เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2567 สำนักข่าว Myanmar Times รายงานว่า กองทัพเอกราชคะฉิ่น(Kachin Independence Army: KIA )ได้เปิดฉากโจมตีฐานทัพของกองทัพพม่าหลายแห่งพร้อมกันในช่วงสัปดาห์นี้ โดยโฆษกของ KIA กล่าวว่า เป็นปฏิบัติการโจมตีรอบใหม่ฐานทัพอากาศของกองทัพพม่าใกล้เมืองมิตจีนา เมืองหลวงคะฉิ่น รวมทั้งฐานทัพของกองทัพพม่า ใกล้เมืองไลซา ติดชายแดนจีนถูก KIA โจมตี
เช่นเดียวกันและได้เปิดฉากโจมตีฐานทัพพม่าซึ่งประจำอยู่บนถนนเส้นหลักจากเมืองมิตจีนา-เมืองบ่าหม่อ นอกจากนี้ ยังมีฐานบัญชาการทหารพม่าในเมืองเวียงหม่อและเมืองดอว์โพนียัน ซึ่งเป็นฐานบัญชาการที่กองทัพพม่ามักใช้ควบคุมเส้นทางหลัก และเป็นสถานที่ที่ใช้ยิงปืนใหญ่โจมตีเมืองไลซา ซึ่งเป็นฐานบัญชาการใหญ่ของกองทัพ KIA อย่างหนักในช่วงที่ผ่านมา
การโจมตีครั้งนี้เป็นความเคลื่อนไหวล่าสุดจากฝั่งกองทัพ KIA ที่เคลื่อนไหวอยู่ทางเหนือสุดของประเทศพม่า
ด้านความคืบหน้าจากฝั่งรัฐฉาน มีรายงานว่า ตัวแทนจากฝ่ายกองทัพพม่าได้พบหารือกับตัวแทนกลุ่มพันธมิตรสามพี่น้อง ซึ่งประกอบด้วยกองทัพโกก้าง MNDAA กองทัพปะหล่อง TNLA และกองทัพอาระกัน AA ระหว่างวันที่ 29 กุมภาพันธ์–1 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา โดยมีจีนเป็นผู้ประสานจนนำมาสู่การหยุดยิงชั่วคราวในภาคเหนือของรัฐฉาน และเป็นการพบกันเป็นครั้งที่ 4 แล้ว
แม้จะไม่มีข้อตกลงหยุดยิงใหม่ๆ อย่างไรก็ตาม สื่อ Irrawaddy รายงานว่า ทั้งสองฝ่ายเห็นด้วยกับข้อตกลง 5 ข้อ หลังจากการหารือ ซึ่งประกอบด้วย 1. ในทางการเมือง กองทัพพม่าพม่ารับทราบถึงความชอบธรรมของเขตปกครองพิเศษรัฐฉานที่ 1 ดั้งเดิม ซึ่งพรรคเพื่อความจริงและความยุติธรรมแห่งชาติพม่า(Myanmar National Truth and Justice Party : MNTJP) องค์กรการเมืองของกองทัพโกก้าง และกองทัพโกก้าง MNDAA เป็นตัวแทน 2. เพื่อสันติภาพ กองทหารแนวหน้าจากทุกฝ่ายจะถอนตัวออกจากดินแดนที่ถูกยึดครองในปัจจุบันเพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง
3.ทุกฝ่ายจะต้องรับรองว่าผลประโยชน์ของจีนในพม่าจะไม่ได้รับอันตราย 4. ทั้งสองฝ่ายรับประกันว่า การขนส่งคนและสินค้าในเขตพื้นที่ของตนจะเป็นไปอย่างราบรื่น 5.หน่วยงานของรัฐบาลทหารพม่า เช่น ศุลกากร การค้า และสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง จะยังคงประจำการอยู่ในเขตการค้าชายแดนชินส่วนห่อ ในเขตปกครองโกก้าง เพื่อเป็นตัวแทนอธิปไตยของชาติ และจะจัดตั้งสำนักงานร่วมกับฝ่ายจีนและรัฐบาลเขตพิเศษรัฐฉานที่ 1 โดยอัตราภาษีศุลกากรจะถูกแบ่งกัน โดยร้อยละ 70 จะถูกส่งให้กับรัฐบาลเขตพิเศษรัฐฉาน 1 และร้อยละ 30 ให้กับรัฐบาลพม่า

ส่วนในเขตการค้าชายแดนเมืองหมู่เจ้ ซึ่งเป็นด่านการค้าชายแดนสำคัญติดจีนอีกแห่งหนึ่งยังอยู่ระหว่างการพิจารณาหารือ อย่างไรก็ตาม ทั้งสองฝ่ายต่างไม่ได้ออกมาเปิดเผยเกี่ยวกับการหารือดังกล่าว ด้านโฆษกของกองทัพพม่ากล่าวว่า รายงานที่ออกมาเกี่ยวกับการหารือของทั้งสองฝ่ายนั้นเป็นเพียงข่าวลือเท่านั้น
โฆษกของกองทัพพม่าให้สัมภาษณ์กับกระบอกเสียงของรัฐบาลทหารพม่าว่า รัฐบาลจะยังคงเดินหน้าทำงานต่อไปเพื่อหยุดยิงและรักษาเสถียรภาพตรงชายแดน การจัดการ การข้ามชายแดนและการค้าจะยังคงอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลทหารพม่าและรัฐบาลจีน และรัฐบาลทหารรับประกันจะคุ้มครองผลประโยชน์ของจีนในพม่า และจะร่วมมือกับจีนเพื่อปราบปรามการค้าขายยาเสพติดและอาชญากรรมในโลกไซเบอร์ต่อไป
ส่วนโฆษกของกองทัพอาระกันให้สัมภาษณ์กับสื่อพม่าว่า ข้อตกลงกับกองทัพพม่านั้นมีผลกับทหารอาระกันที่เคลื่อนไหวอยู่ทางเหนือของรัฐฉานเท่านั้น ยังไม่มีผลกับกองทัพอาระกัน AA ในรัฐอาระกัน ซึ่งขณะนี้กำลังรุกคืบยึดได้หลายเมืองในรัฐอาระกัน และกองทัพพม่ากำลังพ่ายแพ้และเสียเปรียบ โดยล่าสุด กองทัพอาระกันยังประกาศว่า หากกองทัพพม่ายังกดขี่ประชาชนของตนต่อไป ทางกลุ่มจะนำรัฐอาระกันแยกตัวออกจากพม่า
เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 67 ที่ผ่านมา กองทัพอาระกัน AA สามารถยึดเมืองโพนนักยุน ใกล้กับเมืองชิตต่วย ซึ่งเป็นเมืองหลวงของรัฐอาระกัน โดยตลอดระยะเวลาในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาที่เปิดฉาก กองทัพอาระกันสามารถยึด 2 อำเภอในเขตเมืองหลวง และยังยึดได้อีก 7 เมืองใหญ่ ถึงแม้จะถูกโจมตีอย่างหนักทั้งจากกองทัพบก กองทัพอากาศและกองทัพเรือของกองทัพพม่าก็ตาม
ด้านสื่อไทใหญ่ Tai TV Online รายงานว่า เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2567 ทางการพม่าได้กวาดล้างบ่อนการพนันและแก๊งคอลเซ็นเตอร์ โดยสามารถจับกุมคนที่อยู่ในบ่อนได้นับ 100 คน ซึ่งตั้งอยู่ในเขตปุงถุน เมืองท่าขี้เหล็ก โดยผู้ที่ถูกจับกุมทั้งหมดมีทั้งคนพม่า คนไทยและคนจีน โดยทั้งหมดถูกส่งตัวไปยังเมืองเชียงตุงแล้ว
ส่วนความเคลื่อนไหวในรัฐกะเหรี่ยงนั้น ทางสำนักข่าว Myanmar Now รายงานว่า กองกำลังรักษาชายแดน หรือ The Karen Border Guard Force (BGF) ออกมายืนยัน เตรียมเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น กองทัพแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Army) โดยจะออกมาประกาศอย่างเป็นทางการในเร็วๆนี้ โดยโฆษกของกลุ่มเปิดเผยว่า BGF ไม่มีการติดต่อกับรัฐบาลทหารพม่า นับตั้งแต่ประกาศเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมาว่า จะไม่รับเงินเดือนหรือการสนับสนุนทางการเงินในรูปแบบอื่นจากกองทัพพม่าอีกต่อไป
อีกด้านหนึ่ง เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา หน่วยงานบรรเทาทุกข์ท้องถิ่นในค่ายผู้พลัดถิ่นภายในเมืองมินดัท รัฐชิน ได้ออกมาเปิดเผยว่า หลังยึดอำนาจและเกิดสงครามในประเทศ 3 ปีที่ผ่านมา ในค่ายผู้พลัดถิ่นภายใน ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองมินดัทเพียงแห่งเดียว มีทารกจำนวน 20 ราย และแม่อีก 12 ราย ต้องเสียชีวิต สาเหตุหลักมาจากการเข้าไม่ถึงบริการด้านสุขภาพแม่และเด็ก การขาดแคลนอาหารโภชนาการที่ดี รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานเช่นถนนที่ไม่ดี ส่งผลให้การเดินทางยากลำบาก
———–