองทัพพม่าที่มีท่าทีที่แข็งกร้าวกับที่อื่นๆ แต่กับจีนไม่ได้แข็งกร้าวมาก พม่าไม่ได้ต้องการทำให้จีนรู้สึกว่าพม่าก้าวร้าวมาก
“พม่าพยายามทำตัวให้ซอฟท์ที่สุด แต่สำหรับจีนการที่ SAC ทำตัวเฉยๆ หรือลอยตัวอยู่เหนือปัญหามันไม่พอ บรรดาประเทศที่มีชายแดนติดกับจีนแล้วให้ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจการค้ากับจีนในอนาคตมากที่สุดถ้าโครงการต่างๆประสบความสำเร็จคือพม่า เพราะเป็นประเทศที่สามารถเชื่อมจีนกับพื้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ในมหาสมุทรอินเดียได้ ผ่านรัฐอาระกัน รัฐฉานตอนเหนือ จีนจึงไปลงทุนโครงสร้างพื้นฐานมากมายในพม่า แต่ความสัมพันธ์จีนกับพม่าคงไม่พัฒนาถึงขั้นไทยกับพม่าที่เป็นพี่เป็นน้องแบบคุยกันตลอดเวลา พม่าไม่เคยเชื่อใจกลุ่มชาติพันธุ์ใดตลอดเวลา แม้ว่าไทยจะเป็นเพื่อนรักที่สุดของพม่าเวลานี้ เขาก็เผื่อใจไว้ว่าสักวันก็คงมีความเปลี่ยนแปลงในไทยทำให้นโยบายการต่างประเทศของไทยกับพม่าเปลี่ยนก็ได้ พม่าจึงไม่ไว้ใจจีนเพราะรู้ว่าถ้าเปิดให้จีนเข้ามาในประเทศอย่างเต็มที่ ก็จะกลายเป็นเหมือนประเทศลาว บังคลาเทศ หรือเมืองสีหนุวิลล์ในกัมพูชา ซึ่งพม่าไม่ต้องการ” ผศ.ดร.ลลิตา กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า ความพ่ายแพ้ในรัฐฉานเหนือไม่ใช่เพียงแต่กองทัพพม่า แม้แต่ชาวไทยใหญ่ที่เคยมีกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนเหล่านี้ต่างก็รู้สึกพ่ายแพ้เพราะถูกกองกำลังอื่นยึดครองพื้นที่ มองประเด็นนี้อย่างไร ผศ.ดร.ลลิตา ยังกล่าวว่า ในส่วนของรัฐฉานนั้น เป็นรัฐซ้อนรัฐ มีเมืองเล็กๆ แล้วมีกองกำลังขนาดใหญ่มากๆอยู่ 2 กองกำลังคือ SSA (Shan State Army South หรือกองทัพรัฐฉานใต้) ของเจ้ายอดศึก และ SSA North ซึ่งแม้แต่รูปร่างหน้าตาก็ไม่เหมือนกันเลย ภาษาที่ใช้บางทีก็ไม่เหมือนกัน
“รัฐฉานเป็นพื้นที่ขนาดใหญ่และเป็นกันชนระหว่างจีนกับพม่าแท้ การจะทำให้เกิดสันติภาพที่ยั่งยืนในรัฐฉานเป็นไปได้ยาก ถ้าวันหนึ่งมีการหยุดยิงแล้วใครจะการันตีได้ว่าจะสงบ เพราะในรัฐฉานเองเหนือกับใต้ก็รบกัน ดังนั้นการเข้ามาของ 3 พันธมิตรในรัฐฉานตอนเหนือ จะทำให้คนไทยใหญ่ในรัฐฉานสูญเสียความน่าเชื่อถือ หรือกองทัพอ่อนกำลังลง จึงเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้เมื่อคนที่มีทรัพยากรมากกว่าจะค่อยๆ รุกคืบเข้าไปในพื้นที่ที่สามารถโจมตีได้” นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าว
ผศ.ดร.ลลิตา ยังแนะด้วยว่า ควรเข้าไปดูอย่างใกล้ชิดคือกลุ่มว้า เนื่องจากมีเป้าหมายในระยะยาว มีความฝันที่จะครอบครองพื้นที่บางส่วนในรัฐฉานเพื่อขยายอาณาเขตมาถึงรัฐฉานตอนใต้จรดชายแดนไทย หรือฝั่งตะวันออกของแม่น้ำสาละวินทั้งหมด
“ถ้าความใฝ่ฝันของว้าแดงมีความสำเร็จ ไม่ใช่แค่ SSA South-North จะลดบทบาทลงไป แต่ยังเป็นกองกำลังเล็กๆ ในรัฐฉานที่จะถูกกองกำลังใหญ่กว่าตีแตก หรือมีการร่วมทุนรวมตัวด้วยจุดประสงค์ที่แตกต่างไปจากเดิม ดังนั้นกองกำลังเล็กๆ ที่จะถูกกลืนก็มีความเป็นไปได้สูง” ที่ปรึกษา กมธ.ความมั่นคงแห่งรัฐฯ กล่าว
ผศ.ดร.ลลิตา มองว่าตราบใดที่ผู้ออกนโยบายในพม่าไม่มีความจริงใจในการรวมกลุ่มชาติพันธุ์ จะไม่มีทางบรรลุเป้าหมายเจรจาสันติภาพอย่างยั่งยืน
“ไม่มีทางเลยถ้ากลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ไม่มาคุยกัน ส่วนตัวมองว่าในโลกใบนี้มีเพียงประเทศเดียวเท่านั้นที่จะช่วยพม่าได้ในการเจรจาสันติภาพ คือไทย เพราะ SAC สนิทกับทหารไทยและเขาไม่ไว้ใจจีน กองทัพไทยกับกลุ่มชาติพันธุ์ก็สามารถสื่อหากันได้ กลุ่มชาติพันธุ์หลักๆ มีทัศนคติที่ดีกับไทย ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลไทยกับกองทัพพม่าช่วง 20 ปีหลังนี้ดีมาก นี่คือสถานที่กลางที่ตัวแทนชนกลุ่มน้อยรู้สึกปลอดภัยที่จะมาเจรจาสันติภาพที่นี่” ผศ.ดร.ลลิตา กล่าว