Search

“ศ.สุรชาติ”ชี้แล้งนี้เห็นจุดแตกหักสงครามในพม่า แนะรัฐบาลไทยเพิ่มบทบาท-เป็นตัวกลางเจรจาหยุดยิงเหมือนสงครามเขมร 3 ฝ่าย “เจ้ายอดศึก”แนะทุกกองกำลังชาติพันธุ์รวมตัว-หวั่นรบพม่าเสร็จต้องรบกันเอง

เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2567 ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการด้านความมั่นคง ให้สัมภาษณ์สำนักข่าว The Reporters ถึงบทบาทของประเทศไทยต่อสถานการณ์ในประเทศเมียนมาว่า ข้อสรุปใหญ่คืออยากเห็นไทยมีบทบาทเพิ่มขึ้นเพราะแนวโน้มสถานการณ์ที่อาจจะไม่เป็นบวกและน่าจะส่งผลกระทบใหญ่ต่อประเทศไทย โดยสถานการณ์สงครามที่แนวโน้มหลังจากปฏิบัติการในวันที่ 27 ของเดือนตุลาคมปีที่แล้วได้ทวีความรุนแรงขึ้นและมีผู้อพยพ เราเห็นการบังคับกฎหมายเกณฑ์ทหารของเมียนมาซึ่งคล้ายกับกรณีของรัสเซียที่นำไปสู่ความพยายามหนีการเกณฑ์ทหาร เพราะฉะนั้นพอคาดเดาได้ว่าประเทศไทยจะกลายเป็นเหมือนพื้นที่ที่หลบปัญหา ไม่ว่าจะเป็นหลบภัยสงคราม หลบการเกณฑ์ทหารเปรียบประเทศไทยว่าเป็นเหมือนโปแลนด์แห่งเอเชีย เนื่องจาก สงครามในยูเครนทำให้โปแลนด์เป็นหน้าด่านของการพักพิงของบรรดาผู้ลี้ภัยชาวยูเครน ซึ่งจำเป็นต้องช่วยเหลืออย่างยิ่ง

“ความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมเป็นสิ่งสำคัญ วันนี้ถ้าประเทศไทยพิจารณาเห็นสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น ผมว่าการตัดสินใจเข้าไปมีบทบาทของไทยเป็นเรื่องสำคัญ ผมไม่ได้บอกว่าไทยต้องเข้าไปแทรกแซงกิจการภายในประเทศเพื่อนบ้าน แต่การตั้งศูนย์ความช่วยเหลือหรือสถานีความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเป็นเรื่องสำคัญ เราอาจจะไม่ใช้คำว่า Corridor หรือระเบียง เพราะมีความกำกวมในมิติด้านความมั่นคง สิ่งที่จำเป็นคือการตั้งสถานีด้านมนุษยธรรม อาจที่แม่สอดหรือแม่ฮ่องสอน อย่างน้อยต้องเป็นจุดเริ่มเพื่อให้เห็นบทบาทเชิงบวกของไทย” ศ.สุรชาติ กล่าว

นักวิชาการด้านความมั่นคงกล่าวว่า ประเทศไทยต้องมีนโยบายที่ชัดเจนว่าเมื่อสถานการณ์ในเมียนมารุนแรง อาจจะไม่นำไปสู่การล่มสลายของรัฐบาลทหารแบบทันที แต่ก็เห็นแนวโน้มสงครามโดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ในย่านนี้ สงครามจะรบใหญ่ในฤดูแล้งซึ่งฤดูแล้งนี้จะเป็นตัวชี้ชะตาพอสมควรกับอนาคตของทั้ง 2 ฝ่ายคือทั้งฝ่ายรัฐบาลประชาธิปไตยกับรัฐบาลทหารพม่า รวมทั้งชี้อนาคตการรวมตัวของบรรดากลุ่มติดอาวุธที่เป็นชนกลุ่มน้อยต่างๆ ในโจทย์เหล่านี้มีความรุนแรงของสถานการณ์และสงครามซึ่งมีความซับซ้อนของปัญหา แต่มีสิ่งเร่งด่วนคือชีวิตของประชาชน เราจะคิดว่าเป็นประชาชนที่ไม่ใช่บ้านเราไม่ได้ เพราะวันนี้ประชาชนตามแนวชายแดนได้รับผลกระทบ ขณะที่ประชาชนเมียนาได้เข้ามาเป็นแรงงานที่เป็นส่วนสำคัญในสังคมไทย

ศ.สุรชาติกล่าวว่า การทำสถานีมนุษยธรรม มักจะพูดถึงพื้นที่ด้าน อ.แม่สอด จ.ตาก แต่ตนคิดว่าจุดใหญ่จริงๆ เป็นพื้นที่ด้านจ.แม่ฮ่องสอน หากเกิดการทะลักบริเวณนี้จะเป็นจุดใหญ่ ในขณะที่เราเตรียมใหญ่รับอยู่ที่แม่สอดซึ่งอาจไม่เพียงพอ จำเป็นต้องคิดถึงจุดอื่นๆด้วย เนื่องจากถ้าสงครามขยายตัวเร็วและขยายพื้นที่การรบมากขึ้น ผู้อพยพจะไม่อยู่แค่ด้านแม่สอดหรือแม่ฮ่องสอน แต่อาจจะทะลักสู่หลายพื้นที่ของประเทศไทย เช่น ชายแดน จ.กาญจนบุรี

“แนวโน้มสงครามยังคาดเดาได้ยาก มันอาจจะนำไปสู่ภาษาที่เราใช้คือจุดแตกหัก เพราะว่าถ้าเรามองว่าแตกหัก มันจะเป็นจุดชี้ขาดของสงคราม เป็นแต่เพียงหลายฝ่ายมองในมิติทางทหารที่มีความคิดคล้ายๆกันว่า พอฤดูแล้งที่จะมาถึงพื้นที่ แถบนี้จะต้องรบใหญ่ พอเข้าสู่ฤดูฝนหรือฤดูมรสุมจะรบลำบาก เพราะฉะนั้นการรบในฤดูแล้งที่จะมาถึงจึงเป็นจุดสำคัญที่ชี้อนาคตของสงครามในเมียนมา” นักวิชาการด้านความมั่นคง กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่าหลายฝ่ายมองว่ารัฐบาลทหารพม่ากำลังอ่อนแอถือว่าเป็นโอกาสสำคัญของกลุ่มกองกำลังชาติพันธุ์หรือไม่ ศ.สุรชาติ กล่าวว่า กองทัพของฝ่ายรัฐบาลไม่ว่าจะอ่อนแออย่างไร ก็ยังมีกำลังพลและกำลังอาวุธอยู่ในมือ ยังมีความช่วยเหลือบางส่วนที่เห็นหรือไม่เห็น แต่ว่าในมิติของความเป็นกองทัพ รัฐบาลเขายังมีขีดความสามารถที่จะทำการรบต่อเนื่อง ในขณะเดียวกันเราอาจจะเห็นความพ่ายแพ้ที่เกิดขึ้นในเมืองหลายจุดฉะนั้นยังไม่สามารถชี้ชัดว่าสุดท้ายจะนำไปสู่ชัยชนะแบบเด็ดขาดของฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารพม่าได้ ขณะเดียวกันสิ่งที่เรากำลังเริ่มเห็นคล้ายกับการล่มของมาร์กโดมิโน่ที่ล้มทีละเมือง

“คนไทยคุ้นกับภาพโดมิโน เป็นลักษณะของการล้มทีละตัว ทีละจุด ทีละจุด คำถามใหญ่ที่สุดก็คือแล้วมันจะลงไปจุดสุดท้ายตรงไหน แล้วจุดสุดท้ายมันจะส่งผลต่อสถานะการเมืองและความมั่นคงภายในของเมียนมาอย่างไร ต้องไม่ลืมว่าการล้มเช่นนั้นจะกระทบต่อความมั่นคงไทยอย่างแน่นอน” ศ.สุรชาติ กล่าว

นักวิชาการด้านความมั่นคงกล่าวด้วยว่า ได้เรียกร้องมาตลอดว่าถ้าประเทศไทยย้อนดูประวัติศาสตร์ของตัวเองที่เคยสร้างความสำเร็จทางการทูตชิ้นใหญ่ที่สุดชุดหนึ่งคือการพากลุ่มเขมร 3 ฝ่ายที่มีความขัดแย้งทางการเมืองและเกิดสงครามในกัมพูชามาเจรจาที่กรุงเทพฯนำไปสู่การสิ้นสุดของสงคราม สิ่งที่อยากเห็นคือเป็นไปได้หรือไม่ที่รอบนี้ไทยจะเล่นบทเป็นโบรกเกอร์หรือเป็นคนกลางที่พา 3 กลุ่ม รัฐบาลทหารพม่า รัฐบาลเอ็นยูจีหรือกลุ่มรัฐบาลพลัดถิ่น และกลุ่มอีเอโอคือบรรดากองกำลังติดอาวุธ มาหารือกัน

“ถึงแม้เราจะไม่พร้อม แต่ต้องคิดที่จะต้องดำเนินการเพราะไม่อย่างนั้นสถานการณ์สงครามจะกระทบต่อปัญหาของประเทศไทยเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนตามแนวชายแดนและปัญหาการทะลักของผู้อพยพ ถ้าเราสามารถมีบทบาทเหมือนเมื่อครั้งที่เราทำสำเร็จในกรณีกัมพูชา ผมว่าจะเป็นเหมือนเป็นเกียรติยศทางการทูตครั้งใหญ่ ถ้าประเทศไทยทำสำเร็จจะเป็นซอฟต์พาวเวอร์ชิ้นใหญ่ของรัฐบาล ถ้ารัฐบาลสนใจซอฟต์พาวเวอร์จะต้องคิดในมุมมิติอย่างนี้ พูดง่ายๆ คือทำให้ประเทศไทยมีซอฟต์พาวเวอร์ผ่านมิติทางการทูต ผมคิดว่าไทยทำได้ แต่ขอให้เริ่มต้นที่คิดว่าจะทำ อย่าเริ่มต้นคิดที่จะไม่ทำ เมื่อไหร่ที่เริ่มต้นคิดที่จะไม่ทำ เพราะเกรงใจรัฐอำนาจภายนอก เกรงใจรัฐบาลทหารเมียนมา เรายังยืนอยู่กับชุดความคิดเก่า แต่ถ้ารอบนี้เราเห็นสัญญาณของความเปลี่ยนแปลงที่เป็นโจทย์ชุดใหม่ๆ อาจจะไม่ได้นำไปสู่จุดจบของรัฐบาลทหารทีเดียว แต่มันจะเป็นโจทย์ระยะยาว ผมอยากเสนอคือการมีบทบาทอย่างสร้างสรรค์ของรัฐบาลในมิติด้านสันติภาพ เพื่อที่จะทำให้สถานการณ์สงครามคลายโดยเร็ว”ศ.สุรชาติ กล่าว

ด้านพล.อ.เจ้ายอดศึก ประธานสภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน (The Restoration Council of Shan State  RCSS/SSA) ให้สัมภาษณ์ว่า ที่ผ่านมาได้ทำเรื่องขบวนการสันติภาพซึ่งไม่คืบหน้าและมีปัญหาเกิดขึ้นเรื่อยๆ โดยปัญหาภายในรัฐบาลเมียนมาที่ยึดอำนาจซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับชาติพันธุ์เลย ทุกกลุ่มอยากเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศให้เป็นสหพันธรัฐและประชาธิปไตยมาโดยตลอด แต่ไม่เกิดขึ้นแถมเลวร้ายกว่านั้นคือมายึดอำนาจกันอีก โดย  RCSS ยังมีเป้าหมายเดิมคือเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นสหพันธรัฐ

“เราไม่ได้เห็นด้วยกับการรัฐประหาร และได้ออกแถลงการณ์เป็นกลุ่มแรกเลย ซึ่ง 3 ปีที่ผ่านมา ผมมองว่ามันเลวร้ายกว่าเดิม ไม่เห็นมีดีที่ไหนเลย ประชาชนอดอยาก คนที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่ก็โดนไปด้วย  ประชาชนนั่นแหละที่ลำบาก ไฟไหม้บ้าน ถนนหนทางลำบาก เศรษฐกิจแย่ ยึดอำนาจครั้งนี้พบว่าเร็วร้ายกว่าทุกครั้ง” พล.อ.เจ้ายอดศึกกล่าว

เมื่อถามว่าหลายฝ่ายมองว่าการที่ RCSS ไม่ลุกขึ้นมาต่อสู้กับทหารพม่าเพราะเป็นพวกเดียวกันหรือไม่ พล.อ.เจ้ายอดศึกกล่าวว่า ไม่ใช่ เพียงแต่ไม่แสดง โดยตนไปเจอ พล.อ.มินอ่องหลาย 4 ครั้ง หลังการรัฐประหาร ตั้งความหวังกับเขา 4-5 ข้อ และได้เตือนให้ทำตามข้อตกลงหยุดยิง(NCA) การที่คนอื่นไม่ทำตามเพราะต้องการให้ทุกกลุ่มทำตามที่เขาต้องการซึ่งนั่นเป็นไปไม่ได้

“ผมเตือนเขาว่าให้เจรจากันทุกกลุ่ม เอ็นยูจีก็ให้เจรจา กลุ่มชาติพันธุ์ก็ให้เจรจา สู้รบกันมันไม่มีอะไรดีเลย เราสู้รบกันมาเป็นระยะ 50-60 ปี ไม่มีอะไรดีเลย เขาตอบผมว่าให้กลุ่มอื่นประกาศก่อนว่าจะไม่ทำก่อการร้ายแล้วค่อยเจรจา ผมก็ว่าเออ ก่อการร้ายใครๆ ก็กล่าวหาใครได้ทั้งนั้น แต่วิธีแก้ไข จะแก้ไขอย่างไร” พล.อ.เจ้ายอดศึก กล่าว

ประธาน RCSS กล่าวว่า ถ้ารัฐบาลทหารพม่าไม่ยอมรับความเปลี่ยนแปลงการสู้รบจะไม่จบ แต่กลุ่มชาติพันธุ์ก็มีความต้องการของแต่ละกลุ่มที่ไม่เหมือนกัน ต่างคนต่างรบ ของใครของมัน จึงได้เสนอให้กลุ่มชาติพันธุ์รวมตัวกันไปในแนวทางการเมืองเดียวกัน เราต้องการสหพันธรัฐแบบไหนก็ต้องเขียนขึ้นมาและต้องคุยกันให้รู้เรื่องโดยต้องร่วมกันเจรจากับกองทัพพม่า ไม่ใช่เจรจาของใครของมัน ทุกกลุ่มต่างต้องการของใครของมันซึ่งไม่ไปแนวเดียวกัน หากรบกับกองทัพพม่าเสร็จแล้ว อาจจะมารบกันเองก็เป็นไปได้ กลายเป็นปัญหาไม่จบไม่สิ้น

“จริงๆ อยากให้อาเซียนเป็นเจ้าภาพก่อน เพราะพม่าอยู่ในอาเซียน สถานการณ์ตอนนี้ต้องการพื้นที่กลางที่ถูกต้อง ตั้งแต่พม่าได้รับเอกราชมา เราสู้รบไม่จบไม่สิ้น 77 ปีแล้ว ประเทศไม่เจริญก้าวหน้าเพราะอะไร เพราะอยู่ที่ผู้นำนั่นแหละ พม่านั่นแหละ ที่ยื้อแย่งอำนาจกันทุกครั้ง กลุ่มชาติพันธุ์ไม่ได้ไปแย่งอำนาจกับเขา”พล.อ.เจ้ายอดศึก กล่าว

On Key

Related Posts

ผวจ.เชียงรายยังไม่รู้เรื่องน้ำกกขุ่นข้น-เตรียมสั่งการทสจ.ตรวจคุณภาพน้ำ คนขับเรือเผยน้ำขุ่นต่อเนื่องตั้งแต่อุทกภัยใหญ่ 6 เดือนก่อน ผู้เชี่ยวชาญชี้ดินโคลนจากเหมืองทองเสี่ยงสารปรอทปนเปื้อน ระบุการตรวจสอบต้องทำให้ถูกวิธี เก็บตัวอย่างตะกอนดิน-ปลานักล่า

เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2568 นายชรินทร์ ทองสุข ผู้ว่Read More →

กรมควบคุมมลพิษลงพื้นที่เก็บตัวอย่างน้ำกก-ตรวจสารไซยาไนด์เหมืองทอง คาดรู้ผลภายใน 1 เดือน นักวิชาการเผยทหารว้าจับมือจีนแผ่อิทธิพลถึงชายแดนไทยใช้กลยุทธ์คุมต้นน้ำ-สร้างเหมืองกระทบไทย

เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2568 นายชัยวัฒน์ ปันสิน ผู้อRead More →

ผู้ตรวจการแผ่นดินหวั่นโครงการสร้างเขื่อนใหญ่กั้นโขงส่งผลกระทบเขตแดนไทย แนะสร้างกลไกหารือร่วมกับภาคประชาชน กรมสนธิสัญญาอ้างยังตรวจสอบไม่แล้วเสร็จ ภาคประชาชนจวก สนทช.งุบงิบข้อมูลจัดประชุมกรณีเขื่อนสานะคามแล้ว 4 ครั้ง

เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2568 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมRead More →