สำนักข่าวชายขอบ
Transborder News

คนหนุ่มสาวทะลักไทยหลังรัฐบาลทหารพม่าเข้มกฎหมายเกณฑ์ทหาร เผยสถานทูตไทยต้องจำกัดการขอวีซ่า เชื่อแรงงานเถื่อนพุ่ง

สำนักข่าว DVB และ สำนักข่าว Tai TV Online รายงานเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 ว่า หลังกองทัพพม่าประกาศบังคับใช้กฎหมายให้คนหนุ่มสาวอายุระหว่าง 18 – 35 ปี ต้องเป็นทหารอย่างน้อย 2  – 5 ปี ล่าสุดได้ส่งผลให้ชาวพม่าเป็นจำนวนมากขอวีซ่าเข้ามายังประเทศไทย จนสถานทูตไทย ณ กรุงย่างกุ้งต้องจำกัดไว้ 400 คนต่อวัน ขณะที่อีกด้าน นักสิทธิแรงงานชาวพม่า เตือนกฎหมายเกณฑ์ทหารของกองทัพพม่าจะทำให้แรงงานผิดกฎหมายจากพม่าทะลักเข้าประเทศไทย และแรงงานผิดกฎหมายเหล่านี้เสี่ยงที่จะถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน  

ตามแถลงการณ์ของสถานทูตไทย ณ กรุงย่างกุ้ง ประกาศลงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 67 ที่ผ่านมาระบุว่า  เนื่องจากมีจำนวนประชาชนขอวีซ่าเข้าประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น สถานทูตฯจึงจำกัดการขอวีซ่าไว้ 400 คนต่อวันเท่านั้น โดยจะเปิดให้รับบัตรคิวในเวลา 08.30 น. ของวันทำการ และสามารถยื่นเอกสารได้ในเวลา 09.00 น. โดยผู้ต้องการที่จะขอวีซ่าจะได้รับบัตรคิว 1 คน ต่อ 1 บัตรคิว และห้ามนำบัตรคิวไปมอบให้บุคคลอื่นๆหรือปลอมแปลง หากพบว่าฝ่าฝืนจะถูกขึ้นบัญชีดำไม่สามารถยื่นขอวีซ่าเข้าประเทศไทยได้ 

นอกจากนี้ในแถลงการณ์ของสถานทูตไทยในย่างกุ้งยังระบุว่า ผู้ยื่นขอวีซ่าจะต้องคืนบัตรคิวให้กับสถานทูต และหากพบเอกสารไม่ครบก็จะไม่ให้วีซ่าเป็นต้น โดยจะมีผลตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์  เป็นต้นไป 

ขณะที่กระแสการย้ายออกจากพม่าในหมู่คนหนุ่มสาวเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่มีการประกาศจะบังคับเกณฑ์ทหารเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา โดยกองทัพพม่าตั้งเป้าหมายที่จะเกณฑ์ทหารใหม่จำนวน 14 ล้านคน แบ่งเป็นชายจำนวน 6.3 ล้านคน และหญิงอีกจำนวน 7.7 ล้านคน 

“ผมได้ยินมาว่า คนหนุ่มสาวอายุ 18 ปีขึ้นไปกำลังเตรียมที่จะออกจากพม่า ไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตาม ส่งผลให้แรงงานข้ามชาติผิดกฎหมายในประเทศไทยจะเพิ่มมากขึ้น จะมีการละเมิดสิทธิแรงงานเพิ่มมากขึ้น เมื่อมีแรงงานข้ามชาติผิดกฎหมายมากขึ้น” นายอูตูชิต ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อการศึกษาและการพัฒนา ซึ่งตั้งอยู่ทางภาคใต้ของประเทศไทย กล่าว

นายอูตูชิต ยังกล่าวเพิ่มติมว่า การขาดแคลนทรัพยากรมนุษย์ในพม่าจะเลวร้ายลง ซึ่งเดิมทีก็เลวร้ายอยู่แล้ว โดยจะหาแรงงานทั่วไปได้ยากมากขึ้น อันเป็นผลมาจากการอพยพออกจากประเทศของคนหนุ่มสาว 

อีกด้านหนึ่ง มีข่าวลือออกมาว่า รัฐบาลกำลังจับกุมคนหนุ่มสาวจากบ้านหรือในขณะเดินทาง นอกจากนี้ ทางการพม่ายังได้กำหนดข้อจำกัดและกฎระเบียบออกมาใหม่ในการเดินทางโดยเครื่องบินภายในประเทศด้วย

ด้านนายอูโมเจียว ประธานกลุ่ม The Joint Action Committee for Burma Affairs ที่ตั้งอยู่ในอำเภอแม่สอด จังหวัดตากกล่าวว่า “ผมไม่ต้องการกระตุ้นให้ประชาชนออกไปหรืออยู่ในประเทศ เพราะมันคือชีวิตของพวกเขา แต่ผมอยากจะบอกให้พวกเขารีบตัดสินใจและดำเนินการ” โดยข้อมูลของนักสิทธิแรงงานรายงานว่า มีแรงงานข้ามชาติจากพม่าทั้งถูกและผิดกฎหมายอยู่ในประเทศไทยราว 5 ล้านคน และแรงงานที่มีใบอนุญาตทำงานถูกกฎหมายจำนวน 400,000 คนนั้น ได้เดินทางออกจากพม่าเมื่อ 3 ปีก่อนหลังมีการรัฐประหารยึดอำนาจ 

สำนักข่าว Irrawaddy ยังรายงานว่า เมื่อเร็วๆนี้ ทางกระทรวงแรงงานของพม่าสั่งชะลอการจัดจ้างหางานจากต่างประเทศ โดยได้รับการเปิดเผยจากสมาคมจัดหางานในต่างประเทศของพม่า (Myanmar Overseas Employment Agencies Association – MOEAA) 

ขณะที่สำนักข่าว Tai TV Online รายงานว่า ขณะนี้ก็เกิดกระแสต่อต้านการบังคับเกณฑ์ทหาร แม้แต่ภายในกองทัพพม่าด้วยกันเอง เช่น จากทหารพม่าชั้นผู้น้อยที่เมืองปะเต่ง เขตอิรวดี ที่ออกมาคัดค้านหากลูกหลานของตนต้องเป็นทหาร ในขณะที่ลูกหลานของผู้บังคับบัญชาระดับสูงกลับได้รับการอนุโลมและเดินทางไปยังต่างประเทศ ซึ่งทหารชั้นผู้น้อยเรียกร้องให้ทุกคนต้องเป็นทหารเท่าเทียม 

แหล่งข่าวในกองทัพพม่ายังรายงานว่า หากเรื่องนี้มีการเลือกปฏิบัติ อาจเป็นประเด็นให้ทหารพม่าชั้นผู้น้อยเลือกข้างไปอยู่ฝ่ายตรงข้ามกับกองทัพ  

อดีตทหารพม่ารายหนึ่งเปิดเผยว่า ขณะนี้ภายในกองทัพพม่าก็มีความขัดแย้งกันเอง สถานการณ์ตั้ตมะด่อว์นั้นถือว่าอยู่ในช่วงวิกฤติร้ายแรง เนื่องจากกำลังพลที่ลดลงด้วย ข้อกฎหมายบังคับเกณฑ์ทหารเองก็ไม่ได้รับการสนับสนุนจากทหารใต้บังคับบัญชา เพราะพวกเขาไม่ต้องการให้บุตรหลานของตนเป็นส่วนหนึ่งของกองทัพพม่าอีกแล้ว 

“ในขณะที่พวกเขาก็เป็นทหาร และลูกหลานยังต้องมาเป็นทหารอีก จึงอยากให้คิดดูว่า เป็นเรื่องที่ชอบธรรมหรือไม่ ซึ่งถือว่า ทหารพม่าชั้นผู้น้อยนั้นคือกลุ่มคนที่ถูกเอารัดเอาเปรียบมากที่สุด พวกเขาถูกกดดัน เนื่องจากข้อมูลส่วนตัวของพวกเขาก็อยู่ในมือของกองทัพ ดังนั้นอาจถึงเวลาที่ทหารพม่าและครอบครัวต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วนได้แล้ว” อดีตนายทหารกล่าว 

On Key

Related Posts

กลุ่มติดตามสันติภาพพม่าเผยข้อมูลล่าสุดฝ่ายต่อต้าน SAC ยึดครองพื้นที่ได้ 55 เมืองทั่วประเทศ ขณะที่ญี่ปุ่นเชิญ 4 กองกำลังร่วมแสดงจุดยืน

วันที่ 17 พฤษภาคม 2567 กลุ่มติดตามสันติภาพพม่า BNIRead More →

คดีถึงที่สุด-ชาวเลราไวย์ชนะคดีพื้นที่หน้าหาด ศาลฎีกาพิพากษายืนชี้อยู่มานาน ชาวบ้านดีใจเผยมั่นใจขยายแผงขายปลา แต่ยังหวั่นเอกชนรุกเส้นทางเดินดั้งเดิมสู่ “บาลัย”

เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2567 นายสุรพงษ์ กองจันทึก ปRead More →