เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2567 นายบันยา โฆษกสภาบริหารชั่วคราวรัฐคะเรนนี ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวชายขอบ ถึงโครงสร้างใหม่ในการบริหารรัฐคะเรนนีในนามสภาบริหารชั่วคราวรัฐคะเรนนี (Karenni State Interim Executive Council-IEC) ว่า หลังจากสภาบริหารชั่วคราวรัฐคะเรนนี หรือ IEC ที่ได้ประกาศไปแล้วเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2566 และมีคณะทำงาน เป็นเหมือนคณะรัฐมนตรี 6 คน ดูแลฝ่ายต่างๆ เป็นระบบที่เขียนร่วมกัน เป็นการบริหารจัดการชั่วคราว (interim arrangement) ที่ออกแบบมาสำหรับสถานการณ์ในรัฐคะเรนนี
นายบันยากล่าวว่า หลังจากนั้นก็มีการประชุมออกแผนยุทธศาสตร์ 7 ด้าน โดยได้ตั้งเป็นกระทรวง 7 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมนุษยธรรม กระทรวงเด็กและสตรี กระทรวงการคลัง และกระทรวงยุติธรรม แต่การทำงานในพื้นที่นั้นจัดการด้วยแผนปฏิบัติการชั่วคราว ทำงานร่วมกันกับองค์กรชาติพันธุ์ปฏิวัติ (EROs) ต่างๆ ที่อยู่ในพื้นที่ เช่น พรรคก้าวหน้าแห่งชาติคะเรนนี (Karenni National Progressive Party-KNPP) หรือ กลุ่มกองกำลังประชาชน (KNDF) กองกำลังดาวแดง (KNPLF) เป็นต้น โดยแต่ละกลุ่มก็มีแผนการจัดการของตน สภาบริหารชั่วคราวฯ IEC ได้จัดประชุมหารือกับองค์กรเอกชน องค์กรชาติพันธุ์ปฏิวัติ และพรรคการเมือง เพื่อทำงานเชื่อมโยงกันภายในทำงานในพื้นที่ด้วยกัน ให้แต่ละหน่วยแต่ละองค์กรประสานกัน และรวมกันให้เกิดเป็นกลุ่มที่สามารถปกครองรัฐคะเรนนีได้
“การแบ่งบทบาท ตัวอย่างที่แม่เจ๊ะ หรือ แหม่เซ (Mese) ตรงข้ามบ้านเสาหิน อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน เราได้สร้างการบริหารงานอำเภอ ภายในอำเภอมีกลุ่ม KNPLF, KNPP มีนายอำเภอและรองนายอำเภอ เป็นคนจากทั้งสองกลุ่ม และมีเลขา 2 คน คือให้กลุ่มในพื้นที่ปกครอง ฝ่ายตำรวจรัฐคะเรนนี (Karenni State Police-KSP) เป็นหน่วยงานตำรวจที่อยู่ภายใต้กระทรวงมหาดไทยของสภาบริหารชั่วคราวฯ IEC เช่นเดียวกับตำรวจตรวจคนเข้าเมือง เป็นระบบที่เราสร้างขึ้นมาด้วยกันเพื่อทำงานด้านต่างๆ รวมทั้งการจัดเก็บภาษี เป็นโครงสร้างที่เราเริ่มเป็นแห่งแรกที่อำเภอแม่เจ๊ะ ระบบนี้เราจะใช้ในรัฐคะเรนนีทั้งหมด โดยแต่ละพื้นที่มีการทำงานร่วมกันกับสภาบริหารชั่วคราวฯ ICE อาจต่างกัน” นายบันยา กล่าว
โฆษก IEC กล่าวว่าในพื้นที่พรูโส่ (ภาคเหนือของรัฐคะเรนนี ติดกับเมืองลอยก่อ)ได้แบ่งเป็น 4 เขต ให้ปกครองกันเอง โดยสภาบริหารชั่วคราวฯ IEC ช่วยออกแบบโครงสร้างการบริหาร มีพรรค KNPP เป็นผู้นำ มี 3 องค์กรเข้าร่วม มีกองกำลังปลดปล่อยประชาชนคะเรนนี (KNPLF) ร่วมด้วย คือองค์กรต่างๆ เข้ามาอยู่ในโครงสร้างร่วมกัน มีผู้ใหญ่บ้าน มีระบบ township administrative และฝ่ายอื่นๆ โดยคณะกรรมการบริหารฯ IEC ทำงานกับองค์กรที่อยู่ในพื้นที่ ทั้งหมดอยู่ในโครงสร้างที่ IEC พยายามรวมให้เป็นหนึ่ง รวมกัน ปกครองด้วยกัน
ผู้สื่อข่าวถามถึงเรื่องระบบการจัดเก็บภาษีที่วางไว้เป็นอย่างไร นายบันยากล่าวว่า การเก็บภาษี เราค่อยๆ ทยอยเก็บจากด่านชายแดนต่างๆ รวบรวมบริหารในสภาบริหารชั่วคราว IEC แล้วนำไปกระจายให้พื้นที่และองค์กรต่างๆ เพราะบางกลุ่ม EAOs ก็ไม่สามารถจัดเก็บภาษีได้เอง ตอนนี้มีอย่างน้อย 4 องค์กรที่ต้องจัดสรรงบประมาณให้ แต่ละด่านชายแดนก็ต้องดูแล เราไม่ได้ให้แค่กองทัพคะเรนนี (Karenni Army-KA) แต่จัดการงบประมาณดูแลกองกำลังในทุกๆ ฐาน ทุกๆ ด่านๆ ที่ดูแลอยู่
“เราทราบว่าการบริหารในรูปแบบสภาชั่วคราวเหมือนที่เรากำลังทำอยู่นี้ กองกำลังอื่นๆ ก็เริ่มนำไปปรับใช้ เช่น กองกำลังตะอาง (TNLA) ทางเหนือของรัฐฉาน และทางรัฐมอญ ก็พยายามใช้รูปแบบนี้ น่าจะเป็นทางออกหนึ่งที่ไปได้ เพื่อรวบรวม ปกครอง และพัฒนา ตอนนี้เราอยู่ในภาวะสงคราม ก็น่าจะเป็นรูปแบบที่ไปได้” นายบันยา กล่าว
ส่วนงานด้านความมั่นคง-กลาโหม โฆษกสภา IEC กล่าวว่าทางการทหารได้มอบให้กองทัพคะเรนนี KA, KNDF มีหัวหน้าคนเดียวกันเป็นผู้บัญชาการ ทำงานด้วยกัน หากมีปฏิบัติการ ก็คือยู่ภายใต้ผู้บัญชาการเดียวกัน เช่นปฏิบัติการ 11.11 ที่เมืองลอยก่อเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2566 จนถึงตอนนี้ยังมีการต่อสู้ เราก็พยายามเข้าไปเก็บกวาด อย่างไรก็ตามชาวบ้านที่ต้องอพยพออกมาจากเมืองลอยก่อยังไม่สามารถกลับเข้าไปได้ แม้ว่าเราเก็บกวาดเบ็ดเสร็จแล้ว
“ที่เมืองเดมอโส่ เมื่อ 3 วันที่แล้วก็ยังโดนเครื่องบินมาทิ้งระเบิด ทหารพม่าทิ้งฐานไปแล้ว พากันออกไปค่าย 102 มีชาวบ้านกลับมาทำความสะอาดบ้านก็โดนระเบิด ส่วนที่เมืองลอยก่อแม้เรายึดได้แต่เราไม่สามารถกลับไปฟื้นเมืองได้เพราะพม่าไม่ยอม เขายังเอาเครื่องบินมาทิ้งระเบิด เรากระจายอยู่ พอให้ชาวบ้านปลูกข้าวพึ่งตัวเองได้ในระดับหนึ่ง หากจะฟื้นฟูเมือง คือพม่าต้องหมดอำนาจ อนาคตของเมืองหลวงลอยก่อยังไม่ชัดเจน เราชนะแค่เมืองลอยก่อแต่กลับมายึดรัฐคะเรนนีได้หมดนั้นไม่ใช่ คือสภาทหารพม่า SAC ต้องหมดอำนาจไป เนปิดอว์ต้องปิด” นายบันยา กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่าการสู้รบรุนแรงทางภาคเหนือของรัฐฉานที่ 3 กองกำลังพันธมิตรสามารถยึดพื้นที่ได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้การสู้รบในรัฐคะเรนนีเบาบางลงบ้างหรือไม่ โฆษกสภาฯ คะเรนนี กล่าวว่า ที่ผ่านมาทหารพม่าที่ส่งมารบในรัฐคะเรนนีเอากำลังพลมาจากหน่วยทหาร LIB 66, 55, และ 77 ในรัฐฉาน เมื่อเกิดการสู้รบในรัฐฉานเหนือก็กองทัพพม่าก็ดึงกำลังจากทางนี้ไป ส่วนทหารพม่าที่อยู่พื้นที่ชายแดนก็หนีและถอนตัวออกมา
“การสู้รบในภาคเหนือของรัฐฉานทำให้ทหารพม่าเสียขวัญและอ่อนแอลงมาก เห็นชัดเจนว่าประชาชนที่ต่อต้านเผด็จการทหารพม่านั้นไม่ได้น้อยลงเลย ทั้งชุมชน ทั้งมวลชน ไม่น้อยลงเลย การที่นานาชาติก็คว่ำบาตพม่าก็มีผลเยอะ และทหารพม่าเองก็เป็นมนุษย์ เมื่อเขาอยู่กินลำบาก ตายทุกวัน เขาย่อมเสียขวัญ” โฆษกสภาคะเรนนีกล่าว
ผู้สื่อข่าวถามถึงเรื่องการส่งต่อความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมสู่รัฐคะเรนนีเป็นอย่างไรบ้าง นายบันยากล่าวว่าเรื่องนี้ยังคงเป็นนโยบายของรัฐบาลไทยกับฝ่ายพม่าซึ่งที่อ่านในข่าวคือการช่วยเหลือมนุษยธรรมจากไทยจะส่งผ่านกองทัพพม่า ซึ่งเป็นไปไม่ได้ เพราะชายแดนไทย-คะเรนนีนั้นไม่ได้คุมโดยทหารพม่าอีกต่อไปแล้ว แม้ว่ากองทัพพม่ายังเป็นรัฐบาล แต่ในพื้นที่ชายแดนไม่มีอีกแล้ว กลายเป็นทหารคะเรนนี
“การจัดการชายแดนของไทยด้านแม่ฮ่องสอนและรัฐคะเรนนีน่าจะมีการเปลี่ยนแปลง ตอนนี้ไม่เกี่ยวอะไรกับรัฐบาลทหารพม่าแล้ว เป็นเรื่องของพื้นที่ที่สถานการณ์เปลี่ยนไป”
เมื่อถามว่ามองอย่างไร หากไทยเป็นพื้นที่กลางในการพูดคุยระหว่างกองทัพพม่าและกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ โฆษก IEC กล่าวว่า เรารู้จักสภาทหารพม่า หรือ SAC ดี พวกเขาหัวแข็งและดื้อมาก หากเขายอมอาเซียนสัก 1 ข้อก็จบแล้ว แต่นี่ผ่านมาเกือบ 3 ปีแล้ว ข้อตกลงนี้ทำอะไรไม่ได้เลย
หมายเหตุ-รัฐคะเรนนีอยู่ด้านตะหวันออกของพม่าติดชายแดนไทยด้านจังหวัดแม่ฮ่องสอน (อ.เมืองแม่ฮ่องสอน อ.ขุนยวม และ อ.แม่สะเรียง) เป็นรัฐเล็กๆมีพื้นที่ราว 11,730 ตารางกิโลเมตร แต่มีความอุดมสมบูรณ์ด้วยป่าไม้และแร่ธาตุ โดยมีแม่น้ำสาละวินไหลผ่าน มีประชากรราว 3 แสนคน ส่วนใหญ่เป็นชาวคะเรนนี หรือกะเหรี่ยงแดง แต่หลายคนรู้จักในนามคะยา แต่ผู้นำกองทัพคะเรนนีคือนายพลบีทู ได้ยืนยันกับสำนักข่าวชายขอบว่าชื่อที่ต้องการให้ใช้คือ “รัฐคะเรนนี” ทั้งนี้เพราะคำว่า “รัฐคะยา”เป็นชื่อที่ทางการพม่าใช้ ซึ่งสร้างความแตกแยกเพราะในรัฐคะเรนนีประกอบด้วยหลายชาติพันธุ์ ทั้งนี้รัฐคะเรนนีมี 7 เมืองหลัก เช่น เดมอโส่ พรูโส่ ผาซอง โดยมีเมืองลอยก่อ เป็นเมืองหลวง ซึ่งในประวัติศาสตร์รัฐคะเรนนีมีความเป็นอิสระมายาวนาน แม้กระทั่งในยุคนักล่าอาณานิคม รัฐคะเรนนีก็ไม่ได้อยู่ภายใต้การปกครองของพม่าและอังกฤษ แต่กองทัพพม่าได้อ้างว่ารัฐคะเรนนีเป็นของพม่าและบุกยึด ทำให้ชาวคะเรนนี้ลุกขึ้นต่อสู้และจัดตั้งพรรคก้าวหน้าแห่งชาติคะเรนนี (Minister of Defense, Karenni National Progressive Party-KNPP) ตั้งแต่ปี 2500